Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Story Thailand
•
ติดตาม
3 ส.ค. 2021 เวลา 17:39 • ท่องเที่ยว
ปิดฉากตำนาน 105 ปี “สถานีหัวลำโพง”
2
อีกไม่นานสถานีกรุงเทพ หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ “สถานีหัวลำโพง” ซึ่งมีอายุครบ 105 ปี จะยุติบทบาทการเป็นสถานีหลักบริการรถไฟของประเทศไทย หลังจากเปิดใช้ “สถานีกลางบางซื่อ” เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมระบบรางยุคใหม่
2
สถานีกรุงเทพเป็นส่วนหนึ่งของความฝันเรื่องรถไฟที่ถูกจุดประกายครั้งแรกประมาณ 160 ปีก่อน เมื่อเซอร์ จอห์น เบาริง ผู้สำเร็จราชการเกาะฮ่องกง เดินทางมาเจรจาทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับราชสำนักสยาม ในปี พ.ศ. 2398 พร้อมกับนำราชบรรณาการจากสมเด็จพระราชินีวิคเตอเรียแห่งอังกฤษ มาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมี “รถไฟจำลอง” ที่ย่อส่วนจากของจริง ประกอบด้วยรถจักรไอน้ำและรถพ่วงครบขบวน อยู่บนรางแบบเดียวกับที่ใช้ในเกาะอังกฤษ หมายดลใจให้สยามมีกิจการรถไฟในราชอาณาจักร
8
ล่วงเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ต้องปฏิรูปประเทศสู่ความทันสมัยเพื่อรับมือกับการขยายอิทธิพลของอังกฤษและฝรั่งเศส ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 4 ที่ว่า “ทางรอดของสยามในอนาคตขึ้นอยู่กับการที่ทำให้ฝรั่งนับถือ”
3
โดยขณะพระชนมายุ 18 และ 19 พรรษา ทรงเสด็จฯ ประพาสดินแดนอาณานิคมของตะวันตก 2 ครั้ง เพื่อศึกษาวิธีการปกครองตามแบบอย่างของอังกฤษ และเรียนรู้ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแบบตะวันตกที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปสยาม
2
ครั้งแรกปี พ.ศ. 2413 เสด็จประพาสสิงคโปร์ อาณานิคมอังกฤษ ทรงทอดพระเนตรกิจการต่างๆ ที่ทันสมัย อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล การไปรษณีย์ อู่เรือ และที่เกาะชวาอาณานิคมฮอลันดา ได้ทอดพระเนตรการสร้างทางรถไฟ
1
ครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2414 เสด็จประพาสพม่ากับอินเดีย ที่พม่าเสด็จฯ เมืองมะละแหม่งชมกิจการส่งออกไม้สักและสักการะมหาธาตุแห่งเจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้ง จากนั้นไปเมืองกัลกัตตาที่อินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางอาณานิคมบริติชราชของอังกฤษ ทรงใช้เวลาในอินเดียทั้งหมด 47 วัน เรียนรู้กิจการมากมาย โดยเฉพาะการบริหารการปกครองและการรักษาความสงบเรียบร้อย ได้ทอดพระเนตรการซ้อมรบใหญ่ที่กรุงเดลี ทำให้ประจักษ์ในแสนยานุภาพของอังกฤษ
3
ทรงเยี่ยมชมกิจการที่ทันสมัยทางวิทยาการมากมาย เช่น การโทรเลข โรงพยาบาล โรงสี โรงกษาปณ์ โรงกรองน้ำ โรงต่อเรือ โรงหล่อปืนใหญ่และกระสุนปืน โดยเฉพาะการรถไฟที่มีบทบาทสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อสังคมและเศรษฐกิจของอินเดีย และทำให้รัฐบาลกลางสามารถควบคุมความสงบในดินแดนอาณานิคมได้ดี
2
ในเวลานั้นอินเดียมีทางรถไฟราว 10,980 กิโลเมตร การเสด็จพระราชดำเนินจากเมืองกัลกัตตาที่อยู่ฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกจนถึงเมืองพาราณสี แวะเมืองสำคัญต่างๆ เป็นต้นว่า เดลี บอมเบย์ ทรงใช้บริการขบวนรถไฟพิเศษที่รัฐบาลกลางจัดถวายเป็นพระราชพาหนะ ตลอดการเดินทางต้องใช้เวลาอยู่บนรถไฟนานถึง 200 ชั่วโมง ทรงเรียนรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของการคมนาคมระบบรางอย่างมาก
2
หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2416 เมื่อมีพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงเริ่มการเปลี่ยนแปลงสยามสู่ความทันสมัยอย่างรวดเร็ว มีการจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์เพื่อวางระบบการจัดเก็บภาษีอากรแบบใหม่ การจัดตั้งองค์กรการปกครองใหม่ๆ เช่น สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน กระทรวง ทบวง กรม กระทั่งการยกเลิกธรรมเนียมและประเพณีโบราณหลายอย่างที่ล้าสมัย อาทิ การหมอบคลานในการเข้าเฝ้า และริเริ่มการเลิกทาส
แต่กิจการรถไฟที่ทรงมีพระราชดำริเรื่องการใช้รถไฟเชื่อมโยงพื้นที่ต่าง ๆ ของสยามเพื่อประโยชน์ต่อการปกครองและสร้างความมั่นคงของประเทศ กลับต้องใช้เวลาถึง 2 ทศวรรษ จึงจะมีรถไฟสายแรกเกิดขึ้
1
ปี พ.ศ.2430 ทรงจ้างผู้เชี่ยวชาญสำรวจเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ โดยมีเส้นทางแยกไปนครราชสีมาที่เมืองสระบุรี แยกจากอุตรดิตถ์ไปตำบลท่าเดื่อชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขงอีกสายหนึ่ง และจากเชียงใหม่ไปเชียงราย เป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลและมีความเสี่ยงจากการใกล้ชิดกับดินแดนอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส
2
จัดตั้งกรมรถไฟขึ้นในปี พ.ศ.2433 ดำเนิการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมาเป็นสายแรกด้วยขนาดราง 1.435 เมตร การก่อสร้างดำเนินไป 5 ปี สามารถเปิดใช้เส้นทางระหว่างสถานีกรุงเทพถึงพระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร เป็นครั้งแรกในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 การก่อสร้างดำเนินต่อจนเสร็จถึงนครราชสีมาในปี พ.ศ. 2443 รวมระยะทางทั้งสิ้น 265 กิโลเมตร
2
ปี พ.ศ. 2442 เริ่มสร้างทางรถไฟสายใต้ จากสถานีธนบุรีถึงเพชรบุรีระยะทาง 150 กิโลเมตร เป็นทางขนาด 1.00 เมตร เนื่องจากสร้างด้วยเงินกู้จากประเทศอังกฤษซึ่งต้องการใช้เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างมลายูกับพม่าที่เป็นรางขนาด 1.00 เมตร ใช้เวลา 4 ปี จึงเปิดการเดินรถได้เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2446
1
การเปลี่ยนจากรางขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานของกลุ่มประเทศยุโรป มาใช้รางขนาด 1.00 เมตร (Metre Gauge) ตามแบบอังกฤษ ได้กลายเป็นขนาดมาตรฐานที่ใช้กับรางรถไฟสายอื่นๆ ต่อมา เหมือนประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง
ด้านสถานีรถไฟต้นทางที่กรุงเทพฯ แรกเริ่มตั้งอยู่บริเวณหลังอาคารกรมรถไฟ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น มีชื่อว่า “สถานีกรุงเทพ” เป็นทั้งสถานีต้นทางและสถานีประจำพระนคร เมื่อมีการก่อสร้างทางรถไฟสายต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ที่นี่รองรับการให้บริการได้ไม่เพียงพอ ในปี พ.ศ. 2453 กรมรถไฟจึงริเริ่มสร้างสถานีแห่งใหม่ขึ้นบนเนื้อที่ 120 ไร่ ห่างจากที่เดิมไปทางทิศใต้ราว 500 เมตร
2
สถานีกรุงเทพแห่งใหม่มีผังเป็นแบบปลายชานชาลาตัน มีอาคารสถานีตั้งอยู่ปลายทางรถไฟ ตัวสถานีประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนอาคารมุขหน้า มีลักษณะเป็นระเบียงยาว สถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก คือมีเสาด้านนอกของอาคารแบบไอออนิก (Ionic) เหมือนสถาปัตยกรรมกรีก-โรมันโบราณ
1
อีกส่วนเป็นอาคารโถงสถานีขนาดใหญ่ที่ไม่มีเสารองรับ ทำเป็นอาคารหลังคาโค้ง มีกระจกสีสวยงามประดับไว้ที่ช่องระบายอากาศทั้งด้านหน้าและด้านหลังอาคาร และมีนาฬิกาบอกเวลาขนาดใหญ่รัศมีกว่า 80 เซนติเมตร ติดตั้งไว้กลางส่วนโค้งของอาคารทั้งด้านในและด้านนอก ลักษณะคล้ายกับสถานีรถไฟเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี โดยมีชานชาลาอยู่ถัดไปด้านหลังอีกที
1
ผลงานออกแบบของสถาปนิกชื่อ มร.มาริโอ ตามานโย หนึ่งในช่างชาวอิตาเลียนที่ราชสำนักสยามว่าจ้างมาทำงานด้านออกแบบและก่อสร้างในกระทรวงโยธาธิการ ภายหลังรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ กลับจากประพาสยุโรปในปี พ.ศ. 2440 เนื่องจากทรงประทับใจในสถาปัตยกรรมคลาสสิกที่ได้ทอดพระเนตรจากอาคารต่างๆ ในยุโรป
1
งานก่อสร้างใช้เวลา 7 ปี แล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ฤกษ์เปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ถือได้ว่าเป็นชุมทางคมนาคมขนาดใหญ่ที่มีความหรูหราและทันสมัยที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ซึ่งแสดงถึงความก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมที่ทันสมัย สร้างความสนเท่ให้กับหลายชาติในเอเชียถึงกับส่งตัวแทนเดินทางมาเยี่ยมชมกิจการ
หลายคนอาจไม่รู้ว่าภายในสถานีรถไฟเคยมีโรงแรมขนาดเล็กชื่อว่า “โรงแรมราชธานี” เปิดบริการปี พ.ศ. 2470 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีห้องพักจำนวน 10 ห้อง แต่หรูหราและทันสมัยมาก สร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทรงยาว สถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก หลังคาทรงปั้นหยา
ชั้นบนเป็นห้องพักมีระเบียง มีพัดลม มีห้องอาบน้ำพร้อมน้ำประปาทั้งร้อนและเย็น ชั้นล่างเป็นส่วนบริการ มีภัตตาคารและห้องครัว มีส่วนบริการซักล้าง ถัดไปเป็นที่ทำการไปรษณีย์ และสำนักงานศุลกากรเพื่อตรวจกระเป๋าและหีบห่อที่ต้องเสียภาษี เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ แต่ได้เลิกกิจการในปี พ.ศ. 2512 ปัจจุบันกลายเป็นที่ทำการของการรถไฟฯ
1
1
นับตั้งแต่กรมรถไฟเปิดบริการรถไฟครั้งแรกเมื่อ 125 ปีก่อน จนเปลี่ยนเป็นกรมรถไฟหลวง และการรถไฟแห่งประเทศไทย มีการขยายเส้นทางออกไปเชื่อมโยงครบทุกภูมิภาค สายใต้ไปถึงอำเภอสุไหงโก-ลก สายเหนือถึงเชียงใหม่ สายตะวันออกถึงอรัญประเทศ สายอีสานถึงอุบลราชธานีและหนองคาย รวมเป็นระยะทางกว่า 4,000 กิโลเมตร ทั้งหมดมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่สถานีกรุงเทพ
1
รางรถไฟที่มีจุดเริ่มต้นจากหัวลำโพงทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้คนทั่วประเทศให้ไปมาหาสู่กันได้สะดวก ติดต่อค้าขายสินค้ากันได้คล่องตัว ยิ่งมีการขยายเส้นทางรถไฟออกไปมากขึ้น สถานีกรุงเทพก็ยิ่งคึกคักด้วยผู้คนและการขนส่งสินค้า จนเกิดความแออัดเพราะพื้นที่มีจำกัด ในปี พ.ศ. 2503 การรถไฟฯ จึงย้ายกิจการขนส่งสินค้าไปอยู่ที่ย่านสินค้าพหลโยธิน และปรับปรุงให้เป็นสถานีบริการด้านขนส่งมวลชนเพียงอย่างเดียวจนถึงทุกวันนี้
1
วันเวลาผ่านไปแม้การคมนาคมระบบรางยังเป็นที่ต้องการของคนไทย แต่ภายหลังที่การคมนาคมทางถนนเข้ามามีบทบาทเป็นหลัก ความนิยมของคนไทยก็เปลี่ยนไป ทำให้กิจการรถไฟลดความสำคัญลงไปมาก จนขาดการพัฒนาคุณภาพอย่างจริงจังยาวนานหลายสิบปี
1
อ่านบาทความต่อได้ที่
https://www.thestorythailand.com/04/08/2021/37071/
thestorythailand.com
ปิดฉากตำนาน 105 ปี “สถานีหัวลำโพง” | The Story Thailand
อีกไม่นานสถานีกรุงเทพ หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ “สถานีหัวลำโพง” ซึ่งมีอายุครบ 105 ปี จะยุติบทบาทการเป็นสถานีหลักบริการรถไฟของประเทศไทย หลังจากเปิดใช้ “สถานีกลางบางซื่อ”
ติดสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
website:
www.thestorythailand.com
Facebook:
facebook.com/TheStoryThailand
Twitter:
twitter.com/TheStoryThai
Youtube:
youtube.com/TheStoryThailand
Blockdit:
blockdit.com/TheStoryThailand
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
1
31 บันทึก
94
19
69
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ที่มาที่ไป
31
94
19
69
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย