3 ส.ค. 2021 เวลา 20:56 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
“ฝันร้าง ตลกร้าย ของหญิงชายบ้านนา”
บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’
พออ่านชื่อหนังจบปุ๊บ!
ไม่ใครก็ใครสักคน ต้องนึกถึงฉาก พลอดรักอมตะของ “ไอ้คล้าว” กับ “ทองกวาว” จากเรื่อง ‘มนต์รักลูกทุ่ง’ ขึ้นมาทันทีทันใด
หากใครบังเอิญคิดแบบนั้นก็ไม่แปลก เพราะด้วยชื่อหนังที่คล้ายคลึงกันราวกับจงใจ แค่ตัดคำหลัง เติมคำใหม่ ให้ไฉไลตามสมัยนิยมขึ้นมา ก็เท่านั้น
แต่จะให้ตัดสินกันที่ชื่อคงยังตื้นเขินเกินไป มันต้องมีอะไรมากกว่านั้นแน่ แล้วก็จริง เนื้อเรื่องของหนังช่างต่างกันราวฟ้ากับเหว แม้ว่าเรื่องจะผูกโยงกับความรักและบทเพลงตามสูตร แต่บันไดไต่สู่ฝันนั้น มันกลับแยกกันไปคนละทิศละทาง
‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ เดิมเป็นนวนิยายของ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนฝีมือฉกาจของเมืองไทย ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยผู้กำกับชื่อก้อง เป็นเอก รัตนเรือง
เป็นหนังสร้างชื่อเรื่องหนึ่งของเขา ประสบความสำเร็จอย่างล้มหลาม กวาดรางวัลมากมายทั้งในและต่างประเทศ และยังถูกนำออกฉายไปในอีกหลายเทศกาลหนังทั่วโลก
(จนเรียกได้ว่าควรค่าแก่การเก็บรักษาเป็นสมบัติชาติ ทั้งหนังและหนังสือ)
โปสเตอร์หนังที่ออกฉายในประเทศญี่ปุ่น (ซ้าย)                                      โปสเตอร์ที่ฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ (ขวา)
ถ้าจะกล่าวว่านิยายและหนังเรื่องนี้ อุทิศให้กับบทเพลงลูกทุ่ง และ สุรพล สมบัติเจริญ นักร้องผู้ล่วงลับก่อนวัยอันควร ก็คงไม่ผิดนัก
เพราะ ‘ไอ้แผน’ ตัวเอกของเรื่องที่ฝันอยากเป็นนักร้อง ได้ตั้งฉายาลับๆ ให้กับตัวเองว่า ‘สุรแผน เพชรน้ำไหล’ ประกอบกับเพลงหลักที่ใช้อย่างเพลง ‘ลืมไม่ลง’ ของ สุรพล นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นสิ่งยืนยัน
1.ทหารเกณฑ์คนยาก ต้องพรากจากลา*
ชีวิตรักของแผนนั้น เริ่มต้นด้วยอุปสรรคตามตำราหนังไทย ทั้งเรื่องฐานะและศัตรูหัวใจ แต่แผนก็สามารถเอาชนะมาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ด้วยความขยัน รักจริง เขาจึงสามารถพิชิตใจ ‘สะเดา’ สาวเสื้อฟ้าและพ่อตาสุดโหดได้สำเร็จ
แล้วในขณะที่ชีวิตกำลังจะสุขเต็มขั้น เมื่อสะเดาตั้งท้องลูกคนแรก เขาก็จำต้องจากไกล เพียงเพราะจับได้ ใบแดง ฤดูเกณฑ์ทหารพรากทุกสิ่งตรงหน้าไปจากเขาชั่วพริบตา ราวพายุร้ายโหนกระหน่ำอย่างไร้ปรานี
ความทุกข์ระทมของแผน ถูกบอกเล่าผ่านบทเพลงไร้ทำนองในชื่อ ‘ทหารเกณฑ์คนเศร้า’ ด้วยเนื้อเพลงที่อัดแน่นไปด้วยความรู้สึก สะกดผู้ฟังให้โศกเศร้าตามไป ยิ่งเป็นเพื่อนทหารเกณฑ์ ผู้ร่วมชะตากรรมด้วยแล้ว ยิ่งเหมือนถูกคมมีดกรีดเฉือนหัวใจ
หลังงานประกวดร้องเพลง เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากค่าย เพื่อไปไล่ตามความฝันกับวงดนตรี แต่ทว่าเรื่องราวกลับไม่เป็นดังใจนึก ซ้ำร้ายเขายังถูกคาดโทษที่หนีทหาร ต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ กลับไปหาลูกเมียก็ไม่ได้ หวังโด่งดังในสายทางนักร้อง ก็ยังไปไม่ถึงไหน
เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงส่วนนี้ เชื่อว่าทุกท่านคงพอคาดเดาได้ว่า ชีวิตของแผนกำลังจะลอยขึ้นสวรรค์หรือถอยร่วงลงนรก
แล้วคำถามหนึ่งก็ผุดขึ้นมา “คนทำตามฝัน มันผิดนักหรือ?” และหากเรานึกย้อนกลับไปอีกนิด ต้นตอปัญหาแท้จริงอยู่ที่ว่า “การเกณฑ์ทหารพรากอะไรจากใครบ้าง”
มันฟังดูตลกร้ายก็ตรงที่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่เคยเก่า และยังคงวนเวียนซ้ำซาก เป็นเรื่องน้ำเน่าหลอกหลอนสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตราบใดที่ผู้มีอำนาจยังคงไม่คิดแก้ไข ดึงดันใช้วิธีแบบเดิมๆ ก็จะมีน้ำตาของคนอย่างแผน หลั่งไหลออกมาอย่างไม่รู้จบสิ้น ทุกปีๆ อย่างนี้ร่ำไป
2.เห็นน้ำตาน้อง ใจพี่หมองหม่น*
พอแผนไม่อยู่ สะเดาจึงต้องเป็นคนรับภาระหนัก ทั้งเลี้ยงลูก ทั้งทำไร่ หนักนักสำหรับแม่ลูกอ่อนตัวคนเดียว
เธอเคยดั้นด้นไปตามหาแผนถึงกรุงเทพฯ ก็ได้พบหน้าเพียงผ่าน หญิงสาวชนบท จึงไม่เหลือทางอื่นใด นอกจากสู้กัดฟันอยู่ด้วยตัวเอง ตั้งตารอวันที่แผนจะกลับมา
จนเวลาล่วงผ่านไปหลายปี ข่าวคราวของแผนเงียบหาย ราวกับคนตายจาก สะเดา ซึ่งยังคงสวยสะพรั่ง ก็ไม่อาจทนทานต่อคารมออดอ้อนอ่อนหวานของชายหนุ่มได้
เธอตกลงอยู่กินกับเขา แต่แล้วแทนที่จะเพิ่มสุข กลับทุกข์ทวีขึ้นกว่าเก่า เพราะไม่นานเขาก็ทิ้งร้างเธอไป พร้อมกับเด็กในท้องอีกคน
‘สะเดา’ นั้นจึงเป็นอีกตัวละครหนึ่ง ที่ถูกสร้างให้เป็นภาพแทนของผู้หญิงในทุกยุคทุกสมัย ที่ถูกกดทับให้อยู่ภายใต้อำนาจ ในฐานะของเหยื่อผู้ถูกกระทำจากสังคมชายเป็นใหญ่ ด้วยความเอาแต่ใจ ด้วยความเอาแต่ได้ ของผู้ชายทั้งหลายที่มักมากไม่เคยพอ
และยิ่งน่าเศร้า เมื่อเรายังคงเห็น ‘สะเดา’ ในโลกแห่งความเป็นจริง ได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
โฆษณา