Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Future Perfect
•
ติดตาม
2 ส.ค. 2021 เวลา 05:24 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นัยแฝง "ระบบนิเวศไฮโดรเจน" ผ่านกระถางคบเพลิงโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว
Cr. Photo from AFP
ผู้อ่านหลายท่านที่ได้ติดตามพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ก็คงจะได้ชมไฮไลท์สำคัญอย่างหนึ่งของงาน นั่นคือพิธีจุดคบเพลิง ซึ่งก็มีจุดเด่นทั้งกระถางคบเพลิงรูปทรงกลมตามคอนเซ็ปต์ดวงอาทิตย์ ที่เปิดและบานออกมาเหมือนกับดอกไม้ โดยมีเปลวเพลิงอยู่ข้างใน ออกแบบโดย Nendo ตามที่ทุกคนได้เห็นกันไปแล้ว
1
และที่เซอร์ไพรส์อีกอย่างก็คือเป็นครั้งแรกของกีฬาโอลิมปิกที่ได้ใช้ "พลังงานไฮโดรเจน" เป็นเชื้อพลิงสำหรับกระถางคบเพลิง ประเด็นนี้ถ้ามองเผิน ๆ ก็คงไม่ผิดคาดใด ๆ ในการแสดงความมุ่งมั่นถึงการรักษ์โลก ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตามกระแสรักษ์โลกที่มาแรงในช่วงหลัง ๆ ซึ่งนอกจากพลังงานไฮโดรเจนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว โอลิมปิกครั้งนี้ยังมีการนำวัสดุรีไซเคิล มาผลิตเป็นของแจก ของใช้ ในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ด้วย เช่น เหรียญรางวัล ทำจากโทรศัพท์มือถือและแล็ปท็อปเก่า แท่นรับรางวัล ทำจากขยะพลาสติก เตียงนอนในหมู่บ้านนักกีฬา ทำจากกล่องกระดาษรีไซเคิล เป็นต้น ที่กล่าวมาทั้งหมด ดูเหมือนจะเป็นเพียงความต้องการโปรโมต หรือตามกระแสรักษ์โลกที่กำลังมาแรงในช่วงหลังของเจ้าภาพ เหมือนกับอีเวนท์ใหญ่ ๆ ในระดับนานาชาติทั่วไป
อย่างไรก็ดี ประเด็นของพลังงานไฮโดรเจนนั้น มีเรื่องราวต่าง ๆ และเกร็ดที่น่าสนใจอยู่เบื้องหลังฉากหน้าของการจุดคบเพลิงอันอลังการของโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 โดย Future Perfect จะขอนำมาเปิดมุมคิดให้กับผู้อ่านทุกท่านต่อไป
Cr. Photo from pexels.com
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นถือว่ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและกลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำในเทคโนโลยีไฮโดรเจนและเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) เนื่องจากญี่ปุ่นไม่ได้มีแหล่งทรัพยากรพลังงานภายในประเทศ (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) ที่จะยึดเป็นแหล่งพลังงานหลักได้ ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่น รวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จึงมองว่าไฮโดรเจน มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นแหล่งพลังงานที่สะอาด มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ และไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศอีกด้วย โดยถ้ามีเทคโนโลยีหรือ Know-how ที่ดีเพียงพอ ก็จะสามารถจัดการ ควบคุม และนำพลังงานไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย
จากนั้นก็ได้พยายามผลักดันเพื่อให้เกิดเป็นระบบนิเวศ (Ecosystem) ของพลังงานไฮโดรเจนภายในประเทศ ทั้งในภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาคขนส่ง และในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก จึงพยายามที่จะวางแผนเพื่อชูโรงโปรโมตพลังงานไฮโดรเจน ในฐานะ "พลังงานเปลี่ยนโลก" (Transformational Energy) สร้างความตระหนักให้กับชาวโลก (โดยให้ชาวโลกเห็นว่าญี่ปุ่นเป็นผู้นำในเทคโนโลยีนี้ เบอร์ต้น ๆ ของโลก) ไปพร้อมกับการจัดโอลิมปิกครั้งนี้ ทั้งนี้ญี่ปุ่นคาดหวังว่าพลังงานไฮโดรเจนจะเป็นกลไกสำคัญ ที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission หรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 ได้สำเร็จภายในปี 2050
ดังนั้นแล้ว ตามแผนเดิมที่คณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกของญี่ปุ่น ตั้งใจไว้ในการสอดแทรกพลังงานไฮโดรเจนเข้าไปมีบทบาทในหลาย ๆ กิจกรรมของกีฬาโอลิมปิก ไม่ว่าจะเป็น การใช้เป็นพลังงานหลักสำหรับหมู่บ้านนักกีฬา (จำลองให้เห็นถึงสังคมไฮโดรเจนต้นแบบ หรือ Hydrogen Society) รถบัสรับส่งนักกีฬาที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนสำหรับรับส่ง VIP เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องในการจัดงาน (จำลองถึงภาคการขนส่งด้วยระบบพลังงานไฮโดรเจน) และที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ การใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับจุดกระถางคบเพลิง (เป็น Gimmick สำคัญที่คนทั่วโลกที่ดูการถ่ายทอดสดจะต้องจำได้) ซึ่งถ้าสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ทั้งหมด ก็จะทำให้ชาวโลกมองเห็นต้นแบบของระบบนิเวศไฮโดรเจนขนาดย่อม ๆ ในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้นั่นเอง
Cr. iStock by Getty Images, Photo by Petmal
แต่สุดท้ายแล้ว แผนที่วางเอาไว้สำหรับพลังงานไฮโดรเจนในโอลิมปิกเกมส์ เป็นจริงได้เพียงแค่บางส่วน กิจกรรมที่สามารถสอดแทรกพลังงานไฮโดรเจนเข้าไปได้ นั่นก็คือ (1) เอาไว้จุดกระถางคบเพลิง อย่างที่เราได้เห็นกันแล้ว; (2) นำรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน จำนวน 500 คัน จากผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ (จะเป็นใครไปเสียไม่ได้ นอกจากโตโยต้า) มาใช้เพื่อการรับส่งในมหกรรมโอลิมปิกเกมส์; (3) รถบัสที่รับส่งนักกีฬา เป็นรถบัสใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลปกติ (ไม่ใช่รถที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน) แต่จะมีการจัดรถบัสที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน 100 คัน เพื่อเป็นรถสาธารณะที่วิ่งในเมืองโตเกียว; และ (4) จะมีอาคารหลังหนึ่งในหมู่บ้านนักกีฬา ที่เรียกว่า “Relaxation House” สำหรับนักกีฬาเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากไฮโดรเจน
สำหรับพลังงานไฮโดรเจนที่นำมาใช้ในการจุดกระถางคบเพลิงนั้น ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยโรงงานที่ผลิตอยู่ในแถบจังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งเคยเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์หลังแผ่นดินไหวและสึนามิใน พ.ศ. 2554 ทางเจ้าภาพญี่ปุ่นภูมิใจเสนอว่าเป็น "Green Hydrogen" (ไฮโดรเจนสีเขียว แต่ตัวเนื้อไฮโดรเจนไม่ได้มีสีเขียวจริง ๆ นะครับ)
1
อาจต้องบอกก่อนว่าการผลิตไฮโดรเจนนั้น สามารถผลิตได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ บางครั้งเราก็มักเรียกว่า "ไฮโดรเจนสีเทา" (Grey Hydrogen) เพราะเมื่อมันผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็จะต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศอยู่ดี แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นไฮโดรเจนสีเขียว ในกระบวนการผลิตจะไม่มีคาร์บอนเข้ามาเกี่ยวข้องเลย และจะใช้วิธีการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า หรือ "Electrolysis" โดยการนำไฟฟ้าที่ได้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม มาตัดแยกโมเลกุลของน้ำให้กลายเป็นก๊าซไฮโดรเจน
นอกจากนี้ ยังมีไฮโดรเจนอีกประเภทหนึ่งคือ "ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน" ซึ่งถือว่ามีความสะอาดมากกว่าไฮโดรเจนสีเทา กล่าวคือ เป็นไฮโดรเจนที่ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติ ที่ได้คาร์บอนไดออกไซด์ออกมาด้วยจากการผลิต แต่จะมีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อนำไปกักเก็บ หรือเปลี่ยนรูปเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป แทนที่จะปล่อยออกสู่บรรยากาศให้เป็นก๊าซเรือนกระจก
โดยปกติแล้ว ก๊าซไฮโดรเจน เมื่อนำไปเผา หรือนำไปผ่านเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ได้ผลผลิตออกมาเป้นพลังงานความร้อน หรือพลังงานไฟฟ้าตามลำดับ มาพร้อมกับน้ำบริสุทธิ์ โดยไม่มีการปล่อยคาร์บอนออกมา และหากนำก๊าซไฮโดรเจนไปเผา เปลวไฟที่ได้จากการเผาก๊าซไฮโดรเจน จะใส ไม่มีสี แต่ที่เราเห็นไฟจากคบเพลิงนั้นเป็นสีเหลือง เนื่องจากผู้จัดงานได้ใส่สารประกอบโซเดียมคาร์บอเนต เข้าไปด้วย เพื่อให้เป็นสีเหลือง ดูเป็นสีเปลวไฟธรรมชาติเหมือนการเผาฟืนนั่นเอง
เกร็ดความรู้เล็กน้อย เรื่องของสีเปลวไฟจากการเผาสารประกอบที่สามารถเปลี่ยนเป็นสีต่าง ๆ ได้นั้น เป็นหลักการพื้นฐานของวิชาเคมี ผู้อ่านที่เคยเรียนสายวิทย์สมัยมัธยมปลาย อาจคุ้นกับการทดลองเรื่องหนึ่งของวิชาเคมีอยู่ นั่นคือ เมื่อนำช้อนตักสารประกอบต่าง ๆ (ที่เป็นผง) แล้วเอาไปเผาไฟกับตะเกียงแอลกอฮอล์ เปลวไฟจะเปลี่ยนสีไปได้ตามธาตุโลหะที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในสารประกอบนั้น เช่น สารประกอบที่มีโซเดียม อย่างเช่น โซเดียมคลอไรด์ (เกลือแกง) โซเดียมคาร์บอเนต จะให้เปลวไฟเป็นสีเหลือง เช่นเดียวกับกระถางคบเพลิงโอลิมปิก สารประกอบที่มีโปตัสเซียม อย่างเช่น ด่างทับทิม จะให้เปลวไฟเป็นสีม่วง (พิสูจน์ได้โดยการลองนำเกล็ดด่างทับทิมไปจุดไฟเผาดูได้ครับ) หรือถ้าสารประกอบที่มีทองแดงอยู่ จะให้เปลวไฟเป็นสีเขียว ถือเป็นการทดลองเรื่องหนึ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับวิชาเคมีตอนมัธยมปลายเช่นกัน (ขอไม่ลงทฤษฎีเพื่อไม่ให้เยิ่นเย้อเกินไป)
1
อย่างไรก็ดี กระถางคบเพลิงที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนดังกล่าว ก็มีกระแสในทางลบจากนักวิจารณ์อยู่บ้างเล็กน้อยที่ตั้งข้อสังเกตไว้ ในประเด็นที่กล่าวถึง "Greenwashing" หรือที่เรียกกันว่า การฟอกเขียว ซึ่งมีความหมายโดยสังเขปคือ การพยายามประชาสัมพันธ์หรือโปรโมตกิจกรรมรักษ์โลกของตัวเอง และอ้างว่าช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วกิจกรรมดังกล่าว ยังคงสร้างผลกระทบในเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ หรืออาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวอ้างไว้ทั้งหมด โดยสำหรับในกรณีของโอลิมปิกเกมส์นั้น นักวิจารณ์บางแหล่งมองว่า ผงโซเดียมคาร์บอเนต ที่ใส่ลงไปเพื่อให้เปลวไฟเป็นสีเหลืองนั้น ตอนที่ถูกเผาไฟ ก็จะคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาอยู่ดี ในขณะเดียวกัน การเผาก๊าซไฮโดรเจนในอากาศที่มีก๊าซไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่นั้น ย่อมจะทำให้เกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกอีกตัวหนึ่งที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศเช่นเดียวกัน
อีกกิจกรรมหนึ่งของโอลิมปิกเกมส์ที่ชูเรื่องพลังงานไฮโดรเจนนั้น ก็คือ ทางโตโยต้าได้จัดเตรียมรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน Toyota Mirai ประมาณ 500 คัน ไว้สำหรับรับ-ส่ง VIP เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้องกับการจัดงานโอลิมปิกเกมส์ด้วย โดยนี่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตระบบนิเวศไฮโดรเจนของทางญี่ปุ่นในภาพรวมด้วยเช่นกัน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้อ่านที่ติดตามข่าวคราวในแวดวงยานยนต์ น่าจะพอสังเกตได้ว่ายานยนต์สมัยใหม่ ที่เรียกว่ายานยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle: EV มีผู้ผลิตที่มาจากหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี จีน หรือแม้กระทั่งในประเทศไทยเอง เป็นต้น รวมถึงมีผู้เล่นรายใหม่ ๆ ที่ไม่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์มาก่อน ก็กระโดดเข้ามาร่วมวงด้วยเช่นกัน (ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลหรือ AI)
Toyota Mirai Cr. Photo by yino19700 from Pixabay
สิ่งที่เราสังเกตเห็นได้ชัดก็คือ ผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายญี่ปุ่น โดยเฉพาะผู้นำตลาดอย่างโตโยต้า หรือฮอนด้า (ยกเว้นนิสสัน) ยังไม่ได้เดินหน้าเต็มตัวกับการขยายตลาดหรือจำหน่ายรถยนต์ EV แบบที่ใช้พลังงานขับเคลื่อนจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว หรือที่เราเรียกว่า Battery Electric Vehicle: BEV (ยกตัวอย่างรถยนต์ BEV เช่น Tesla – อเมริกา, Audi e-tron 55 quattro – ยุโรป, Nissan Leaf – ญี่ปุ่น, BYD e6 – จีน, Hyundai IONIQ – เกาหลี, Fomm – ไทย เป็นต้น) ถึงแม้จะไม่ได้ทิ้งเรื่องแบตเตอรี่เสียทีเดียว แต่ก็พยายามที่จะชูโรงอีกทางเลือกอีกทางหนึ่งด้วย นั่นคือ ยานยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง หรือ Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV ซึ่งใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้กับรถยนต์ โดยถือว่าญี่ปุ่นเองเป็นผู้นำในเทคโนโลยีด้านนี้อยู่
ในประเทศไทยเรายังไม่มีโมเดลของรถยนต์ FCEV ที่มาจำหน่ายเนื่องมาจากระบบนิเวศที่ยังไม่รองรับ แต่ที่ญี่ปุ่นเองมีการกำหนดยุทธศาสตร์อย่างจริงจังเกี่ยวกับระบบนิเวศไฮโดรเจนมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงองค์ประกอบของระบบนิเวศโดยคร่าวนั้น จะต้องไล่มาตั้งแต่กระบวนการผลิตไฮโดรเจน การนำไปเก็บสำรองไว้ และการขนส่งผ่านทางท่อ หรือทางเรือ หรือทางรถบรรทุก ไปยังจุดที่ใช้งาน หรือไปที่สถานีเติมไฮโดรเจน ไปจนถึงการนำไฮโดรเจนไปใช้งานในภาคส่วนต่าง ๆ หรือเติมลงไปในรถยนต์ FCEV
ในปัจจุบัน ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย. 64 ระบุว่าญี่ปุ่นมีสถานีเติมไฮโดรเจนแล้วจำนวน 147 สถานี กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ โดยมีจำนวนมากที่สุด (56 สถานี) อยู่ในภูมิภาคคันโตะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงโตเกียว นอกจากนี้แล้ว แบรนด์จำหน่ายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ อย่างเช่น Eneos ซึ่งมีสถานีเติมไฮโดรเจนที่ดำเนินการแล้วอยู่ประมาณ 45 แห่ง ก็มีแผนที่จะขยับขยายจุดเติมไฮโดรเจนเข้าไปอยู่ในสถานีบริการน้ำมันแบบเดิมที่ดำเนินการอยู่แล้ว หลังจากที่ญี่ปุ่นได้ปรับเปลี่ยนข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับพลังงานไฮโดรเจนภายในสถานีบริการน้ำมัน ให้เอื้ออำนวยในทางปฏิบัติมากขึ้น
ดังนั้น สถานีบริการน้ำมันของ Eneos รวมถึงรายอื่น ๆ ก็จะสามารถดำเนินการขยายผลไปยังสาขาที่มีอยู่ ให้สามารถจำหน่ายได้ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงปกติ และไฮโดรเจนด้วย (ให้นึกภาพเหมือนกับสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในบ้านเราที่มีเกาะจ่ายสำหรับเติมก๊าซธรรมชาติด้วย)
ประเด็นก็คือ เฉพาะ Eneos ก็มีสถานีบริการน้ำมันอยู่ทั่วประเทศประมาณ 13,000 สาขาแล้ว นั่นแปลว่าการปลดล็อกข้อกำหนดทางกฎหมายในการติดตั้ง จะทำให้การขยายจุดเติมไฮโดรเจนจะเกิดขึ้นได้ง่ายและสะดวกกว่าเดิมในการขยายไปยังปั๊มน้ำมันเดิมที่ดำเนินการอยู่แล้ว นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดทางกฎหมายแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้อัดฉีดเม็ดเงินประมาณ 11 พันล้านเยน (105 ล้านดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา) ในปี 2564 เพื่อสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการก่อสร้างสถานีเติมไฮโดรเจนที่ภาคเอกชนลงทุนอีกด้วย จึงมีโอกาสที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ญี่ปุ่นจะเป็นต้นแบบของระบบนิเวศไฮโดรเจนแบบเต็มรูปแบบ และเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศที่เข้ามาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคตระยะยาวต่อไป
มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางท่านอาจมีคำถามขึ้นมาว่าระบบนิเวศไฮโดรเจน ที่เกี่ยวข้องกับภาคขนส่งนั้น ถ้านำมาเปรียบเทียบกับระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ EV แบบแบตเตอรี่ล้วน ไฮบริด หรือปลั๊กอินไฮบริด อย่างที่เรากำลังเห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่ในประเทศไทยเรานั้น หรือกล่าวให้ตรงประเด็นก็คือ ระหว่าง “ไฮโดรเจน” กับ “แบตเตอรี่” มันเกี่ยวข้องกันอย่างไร ไฮโดรเจนคือภาคต่อของแบตเตอรี่หรือไม่ (อย่างที่หลาย ๆ คน เข้าใจ) หรือว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่เป็นคู่ขนาน หรือแข่งขันกันอยู่ในเชิงศักยภาพ และถ้าต้องแข่งกันแล้ว ใครจะอยู่ ใครจะไป โปรดติดตามได้จากเพจของ Future Perfect ในบทความถัดไป ผู้อ่านท่านใดที่ยังไม่ได้กดติดตามเพจ Future Perfect หากสนใจในสาระดี ๆ ที่จะนำมาฝากทุกท่านกันเป็นประจำ สามารถกดติดตามได้เลยครับ
สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านสนุกกับการรับชมและลุ้นเหรียญรางวัลของทีมชาติไทยช่วงโค้งสุดท้ายในโอลิมปิกครั้งนี้ แล้วพบกับบทความถัดไปในช่วงพิธีปิดของโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020
3 มุมคิดที่ Future Perfect ขอฝากไว้
1) พลังงานไฮโดรเจน เป็นกลไกสำคัญที่ญี่ปุ่น มุ่งหวังสู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero Carbon Emission ภายในปี 2050
2) ระบบนิเวศไฮโดรเจน จะสามารถเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติจริง ต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ เช่น เทคโนโลยีสนับสนุนพื้นฐาน การบริหารต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน การสร้างความต้องการ (Demand) ความเชื่อมั่น หรือการยอมรับจากผู้บริโภคหรือผู้ใช้งาน และที่ขาดไม่ได้คือ การสนับสนุนจากภาครัฐในแง่มุมต่าง ๆ
3) สำหรับพลังงานไฮโดรเจนในภาคขนส่ง ยานยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน หรือ FCEV เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของยานยนต์สมัยใหม่ที่มีศักยภาพ โดยมีระบบนิเวศที่แตกต่างจากยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ ซึ่งทั้งคู่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย และมีโอกาสที่จะขยายผลได้ในบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ
#FuturePerfect #อนาคตกำหนดได้ #NetZeroEmission #Decarbonization #TokyoOlympic #โอลิมปิก #Hydrogen #Cauldron #คบเพลิง #พลังงานไฮโดรเจน
References
1.
https://www.forbes.com/sites/peterlyon/2021/07/28/tokyos-olympic-flame-boasts-first-ever-hydrogen-powered-cauldron/?sh=287c31963da5
2.
https://www.rechargenews.com/energy-transition/green-hydrogen-to-star-at-tokyo-olympics-but-not-at-the-scale-originally-envisaged/2-1-1043094
3.
https://www.thaipost.net/main/detail/111241
4.
https://www.fchea.org/in-transition/2020/5/25/japans-hydrogen-olympics
5.
https://www.statista.com/statistics/1236606/japan-hydrogen-fuel-station-number-by-region/
6.
https://www.toyota.co.th/prdatabase/detail/lOJabzdJ
4 บันทึก
12
19
4
12
19
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย