4 ส.ค. 2021 เวลา 04:34 • ข่าว
‘หมอบุญ’ ยอมรับดีลไฟเซอร์ 20 ล้านโดส 'ไม่สำเร็จ' พร้อมปฏิเสธคุยกลาโหม แต่เคยคุย รพ.ศิริราช
4
‘หมอบุญ’ ยอมรับดีลไฟเซอร์ 20 ล้านโดส 'ไม่สำเร็จ' พร้อมปฏิเสธคุยกลาโหม แต่เคยคุย รพ.ศิริราช
'หมอบุญ' ประธานบริหารบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าดีลไฟเซอร์ (Pfizer) 20 ล้านโดสจบแล้ว ไม่มีหน่วยงานรัฐให้ความช่วยเหลือ แต่พร้อมโอนสิทธิ์จองวัคซีนที่ดีลไว้แล้วให้รัฐบาล เพราะอยากเห็นประเทศไทยทีวัคซีนที่ดีที่สุด พร้อมปฏิเสธข่าวติดต่อกระทรวงกลาโหม แต่ยอมรับว่าเคยคุยกับ รพ.ศิริราช ให้ช่วยเป็นตัวแทนนำเข้าวัคซีน
7
4 ส.ค. 2564 นพ.บุญ วนาสิน ประธานบริหารบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือเครือธนบุรีให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ทางช่อง 9 MCOT HD เมื่อเช้าวันนี้ว่าดีลวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ของเครือธนบุรีกรุ๊ปนั้นจบแล้ว เพราะไม่สามารเจรจากับหน่วยงานรัฐให้นำเข้าวัคซีนร่วมกับตนได้
6
นพ.บุญกล่าวว่าเครือธนบุรีกรุ๊ปติดต่อไปยังโรงงานรับจ้างผลิตวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค (Pfizer-BioNTech) ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ หรือสเปน ซึ่งโรงงานรับจ้างผลิตเหล่านี้จะมีโควตาวัคซีนพิเศษของตนเองประมาณ 5-10% ของกำลังการผลิตที่สามารถนำมาขายต่อแบบเอากำไรได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขของบริษัทแม่ โดยเครือธนบุรีกรุ๊ปสามารถติดต่อตัวแทนขายของผู้ผลิตวัคซีนในโรงงานเหล่านี้ได้แล้วกว่า 7-8 ราย อย่างไรก็ตาม นพ.บุญ บอกว่าวัคซีน mRNA ที่ตนดีลไว้ได้นั้นไม่ใช่วัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทไบโอเอนเทคของเยอรมนี ซึ่งขัดกับข้อมูลที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้
4
"ปัญหาของเราคือเราไม่สามารถนำเข้าได้ เป็นที่ทราบกันว่ามันต้องนำเข้าผ่านภาครัฐ ยกตัวอย่างโมเดอร์นาก็ต้องผ่านองค์การเภสัชฯ มีขั้นตอนมากมาย ซึ่งเรากะว่าเราจะได้ใช้ประมาณเดือน พ.ค. ก็เลื่อนไปเป็นเดือน ต.ค. อันนี้ก็จะเป็นปัญหาของเรา (เอกชน) ขณะนี้ผมดีใจที่รองนายกฯ (สุพัฒนพงศ์ พันธ์มีเชาว์) จะออกมาเป็นคนจัดหาเอง เพราะว่าเอกชนเจออุปสรรคร้อยแปดที่ไม่สามารถทำได้ เราทำมา 3 ครั้งแล้ว เราถอดใจนะ" นพ.บุญกล่าว พร้อมระบุว่าหน่วยงานรัฐหลายแห่งที่ตนเคยติดต่อไว้นั้นมีความพยายามจะช่วยเหลือเครือธนบุรีกรุ๊ป แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถทำได้ เพราะเมื่อไปคุยกับรัฐบาลก็ติดปัญหาหลายอย่าง
4
"ผมคิดว่าคงไม่สำเร็จ เพราะเราลองมา 3 เดือนแล้ว โดนยึดมัดจำไป 2 ครั้งแล้วก็ยังไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นไร" นพ.บุญกล่าว
2
นอกจากนี้ นพ.บุญยังปฏิเสธกระแสข่าวที่ระบุว่าเครือธนบุรีกรุ๊ปไปพูดคุยกับกระทรวงกลาโหม เพื่อให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้แทนนำเข้าวัคซีน โดยระบุว่าไม่เกี่ยวกับตน แต่เป็นเรื่องของน้องชายตน ซึ่งไม่ได้เป็นผู้บริหารในเครือธนบุรีกรุ๊ป พร้อมกันนี้ นพ.บุญยอมรับว่าน้องชายของตนได้รับการมอบอำนาจจากหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงกลาโหมให้จัดหาวัคซีนโควิด-19 จริง แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับตน และไม่ขอเปิดเผยชื่อหน่วยงานที่ตนเคยเข้าไปคุยด้วย บอกเพียงแค่ว่าทุกคนล้วนมีความหวังดีต่อประเทศ อย่างไรก็ตาม นพ.บุญเอ่ยชื่อ 1 ในหน่วยงานที่เคยไปติดต่อให้ช่วยเหลือเรื่องการนำเข้าวัคซีน mRNA นั่นคือ โรงพยาบาลศิริราช
6
"ผมติดต่อศิริราช แต่ศิริราชบอกว่าไม่ขอรับ เพราะว่ามันจะกลายเป็นการค้า จริงๆ มีอีก 10-20 หน่วยงานที่สามารถนำเข้าได้" นพ.บุญกล่าว พร้อมเสริมว่าโรงพยาบาลที่เป็นวิทยาลัยแพทย์หรือบางหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมสามารถนำเข้าได้ แต่ว่าไม่มีใครกล้าออกมาทำ ซึ่งตนดีใจที่ในที่สุด รัฐบาลก็ออกมาทำ แต่คงก็ลำบากกว่าจะได้วัคซีน mRNA เพราะหากสั่งซื้อในตอนนี้ จะต้องรอประมาณ 8 เดือน หรือได้รับวัคซีนในช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า
2
"ผมบอกตรงๆ นะ ถ้ารัฐทำเอง ถ้ากระทรวงการต่างประเทศทำเนี่ย ดีกว่าเรา (เอกชน) แต่ว่าวัคซีนไม่มีแล้วนะ ผมบอกตรงๆ ว่าตอนนี้ถ้ารัฐไปขอซื้อ mRNA จากไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา เราจะได้ตอนเดือน มี.ค. เพราะฉะนั้นประเทศไทยเราจะต้องทนไปอีกอย่างน้อย 8 เดือนถึงจะได้วัคซีนที่ดีมาก ทุกคน ผมขอร้องนะครับว่าช่วยตัวเองนะครับ" นพ.บุญกล่าว
ทั้งนี้ นพ.บุญกล่าวเพิ่มเติมว่าวัคซีน mRNA จำนวน 20 ล้านโดสที่เครือธนบุรีกรุ๊ปเตรียมจะนำเข้านั้นเป็นไปได้ที่จะไม่ประสบความสำเร็จสูงถึง 90% เพราะไม่มีหน่วยงานใดของรัฐที่พร้อมเข้ามาช่วยเหลือ นอกจากนี้ นพ.บุญยังระบุว่าหากรัฐบาลไทยต้องการจัดหาวัคซีน mRNA เครือธนบุรีก็ยินดีที่จะโอนสิทธิ์การจองที่เคยทำข้อตกลงไว้กับผู้แทนบริษัทวัคซีนให้กับรัฐบาลไทย
2
"นายกฯ ตู่ก็ออกมาพูดหลายครั้ง ครั้งแรกก็ให้กระทรวงฯ ช่วย เราก็โดดไปช่วยทีนึงตอนเดือน เม.ย. แล้วตอนหลังก็บอกว่าใครก็ได้มาช่วยกันหาวัคซีน เราก็โดดไปอีกที แต่ก็ทำไม่ได้ ปัญหามันอยู่แค่นี้แหละครับ" นพ.บุญกล่าว
หมอบุญ-กลาโหม แจง 'ไม่เคยคุยกัน'
วานนี้ (3 ส.ค. 2564) สปริงนิวส์รายงานโดยอ้างอิงจากคอมชัดลึกออนไลน์มาอีกทอดหนึ่ง โดยระบุว่าหน่วยงานรัฐที่เตรียมนำเข้าวัคซีน mRNA ร่วมกับเครือธนบุรีกรุ๊ป คือ กระทรวงกลาโหม อย่างไรก็ตาม วันนี้ (4 ส.ค. 2564) ประชาไทตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ของคมชัดลึกออนไลน์กลับไม่พบข้อความดังกล่าว มีเพียงข้อความที่ระบุว่าเป็นหน่วยงานรัฐเท่านั้น
1
ข้อมูลอื่นๆ ที่สื่อ 2 สำนักนี้รายงานตรงกัน คือ เครือธนบุรีกรุ๊ปต้องเสียเงินวางมัดจำไปถึง 2 ครั้ง เนื่องจากผิดนัดตามเงื่อนไข 10% เป็นจำนวนเงิน 500-600 ล้านบาท ทั้งยังติดปัญหาขั้นตอนการนำเข้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเมื่อตรวจสอบกับทางบริษัทไฟเซอร์ก็พบว่าบริษัทถูกกดดัน เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถนำเข้าได้ก่อเครือธนบุรีกรุ๊ปเช่นกัน นอกจากนี้ ทั้ง 2 สื่อยังรายงานตรงกันโดยอ้างว่า นพ.บุญ ยืนยันว่าภายในเดือน ส.ค. 2564 นี้ ประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" อย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้ ในส่วนของตนได้เช่าสถานที่เพื่อรองรับการฉีดวัคซีนไว้หมดแล้ว
3
ต่อมา กรุงเทพธุรกิจ, ข่าวสดออนไลน์ และไทยรัฐออนไลน์ รายงานตรงกันว่า พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธกระแสข่าวข้างต้น โดยระบุว่ากระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในสังกัดไม่เคยเข้าร่วมการเจรจากับเครือธนบุรีกรุ๊ปเพื่อสั่งซื้อและนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ รวมถึงยังไม่มีแผนหรือความตกลงร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนใดๆ ในการสั่งซื้อหรือนำเข้าวัคซีนยี่ห้อดังกล่าว และไม่เคยติดต่อกับบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัดเพื่อจัดหาวัคซีนแต่อย่างใด
2
เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (3 ส.ค. 2564) สุวดี พันธุ์พานิช เลขานุการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) ออกหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่า ตามที่ได้มีสํานักข่าวแห่งหนึ่งได้ระบุว่า นพ.บุญ วนาสิน ให้สัมภาษณ์ถึงการนําเข้าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ร่วมกับ “กระทรวงกลาโหม” โดยจะมีการทําสัญญาภายในสัปดาห์นี้และระบุว่าสามารถนําเข้ามาภายในเดือน สิงหาคมนั้น บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) (“THG”) ขอชี้แจงว่า นพ.บุญ วนาสิน ไม่ได้เป็นผู้ให้ข้อมูลที่มีเนื้อหาดังกล่าวแก่สํานักข่าว และได้ดําเนินการแจ้งให้สํานักข่าวแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อนึ่ง THG ยืนยันว่า การติดต่อนําเข้าวัคซีน mRNA และวัคซีนอื่นๆ ยังดําเนินการอย่างต่อเนื่องและอย่างสุดความสามารถเพื่อให้สามารถนําวัคซีนมาช่วยให้ประเทศชาติพ้นวิกฤตให้เร็วที่สุด
โฆษณา