2 ส.ค. 2021 เวลา 18:16 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
“ย่อท้อต่อชะตา ใช่ว่าแพ้”
บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง Big Fish
ถ้าคุณมีโอกาสได้เห็นความตายของคุณล่วงหน้า โดยที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงมันได้ แม้ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม
เหมือนถูกสปอยตอนจบของหนังเรื่องนั้นไปเรียบร้อยแล้ว คุณจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไร?
ถ้ายังนึกไม่ออก ผมขอแนะนำภาพยนตร์เรื่อง ‘Big Fish’ ผลงานกำกับของเจ้าพ่อหนังแฟนตาซีอย่าง Tim Burton ผู้ถ่ายทอดหนังได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยฉากหลุดโลกและตัวละครสุดประหลาดล้ำ
เนื้อเรื่องถูกดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกัน เขียนโดย Daniel Wallace นักเขียนชาวอเมริกัน มีฉบับแปลไทยในชื่อ ‘พ่อของผม’
เรื่องราวเริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าของชายชรา นาม 'เอ็ดเวิร์ด บลูม' ผู้ซึ่งเกิดและเติบโตขึ้นในเมืองชนบทของรัฐอลาบาม่า อันปกคลุมไปด้วยความพิลึกพิลั่นสารพัน
ทั้งนัยน์ตาแม่มดที่ส่องเห็นอนาคต ชายร่างยักษ์เดี่ยวดายในถ้ำกลางป่า หรือแม้แต่วัยหนุ่มฉกรรจ์ของ เอ็ดเวิร์ด บลูม ที่โลดโผนโจนทะยานอย่างไม่น่าเชื่อ
และเมื่อทุกสิ่งถูกกาลเวลากลืนกิน เรื่องราวทั้งหมดจึงกลายเป็นเพียงตำนาน เป็นนิทาน เป็นเรื่องเล่าขานที่ไม่อาจหาข้อพิสูจน์ได้ จึงไม่แปลก หากวันหนึ่งลูกชายของ เอ็ดเวิร์ด จะเริ่มตั้งคำถามถึงความไร้สาระในเรื่องเล่าเหล่านั้น
1.โปรดระวังช่องว่างระหว่างวัย (และระหว่างจอ)
เชื่อว่าไม่ใช่แค่ วิลล์ บลูม ลูกชายของ เอ็ดเวิร์ด เท่านั้นที่กังขาในเรื่องเล่า ผู้ชมเองก็น่าจะรู้สึกเช่นกัน ว่าสิ่งไหนเป็นความจริง สิ่งไหนเป็นความลวง และนี่แหละคือสิ่งที่หนังเรื่องนี้ต้องการ
จะเห็นได้ว่า หนังพยายามผนวกเรื่องมหัศจรรย์หลอมรวมกับโลกแห่งความเป็นจริง ให้ผสมกลมกลืนเสมือนเป็นโลกเดียวกัน จนแยกยาก ตามกลวิธีแบบ Magical Realism หรือ สัจนิยมมหัศจรรย์ ทั้งอาศัย การเล่าด้วย มุขปาฐะ ซึ่งต้องใช้ความจำเป็นหลักด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เรื่องราวน่าสนใจและสมจริงมากยิ่งขึ้น
นี่เองที่เป็นชนวนเหตุสำคัญของเรื่อง ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างคนสองวัย นำมาซึ่งการปะทะคารมกันของพ่อลูกอย่างรุนแรง จนเกือบถึงขั้นตัดขาดกัน จากภาพจำในวัยเด็กของ วิลล์ ที่มีพ่อเป็นเซลล์แมน อยู่ติดบ้านได้น้อยวัน จึงมักพลาดช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตเขา นานวันเข้าจึงกลายเป็นความเหินห่าง เรื่องอัศจรรย์นานาที่พ่อเคยสรรหามาเล่า สำหรับเขาเมื่อโตขึ้น มันจึงแปรเปลี่ยนกลายเรื่องโกหกที่พ่อกุขึ้นเพื่อปกปิดการกระทำในอดีตก็เท่านั้นเอง
และเมื่อเรื่องดำเนินไปด้วยการตั้งแง่เช่นนี้ องค์ประกอบสำคัญที่หนังขาดไม่ได้อีกอย่าง นั่นก็คือผู้ชม ที่จะคอยให้น้ำหนักกับเรื่องเล่าต่างๆอยู่ในใจ ว่าอย่างไหนควรเชื่อถือมากกว่ากัน เป็นการถมเติมช่องว่างระหว่างตัวหนังกับคนดูให้เต็ม ซึ่งย่อมลดหลั่นกันไปตามความคิดของแต่ละคน ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับว่า คุณเลือกจะเชื่อสิ่งนั้นสิ่งนี้อย่างไร
2.ธรรมดาโลกไม่จำ
บรรดาสิ่งละอันพันละน้อย ที่ เอ็ดเวิร์ด บลูม กล่าวไว้ในเรื่องเล่า ล้วนแล้วแต่เกินจริงไปเสียหมด จนทำให้เขาถูกจัดเป็นคนประเภทที่ว่า “ธรรมดาโลกไม่จำ” หรือไม่ก็พวก “ขี้คุย”
ความกล้าบ้าบิ่นผิดมนุษย์ นับแต่วัยหนุ่มที่หาญกล้าอาสาไปปราบยักษ์ บุกตะลุยเดินผ่านทางผีดุคนเดียว ยอมทำงานหนักในคณะละครสัตว์ เพียงเพื่อคำใบ้ของโฉมงามที่ตนหลงรัก ตลอดจนอ้อนวอนขอความรักจากหญิงสาวด้วยทุ่งดอกแดฟโฟดิลเหลืองอร่ามเต็มลานหน้าหอพักมหาวิทยาลัย
แม้ว่าทุกสิ่งจะฟังดูเกินจริง และยากจะเชื่อ แต่หลักฐานที่ช่วยยืนยันได้ดีคือความรักมั่นมิเสื่อมคลายของ แซนดร้า บลูม ภรรยาของเขา หรือแม้แต่ผู้คนในคำบอกเล่าทั้งหลาย ที่แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าเป็นกัลยาณมิตรเสมอมา ดังจะเห็นได้จากฉากใกล้จบของเรื่อง ที่อาจเรียกเอาน้ำตาออกมาคลอหน่วย กันแบบไม่รู้ตัวเลยทีเดียว
3.เท็จ / จริง เป็นสิ่งไม่ตาย
เรามักปักธงไว้ว่าทุกสิ่งที่ตรงข้ามกับความจริงคือสิ่งลวง และไม่ควรจดจำ แต่เหมือน Big Fish จะให้คำตอบที่แตกต่าง
ดังเห็นได้จาก ตัวเอกอย่าง เอ็ดเวิร์ด บลูม ที่เมื่อได้รู้จุดจบของตัวเองแล้ว แทนที่จะคร่ำครวญหวนไห้ เขากลับเลือกทำในสิ่งที่อยากทำ ใช้ชีวิตโลดโผนในแบบที่อยากใช้ ไม่ตีกรอบความคิดตัวเอง รวมทั้งสลายเส้นแบ่งความจริงความลวงในใจของเขาด้วย
เราอาจมองว่าเขาเป็นนักปั้นน้ำปั้นเรื่องที่เก่งคนหนึ่ง แต่แท้จริงแล้ว เขาแค่กำลังขอเลือกตอนจบของชีวิต ในแบบที่ตัวเองต้องการมากกว่า มากกว่าให้มานั่งรอโชคชะตาฟ้าลิขิต หากความลวงความเท็จทั้งหลายนั้นทำให้เขาและคนรอบข้างมีความสุข ความเท็จหรือความจริงนั้น ก็อาจควรค่าแก่การจดจำด้วยกันทั้งคู่มิใช่หรือ?
 
แม้สุดท้าย จะไม่มีสิ่งใดมาลบล้างความจริง ที่เกิดขึ้นจริงไปได้ก็ตาม
โฆษณา