4 ส.ค. 2021 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
“Hydrox” คุกกี้ต้นฉบับของ Oreo ที่เกิดจากความแค้น
4
“Oreo” คุกกี้บิด ชิมครีม จุ่มนม ถือเป็นแบรนด์คุกกี้อเมริกันที่เก่าแก่
เพราะมีอายุยาวนานกว่า 100 ปี มีขายในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก
แถมยังทำยอดขายได้หลายหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งก็เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในคุกกี้ที่ขายดีที่สุดในโลก
7
แต่รู้หรือไม่ว่า Oreo คือสินค้าที่เกิดขึ้น จากการเลียนแบบคุกกี้อีกยี่ห้อหนึ่งที่ชื่อว่า “Hydrox”
ซึ่งคู่พี่น้องที่คิดค้น Hydrox ก็เคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ผลิต Oreo มาก่อน แต่กลับถูกหักหลัง
จนพวกเขาต้องออกมาตั้งบริษัทใหม่กันเองและมีแรงผลักดันในการคิดค้น Hydrox จากความแค้น
4
ทำไมชื่อของ Hydrox ถึงหายไป
แล้ว Oreo เอาชนะ Hydrox ได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
3
ในปี 1866 หรือเมื่อ 155 ปีก่อน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ชายที่ชื่อว่า “Jacob Loose” ในวัย 16 ปี ได้ตัดสินใจเลิกเรียนมัธยม แล้วเริ่มทำงานเป็นพนักงานที่ร้านขายของชำ
1
ผ่านไป 4 ปี Jacob มีเงินเก็บมากพอที่จะเปิดร้านขายของชำขนาดเล็กของตัวเอง ซึ่งกิจการก็ดำเนินไปได้ดีจน Jacob อยากเริ่มลองธุรกิจใหม่
1
เขามองว่าอุตสาหกรรมเบเกอรีเพิ่งอยู่ในช่วงต้นของการเติบโต Jacob เลยตัดสินใจซื้อกิจการเบเกอรีที่ผลิตบิสกิตและลูกอม ซึ่งยังเป็นธุรกิจขนาดเล็กของครอบครัวหนึ่ง
ในขณะเดียวกัน Jacob ก็ได้ชวนน้องชายที่ชื่อ “Joseph Loose” มาเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเบเกอรีนี้ด้วย พวกเขาเลยตั้งชื่อบริษัทว่า Loose Brothers ซึ่งขนมของพวกเขาก็ขายดีแบบที่คาดไว้
แม้ว่าเบเกอรีจะขายดี แต่พวกเขายังอยากพาบริษัทให้เติบโตไปมากกว่านี้ ประกอบกับในขณะนั้นการรวมกลุ่มบริษัทหรือ Conglomerate กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มธุรกิจน้ำมันและพลังงาน
3
พี่น้อง Loose เลยอยากลองสร้างกลุ่มธุรกิจบ้าง แม้จะยังไม่เคยมีใครทำในอุตสาหกรรมขนมมาก่อน แต่พวกเขาก็มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จ
พี่น้อง Loose จึงจ้างนักกฎหมายที่ชื่อ “Adolphus Green” ให้มาเป็นที่ปรึกษาและดำเนินการเรื่องควบรวมกิจการ
1
Green สามารถเจรจาขอรวมกลุ่มกิจการเบเกอรีได้กว่า 35 บริษัทในย่านเดียวกัน และตั้งชื่อบริษัทว่า “American Biscuit”
1
ความสำเร็จของ American Biscuit ก็ทำให้มีบริษัทเบเกอรีในแถบอื่นของสหรัฐอเมริกาเริ่มรวมกลุ่มตาม จนเกิดเป็นบริษัทขนาดใหญ่อีก 2 บริษัทอย่าง New York Biscuit และ United States Baking
1
ในปี 1890 ทั้ง 3 บริษัทนี้ก็แข่งขันกันอย่างดุเดือดโดยการตัดราคา ทำให้ราคาบิสกิตทั้งตลาดลดลงกว่า 40% จน American Biscuit ของพี่น้อง Loose เกือบจะล้มละลาย
1
ช่วงนั้นเอง Jacob มีอาการป่วยที่ค่อนข้างรุนแรง เขาเลยถูกกดดันให้ออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และไปรักษาตัวที่ยุโรป น้องชายอย่าง Joseph จึงรับช่วงบริหารงานที่ American Biscuit ต่อ
2
Joseph แก้ปัญหาสงครามราคาในอุตสาหกรรมเบเกอรีด้วยวิธีเดิม นั่นคือการรวมกลุ่มทั้ง 3 บริษัทเข้าด้วยกัน
แต่พอ Joseph เล่าให้ Jacob ฟัง เขากลับไม่เห็นด้วย แต่ Joseph ยังเดินหน้าควบรวมกิจการต่อ โดยได้ทนายคนเดิมอย่าง Green มาช่วยจัดการ
3
จนในที่สุด การควบรวมกิจการก็สำเร็จในปี 1898 เกิดเป็นกลุ่มบริษัทเบเกอรีที่ใหญ่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยใช้ชื่อว่า National Biscuit Company ซึ่งในภายหลังเปลี่ยนมาเป็น “Nabisco”
7
แต่ก่อนที่ Joseph จะได้ดีใจกับความสำเร็จนี้ เขาก็พบว่าในเอกสารก่อตั้งบริษัท Nabisco ชื่อของประธานกรรมการบริหารกลับไม่ใช่ชื่อเขา แต่เป็นชื่อของทนาย Green ส่วนชื่อพี่น้อง Loose เป็นเพียงกรรมการบริษัท ซึ่งไม่มีอำนาจบริหารงาน
2
เมื่อ Jacob รู้เรื่องว่าโดนหักหลัง ก็คิดว่าต้องรีบรักษาตัวให้หาย และหาทางแก้แค้น
ไม่กี่ปีหลังจากนั้น Jacob ก็อาการดีขึ้น พี่น้อง Loose จึงร่วมมือกับนักธุรกิจที่ชื่อ John Wiles และตั้งบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า “Loose-Wiles Biscuit” ที่เมืองแคนซัสซิตี ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1902
2
Joseph ได้เริ่มคิดค้นสูตรขนมที่จะต้องขายดีจนเอาชนะ Nabisco ได้ ซึ่งในตอนนั้นขนมที่ Nabisco ยังไม่มีก็คือคุกกี้ ที่ยังเป็นขนมราคาสูงในหมู่คนมีฐานะเท่านั้น เขาเลยโฟกัสกับการคิดค้นสูตรคุกกี้ที่อร่อยและราคาเข้าถึงง่าย
4
และในตอนนั้นก็เป็นเวลาที่ช็อกโกแลตกำลังได้รับความนิยมสูงในสหรัฐอเมริกา Joseph เลยเกิดเป็นไอเดียที่สร้างจุดเด่นให้กับสูตรคุกกี้ของตัวเอง นั่นก็คือใช้ผงโกโก้เป็นส่วนผสม เพราะคุกกี้ในตลาดตอนนั้นมีแต่ที่ทำจากน้ำตาลและเนย
1
Joseph เพิ่มความแฟนซีให้คุกกี้ด้วยการทำเป็นลายดอกไม้ และสร้างจุดเด่นอย่างที่สองด้วยการทำคุกกี้เป็นแซนด์วิช และมีไส้ครีมตรงกลาง
1
ในที่สุด Loose-Wiles Biscuit ก็มีสินค้าซิกเนเชอร์ที่เป็นแซนด์วิชคุกกี้รสช็อกโกแลต มีไส้ครีมตรงกลาง ที่เริ่มวางขายในปี 1908 ในชื่อ “Hydrox”
2
Cr.thewallstreet
Hydrox ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม จนทำให้กำไรของ Loose-Wiles Biscuit เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังส่งผลทำให้กำไรของ Nabisco เริ่มลดลง
ทนายความที่มาแย่งบริษัทไปอย่าง Green กลัวว่า Nabisco จะโดนแย่งลูกค้าไป
เขาเลยทำคุกกี้เลียนแบบมาสู้ และเริ่มวางขายในปี 1912 โดยตั้งชื่อขนมนั้นว่า “Oreo”
3
แต่ช่วงที่ Oreo เริ่มวางขาย Hydrox ก็กลายเป็นหนึ่งในคุกกี้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐอเมริกาไปแล้ว จนถึงกับได้รับฉายาว่าเป็นราชาแห่งบิสกิต
5
และบริษัท Loose-Wiles Biscuit ก็ยิ่งเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเปิดโรงงานทำขนมแห่งใหม่ที่ถือว่าใหญ่สุดในโลกในขณะนั้นและกลายเป็นบริษัทขนมที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหรัฐอเมริกา รองจาก Nabisco เท่านั้น
4
เป็นอีกครั้งที่ช่วงเวลาแห่งความน่ายินดีต้องสะดุดลง เพราะ Joseph ในวัย 70 กว่า ได้เสียชีวิตในปี 1922 และในปีถัดมา Jacob ก็เสียชีวิตตาม ทิ้งให้พาร์ตเนอร์บริษัทอย่าง Wiles ต้องต่อสู้กับ Nabisco ต่อไป
ในขณะเดียวกันนั้น ฝั่ง Nabisco ก็ยังไม่ยอมให้ Oreo แพ้ Hydrox
2
Green ได้ศึกษาตลาดและพบว่าคนที่ซื้อ Oreo ไป มักมีพฤติกรรมบิดคุกกี้แยกออกเป็นสองชิ้นก่อนกิน
ซึ่งจะมีเพียงคุกกี้แผ่นเดียวที่มีครีมติดอยู่ เขาจึงนำพฤติกรรมเหล่านี้มาทำเป็นโฆษณา
ที่เน้นเรื่องราวให้คู่เพื่อน หรือพ่อแม่ลูก หยิบ Oreo มาแล้วบิดคุกกี้พร้อมกัน โดยแข่งกันว่าใครได้ฝั่งที่มีครีม
2
และแคมเปนนี้ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จน Oreo ออกโฆษณาต่อเนื่องในปีถัดมา
ซึ่งเป็นวลีที่ฮิตมาจนถึงปัจจุบันอย่าง “บิด ชิมครีม จุ่มนม”
1
จากความสำเร็จในการทำการตลาดที่นำเอาพฤติกรรมของลูกค้ามาใช้
Oreo จึงเริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้นมาก จนกระทบยอดขายของ Hydrox
2
แต่แล้วในปี 1941 ผู้ร่วมก่อตั้ง Loose-Wiles Biscuit คนสุดท้ายอย่าง Wiles ก็เสียชีวิตลง
รองประธานกรรมการบริหารในขณะนั้นจึงมารับตำแหน่งต่อ และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Sunshine
3
Sunshine พยายามแก้เกมด้วยการเน้นโปรโมตว่า Hydrox เป็นสินค้าออริจินัล ขณะที่ Nabisco ก็เลือกโปรโมตรสชาติและคุณภาพของ Oreo ด้วยการปรับขึ้นราคาขาย จนหลายคนเริ่มสับสนจนคิดว่า Hydrox เป็นสินค้าเลียนแบบของ Oreo เพราะ Hydrox มีราคาถูกกว่า
6
ในที่สุด จากการต่อสู้กันมาร่วม 40 ปี Oreo ก็กลายเป็นคุกกี้ที่ขายดีกว่า Hydrox ได้ในช่วงทศวรรษที่ 1950s
2
Cr.foodbusinessnews
สถานการณ์ของบริษัท Sunshine เริ่มแย่ ผู้บริหารจึงตัดสินใจขายกิจการให้กับบริษัท American Tobacco ซึ่งหลังจากนั้นก็เปลี่ยนมือไปอยู่กับบริษัท Granny Goose ต่อด้วย Keebler ในเวลาต่อมา
1
บริษัท Keebler พยายามชุบชีวิต Hydrox อีกครั้ง ด้วยการปรับสูตรขนมและเปลี่ยนชื่อจาก Hydrox เป็น Droxies แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว หลังจากนั้น Kellogg’s ก็มาซื้อกิจการ Keebler ในปี 2001 และเลิกผลิต Hydrox ไปเลย
ขณะเดียวกัน Nabisco ก็เติบโตขึ้น จนกลายเป็นหนึ่งในบริษัทขนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
1
จากการที่ Hydrox เลิกผลิต ก็ทำให้เหล่าผู้ที่ชื่นชอบ Hydrox ต่างเสียดาย เพราะขนมรสชาติอร่อยและใช้วัตถุดิบคุณภาพดี แต่ต้องหยุดผลิตไปเพราะการจัดการที่ผิดพลาด อย่างการเปลี่ยนสูตรขนมและเปลี่ยนชื่อขนม
2
หนึ่งในคนที่อยากให้ Hydrox กลับมา คือชายที่มีชื่อว่า “Ellia Kassoff”
พ่อกับลุงของ Kassoff ได้ร่วมกันตั้งบริษัทขนมชื่อ “Leaf Brands” มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940s ก่อนที่จะขายกิจการให้ Hershey ไปในปี 1996
2
Kassoff ตัดสินใจซื้อ Leaf Brands กลับคืนมาจาก Hershey ในปี 2010 เพื่อนำขนมที่เขาชอบตอนเด็กแต่เลิกผลิตไปแล้วกลับมาขายอีกครั้ง อย่างเช่น อมยิ้มยี่ห้อ Astro Pops
4
Kassoff เลยคิดจะนำ Hydrox กลับมาขายอีกครั้งด้วย เขาเลยเจรจาขอซื้อเครื่องหมายการค้าของ Hydrox มาจาก Kellogg’s ในปี 2014 ได้สำเร็จ
2
แต่สิ่งที่ยากกว่าการซื้อเครื่องหมายการค้าจาก Kellogg’s ก็คือ จะหาสูตรขนมแบบดั้งเดิม ที่เลิกขายมานานแล้วได้อย่างไร
1
Kassoff เริ่มจากพยายามหาซื้อ Hydrox แบบดั้งเดิมเพื่อเอามาดูส่วนผสม จนไปเจอ Hydrox วางขายอยู่บนเว็บไซต์ซึ่งเป็นตัวที่ผลิตมาตั้งแต่ปี 1998
1
นอกจากนั้นแล้ว Kassoff ก็ติดต่อไปหาอดีต CEO และอดีตหัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท Sunshine ที่เป็นผู้ผลิต Hydrox เดิม และเขายังติดต่อนักวิทยาศาสตร์อาหารรวมถึงแฟน ๆ ของ Hydrox เพื่อให้ช่วยกันรื้อฟื้นสูตรต้นตำรับของ Hydrox
4
ผ่านไปเพียง 1 ปี ความพยายามทั้งหมดก็เป็นผล
เพราะ Leaf Brands สามารถขาย Hydrox ได้อีกครั้งในปี 2015
2
ฝั่ง Nabisco ในตอนนี้ ได้กลายเป็นบริษัทในเครือบริษัท Mondelez ตั้งแต่ปี 2012 และยังคงขาย Oreo ที่ได้รับความนิยมสูงมาอย่างยาวนาน
เมื่อ Hydrox เริ่มกลับมาขายอีกครั้ง ก็ได้รับความสนใจจากร้านค้าหลายพันแห่งทั่วประเทศ ที่สั่งสินค้าเข้าไปวางขาย และยอดขายของ Hydrox ก็สามารถเติบโตต่อปีได้หลายสิบเท่าตัว ซึ่งคงพอพิสูจน์ได้ว่ายังมีคนที่รอคอยการกลับมาของ Hydrox อยู่
7
แต่ถึงแม้ว่ายอดขายของ Hydrox จะยังคงเป็นเพียงเศษเสี้ยวเมื่อเทียบกับ Oreo ทาง Mondelez ก็เลือกตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ด้วยการใช้อำนาจที่มีไปเจรจากับร้านค้าปลีกทั้งขนาดใหญ่และเล็กทั่วประเทศ ให้วางขาย Oreo ไว้ในจุดที่ลูกค้าจะเห็นได้ง่ายที่สุด และทำให้ Hydrox ถูกพบเห็นได้ยากที่สุด
2
ในโลกโซเชียลจึงมีการแชร์รูปและเป็นประเด็นที่คนวิจารณ์กัน ว่า Hydrox ถูกย้ายไปวางในที่ลับตา
อย่างเช่น วางขายที่ชั้นบนสุด หรือวางสินค้าโดยนำด้านข้างที่ไม่มีโลโกยี่ห้อมาไว้ด้านหน้า หรือนำสินค้าอื่นมาบังไว้
5
หลังจากนั้น Hydrox เลยแก้เกมด้วยการย้ายมาเน้นช่องทางขายออนไลน์แทน โดยเริ่มขายใน Amazon ในขณะที่ Oreo ก็ตอบโต้กลับมาอีก ด้วยการเติมคำว่า The Original ขนาดใหญ่ไว้บนซองขนม
3
ปัจจุบัน Hydrox ยังคงพยายามทวงตำแหน่งสินค้าต้นตำรับคืนจาก Oreo
ซึ่งเราก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าเรื่องราวการแข่งขันของทั้งคู่จะเป็นอย่างไร
6
แต่สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากมหากาพย์แบรนด์คุกกี้แซนด์วิชไส้ครีม
ก็คือ การสังเกตพฤติกรรมลูกค้าของเราและนำมาพัฒนาเป็นแคมเปนการตลาด
ก็อาจจะทำให้แบรนด์ของเราเป็นที่จดจำไปได้นาน
5
อย่าง Oreo ที่เห็นว่าลูกค้าชอบบิดคุกกี้ ก่อนกินเสมอ
จึงได้นำไอเดียจากลูกค้ามาพัฒนาเป็นโฆษณา
ก่อนที่จะต่อยอดมาเป็นวลีสุดฮิต “Twist, Lick, Dunk” หรือ บิด ชิมครีม จุ่มนม
ซึ่งก็ได้ทำให้คุกกี้ไส้ครีมธรรมดา กลายมาเป็นแบรนด์ที่ติดหูคนทั่วโลก มานานเท่านาน..
3
โฆษณา