2 ส.ค. 2021 เวลา 12:59 • ความคิดเห็น
หลังจาก #ทุ่นดำทุ่นแดง ได้วิเคราะห์ “กรณีสวรรคต” ไปสี่ตอน
 
“ช่างเผือก” ก็ได้ส่งบทวิเคราะห์ของเขามาให้ผม
 
เมื่อวาน ผมได้นำเสนอ “บทนำ” ไป
มาวันนี้ ขอนำเข้าสู่บทวิเคราะห์ส่วนที่หนึ่งของ “ช้างเผือก”
การมีผู้ส่งความเห็นที่ผ่านการวิเคราะห์ ใช้ความรู้และเหตุผล
ถือเป็นสัญญาณและดัชนี ชี้ “คุณภาพ” ของคนในสังคม
การรับฟังและสะท้อนกลับด้วยสติปัญญาและเหตุผล ก็เช่นกัน
-----------------------
บทวิเคราะห์ “กรณีสวรรคต” ของ “ช้างเผือก”
ความเห็นแพทย์ในกรณีสวรรคตที่ถูกนำมาใช้อ้างอิงกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันถูกต้องหรือไม่ ?
จากการศึกษาประวัติศาสตร์คดีสวรรคต จะเห็นได้ตรงกันว่า ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษา หรือบทความของสุพจน์ ด่านตระกูล หรือสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล รวมถึง นพ.สุด และ นพ.สรรใจ แสงวิเชียร
ล้วนแต่สรุปว่าเป็นการถูกปลงพระชนม์ โดยอาศัยผลการตรวจศพและความเห็นของแพทย์บางส่วนในยุคนั้น
ดังเช่น คำนำการพิมพ์ครั้งที่ 2 ในหนังสือข้อเท็จจริงกรณีสวรรคตของสุพจน์ ด่านตระกูล เมื่อพ.ศ.2517 ได้ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า
“แต่ถึงกระนั้นข้อเท็จจริงในรายละเอียดบางประการ เช่น ความเห็นของนายแพทย์แต่ละคนที่ให้การต่อคณะกรรมการศาลกลางเมือง และบันทึกความเห็นแพทย์แต่ละคนในรายงานคณะกรรมการแพทย์
ตลอดจนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทดลองยิงศพของคณะกรรมการแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้นำมาทำให้ปรากฏ ณ ที่นี้ ด้วยเห็นว่าข้อสรุปของคณะกรรมการศาลกลางเมือง ซึ่งได้สรุปจาก
คำให้การของผู้ให้ปากคำตลอดจนความเห็นของคณะแพทย์ ที่ได้ตรวจพระบรมศพ และได้ทำการทดลอง
ยิงศพ ก็เป็นการเพียงพอแล้วที่จะทำความกระจ่างกับท่านผู้อ่านในประเด็นที่ว่า กรณีสวรรคตเกิดขึ้นได้อย่างไร”
และบทความเรื่อง ปริศนากรณีสวรรคต ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า
“ผมขอเสนอว่า สิ่งที่เป็นหัวใจของกรณีนี้และนำไปสู่ปัญหาที่มีลักษณะเป็นปริศนาแก้ไม่ตกคือ ข้อเท็จจริงกลุ่มหนึ่งที่แทบไม่มีใครโต้แย้ง ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งที่ผมขอเรียกว่า “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” (physical conditions of the shooting) ผมหมายถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ :
ก.ตำแหน่งของบาดแผลกระสุนเข้าอยู่ที่บริเวณหน้าผากเหนือคิ้วซ้ายเล็กน้อย
ข.ลักษณะบาดแผลแสดงว่าปืนต้องกดติดหรือเกือบติดกับหน้าผากขณะกระสุนลั่นถ้าไม่กดติดก็ห่างไม่เกิน 2 นิ้ว
ค.วิถีกระสุนเสียงลงล่างและเรียงจากซ้ายไปขวาเล็กน้อยทะลุออกด้านหลังที่ท้ายทอย
ง.ลักษณะพระบรมศพที่พระกรอยู่ข้างพระวรกายเรียบร้อย (ปัญหาความเป็นไปได้ของอาการเกร็งค้างของแขนและมืออันเกิดจากสมองตายเฉียบพลันที่เรียกว่า “คาดาเวอริค สปัสซั่ม” Cadaveric Spasm)
ข้อ ง. เป็นประเด็นที่แยกออกมาเพื่อพิจารณาภายหลังได้เพราะยังมีลักษณะถกเถียงกันอยู่ (controversial)
แต่จากข้อเท็จจริง ก-ข-ค ที่ไม่มีใครปฏิเสธ
 
ก็นำไปสู่ข้อสรุปเชิงอนุมานที่ยากจะปฏิเสธและมีความสำคัญมาก คือ
หากในหลวงอานันท์ยิงพระองค์เองไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จะต้องจับปืนแบบสลับกับที่จับตามปกติ
คือ คงต้องกุมปืนด้วยสองมือพร้อมกัน โกร่งไกและลำกล้องปืนหันมาทางด้านอุ้งมือคือหันเข้าหาตัว
หลังปืนหันออกทางตรงข้าม และต้องเหนียวไก่ด้วยนิ้วโป้ง (โดยเฉพาะนิ้วโป้งซ้าย) ไม่ใช่นิ้วชี้
ถ้าอยู่ในท่านอนแขนทั้งสองข้างจะต้องยกขึ้นเหนือตัว งอศอก มือทั้งสองที่กุมปืนต้องอยู่เหนือหัวเยื้องขึ้นไปทางด้านผมและเอียงไปเบื้องซ้ายเล็กน้อย (ทำให้เกิดการเสียงของวิถีกระสุนจากบนลงล่าง และซ้ายไปขวา)
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ชวนให้เชื่ออย่างยิ่งว่าในหลวงอนันต์ไม่น่าจะยิงพระองค์เอง เพราะแทบเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะยิงตัวตาย (ตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ) ด้วยท่าทางและตำแหน่งถือปืนเช่นนั้น”
เรามั่นใจได้อย่างไรว่า ความเห็นที่นำมาวิเคราะห์และอ้างอิงเหล่านี้ถูกต้อง หากความเห็นเหล่านี้ไม่ถูกต้อง จะเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม
ในอดีต ศาลกลางเมืองได้สรุปใจความสำคัญไว้ตอนหนึ่งว่า
“เมื่อได้พิจารณาถึงคำพยานบุคคล วัตถุพยาน และเหตุผลแวดล้อมกรณีต่างๆ ทุกแง่มุมโดยรอบด้านดังกล่าวมาแต่ต้นแล้วคณะกรรมการเห็นว่า ในกรณีอันจะพึงเป็นต้นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตได้นั้น ....................การถูกลอบปลงพระชนม์ไม่มีหลักฐานและเหตุผลที่แน่นอนแสดงว่าจะเป็นไปได้ แต่ไม่สามารถที่จะตัดออกเสียโดยสิ้นเชิง เพราะว่ายังมีท่าทางของพระบรมศพค้านอยู่”
โดยศาลกลางเมืองได้ขยายความเกี่ยวกับความเห็นแพทย์ในเรื่องท่าทางของพระบรมศพไว้ดังนี้
“อย่างไรก็ดีโดยลักษณะของพระบรมศพที่ทอดพระกรไปตามพระวรกาย ซึ่งเป็นท่านอนตามธรรมดานั้นมีความสำคัญซึ่งควรจะพิจารณาอยู่มาก ปรากฏจากปากคำพยานที่เป็นแพทย์บางคนให้ถ้อยคำตรงกันว่า ถ้าหากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศถูกกระสุนปืนโดยพระองค์ทรงกระทำเองแล้ว พระกรทั้งสองไม่น่าจะอยู่ในท่าเรียบร้อยดังนั้น พระกรควรงอหรือตกอยู่ที่พระพักตร์หรือพระอุระหรือมิฉะนั้นก็เปะปะไป ส่วนปืนจำต้องอยู่ในพระหัตถ์เสมอไปหรือไม่นั้น ไม่แน่นอน ความข้อนี้สำคัญเป็นอันมาก เพราะถ้าความเห็นของแพทย์เป็นสิ่งที่แน่นอนแล้ว ก็ชี้ให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศมิได้ทรงกระทำให้ปืนลั่นโดยพระองค์เอง แต่ความเห็นของแพทย์ดังที่ว่านั้นแน่นอนหรือไม่ ข้อนี้แพทย์มิได้ยืนยันเต็มที่เด็ดขาดทุกคน เป็นแต่ใช้ถ้อยคำว่า 'ควรจะ' 'น่าจะ' เป็นอย่างนั้น”
ผู้เขียนเห็นว่าการละเลยไม่ศึกษารายละเอียดความเห็นแพทย์แต่ละคนในศาลกลางเมืองนั้น มีผลอย่างยิ่งต่อการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีสวรรคต
ผู้เขียนจึงต้องนำเสนอความเห็นที่น่าสนใจของแพทย์แต่ละคนที่ได้แสดงความเห็นไว้ในการประชุมของคณะกรรมการชันสูตรพระบรมศพ รวมไปถึงความเห็นที่แพทย์แต่ละคนได้ให้การต่อศาลกลางเมือง
การให้ความเห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์สวรรคตโดยการลงคะแนน
พระยาดำรงแพทยาคุณ ประธานคณะกรรมการแพทย์ชันสูตรพระบรมศพเป็นผู้ตัดสินใจออกรายงานในรูปแบบดังกล่าว โดยการให้แพทย์แต่ละคนเขียนความเห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การสวรรคต โดยเรียงลำดับความเป็นไปได้ของพฤติการณ์การสวรรคต ในรูปแบบต่างๆ เช่น การถูกลอบปลงพระชนม์ การปลงพระชนม์เอง หรืออุบัติเหตุ
โดยพระยาดำรงแพทยาคุณสรุปว่าคณะกรรมการส่วนมาก (คือการนับเฉพาะลำดับที่ 1 และไม่นำลำดับ 2 และ 3 มาคิด) มีความเห็นว่าถูกปลงพระชนม์ 16 เสียง ปลงพระชนม์เอง 4 เสียง และอุบัติเหตุ 2 เสียง
แท้จริงแล้วการสรุปของประธานกรรมการชันสูตรพระบรมศพนั้นถูกต้องหรือไม่ ?
ในปัจจุบันการให้ความเห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การตายนั้น
แพทย์มักจะไม่ให้ความเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแพทย์ยังไม่มีข้อมูลอื่นประกอบเช่น ผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ผลการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ต่างๆ ประกอบคำให้การพยานบุคคล และพยานแวดล้อม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงคะแนนเสียงแล้วนำผลรวมของคะแนนเสียงมาเป็นข้อสรุปนั้น
ไม่มีแพทย์ที่มีสติปัญญาคนใดให้ความเห็นในลักษณะนี้ !!
การให้ความเห็นที่เหมาะสมจะต้องประกอบไปด้วยหลักฐาน และหลักวิชาการที่ถูกต้องรองรับความเห็นดังกล่าวเสมอ
ดังนั้น จึงไม่สามารถยืนยันพฤติการณ์สวรรคต และไม่สามารถตัดประเด็นใดออกไปได้โดยอาศัยข้อมูลจากการการตรวจศพเพียงอย่างเดียว
พบว่ามีแพทย์หลายท่านที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ความเห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การตาย โดยเฉพาะการลงคะแนนเช่นนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมติที่เป็นเอกฉันท์คือความเห็นเรื่อง บาดแผลทางเข้า-ทางออก และระยะยิงเท่านั้น
ส่วนความเห็นเรื่องพฤติการณ์การตายนั้นให้ความเห็นกันไปคนละทิศละทาง
โดยปรากฏว่า ที่ประชุมกรรมการชันสูตรพระบรมศพหลังจากชันสูตรพระบรมศพเสร็จนั้น มีพระยาดำรงแพทยาคุณ นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน นายแพทย์ชุบ โชติกเสถียร และนายแพทย์ใช้ ยูนิพันธ์ มีความเห็นว่าควรให้ความเห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การสวรรคตไปด้วย
แต่ก็ได้มีผู้ที่คัดค้านความเห็นในลักษณะดังกล่าว โดยมี นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ได้ให้ความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการชันสูตรพระบรมศพว่า
“โดยหลักแล้วเห็นว่าไม่สมควรแสดงความเห็นนอกไปจากที่แพทย์ควรแสดงต่อศาล คือ แสดงไปเท่าที่ตรวจพบเท่านั้น ไม่ต้องเลยไปถึงว่า แผลนั้นเกิดจากถูกฆ่าหรือฆ่าตัวตายแต่อย่างใด ”
และนายแพทย์นิตย์ เวชวิศิษฏ์ ได้ให้ความเห็นว่า
”เท่าที่เราตรวจพบและจะรายงานไป ก็ให้ความสว่างแก่คณะกรรมการสอบสวนและประชาชนมากอยู่แล้ว เช่นแต่ก่อนเข้าใจว่าถูกยิงจากข้างหลัง เราก็บอกได้แล้วว่าถูกยิงจากข้างหน้าออกทางข้างหลัง ในระยะติดหรือเกือบติดผิวหนัง ด้วยลูกปืนลูกเดียว และขนาดไหน บอกไปเท่านี้ก็น่าจะพอเป็นแนวทางให้คณะกรรมการสอบสวน ได้หลักฐานทางการแพทย์พอแล้ว ส่วนที่จะระบุลงให้ชัดนั้นควรต้องมีหลักฐานอื่นๆ ประกอบด้วย”
รวมไปถึง พ.ต.ท.เอ็จ ณ ป้อมเพชร ผู้ชำนาญการพิสูจน์หลักฐาน ก็ได้ให้ความเห็นต่อคณะกรรมการชันสูตรพระบรมศพด้วยเช่นกันว่า
“การที่จะลงความเห็นให้การวินิจฉัยถึงผลของการตรวจชันสูตรว่า เกิดเพราะเหตุอย่างใดนั้น อย่างนี้นั้น รู้สึกว่าจะเลยหน้าที่ไป เพราะการที่จะให้การวินิจฉัยว่าเกิดเหตุใดในเหตุ 3 อย่างนั้น เป็นเรื่องของทางศาล และทางตำรวจที่จะช่วยกันสืบค้นหากรณีแวดล้อม แพทย์น่าจะบอกได้แต่เพียงว่า แผลนั้นเป็นแผลซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะตนเองกระทำ หรืออาจเกิดจากผู้อื่นกระทำเท่านั้น”
นอกจากนี้ในศาลกลางเมือง ก็ยังมีทั้งตำรวจและแพทย์หลายท่านที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ความเห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การสวรรคต โยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะการลงคะแนนเช่นนี้
โดยตำรวจให้ความเห็นว่าการลงคะแนนของแพทย์นั้น ไม่ควรจะนำมานับในลักษณะเป็นลำดับขั้นของความเป็นไปได้ การที่แพทย์ลงพฤติการณ์ใดไว้บ้างก็จะถือว่ามีความเป็นไปได้ทั้งนั้น โดยไม่มีพฤติการณ์การสวรรคตใดที่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
นายแพทย์นิตย์ เวชวิศิษฏ์ ได้ให้การต่อศาลกลางเมืองในทำนองว่า ในที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรจะออกความเห็นถึงพฤติการณ์การสวรรคตด้วย
แต่นายแพทย์นิตย์แถลงต่อที่ประชุมว่า
ควรให้ความเห็นไปเท่าที่ตาเห็นเท่านั้น นอกจากนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สอบสวน การออกความเห็นเช่นนี้นายแพทย์นิตย์ไม่เคยเห็น นอกจากจะไปให้การที่ศาลแต่เพียงว่า แผลเป็นอะไร เข้าทางไหน ออกทางไหน ตายหรือไม่เท่านั้น ที่ไม่เห็นด้วยนั้นก็เพราะว่าไม่มีพยานหลักฐาน และสิ่งแวดล้อมมาประกอบ
นายแพทย์นิตย์เคยทำงานร่วมกับตำรวจที่สหรัฐอเมริกา ที่นั่นเขามีแพทย์คนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เฉพาะ สำหรับเหตุฆาตกรรม หรืออุบัติเหตุ ตำรวจและแพทย์จะต้องไปดูสิ่งต่างๆ ด้วยกันและออกความเห็นร่วมกัน
นายแพทย์สงัด เปล่งวานิช ได้ให้การต่อศาลกลางเมืองว่า การสันนิษฐานตามหลักนิติเวชวิทยาแล้ว ต้องอาศัยหลักฐานและกรณีแวดล้อมประกอบด้วย การให้ความเห็นนี้จะผิดหรือถูกก็ได้
นายแพทย์สงัดไม่ทราบว่าเขาจะนับคะแนน และการนับคะแนนดังที่เป็นมานั้น รู้สึกว่า การออกความเห็นแลกเปลี่ยนกันนี้ จะใช้วิธีลงคะแนนไม่ได้
เพราะกรรมการแต่ละคนนั้นเกือบทุกคนไม่มีความเห็นอย่างเดียว
ฉะนั้นการนับคะแนนรวมอาจจะไม่ถูกต้อง ตามความเห็นพยานแล้ว เห็นว่าไม่ควรนับคะแนนอย่างนี้
นายแพทย์ชูช่วง เสวตรุนทร ให้การต่อศาลกลางเมืองว่า
มีผู้มาบอกให้เขียนรายงานอย่างละเอียดและความรู้สึกของพยานด้วย รู้สึกไม่ชอบที่มีผู้มาให้เขียนรายงานอย่างนี้ โดยมีแพทย์บอกว่าให้เขียนให้เขาสักหน่อย พยานไม่กล้าเขียน พยานรู้สึกว่าเขาพูดเช่นนี้ไม่สมควร
หม่อมหลวงนายแพทย์เต่อ สนิทวงศ์ ให้การต่อศาลกลางเมืองว่า
ศพที่ถูกยิงตายนั้น จะต้องอาศัยที่ตั้งของบาดแผล ลักษณะของบาดแผล การสอบสวนข้อเท็จจริงของตำรวจ สถานที่เกิดเหตุ และสิ่งแวดล้อมประกอบ แพทย์ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้จึงจะยืนยันได้ จากการที่เคยเป็นพยานศาล จะให้การแต่เพียงว่า
แผลถูกอาวุธอย่างไร รักษากี่วันหาย จะพิการหรือไม่ ส่วนมากเป็นทำนองนี้ ไม่เคยให้ความเห็นว่าเป็นเพราะอุบัติเหตุ ยิงตัวเอง หรือถูกลอบยิง การให้ความเห็นเรื่องพฤติการณ์การสวรรคตนั้นเป็นความเห็นทางสันนิษฐานเท่านั้น
ทางที่ถูกที่ควรนั้น คณะกรรมการยังไม่ควรออกความเห็น เพราะจะต้องปรึกษากันเสียก่อน
นายแพทย์หลวงพิณพากย์พิทยาเพท ให้การต่อศาลกลางเมืองว่า
ความเห็นของแพทย์ ถ้ายังไม่ทราบข้อเท็จจริงแล้วก็ควรให้ความเห็นแต่ในทางแพทย์เท่านั้น ตามความจริงถ้าจะสันนิษฐานให้แน่นอน จะต้องทราบถึงกรณีแวดล้อมต่างๆ จากหลักฐานทางตำรวจประกอบ
นายแพทย์ต่วน จิระเศรษฐ์ ให้การต่อศาลกลางเมืองว่า การให้ความเห็นของตนนั้นให้ความเห็นว่า
1. อาจมีผู้ลอบปลงพระชนม์
2.อาจปลงพระชนม์เอง
3.อาจเป็นอุบัติเหตุ
ทั้ง 3 อย่างนี้มีนำหนักเท่าๆกัน ไม่ได้หมายความว่ามีน้ำหนักแตกต่างกันอย่างไร และเป็นการอาศัยหลักนิติเวชวิทยาจากอาศัยข้อมูลบาดแผลที่พระบรมศพ และบาดแผลที่ยิงทดลองศพ 2 อย่างนี้เท่านั้น และเพราะไม่ทราบข้อเท็จจริงอย่างอื่นๆ พอที่จะวินิจฉัยยืนยันได้
นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ได้ให้การต่อศาลกลางเมืองว่า
ในการประชุมของคณะกรรมการแพทย์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2489 นั้น ตนได้ออกความเห็นว่า
ตนไม่เชื่อว่า หลักฐานที่มีอยู่ในเวลานั้นเพียงพอที่จะขจัดเสียซึ่งปัญหาข้อหนึ่งข้อใดให้หมดสิ้นไปได้ ความเห็นที่ให้นั้นประกอบขึ้นจากหลักฐานเฉพาะที่ได้จากการตรวจพระบรมศพอย่างเดียว ในการที่จะให้ความเห็นสันนิษฐานในกรณีทำนองนี้ นอกจากหลักฐานที่เราจะตรวจได้จากศพแล้ว เราควรจะมีหลักฐานอย่างอื่นประกอบด้วย
จะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้วในเบื้องต้นความเห็นของแพทย์ในคณะกรรมการชันสูตรพระบรมศพทั้งหมด 20 คน เกือบทั้งหมด
ไม่มีใครตัดประเด็นการกระทำอัตวินิบาตกรรมออกเลย
ยกเว้น นพ.ชุบ โชติกเสถียร เพียงคนเดียว
และภายหลังแพทย์ที่ให้ความเห็นว่าท่าทางของพระบรมศพ และการไม่พบคาดาเวอร์ริก สปัสซั่ม นั้น จึงขัดแย้งกับการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจะกระทำพระองค์เองทั้งเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตามนั้น
ก็มีเพียงนายแพทย์ชุบ โชติกเสถียร นายแพทย์ใช้ ยูนิพันธ์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน ที่เบิกความเป็นพยานโจทย์ยืนยันในเรื่องดังกล่าว
ดังนั้นจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นความเห็นของแพทย์ส่วนใหญ่
ส่วนจะพฤติการณ์ใดจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลอื่นๆประกอบการพิจารณา เช่น พยานบุคคล พยานแวดล้อม ผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ผลการตรวจพิสูจน์อาวุธปืน ปลอกกระสุนปืน กระสุนปืน เนื่องจากข้อมูลการตรวจศพนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของภาพใหญ่เท่านั้น
ตัวอย่างความเห็นที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการนำมาใช้บอกว่าเป็นการกระทำโดยบุคคลอื่น
- ท่าทางของพระบรมศพ และการไม่พบคาดาเวอร์ริก สปัสซั่ม เป็นการกระทำตนเองไม่ได้
- ตำแหน่งบาดแผลทางเข้าบริเวณหน้าผาก เป็นตำแหน่งที่กระทำยาก ส่วนใหญ่มักยิงที่ขมับ หรือปาก
- วิถีกระสุนปืนบนลงล่างเข้าได้กับถูกคนอื่นลอบปลงพระชนม์ทางเบื้องพระเศียร สอดคล้องกับผลการทดลองยิงศพที่ รพ.ศิริราช และคนฆ่าตัวตายมักจะพบวิถีกระสุนเฉียงขึ้น
- กระสุนปืนของกลางที่พบที่ฟูกนั้น ไม่บู้บี้เหมือนอย่างกระสุนที่ทดลองยิงศพที่ รพ.ศิริราช จึงเชื่อว่าไม่ใช่กระสุนที่ผ่านกะโหลกพระเศียร
- ปืนไม่ควรตกอยู่บริเวณด้านซ้ายของพระวรกาย เพราะพระองค์ถนัดพระหัตถ์ขวา ได้แก่ความเห็นของนายแพทย์สุด แสงวิเชียร
- ถ้ากระทำอัตวินิบาตกรรม จะไม่ทรงเสวยโอสถก่อนสวรรคต ได้แก่ความเห็นของนายแพทย์ชุบ โชติกเสถียร
ตัวอย่างความเห็นเหล่านี้ สามารถหาข้อมูลได้จากคำให้การของแพทย์ต่อศาลกลางเมืองในบันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคต ร.8 โดยเฉพาะความเห็นของนายแพทย์ชุบ โชติกเสถียร ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจไม่น้อย
เพราะจากคำให้การของนายแพทย์ชุบ โชติกเสถียร ต่อศาลกลางเมืองก็พบว่า
ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช ไม่เคยชันสูตรกรณีการตายที่เกิดจากกระสุนปืนเลย และยังไม่เคยเป็นพยานศาลในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องบาดแผลกระสุนปืนเลย
แต่กลับกล้ายืนยันให้ความเห็นในลักษณะนี้
ผู้เขียนจะขอโต้แย้งเฉพาะความเห็นเรื่องท่าทางพระบรมศพ คาดาเวอร์ริก สปัสซั่ม ตำแหน่งบาดแผลทางเข้าของกระสุนปืน และวิถีกระสุนที่นำมาใช้ในคดีสวรรคตนี้เท่านั้น
ท่าทางของพระบรมศพ และการไม่พบคาดาเวอร์ริก สปัสซั่ม
หากศึกษาคำพิพากษาศาลอาญาจะพบว่ามีการนำความเห็นเรื่องคาดาเวอร์ริก สปัสซั่มไปใช้ในกระบวนการพิจารณาคดีโดยอ้างว่า การที่ไม่พบคาดาเวอร์ริก สปัสซั่ม ในพระบรมศพนั้นเป็นการยืนยันได้ว่าการสวรรคตไม่ได้เกิดจากการกระทำพระองค์เอง
เพราะหากเกิดจากการกระทำพระองค์เอง ท่าทางที่สะดวกที่สุดหรือเป็นไปได้มากที่สุดคือท่าทางที่จับปืนด้วยมือ 2 ข้าง และหันปากกระบอกปืนเข้าหาตัว และใช้นิ้วโป้งเหนี่ยวไก
ดังนั้นเมื่อสมองถูกทำลายไปในขณะที่ยังอยู่ในท่าทางดังกล่าว ก็จะต้องเกิดการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อในท่าทางนั้นด้วย
คือ จะต้องพบแขนงอ มือกำปืนแน่น หรือปืนต้องตกอยู่บริเวณศีรษะ และแข็งเกร็งอยู่เช่นนั้น
นายแพทย์ที่สนับสนุนความเชื่อนี้ได้แก่ นายแพทย์ชุบ โชติกเสถียร นายแพทย์ใช้ ยูนิพันธ์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงคาดาเวอร์ริก สปัสซั่ม ว่าแท้จริงแล้วคืออะไร นำมาใช้ได้หรือไม่ในการวิเคราะห์พฤติการณ์การสวรรคต
คาร์ดาเวอร์ริก สปัสซั่ม (Cadaveric spasm) คือ ชื่อเรียกลักษณะการแข็งตัวของกล้ามเนื้อภายหลังการตายอย่างฉับพลัน
ซึ่งแตกต่างจากการแข็งตัวของกล้ามเนื้อภายหลังการตายที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆเมื่อเวลาผ่านไป (Rigor mortis)
นายแพทย์สุด แสงวิชียร กล่าวถึงตำรานิติเวชวิทยาที่เขียนโดย Sydney Smith ได้บรรยายเกี่ยวกับคาดาเวอร์ริก สปัสซั่มว่า
ธรรมชาติของคาดาเวอร์ริก สปัสซั่มนั้นยังไม่ชัดแจ้ง และอธิบายว่าอาจเกิดเช่นกลไกเดียวกับไรกอร์ มอร์ติส คือการลดลงของ ATP หากในกล้ามเนื้อมี ATP สะสมไม่เพียงพอก็อาจเกิดการแข็งตัวของกล้ามเนื้อในลักษณะของ คาดาเวอร์ริก สปัสซั่มได้
แต่เนื่องจากนายแพทย์สุด แสงวิเชียร เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกายวิภาคศาสตร์ จึงได้พยายามหาคำอธิบายกลไกการเกิดคาดาเวอร์ริก สปัสซั่มในแนวของประสาทวิทยา โดยกล่าวสรุปคือ
เมื่อสมองส่วน Motor area สั่งการผ่านก้านสมอง ผ่านไขสันหลัง ไปยังกล้ามเนื้อให้หดตัว กล้ามเนื้อก็จะหดตัว และหากกล้ามเนื้อมัดนั้นจะคลายตัวได้ สมองส่วน Suppressor area ก็จะต้องสั่งการให้กล้ามเนื้อมัดนั้นคลายตัวด้วยเสมอ
ดังนั้นหากสมองส่วน Motor area และ Suppressor area ถูกทำลายไปในขณะที่กล้ามเนื้อมัดนั้นยังหดตัวอยู่ ก็จะไม่มีการสั่งการให้เคลื่อนไหวต่อไปได้อีกจากการที่ Motor area ถูกทำลาย รวมถึงไม่เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อมัดนั้นจากการที่ Suppressor area ถูกทำลายด้วยเช่นกัน ลักษณะการแข็งตัวของกล้ามเนื้อในขณะที่สมองส่วนดังกล่าวถูกทำลายไปนั้นก็คือ คาดาเวอร์ริก สปัสซั่ม
ในภายหลัง นพ.สุด แสงวิเชียร ได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ Cadaveric spasm เพิ่มเติม
แต่ท่านกลับพบว่า Cadaveric spasm นั้นไม่อาจยืนยันได้ว่า
จะพบในทุกรายที่มีการยิงตัวตาย
นายแพทย์สุด แสงวิเชียรจึงได้ทำการทดลองการเกิดคาดาเวอร์ริก สปัสซั่ม โดยการสะกดจิต ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้เกิดความกระจ่างต่อกลไกการเกิดคาดาเวอร์ริก สปัสซั่มแต่อย่างใด
นอกจากนี้ นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน ยังแสดงความเห็นแย้งว่า คาดาเวอร์ริก สปัสซั่มอาจจะไม่พบได้ แม้เป็นการยิงตัวตาย หากสมองส่วน Basal ganglia ถูกทำลายไปด้วย
นอกจากนี้ พ.ต.ท.เอ็จ ณ ป้อมเพ็ชร์ ก็ยังได้พยายามนำตำรานิติเวชวิทยาในต่างประเทศมาแปลและนำสืบเพื่อหักล้างการใช้คาดาเวอร์ริก สปัสซั่ม โดยชี้ให้เห็นว่า
การยืนยันว่าหากกระทำพระองค์เองจะต้องพบคาดาเวอร์ริก สปัสซั่มเสมอไป นั้นไม่ถูกต้อง
สอดคล้องกับปัจจุบัน คาดาเวอร์ริก สปัสซั่ม นั้นก็อธิบายได้เพียงว่าเป็นลักษณะเกิดการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างฉับพลันหลังตายเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากกลไกใดกันแน่ และยังไม่มีการทดลองใด หรืองานวิจัยใดที่สามารถอธิบายกลไกการเกิด คาดาเวอร์ริก สปัสซั่ม ได้อย่างสมเหตุสมผล
นอกจากนี้ ในกรณีที่ตายและสมองไม่ได้ถูกทำลายอย่างทันทีก็ยังสามารถพบ คาดาเวอร์ริก สปัสซั่ม ได้เช่นกรณี จมน้ำตาย ได้ เช่น การพบมือกำเศษพืชน้ำอยู่แน่น ซึ่งเป็น คาดาเวอร์ริก สปัสซั่ม ที่พบได้บ่อยกว่าการยิงตัวตายด้วยซ้ำ
การกล่าวว่าหากยิงตัวตายแล้วจะต้องพบลักษณะของ คาดาเวอร์ริก สปัสซั่ม โดยจะต้องพบแขนงอ มือกำปืนแน่นนั้น
เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักฐานในทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในสากลประกอบความคิดเห็นนั้น
และในทางปฏิบัติการยิงตัวตายโดยส่วนใหญ่ ก็ไม่พบลักษณะของคาดาเวอร์ริก สปัสซั่มด้วยซ้ำ
สอดคล้องกับผลการสำรวจของ DiMaio แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชจากสหรัฐอเมริกาได้รายงานสถิติการยิงตัวตายด้วยปืนสั้น พบว่า
ผู้ตายกำปืนอยู่ในมือเพียง 25.7% เท่านั้น และสามารถพบปืนห่างออกจากตัวไปได้หลากหลายระยะ
นอกจากนี้ยังพบว่าในกรณีการยิงตัวตายในท่านอน หรือลำตัวค่อนข้างขนานกับแนวระนาบนั้นก็พบลักษณะแขนทอดตัวอยู่ข้างลำตัวได้เป็นจำนวนไม่น้อย
 
เกี่ยวกับเรื่องท่าทางดังกล่าวนี้ มีความเห็นที่น่าสนใจคือ นายแพทย์อวย เกตสิงห์ ได้ให้ความเห็นว่า ถ้ากำลังของปืน (แรงถีบ)มากกว่าอาการแข็งเกร็ง และถ้าเป็นการปลงพระชนม์พระองค์เองแล้ว พระแสงปืนจะลั่นออก แรงสะบัดของปืนอาจทำให้พระกรทั้งสองข้างตกไปอยู่ยังที่ที่พยานโจทย์เห็น หรืออาจตกไปอยู่แถวพระวรกาย ซึ่งอาจตกตรงที่ลาดแล้วเลื่อนลงไปก็ได้
ดังที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า คาดาเวอร์ริก สปัสซั่ม นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะนำไปใช้ยืนยันได้เลยว่าหากเป็นการกระทำโดยตนเองแล้วจะต้องพบเสมอไป เช่นเดียวกับการยิงตัวตายในทางนอนและใช้มือสองข้างจับปืน และเหนี่ยวไกด้วยนิ้วโป้ง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพบแขนงอตกอยู่ข้างลำตัว ปืนต้องตกอยู่ข้างลำคอ ตามที่กล่าวอ้าง ในความเป็นจริงแล้วสามารถพบแขนตกอยู่ข้างลำตัว และปืนนั้นจะตกอยู่ห่างจากมือเพียงไรก็ได้
ตำแหน่งบาดแผลทางเข้าบริเวณหน้าผาก เป็นตำแหน่งที่กระทำยาก ส่วนใหญ่มักยิงที่ขมับ ปาก
ผู้ที่สนับสนุนความเชื่อเหล่านี้ได้แก่ ความเห็นของ หม่อมหลวงนายแพทย์เกษตร สนิทวงศ์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร และนายแพทย์ใช้ ยูนิพันธ์
แท้จริงแล้วบาดแผลทางเข้าของกระสุนปืนบริเวณหน้าผากจากการยิงตัวตายนั้นสามารถพบได้ไม่น้อย
อ้างอิงได้จากการศึกษาของ DiMaio และคณะในปี 2013 พบว่าตำแหน่งการยิงตัวตายด้วยปืนสั้นบริเวณช่วงศีรษะนั้นพบว่ามีการยิงบริเวณหน้าผากได้ถึง 6% ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยในประเทศไทยของวิรุจน์ คุณกิตติ และนิภา นุศรีอัน ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยศึกษาระหว่างปี พ.ศ.2547 ถึง ปี พ.ศ.2553 ซึ่งพบว่ามีการยิงตัวตายบริเวณหน้าผากประมาณ 5.9%
 
นอกจากนี้ยังสามารถพบกรณีตัวอย่างการยิงตัวตายบริเวณศีรษะที่พบได้ในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย
กรณีตัวอย่างการยิงตัวตายบริเวณหน้าผาก
1. กรณีทหารยิงตัวตายบริเวณหน้าผาก ทะลุออกท้ายทาย ระยะยิงเป็นระยะประชิดติดผิวหนัง พบแผลฉีกขาดรูปดาว ดินปืนติดใต้แผลและขอบกะโหลกเป็นปริมาณมาก
 
 
2. กรณีตำรวจ สภ.นาจอมเทียน จ.ชลบุรี ยิงตัวตายบริเวณหน้าผาก
3. กรณีชายถ่ายทอดสดยิงตัวตายบริเวณหน้าผาก แสดงให้เห็นท่าทางการจับปืนในลักษณะใช้สองมือจับ และใช้นิ้วโป้งเหนี่ยวไก
4. กรณีนักธุรกิจใน จ.สงขลา ยิงตัวตายในบ้านพักสืบเนื่องจากความเครียดและปัญหาด้านธุรกิจ
5. กรณีตำรวจ จ. ตรัง ยิงตัวตายบริเวณหน้าผากหลังจากยิงภรรยาเนื่องจากปัญหาภายในครอบครัว
6. กรณีสามียิงตัวตายบริเวณหน้าผากหลังจากฆ่าภรรยา
7. กรณีชาวอิตาลียิงหน้าผากตัวเองหลักจากยิงภรรยาเก่า
ท่าทางที่ถนัดในการยิงตัวตายบริเวณหน้าผาก
หากต้องการยิงตัวเองบริเวณหน้าผาก ท่าทางการยิงที่ง่ายและสะดวกคือการจับปืนในลักษณะใช้สองมือจับด้านปืนหันปากกระบอกปืนเข้าหาหน้าผากและใช้นิ้วโป้งเหนี่ยวไกปืน
เช่น กรณีหนุ่มโตโยต้าถ่ายทอดสดการยิงตัวตายนั้นก็พบว่าผู้ตายยิงตัวตายบริเวณหน้าผากและ จับปืนในลักษณะดังกล่าว
และยังสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ พ.ต.ท.ประสงค์ ลิ่มอักษร พนักงานสอบสวนที่ได้ให้ความเห็นไว้ในศาลกลางว่าตำแหน่งบาดแผลกระสุนปืนทางเข้าบริเวณหน้าผากที่พบในพระบรมศพนั้น สามารถเกิดจากการกระทำตนเองโดยพระองค์เองได้ไม่ยาก
โดยให้นักข่าวจำลองท่าทางการยิงในลักษณะสองมือในการจับปืนจับด้ามปืน แล้วใช้นิ้วโป้งเหนี่ยวไกปืน พบว่าเป็นท่าทางที่ทำได้สะดวก
ซึ่งได้แสดงให้นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ดูด้วยในระหว่างที่ให้การต่อศาลกลางเมือง
ซึ่งนายแพทย์สุดแสงวิเชียรก็ได้ให้การรับรองว่าสามารถกระทำได้โดยง่าย
และเช่นเดียวกับที่ศาลอาญาบรรยายไว้ตอนหนึ่งว่า
เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งบาดแผลทางเข้ากระสุนปืนระยะประชิดบริเวณหน้าผาก หากเป็นการยิงตัวตายนั้นการจับปืนที่สะดวกจะต้องจับปืนด้วยมือสองข้าง จรดหน้าผาก แล้วเหนี่ยวไกด้วยนิ้วโป้ง
ข้อสรุปของบาดแผลทางเข้ากระสุนปืนบริเวณหน้าผาก คือ สามารถพบบาดแผลทางเข้ากระสุนปืนบริเวณหน้าผากได้ในการยิงตัวตายไม่น้อย และสามารถกระทำได้โดยสะดวก โดยการใช้สองมือจับด้ามปืน หันปากกระบอกปืนจรดหน้าผาก และเหนี่ยวไกด้วยนิ้วโป้ง
วิถีกระสุนปืนบนลงล่างเข้าได้กับถูกคนอื่นลอบปลงพระชนม์ทางเบื้องพระเศียร สอดคล้องกับผลการทดลองยิงศพที่ รพ.ศิริราช และคนฆ่าตัวตายมักจะพบวิถีกระสุนเฉียงขึ้น
ผู้ที่มีความเชื่อเช่นนี้ได้แก่ความเห็นของนายแพทย์ชุบ โชติกเสถียร โดยอ้างอิงว่าคนฆ่าตัวตายนั้นมักพบวิถีกระสุนปืนในลักษณะเฉียงขึ้น และอ้างอิงว่าวิถีกระสุนบนลงล่างนั้นสอดคล้องการวิถีกระสุนในศพที่ทดลองยิงที่ รพ.ศิริราชที่ยิงจากทางด้านศีรษะ ต่อมาความเชื่อนี้ถูกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เสรี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2489
ก่อนจะพิจารณาเรื่องวิถีกระสุนบนลงล่าง จะต้องมีความเข้าใจก่อนว่าปากกระบอกปืนนั้นจรดหน้าผากในลักษณะใด
หากพิจารณาจากรอบประทับกับปากกระบอกปืนที่พบบริเวณบาดแผลที่หน้าผากนั้น เห็นได้ว่าปากกระบอกปืนจะต้องจรดติดกับหน้าผากเสมอทุกด้าน จึงเกิดรอยถลอกฟกช้ำจากการประทับทั้งด้านบนและด้านล่าง
และเมื่อเทียบกับตำแหน่งของรูกระสุนปืนแล้วก็จะสามารถบอกได้ด้วยว่าปากกระบอกปืนกระทำต่อผิวหนังบริเวณหน้าผากในลักษณะด้ามปืนชี้ลงล่าง ดังรูปจำลองด้านล่าง
จากรูปตัวอย่างด้านบนจะเห็นได้ว่า เมื่อปากกระบอกปืนแนบชิดหน้าผากในลักษณะตั้งฉากและมีการสัมผัสกันทุกด้าน ทิศทางของกระสุนปืนก็จะมีวิถีกระสุนวิ่งจากหน้าผากออกท้ายทอยในลักษณะบนลงล่างเสมอ ซึ่งสอดคล้องกับวิถีกระสุนในพระบรมศพ
การอ้างว่าวิถีกระสุนบนลงล่างที่พบในพระบรมศพนั้น สอดคล้องกับการทดลอบยิงศพที่ รพ.ศิริราชจากด้านศีรษะนั้น เป็นการอ้างที่ไม่ถูกต้อง เพราะสมมติฐานที่ตั้งไว้ก่อนการทดลองคือการหาระยะยิงเท่านั้น
และการทดลองดังกล่าวก็ไม่ได้ทำการทดลองในลักษณะการยิงตัวเอง ดังนั้นการอ้างอิงเหตุผลดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการทดลอง
นอกจากนี้หากพิจารณาถึงตำแหน่งที่พบปลอกกระสุนปืนทางด้านซ้ายของพระแท่นบรรทม ร่วมกับลักษณะร่องรอยประทับกับปากกระบอกปืนที่ปรากฏบริเวณตำแหน่งบาดแผลที่พระนลาฏแล้วล้วนแต่ไม่สอดคล้องกับการยิงทางเบื้องพระเศียรเลย
นอกจากนี้สิ่งที่ต้องพิจารณาอีกประการคือความสูงของพนักแท่นบรรทมนั้นสามารถกระทำการยิงจากทางเบื้องพระเศียรในลักษณะปากกระบอกปืนแนบชิดกับพระนลาฏได้หรือไม่
ดังปรากฏในคำพิพากษาศาลอาญาอ้างอิงว่าพนักเบื้องพระเศียรนั้นมีความสูง 1.01 เมตรเท่านั้น แท้จริงแล้วเมื่อตรวจสอบข้อมูลหลายๆอย่างพบว่าเป็นไปไม่ได้เลยว่าพนักเบื้องพระเศียรจะมีความสูงเพียง 1.01 เมตร
โดยเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนจำลองของร่างกายมนุษย์กับรูปถ่ายพระแท่นบรรทมโดยใช้ระยะความสูงของพนักแท่นบรรทมที่ศาลอาญาอ้างอิงนั้น จะทำให้สัดส่วนของห้องบรรทม พระแท่นบรรทม และตู้ข้างพระแท่นมีสัดส่วนเล็กกว่าร่างกายของมนุษย์อย่างมาก
นอกจากนี้อ้างอิงจากหนังสือกรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489 ของนพ.สรรใจ แสงวิเชียร เกี่ยวกับระยะความสูงของพระแท่นจากพื้นมีระยะ 55 ซม. และความหนาของฟูกมีระยะ 16.5 ซม. ซึ่งคุณกังวาฬ พุทธิวนิชได้นำมาสร้างแบบจำลองถึงระยะจากพื้นถึงฟูกคือ 71.5 ซม.
จากรูปจำลองดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสัดส่วนของระยะจากพื้นถึงฟูกที่นอน กับระยะจากฟูกที่นอนถึงจุดสูงสุดของพนักเบื้องพระเศียรนั้นมีสัดส่วนใกล้เคียงกันมาก
ดังนั้นระยะจากพื้นจนถึงจุดสูงสุดของพนักเบื้องพระเศียรจึงมีระยะเป็น 2 เท่าของระยะจากพื้นถึงฟูกเช่นกัน
ซึ่งก็ควรจะใกล้เคียง 140 ซม. ซึ่งสอดคล้องกับที่คุณกังวาฬ พุทธิวนิชว่าหากอ้างอิงลักษณะของเตียงที่สร้างขึ้นในยุคสมัยนั้น เตียงส่วนใหญ่ก็มักจะมีพนักเบื้องศีรษะสูงเกินกว่า 140 ซม.ทั้งสิ้น
การที่ศาลอาญาอ้างอิงว่าพนักเบื้องพระเศียรสูงจากพื้นเพียง 1.01 เมตรนั้นจึงไม่น่าจะถูกต้อง
และเมื่อคำนึงว่าหากพนักเบื้องพระเศียรน่าจะสูงเกินกว่า 140 ซม.แล้ว จากการสร้างเตียงจำลองของคุณกังวาฬ พุทธิวนิชก็จะทำให้เราสังเกตได้ว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเอื้อมมือยิงจากเบื้องพระเศียรในลักษณะที่ปลายกระบอกปืนแนบชิดกับพระนลาฏ
กระสุนปืนของกลางที่พบที่ฟูกนั้น ไม่บู้บี้เหมือนอย่างกระสุนที่ทดลองยิงศพที่ รพ.ศิริราช จึงเชื่อว่าไม่ใช่กระสุนที่ผ่านกะโหลกพระเศียร
ความเห็นนี้มาจากความเห็นของนายแพทย์ใช้ ยูนิพันธ์ ที่แสดงความเห็นไว้ต่อศาลกลางเมือง
แท้จริงแล้ว ไม่จำเป็นว่าหากกระสุนปืนผ่านกะโหลกศีรษะแล้วจะต้องมีลักษณะผิดรูปเสมอไป โดยอาจผิดรูปได้มาก หรือน้อย หรือไม่ผิดรูปก็ได้
ดังเช่น พ.ต.ท.เอ็จ ณ ป้อมเพ็ชร์ ผู้ชำนาญการพิสูจน์หลักฐาน ได้แสดงความเห็นไว้ต่อศาลอาญาว่า กระสุนที่ผ่านกะโหลกศีรษะคน บู้มาก บู้น้อย ไม่บู้เลยก็มีนั้น ได้เบิกความตามที่ตนผ่านมา เมื่อเรียนมาทางนี้และเคยตรวจหลักฐานเช่นนี้อยู่ แม้แต่หัวกระสุนปืนที่ทดลองยิงศพที่โรงพยาบาลศิริราชในระยะเดียวกัน เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผิดกัน บู้มากบ้าง น้อยบ้าง หัวกระสุนเหล่านี้แสดงว่า เมื่อผ่านกะโหลกศีรษะแล้วมีรอยผิดๆกัน หัวกระสุนของกลางก็บู้เหมือนกัน แต่บู้น้อยเท่านั้น
และ พ.ต.ท.จำรัส ฟอลเล็ต เบิกความในศาลอาญาว่า หัวกระสุนปืนของกลางบุบเล็กน้อย หัวกระสุนปืนรูปที่ 3 ที่ทดลองยิงศพ บุบมากกว่าหัวกระสุนปืนของกลางมากนิดหน่อยเท่านั้น
กรณีตัวอย่างด้านล่างเป็นกรณียิงตัวตายระยะประชิดเช่นกัน
นอกจากนี้กระสุนยังทะลุประตูตู้เสื้อผ้าอีกด้วย แต่ก็ไม่พบว่าหัวกระสุนมีลักษณะผิดรูปจนสังเกตได้แต่อย่างใด ตามที่ นพ.ใช้ ยูนิพันธ์ ตั้งข้อสังเกต หรือตามที่ศาลนำไปใช้ประกอบการพิจารณาว่ากระสุนปืนของกลางที่เก็บได้ที่ฟูกที่นอนนั้นไม่ใช่นัดที่ผ่านกะโหลกพระเศียรจึงไม่ถูกต้อง
ดังนั้น การสรุปว่าหัวกระสุนปืนของกลางที่พบในฟูกที่นอนนั้นไม่ใช่กระสุนที่ผ่านกะโหลกพระเศียรจึงไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคำให้การของ พ.ต.ท.เอ็จ ณ ป้อม เพ็ชร์ ก็ยืนยันว่าหัวกระสุนปืนของกลางดังกล่าวก็บู้เช่นกัน เพียงแต่น้อยเท่านั้น
* * * * * *
ดังนั้นการนำความเห็นของแพทย์บางส่วน
ในอดีตโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นของ
แพทย์ที่โจทก์เลือกใช้ประกอบการฟ้อง
จำเลยทั้งสามนั้น
ต่างก็เป็นเพียงเฉพาะความเห็นของแพทย์ที่เป็นประโยชน์ต่อการฟ้องของโจทก์เท่านั้น
มิใช่ความเห็นของแพทย์ส่วนใหญ่ในคณะกรรมการชันสูตรพระบรมศพดังที่กล่าวอ้างกันเสียใหญ่โต
อีกทั้งยังเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการทั้งเรื่องของท่าทางของพระบรมศพ
หรือการไม่ปรากฏคาดาเวอร์ริกสปัสซั่ม เรื่องวิถีกระสุน ที่กล่าวอ้างว่าขัดแย้งกับการกระทำตนเอง
รวมไปถึงลักษณะหัวกระสุนที่กล่าวอ้างว่าไม่ได้ผ่านกะโหลกพระเศียร
หากผู้ใดต้องการจะวิเคราะห์พฤติการณ์การสวรรคตนั้น
ก็ควรกลับมาทบทวนให้ดีว่าสิ่งที่นำมาอ้างอิงกันตลอดเกือบ 80 ปีนั้นถูกต้องหรือไม่ ?
โฆษณา