4 ส.ค. 2021 เวลา 11:30 • การเมือง
คุยกับ ‘อั่งอั๊ง’ อัครสร โอปิลันธน์ คนรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่อายุ 12 ตระหนักถึงต้นทุนชีวิตตัวเองที่มีมากกว่าคนอื่นตอนอายุ 15 และเริ่มใช้มันเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นตอนอายุ 16
.
เธอเริ่มสนใจการเมืองได้อย่างไร? ปัญหาสังคมประเด็นไหนที่อยากแก้ไขเป็นอย่างแรก? แล้วเราจะค้นพบอุดมการณ์ของตัวเองได้อย่างไร? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเราที่นี่
.
.
1
#โลกสมมติ
.
อั่งอั๊งในวัยเด็กไม่ได้มีอาชีพในฝันที่ชัดเจน แต่เธอมีสิ่งหนึ่งที่เธอชื่นชอบทำมากเป็นพิเศษคือการอ่าน หนังสือชุดที่เป็นตัวสร้างนิสัยนี้ให้กับเธอคือ แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ เธอตกหลุมรักโลกเวทย์มนต์ในหนังสือที่โลกความจริงให้ไม่ได้ จากนั้นเธอจึงเริ่มสำรวจแนวอื่นๆ อย่างดิสโทเปีย (นิยายแนวโลกสมมติที่มีสังคมไม่พึงประสงค์) และยูโทเปีย (นิยายแนวโลกในอุดมคติ) การอ่านนิยายเหล่านี้ทำให้เธอเกิดสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมนักเขียนเหล่านี้ถึงสร้างโลกทั้งใบขึ้นมาใหม่จากจินตนาการของตัวเองได้? เธอจึงอ่านบทสัมภาษณ์ของพวกเขาเพื่อหาคำตอบว่าได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรกันบ้าง ซึ่งคำตอบที่เธอได้ก็คือนักเขียนเหล่านี้มักจะเขียนเรื่องราวขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์คือต้องการสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมให้กับคนรุ่นใหม่ และนี่เองก็คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้อั่งอั๊งในวัย 12 ปีเริ่มสนใจการเมือง
.
ประกอบกับการเข้าชมรมสหประชาชาติจำลอง (Model United Nations หรือ MUN) หลังขึ้นชั้นมัธยมต้น ทำให้เธอได้สวมบทบาทเป็นนักการทูต ได้สำรวจประเด็นระดับนานาชาติที่เกิดขึ้น ได้โต้วาที หารือ และพัฒนาการแก้ไขปัญหาระดับโลก ชมรม MUN จะต่างจากชมรมโต้วาทีทั่วไปตรงที่ชมรมนี้จะเน้นการตั้งคำถามมากกว่าการโยนข้อมูลใส่กันไปมาเพียงอย่างเดียว ดังนั้นสมาชิกในชมรมจึงได้ฝึกทักษะการฟังไปด้วย เพราะถ้าเราไม่ตั้งใจฟังอีกฝ่าย เราก็จะตั้งคำถามที่ดีไม่ได้ และในทางกลับกันถ้าเราไม่ฟังคำถามให้ดี เราก็จะตอบนอกประเด็น
.
.
1
#โลกความจริง
.
หลังจากสำรวจโลกจำลองแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องสำรวจโลกแห่งความเป็นจริงบ้าง ตอนอั่งอั๊งอยู่ชั้นม.3 เธอได้มีโอกาสไปเข้าค่าย Law, Ethics, and Democracy ของมหาวิทยาลัยบราวน์ที่อเมริกา ทำให้เธอได้อ่านหนังสือแนวปรัชญาการเมือง และเรียนรู้คอนเสปต์เรื่องความเท่าเทียมและประชาธิปไตย ตอนนั้นเธอคิดเพียงว่าคอนเสปต์เหล่านี้น่าสนใจและน่าจะทำให้สังคมดีขึ้นได้
.
แต่สิ่งที่ช่วย “เบิกเนตร” และตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ในเมืองไทย คือค่าย Awaken Land ที่จัดตั้งขึ้นโดยพรรคอนาคตใหม่ เธอได้พูดคุยกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่เรียนโรงเรียนไทยและทำให้ตระหนักได้ว่าการศึกษาไทยไม่ค่อยสอนให้เด็กได้ถกเถียงหรือตั้งคำถาม เมื่อเทียบกับตอนที่เธอได้ไปเข้าค่ายที่อเมริกาก็ยิ่งเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะที่นั่นไม่ได้สอนแบบให้ครูพูดบรรยายฝ่ายเดียวแต่ยังมีเซ็คชั่นให้นักเรียนถกเถียงกันเอง (อั่งอั๊งเล่าให้ฟังว่าขนาดเธอเป็นประธานชมรมโต้วาทีที่เมืองไทย แต่พอไปอยู่ที่นั่นก็เทียบกับเด็กที่อเมริกาไม่ได้เลย) แถมการที่นักเรียนตั้งคำถามหรือแย้งครูผู้สอนก็เป็นเรื่องปกติ และไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการไม่มีสัมมาคารวะแต่อย่างใด นั่นทำให้เธอเริ่มตั้งคำถามกับเรื่องอื่นๆ มากขึ้น ทั้งเรื่องการทำแท้งถูกกฎหมายและความเป็นเมืองโตเดี่ยวของกรุงเทพฯ
.
.
1
#Young #Rich #Ignorance
.
กลางปีที่แล้วอั่งอั๊งได้เขียนบทความที่ชื่อว่า Young, rich and ignorant: an indictment of privileged kids ลงบนเว็บไซต์ thisrupt.co แรงบันดาลใจของบทความนี้มาจากการที่เธอเห็นภาพ ‘เด็กโรงเรียนอินเตอร์’ พร้อมใจกันโพสต์ Instagram Story หน้าจอสีดำพร้อมติดแฮชแท็ก #blacklivesmatter ในวันที่คลิปวิดีโอของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีผู้ถูกตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดที่คอจนเสียชีวิตแพร่กระจายไปทั่วโลกออนไลน์ แต่ไม่กี่วันถัดมา ในวันที่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยหายตัวไปจนทำให้เกิด #saveวันเฉลิม กลับไม่มีเพื่อนของเธอคนไหนพูดถึงประเด็นใกล้ตัวแบบนี้เลย
.
ระดับความสนใจในสองประเด็นนี้ที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดในหมู่เด็กโรงเรียนอินเตอร์ทำให้อั่งอั๊งตั้งคำถามว่า ทำไมถึงคนกลุ่มนี้ถึงสนใจปัญหาไกลตัวได้ แต่พอเป็นปัญหาในบ้านเกิดตัวเอง ที่ตัวเองสามารถผลักดันและสร้างอิมแพคได้มากกว่ากลับไม่ให้ความสนใจบ้าง? ทำไมถึงไม่ใช้ต้นทุนชีวิตของตัวเองที่สูงกว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศมาช่วยเหลือสังคมที่เราอยู่บ้าง? หรือทั้งหมดที่ทำไปแค่อยากแสดงออกตามแฟชั่นเฉยๆ?
.
1
เมื่อเป็นบทความแนววิจารณ์ ผลตอบรับก็ย่อมมีทั้งด้านบวกและด้านลบ คุณครูหลายคนชื่นชมเธอ เพื่อนหลายคนขอบคุณที่ทำให้ตาสว่าง แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนมองว่าเธอทำให้ภาพลักษณ์เด็กโรงเรียนอินเตอร์ดูไม่ดี บางคนถึงขั้นโทรมาต่อว่าด้วยตัวเอง และถึงเธอจะเป็นคนยึดมั่นในอุดมการณ์และกล้าทำในสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง แต่นี่ก็เป็นครั้งแรกของอั่งอั๊งที่ต้องรับคำวิจารณ์หนักหน่วงเช่นนี้ การที่เธอจะร้องไห้ออกมาบ้างก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก สิ่งที่คุณแม่บอกเธอคือจะหยุดที่ตรงนี้หรือจะไปต่อก็ได้ ถ้าจะไปต่อต้องอย่าลืมว่าจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ทำนองนี้ไปอีกหลายครั้ง แต่ก็จะสามารถสร้างอิมแพคที่ใหญ่ขึ้นได้เช่นกัน เพราะตอนนี้มีคนรับรู้และได้ยินเสียงของเธอแล้ว แน่นอนว่าสิ่งที่อั่งอั๊งเลือกคืออย่างหลัง
.
.
#ทำไมคนรุ่นก่อนไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาสังคมเท่าคนรุ่นนี้
.
อั่งอั๊งมองว่ามีสองปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้คนรุ่นก่อนดูไม่ค่อยสนใจปัญหาสังคมเท่าคนรุ่นนี้ อย่างแรกคือ หากย้อนไปสักสองชั่วอายุคนจะพบว่ายุคนั้นเป็นยุคแห่งความไม่แน่นอน เป็นยุคที่คนต้องเผชิญกับสงครามและเศรษฐกิจล้มเหลว จึงไม่น่าแปลกใจถ้าคนยุคนั้นจะมีมายด์เซ็ทว่าต้องขยันทำมาหากินเพื่อเอาตัวเองให้รอดก่อนจนไม่มีเวลาไปคิดเรื่องอื่น ซึ่งอั่งอั๊งเองมองว่าไม่ใช่เรื่องผิด เพราะถ้ายังเอาตัวเองไม่รอดก็คงไปช่วยเหลือคนอื่นไม่ได้
.
อย่างที่สองคือเทคโนโลยี พอมีเทคโนโลยีเข้ามา เราก็สามารถทำงานได้ไวขึ้น หมายความว่าเราจะมีเวลาอยู่กับตัวเองและได้ “คิด” ได้ไตร่ตรองเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้การมีอยู่ของโซเชียลมีเดียในยุคปัจจุบันทำให้ความรู้และข่าวต่างๆ แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
.
.
1
#ถ้าเลือกได้อยากผลักดันการแก้ปัญหาอะไร
.
ถ้าเป็นตอนนี้ที่ทุกคนกำลังต้องต่อสู้กับโรคระบาด ปัญหาที่เธอต้องการผลักดันก็คงหนีไม่พ้นเรื่องวัคซีน แต่ถ้าตัดเรื่องนั้นออกไป อั่งอั๊งบอกว่าปัญหาที่เธออยากผลักดันให้ได้รับการแก้ไขที่สุดคือระบบการศึกษาไทย อย่างที่สองคือการที่ทรัพยากรและความเจริญแทบทุกอย่างกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำในประเทศ
.
.
3
#อะไรคือสิ่งที่ทำให้ไปต่อ
.
ความกดดันและแรงเสียดทานที่ได้รับหลังพาตัวเองมาอยู่ในจุดที่สปอตไลท์ส่องถึงคงมีไม่น้อย แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอยังคงเดินหน้าทำตามอุดมการณ์ของตัวเองต่อ? คำตอบของคำถามนี้สำหรับอั่งอั๊งคือการตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ?” การตั้งคำถามแบบนี้ไม่ได้จะสื่อว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีแค่เธอที่ทำได้ แต่เธอตั้งคำถามเพื่อเตือนตัวเองว่าไม่ควรคาดหวังหรือรอให้คนอื่นมาทำอย่างเดียว ยิ่งเธอเป็นคนที่มีต้นทุนมากกว่าคนอื่น มีทางหนีทีไล่มากกว่าคนอื่น เธอก็รู้สึกว่าเธอยิ่งควรออกมาช่วย
.
.
#อุดมการณ์คืออะไร
.
อั่งอั๊งมองว่า อุดมการณ์เปรียบเหมือนเข็มทิศที่ชี้นำทางเวลาจะตัดสินใจทำอะไร และอุดมการณ์ของอั่งอั๊งก็คือการต่อสู้เพื่อสังคมที่เที่ยงธรรมและเท่าเทียม พอใช้คำว่าอุดมการณ์ หลายคนจะชอบคิดว่าต้องเป็นการลงมือทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ต้องออกไปพูดบนเวที ต้องให้สัมภาษณ์กับสื่อ แต่ความจริงแล้วเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการแยกขยะหรือการไม่กินทิ้งกินขว้างก็ล้วนส่งผลในระดับสังคมเช่นกัน เมื่อเรามีอุดมการณ์เราก็จะรู้ว่าทุกอย่างที่ทำไปเราทำเพื่ออะไร อย่างของอั่งอั๊งก็คือทำเพื่อให้สังคมดีขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาเจออะไรที่รู้สึกว่าขัดกับอุดมการณ์ เธอก็จะมีแรงบันดาลใจอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง
.
.
#จะหาอุดมการณ์ที่ใช่จากไหน
.
“อุดมการณ์ที่ใช่ ก็เหมือนคนที่ใช่” เธอแนะนำให้ลองพูดคุยและรับฟังคนหลายๆ ประเภท ถึงแม้การฟังคนที่มีแนวคิดต่างจากเราจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อให้เราได้ตกผลึกจากหลายๆ มุมมอง การหาความรู้จากหนังสือหรือสื่ออื่นๆ ก็เป็นเรื่องดี แต่การเสพสื่อสุดท้ายแล้วก็เป็นแค่การสื่อสารทางเดียว เทียบกับการได้โต้ตอบกับคนจริงๆ ไม่ได้
.
.
1
#มีจุดยืนและอย่าลืมรับฟัง
.
ไม่ว่าจะคนรุ่นไหนก็ตาม ถ้ามีจุดยืนที่อยากแสดงออก หรืออยากทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและดีต่อสังคม จงยืนหยัด และฮึดสู้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเรามีอุดมการณ์และมีคุณค่าที่ตัวเองยึดถืออย่างชัดเจน เราจะสามารถใช้ชีวิตแบบมีเป้าหมายมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมรับฟังเสียงคำวิจารณ์ที่มีประโยชน์เพื่อนำมาพัฒนาจุดยืนของตัวเองให้ดีกว่าเดิม คือสิ่งที่อั่งอั๊งกล่าวทิ้งท้าย
.
.
2
#careerfact #cariber
………………
Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว
ติดตาม Career Fact ทุกช่องทางได้ที่ https://linktr.ee/careerfact
เรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จในแต่ละแวดวงได้ที่ https://www.cariber.co/ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงความรู้และประสบการณ์จากผู้นำองค์กรและผู้เชี่ยวชาญในทุกแวดวง ไร้ข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา
โฆษณา