4 ส.ค. 2021 เวลา 01:40 • สิ่งแวดล้อม
อนาคตเสือโคร่ง…ทางข้ามสัตว์ป่าความหวังของการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
1
ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเราสูญเสียพื้นที่ป่ากลายเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอื่น ๆ เช่น การเพาะปลูก อุตสาหกรรม ตลอดจนพื้นที่อยู่อาศัย ถือเป็นปัญหาสำคัญต่อการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพืชพรรณ
ซึ่งในอดีตการสูญเสียพื้นที่ป่ามักเป็นพื้นที่ใหญ่ที่ต่อเนื่องกัน แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นการแตกกระจายของผืนป่า ทำให้เกิดหย่อมป่าขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันออกไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแตกกระจายของผืนป่าทำให้สิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าไม่สามารถเคลื่อนที่ไปมาได้อย่างอิสระ สิ่งมีชีวิตมีแนวโน้มที่จะถูกกักอยู่ในบริเวณนั้นและก่อให้เกิดการผสมกันในหมู่กันเอง หรือ เลือดชิด เป็นเหตุทำให้พันธุกรรมของประชากรนั้นขาดความหลากหลายและอ่อนแอลงในที่สุด
1
ในผืนป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ผืนป่าได้ถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งและถูกคั่นกลางด้วยถนน 304 ซึ่งเส้นทางคมนาคมหลัก รถที่วิ่งทั้งวันทั้งคืน ถนนที่กว้างขวางทำให้การเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างสองพื้นที่ของสัตว์นั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก การเคลื่อนย้ายของพันธุกรรมสัตว์จึงลดน้อยลง
แนวเชื่อมต่อระบบนิเวศ ( Corridor ) จึงเป็นส่วนสำคัญในการกระจายพันธุ์สัตว์ป่าจากพื้นที่ทับลานไปสู่บริเวณพื้นที่เขาใหญ่ และในสถานการณ์ปัจจุบันการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในผืนป่าดงพญาเย็นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของประชากรเสือและเหยื่อในพื้นที่ฝั่งทับลานในอนาคตอาจทำให้เกิดการผสมพันธุ์ในหมู่กันเอง ซึ่งนำไปสู่สายพันธุ์ที่อ่อนแอลง แนวเชื่อมต่อระบบนิเวศ หรือ ทางข้ามสัตว์ป่าจึงเป็นอีกความหวังทีเสือโคร่งจะได้รับการฟื้นฟูในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อีกครั้ง
เรียบเรียงโดย : เรื่องเล่าคนเข้าป่า
โฆษณา