3 ส.ค. 2021 เวลา 12:55 • นิยาย เรื่องสั้น
บทวิจารณ์หนังสือ เพลงรักนิวตริโน
"เพลงรักนิวตริโน รักร้าว หรือกาวของกาลเวลา"
หากรักคือแรงขับเคลื่อนและผลักดันอันมหาศาลของมนุษย์ เป็นรูปพลังงานหนึ่งซึ่งไม่อาจอธิบายด้วยคำพูดใด 'อนุสรณ์ ติปยานนท์' คือนักเขียนที่เลือกนิยามความรัก ด้วยอนุภาคนิวตริโน
อนุภาคที่เล็กและบริสุทธิ์ มีอำนาจทะลุทะลวงสูง ยากที่จะดักจับ หรือยากเสียยิ่งกว่าเมื่อเป็นความรัก
นั่นเพราะหัวใจของเราอาจไม่ทรงพลังมากพอ ที่จะดักรอทุกรักที่ผ่านเข้ามา
เพลงรักนิวตริโน เป็นนวนิยายลำดับที่สี่ ของนักเขียนหนุ่มนาม อนุสรณ์ ติปยานนท์ เจ้าของฉายา 'มูราคามิเมืองไทย' นับจาก ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ , 81⁄2 ริกเตอร์ และจุงกิง เช็กช์เพรส
นวนิยายเรื่องนี้เป็นแนวสัจนิยมมหัศจรรย์อันว่าด้วยเรื่องความรัก เล่าผ่านตัวละคร สมิทธิ สถาปนิกหนุ่มไทยที่เลือกไปทำงานในฮ่องกง ภายหลังการหายตัวไปของคนที่เขารัก
หนึ่งปีให้หลังเขาพบรักครั้งใหม่กับ 'จัสมิน หลิง' ในวันที่มีพายุไต้ฝุ่นมาเยือน สามเดือนหลังจากนั้นเธอเสียชีวิตลง แล้วเขาก็พบกับเรื่องราวประหลาด เมื่อรู้ว่าแท้จริง จัสมิน หลิง ภรรยาสาวของเขาคืออดีตนักแสดงภาพยนตร์เงียบที่หายตัวไปเมื่อหกสิบปีก่อน
นักเขียนกำลังพาเรายั่วล้อกับกาลเวลา ผ่านฉากมรสุมทางประวัติศาสตร์และสภาพอากาศของฮ่องกง ปลงไปกับรักที่ไม่สมปรารถนาของตัวละคร สะท้อนถึงความจริงในความรัก การเปลี่ยนแปลง และการยอมรับความเปลี่ยนแปลงนั้นให้ได้ ซึ่งคล้ายกับเวลาฟังเพลงรัก ที่ไม่มีคนรักอยู่แล้ว
หน้าปกนิยาย เพลงรักนิวตริโน สำนักพิมพ์ SALMON.
1.รักเร้นหาย ในท่อนฮุกที่คล้ายกัน
เมื่อกล่าวถึงบทเพลง ย่อมต้องมีท่อนฮุกเป็นธรรมดา ยิ่งเป็นเพลงรักด้วยแล้ว ท่อนฮุกคือเสน่ห์ที่ดึงดูดและตรึงใจ ชวนให้เปิดฟังซ้ำไปมาไม่รู้เบื่อ ในนิยาย เพลงรักนิวตริโน ก็เหมือนมีท่อนฮุกให้เราเห็นเช่นกัน
สมิทธิ ตัวละครเอกในเรื่องสูญเสียคนรักในชีวิตของเขาไปถึงสองครั้ง ครั้งแรกคือการหายตัวไปอย่างลึกลับของ ฝน นักศึกษาสาวมหาวิทยาลัยเดียวกันที่เขาหลงรัก
และอีกครั้งกับความตายของ จัสมิน หลิง ภรรยาที่บังเอิญพบรักกันในฮ่องกง
เหตุใด “การสูญเสียคนรัก” จึงกลายเป็นสิ่งที่ถูกเล่าซ้ำ
เป็นเรื่องน่าสนใจ เนื่องจาก “การสูญเสีย” เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเคลื่อนย้าย และสร้างแรงขับให้กับตัวละคร สมิทธิ ผลักดันให้เขาหนีออกจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง
“…ผมก้าวช้าๆ ตรงไปยังชั้นหนังสือที่พบกับฝนเป็นครั้งแรก ก่อนจะหยุดอยู่ตรงนั้นเป็นเวลาชั่วครู่ แสงสลัวภายในนั้นส่องลงไปยังหนังสือ Mayan Architecture in old Mexico ผมหยิบมันออกมาจากชั้น เพ่งสายตาดูรายชื่อผู้ยืมคนสุดท้าย ยังเป็นชื่อของฝนเช่นเดิม หลังจากผมนำมันกลับมาคืนที่นี่แล้ว ก็ไม่มีใครแตะต้องมันอีก ผมลูบคลำบัตรรายการนั้น จนเจ้าหน้าที่ส่งเสียงกระแอมไอคล้ายผู้คุมที่ส่งสัญญาณแจ้งว่าหมดเวลาเยี่ยมนักโทษแล้ว ผมวางหนังสือกลับสู่ชั้น กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ก่อนจะเดินจากมา ผมตรงไปยังที่ทำการไปรษณีย์หน้ามหาวิทยาลัย ซื้อซองจดหมายหนึ่งซอง สอดผลการศึกษาไว้ในนั้น จ่าหน้าซองถึงพ่อและแม่ ติดแสตมป์ ก่อนจะหย่อนมันลงตู้ไปรษณีย์ อีกหนึ่งชั่วโมงต่อมาผมก็เดินทางถึงสนามบินดอนเมือง...” (หน้า75)
หรือทำให้เขาเลือกวกกลับไป เพื่อตามหาสิ่งที่เคยมีอยู่ อย่างอดีตของ จัสมิน หลิง ทั้งที่เธอได้ตายจากเขาไปแล้ว
“...ผมพยายามจะเขียนถึงจัสมิน หลิงจากห้วงคำนึงของเธอ หากเธอยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน เธอจะบรรยายถึงวันเวลาสามเดือนของเราอย่างไร เธอจะพูดถึงอย่างโศกเศร้า อย่างสามัญ หรืออย่างมีความสุข...” (หน้า51)
“...ผมลุกจากเตียง ตรงไปที่ชั้นหนังสือ หยิบหนังสือเล่มเดิม ไล่ดูรูปภาพของบุคคลในทศวรรษนั้น และพบรูปภาพของจัสมิน หลิงอยู่ในเล่ม...” (หน้า71)
จะเห็นได้ว่า แม้เป็นการเล่าซ้ำ ตัวละครได้รับผลกระทบที่คล้ายกัน แต่การแสดงออกนั้น กลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง การปริแตกครั้งแรกนำเขาเดินหน้าสู่อนาคต
ขณะที่ครั้งหลังกลับชักนำเขาเข้าหาอดีต และดูเหมือนว่า ยิ่งเขาเข้าใกล้อดีตมากเท่าไหร่ เขายิ่งมองเห็นอนาคตชัดเจนขึ้นเท่านั้น
2.ฟังหนังเงียบ ยินเสียงที่ถูกปิดกั้น
ภาพยนตร์เงียบเป็นที่แพร่หลายในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มนต์เสน่ห์ของหนังขาวดำยุคนี้อยู่ที่แม้ไร้เสียง เห็นเพียงภาพ หนังก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์และสื่อเรื่องราวออกมาได้ดี นับว่าต้องใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องเป็นอย่างมาก
หากแต่ความเงียบใบ้ของตัวละครสมมุติอย่าง จัสมิน หลิง ดาราภาพยนตร์หญิงยุคเก่ากลับไม่ได้ถูกปิดเสียงเพียงแค่ในหนังเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชีวิตนอกบทละครของเธอด้วย เป็นชีวิตจริงของผู้หญิงในวงการบันเทิงทั้งหลายที่ถูกกดทับจาก ”ความเป็นชาย” มาโดยตลอด
ในนวนิยาย จัสมิน หลิง ถูกกำหนดให้กลายเป็นภาพแทนของผู้หญิงในสมัยนั้น ซึ่งเป็นยุคที่ผู้หญิง ไม่มีปากไม่มีเสียง ถูกกดขี่ ถูกมองเป็นวัตถุทางเพศ เป็นเพียงเครื่องสนองตัณหาของผู้ชาย
โดยเฉพาะกับผู้มีอิทธิพลอย่างนักการเมือง ทหาร ผู้กำกับการแสดง หรือผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ซึ่งมีอำนาจการต่อรองมากกว่า แม้ว่าผู้หญิงเหล่านั้น จะมีความสามารถมากพอก็ตาม เหมือนตอนหนึ่งที่เล่าถึงชีวิตนักกีฬาว่ายน้ำหญิงทีมชาติจีนว่า
“...ซิวฉงหันไปสูบฝิ่นไม่ได้มาจากความล้มเหลวด้านกีฬา หากแต่เกิดจากการที่เธอถูกบังคับให้ตกเป็นภรรยาลับของขุนศึกผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งในรัฐบาลก๊กมินตั๋ง...” (หน้า103)
ซึ่งสุดท้าย ผลของการถูกกดขี่จากผู้ชาย ก็นำความล้มเหลวมาสู่ชีวิตของผู้หญิงเหล่านั้นในท้ายที่สุด
แต่อีกนัยหนึ่ง จัสมิน หลิงเองก็เป็นตัวแทนของการต่อต้านการกดขี่ของผู้ชายด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นจากการที่เธอไม่ยอมรับสิ่งของจาก หลี่ไป๋ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เธอปฏิเสธทุกอย่างจากเขา ปฏิเสธความรัก การเป็นคนรัก และยอมรับเขาในสถานะนายจ้างเพียงอย่างเดียว
“...ทุกวันจะมีอาหารสามมื้อส่งมาที่กองถ่ายเพื่อเธอโดยเฉพาะ ทว่าหลิง ไต้อี้กลับไม่เคยแตะต้องอาหารเหล่านั้น ทุกวันจะมีเสื้อผ้าชุดใหม่ส่งมาที่กองถ่ายเพื่อเธอโดยเฉพาะ ทว่าหลิง ไต้อี้กลับไม่เคยสวมใส่เสื้อผ้าเหล่านั้น หลิง ไต้อี้อาจยอมรับสภาพลูกจ้างต่อหลี่ไป๋ แต่พ้นจากนั้นแล้ว เธอปฎิเสธทุกอย่างจากเขา...” (หน้า118-119)
และแม้ว่า จัสมิน หลิงจะกลับมามีชีวิตอีกครั้งในโลกปัจจุบัน ผ่านช่วงเวลาที่แสนสั้น และคล้ายว่าเสียงของเธอจะถูกเปล่งออกมาได้น้อยนิด แต่ทว่ามันทรงพลัง อย่างน้อยก็กับชายผู้เป็นสามีในโลกยุคใหม่ของเธอ
3.เมื่อหญิงปรากฎกาย ท่ามกลางชายหลากยุค
เมื่อพิจารณาถึงตัวละครหญิงอย่าง จัสมิน หลิงแล้วจะพบว่า สิ่งที่เธอไม่ได้ตั้งใจก่อขึ้นนั้น คือความบาดหมางระหว่างผู้ชาย
ความบาดหมางอันนำมาสู่การแย่งชิงของชายทั้งสาม สมิทธิ หลี่ไป๋ และฟุก จื่อหลง
ซึ่งตัวละครชายแต่ละตัวล้วนมีความแตกต่างกัน ทั้งทางฐานะ อำนาจและยุคสมัย ความต่างเหล่านี้เอง ที่กลายเป็นเงื่อนไขหลัก ทำให้การปรากฏกายของ จัสมิน หลิง มีความสำคัญทางสถานะที่เปลี่ยนแปลงไป
กล่าวคือบทบาทของเธอในสองช่วงเวลา ทำให้เธอมีคุณค่ามากขึ้น เพราะในยุคที่เธอเป็นนักแสดง ต้องถูกครอบงำด้วยอำนาจของหลี่ไป๋ แต่ในยุคปัจจุบัน เธอไม่ได้ตกเป็นเบี้ยล่างของใคร เธอมีสิทธิเลือกเส้นทางชีวิตของเธอเอง เหมือนอย่างที่เธอเลือกที่จะรักและอยู่กับสมิทธิ ชายที่ร้องขอความรักจากเธอ ไม่ใช่บังคับด้วยอำนาจ
“...ผมลุกขึ้นกุมมือเธอไว้เบาๆ “เราอยู่ด้วยกันเถอะ” ผมรู้สึกได้ถึงคุณค่าของคำคำนี้ ในขณะที่มันหลุดออกจากปาก และเมื่อปราศจากการปฏิเสธจากเธอ เราทั้งคู่ก็เริ่มต้นชีวิตใหม่นับแต่วันนั้น...”(หน้า54)
ดังนั้น ความรักที่เกิดขึ้นกับสมิทธิจึงเปรียบเสมือนความเท่าเทียมที่เธอได้รับ เพราะเธอเป็นผู้ตัดสินใจ
ในการปะทะกันของชายกับชายในเรื่อง ระหว่าง หลี่ไป๋ กับ ฟุก จื่อหลงดูเหมือนจะเป็นมวยรองไปเลย เพราะความต่างที่เห็นชัดอย่างสถานะนายจ้างกับลูกจ้าง
และอำนาจที่มากกว่าของหลี่ไป๋ ทำให้ฟุก จื่อหลงต้องพ่ายแพ้แก่หลี่ไป๋ทุกครั้งไป แม้ว่าเขาจะหลงรักจัสมิน หลิง มากเพียงไหน เขาก็ทำได้เพียงเฝ้ามองเธอเท่านั้น
“...ผมได้เห็นเรือนร่างของหลิง ไต้อี้ และบทลงโทษที่ต้องได้รับจากหลี่ไป๋ ชายคนหนึ่งจับผมใส่กุญแจมือ บังคับให้คุกเข่าลง ในขณะที่ชายอีกคนใช้ช้อนเงินที่นำติดตัวมาคว้านลูกตาข้างขวาของผมออกจากเบ้า พวกเขาจากไปพร้อมกับทิ้งให้ผมนอนจมอยู่กับความเจ็บปวด ลูกตาทียม และเงินชดเชย...” (หน้า121)
ขณะที่ สมิทธิ กับ หลี่ไป๋ กลับเป็นมวยถูกคู่แทน
ถึงแม้ตัวละครชายทั้งสองจะแตกต่างกันด้วยวัย ฐานะและอำนาจ แต่อำนาจที่หลี่ไป๋มีนั้น บัดนี้ได้กลายเป็นอำนาจเก่า อำนาจที่กำลังจะหมดไป และถูกแทนที่ สมิทธิ ในภาพแทนของผู้มาใหม่ จึงไม่เกรงกลัวและกล้าเข้าต่อกรกับหลี่ไป๋ เพื่อแย่งชิงเอาคนรักกลับคืนมา
“...ผมลุกขึ้นยืนเผชิญหน้าเขา “หากผมจะพรากหลิง ไต้อี้ไปจากคุณ นั่นเป็นเพราะโชคชะตา”...” (หน้า182) “...ผมจ้องไปที่แว่นตาสีดำสนิทของเขา ชั่วขณะนั้นราวกับว่าผมสามารถมองฝ่าความมืดมิดได้สำเร็จ ดวงตาของหลี่ไป๋ที่ผมเห็นเศร้าสร้อยอย่างเหลือเชื่อจนผมคิดอยากกลับหลังหันและเดินจากไป แต่ผมไม่อาจทำเช่นนั้นได้...” (หน้า183)
ในตอนสุดท้าย ชายทั้งสองเลือกยุติเรื่องทั้งหมดด้วยการเล่นเกมรัสเซียนรูเล็ต
ซึ่งเหมือนกับว่าหลี่ไป๋ต้องการให้โชคชะตาเป็นผู้กำหนด ระหว่างเขา ซึ่งเป็นภาพแทนของอำนาจเก่า กับสมิทธิ ชายผู้มาจากโลกใหม่
“...อาจเป็นเพราะว่าเขาได้ตระหนักว่าเวลาของเขาจบสิ้นลงแล้ว หรืออาจเป็นเพราะเขารู้สึกว่าอนาคตของ จัสมิน หลิง ควรอยู่กับผม ไม่ใช่เขาอีกต่อไป...” (หน้า186)
อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของตัวละครหญิงในเรื่อง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า แต่ละยุคสมัย สตรีมีบทบาทและอิทธิพลต่อผู้ชาย
ส่วนจะมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและสภาพสังคม อาจไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด แต่ก็เป็นฟันเฟื่องหนึ่ง ซึ่งผู้ชายไม่อาจปฏิเสธได้ว่าไม่เคยมี
4.คือรักร้าว หรือ กาวของกาลเวลา
ถ้าสิ่งที่คอยหนุนเนื่องเรื่องรักในนิยายรัก คือความผิดหวังหรือสมหวังของตัวละคร นวนิยายเรื่องนี้คงมีส่วนผสมของทั้งสองแบบ ทั้งหวานและขม
ปมรักที่เล่าคู่ขนานกันไปกับภูมิหลังของฮ่องกง กลมกลืนกันอย่างแนบเนียน การเลือกเปิดเรื่องด้วยความตายของคนรัก ชวนให้ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว
ตัวละครต้องการทบทวนรักครั้งเก่า หรือแค่กำลังค้นหากาวของกาลเวลามาเยียวยาจิตใจกันแน่
ภายหลังการตายของภรรยา สมิทธิ ได้พบกับ ไอรีน จาง ผู้เป็นนักข่าวและหลานสาวของ จัสมิน หลิง เธอมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สมิทธิ ปะติดปะต่อเริ่มราวที่เกิดขึ้นในอดีต ผ่านคำบอกเล่าและภาพขาวดำที่เธอมี
ระหว่างนี้เองที่รักร้าวของเขา เริ่มกลับมาผสานอีกครั้งด้วยกาวใจจากไอรีน จาง เสมือนเธอเป็นตัวแทนของจัสมิน หลิง ผู้เป็นยายในโลกยุคปัจจุบัน
“...เธอเป็นหญิงสาวที่มีดวงตากลมโตต่างจากสาวจีนทั่วไป ริมฝีปากเรียวบางงดงามและมีแก้มสีชมพู ผมเพิ่งรับรู้ว่าเธอเป็นหญิงสาวสวยคนหนึ่ง...” (หน้า151)
แต่ ”กาวใจ” ก็ยังไม่ใช่ “กาวของกาลเวลา” สิ่งที่สมิทธิกำลังตามหา และปรารถนามาตลอดคือตัวของ จัสมิน หลิง แม้ว่าเธอจะกลายเป็นศพ หรือเถ้าธุลีไปแล้ว
ซึ่งไม่ใช่ตัวเขาเพียงคนเดียว แต่ยังรวมถึงตัวละครอย่าง ฟุก จื่อหลงที่ยอมเสี่ยงตายไปหาหลี่ไป๋เพื่อแย่งชิงตัวเธอกลับมา หรือแม้แต่แม่ของไอรีน จางเองก็เช่นกัน เหล่านี้คือจุดร่วมที่ตัวละครหลายตัวในเรื่องมีเหมือนกัน แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
การรอคอยการกลับมาของจัสมิน หลิงในเรื่องสำคัญอย่างไร คงคล้ายกับการที่จีนได้ฮ่องกงกลับคืนมา
คือช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป ให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม แม้สิ่งนั้นจะเปลี่ยนรูปแบบไปแล้วก็ตาม “...ผมประคองเถ้าอัฐิของจัสมิน หลิงไว้ในมือ อีกเพียงสามวัน ฮ่องกงจะกลับไปสู่อ้อมกอดของจีน อีกเพียงหนึ่งวัน จัสมิน หลิงจะกลับคืนสู่อ้อมกอดของครอบครัว...” (หน้า187)
เมื่อสูญเสียก็ต้องรู้จักที่จะซ่อมแซม นวนิยายเรื่องนี้กำลังบอกกับเราแบบนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากชีวิตต้องเผชิญกับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เพราะสิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ เราจะเรียนรู้และรับมือกับมันได้อย่างไร นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม เพลงรักนิวตริโน จึงเป็นทั้งรักร้าว และกาวของกาลเวลานั่นเอง
โฆษณา