3 ส.ค. 2021 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
Freepik สตาร์ตอัปพันล้าน ขุมทรัพย์รูปภาพของเหล่ากราฟิก
1
รู้หรือไม่ Financial Times เคยจัดอันดับให้บริษัท Freepik เป็นหนึ่งในสตาร์ตอัปที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป
รวมถึงยังเป็นสตาร์ตอัปหนึ่งเดียวจากประเทศสเปน ที่ติดอยู่ในการจัดอันดับนี้
โดยในหนึ่งปีมีผู้คนเข้าใช้งานแพลตฟอร์ม Freepik มากกว่า 1,000 ล้านครั้งเลยทีเดียว
แล้วเรื่องราวของบริษัท Freepik น่าสนใจอย่างไร ?
และรายได้ของบริษัทมาจากไหน ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับ Freepik เราลองมาทำความรู้จักแพลตฟอร์มนี้กันให้มากขึ้นสักเล็กน้อยนะคะ
โดย Freepik คือ แพลตฟอร์มยอดนิยมของเหล่าคนที่นิยมทำงานด้านกราฟิก สำหรับดาวน์โหลดรูปต่าง ๆ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย, แบ็กกราวนด์, ไอคอน หรือแม้กระทั่งรูปแนว Vector ก็มีให้เลือกหลากหลาย
และนอกจากจะมีฟังก์ชันให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดรูปได้แล้ว
Freepik ยังให้ผู้ใช้สามารถนำรูปภาพของตัวเองมาอัปโหลด เพื่อขายใน Freepik ได้อีกด้วย
ซึ่งแพลตฟอร์ม Freepik ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2010 ที่มาลากา ประเทศสเปน
โดยมีผู้ก่อตั้ง คือคุณ Joaquín Cuenca และสองพี่น้อง Alejandro กับ Pablo Blanes
โดยก่อนหน้าที่พวกเขาจะมาเริ่มก่อตั้ง Freepik พวกเขาเคยก่อตั้ง Panoramio ซึ่งเป็นบริการฝากรูปภาพพร้อมกับใส่พิกัดของภาพลงบนแผนที่โลก แต่ได้ขายกิจการให้กับ Google ไปแล้ว
อย่างไรก็ตามอีก 2 ปีถัดมาพวกเขาก็กลับมาสร้างธุรกิจด้วยกันอีกครั้ง
จริง ๆ แล้วเรื่องราวจุดเริ่มต้นของ Freepik อาจจะเรียกได้ว่าไม่ได้มีอะไรที่หวือหวาเท่าไรนัก
เพราะ Freepik นั้นเกิดมาจากไอเดียของคุณ Alejandro Blanes ที่เห็นว่าตอนนั้น ยังไม่มีแพลตฟอร์มไหน อนุญาตให้เหล่ากราฟิกดีไซเนอร์สามารถเข้าไปค้นหารูปที่ตัวเองต้องการได้แบบ “ฟรี ๆ” เลย
ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นหนึ่งในปัญหาของใครหลาย ๆ คน
และเมื่อคุณ Alejandro Blanes ได้เล่าไอเดียนี้ให้กับคุณ Pablo Blanes และคุณ Joaquín Cuenca ฟัง พวกเขาก็เห็นว่ามันเป็นไอเดียที่ดีมาก และทั้งสามคนก็ได้ร่วมกันสร้าง Freepik ขึ้น
จริง ๆ แล้ว รูปแบบของแพลตฟอร์ม Freepik ที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาดาวน์โหลดรูปไปใช้งานได้ ก็ไม่ได้เรียกว่าแปลกใหม่มากนัก
เพราะก่อนหน้าที่ Freepik จะเกิดขึ้นก็มีแพลตฟอร์มในลักษณะคล้าย ๆ กันนี้เกิดขึ้นมาอยู่ก่อนแล้ว อย่างเช่น Shutterstock
แต่จุดที่ทำให้ Freepik สามารถเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในตลาดได้ก็เป็นเพราะว่า ภาพกว่า 40% ใน Freepik สามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรี เพียงแค่ต้องใส่เครดิตให้เท่านั้น
1
ซึ่งแตกต่างจาก Shutterstock ที่แม้ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ แต่รูปภาพ วิดีโอ และเพลงในแพลตฟอร์มนี้จะคิดค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้บางคนเลือกที่จะหันไปใช้งานใน Freepik แทน
1
และแม้ว่า Freepik จะเปิดตัวมาทีหลัง Shutterstock ถึง 7 ปี
แต่ Freepik ก็ได้รับความนิยมไม่น้อยเลยทีเดียว และแม้กระทั่งบริษัทชั้นนำระดับโลก ก็ยังใช้งาน Freepik ไม่ว่าจะเป็น NASA, Amazon, FedEx, Microsoft และ Spotify
1
อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ Freepik ยังได้รับการจัดอันดับจาก Financial Times ให้เป็นหนึ่งในสตาร์ตอัปที่มีการ “เติบโตเร็วที่สุด 1,000 แห่งของยุโรป”
โดย Financial Times ได้ระบุรายได้ของบริษัท Freepik ว่า
ปี 2015 รายได้ 219 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 300 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 465 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 661 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 1,204 ล้านบาท
คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 53% ต่อปี
โดยโมเดลธุรกิจของ Freepik จะเป็นแพลตฟอร์มประเภท “Freemium”
ที่แม้ว่าจะมีการเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาดาวน์โหลดรูปทั่ว ๆ ไปได้ฟรี วันละไม่เกิน 10 ภาพ
และจะต้องใส่เครดิตในภาพที่เรานำมาใช้ด้วย
แต่บริษัทก็ยังมีรายได้มาจากค่าสมัครสมาชิก
เพื่อแลกกับสิทธิ์ในการดาวน์โหลดภาพได้ถึง 100 รายการต่อวัน และผู้ใช้งานยังสามารถดาวน์โหลดภาพพิเศษ หรือที่เรียกว่าภาพพรีเมียมไปใช้งานได้โดยไม่ต้องใส่เครดิต
ปัจจุบัน Freepik มีคนเข้ามาเยี่ยมชมแพลตฟอร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 85 ล้านครั้งต่อเดือน
และมีผู้ใช้งานที่ไม่ซ้ำกันถึง 32 ล้านบัญชีต่อเดือน ซึ่งในแต่ละเดือนก็มียอดดาวน์โหลดรูปภาพมากกว่า 110 ล้านครั้ง
โดยในขณะนี้ Freepik มีรูปภาพต่าง ๆ รวมกันในแพลตฟอร์มมากถึง 10 ล้านรายการ
นอกเหนือจากความสำเร็จของแพลตฟอร์ม Freepik แล้ว
บริษัทก็ยังเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีก เช่น
- Flaticon ฐานข้อมูลไอคอน และสติกเกอร์ที่ใหญ่สุดในโลก
- Slidesgo แพลตฟอร์มที่รวบรวมเทมเพลตสำหรับทำ Google Slides และ PowerPoint
1
สำหรับในปัจจุบัน บริษัท Freepik ได้เปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่ จากเหล่าผู้ก่อตั้งเป็น EQT Mid Market Europe
โดย EQT เป็นองค์กรด้านการลงทุน ซึ่งจะมีกองทุนในเครือหลายกองทุน เพื่อใช้ลงทุนในบริษัทต่างๆ
สำหรับ EQT Mid Market Europe จะเป็นกองทุนที่ใช้ลงทุนในบริษัทขนาดกลาง และมีศักยภาพสูงในยุโรปเหนือ
อย่างไรก็ตามผู้ก่อตั้งทั้ง 3 ก็ยังคงถือหุ้นบางส่วนอยู่ในบริษัท และยังรับผิดชอบในการพัฒนา รวมถึงการวางกลยุทธ์ต่าง ๆ เหมือนเดิม
1
โดยสาเหตุที่ทั้งสามผู้ก่อตั้ง ตัดสินใจขายหุ้นให้กับ EQT Mid Market Europe ก็เนื่องจากพวกเขาต้องการเงินทุน ที่จะมาช่วยในการขยายกิจการให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น
1
ทั้งหมดนี้ ก็คือเรื่องราวของ Freepik แพลตฟอร์มที่เริ่มต้นจาก Pain Point ของใครหลาย ๆ คน
จนเติบโตเป็นบริษัทที่มีรายได้ก้อนโต และพวกเขาก็ไม่เคยที่จะหยุดอยู่กับความสำเร็จที่ได้มา
แต่กลับพัฒนาไปเรื่อย ๆ นั่นเอง
1
โฆษณา