4 ส.ค. 2021 เวลา 12:45 • ประวัติศาสตร์
• สรุปแบบรวบรัด | ความขัดแย้งในไซปรัส
1. เกาะไซปรัส (Cyprus) เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยเกาะแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานหลายพันปี และผ่านการถูกยึดครองโดยอาณาจักรต่าง ๆ มากมาย
2. โดยประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในไซปรัสนั้น จะเป็นชาวไซปรัสที่มีเชื้อสายกรีก (Greek Cypriot) ที่พวกเขาได้อพยพและตั้งรกรากมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งชาวไซปรัสกรีกจะนับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์
3. ในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ไซปรัสได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของจักรวรรดิออตโตมัน ทำให้ไซปรัสตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมันเป็นเวลานานกว่า 300 ปี
4. โดยในช่วงที่ไซปรัสตกเป็นของออตโตมันนั้น ก็ได้มีชาวเติร์กหรือชาวตุรกี ที่ได้อพยพเข้ามาอยู่ในไซปรัส ซึ่งในเวลาต่อมาชาวตุรกีเหล่านี้ก็จะถูกเรียกว่า ชาวไซปรัสตุรกี (Turkish Cypriot) ซึ่งจะนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่
5. ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ไซปรัสก็ได้ถูกยึดครองโดยอังกฤษ ก่อนที่จะก่อตั้งเป็นอาณานิคมของอังกฤษในชื่อ British Cyprus
6. เมื่ออังกฤษปกครองไซปรัส ก็ได้ใช้นโยบายแบ่งแยกและปกครอง (Divide and Rule) ที่ทำให้ชาวไซปรัสกรีกและชาวไซปรัสตุรกีเกิดความแตกแยกกัน เพื่อไม่ให้ต่อต้านอำนาจของอังกฤษ (ทั้งที่ความเป็นจริง ชาวไซปรัสทั้งสองเชื้อชาติต่างอยู่อาศัยกันด้วยความสมานฉันท์ มาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว)
7. ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1950 ขาวไซปรัสกรีกก็ได้เริ่มต้นต่อต้านอำนาจของอังกฤษ โดยพวกเขาได้จัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า องค์กรแห่งชาติของนักรบชาวไซปรัส (หรือชื่อย่อตามภาษากรีก EOKA)
8. องค์กร EOKA มีผู้นำคือ อาร์คบิชอปมาคาริออสที่ 3 (Archbishop Makarios III) ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาของชาวไซปรัสกรีก
Archbishop Makarios III ผู้นำของกลุ่ม EOKA
9. EOKA มีแนวคิดที่เรียกว่า เอโนซิส (Enosis) ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะปลดแอกไซปรัสจากอังกฤษ และนำไซปรัสไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกรีซ
10. โดยตั้งแต่ปี 1955 EOKA ก็ได้เริ่มต้นโจมตีอังกฤษ โดยใช้ยุทธิวิธีการรบแบบกองโจร และวางระเบิดโจมตีในเขตเมืองหลวงกรุงนิโคเซีย (Nicosia) ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลอังกฤษในไซปรัส
ทหารของกลุ่ม EOKA
11. ผลพวงจากการโจมตีของ EOKA ทำให้รัฐบาลอังกฤษในไซปรัสประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อต่อสู้กับ EOKA โดยทางด้านของอาร์กบิชอปมาคาริออสที่ 3 ก็ได้ถูกทางอังกฤษเนรเทศให้ไปอยู่ที่เกาะเซเชลส์ (Seychelles) ในมหาสมุทรอินเดีย
12. แต่อย่างไรก็ตาม อาร์คบิชอปมาคาริออสที่ 3 ก็ได้เดินทางกลับมาที่ไซปรัส และนำ EOKA ต่อสู้กับอังกฤษต่อไป โดยในช่วงเวลานี้ EOKA ก็ได้เปลี่ยนแปลงแนวคิด จากเดิมที่ต้องการให้ไซปรัสรวมเป็นส่วนหนึ่งกับกรีซ เปลี่ยนเป็นการก่อตั้งรัฐเอกราชของไซปรัสขึ้นมาแทน
13. สุดท้ายในปี 1959 อังกฤษก็ได้ยินยอมมอบเอกราชให้กับไซปรัส (ข้อตกลงลอนดอน-ซูริค) โดยมีข้อแม้ว่า อังกฤษจะมีทหารประจำการอยู่ที่ไซปรัส ในเมืองอโกรตีรี (Akrotiri) และเมืองเดเคอิลา (Dhekeila)
14. และแล้วในเดือนสิงหาคม 1960 จึงมีการสถาปนาสาธารณรัฐไซปรัส (Republic of Cyprus) ขึ้นมา โดยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ที่มีการจัดสรรแบ่งปันอำนาจระหว่างชาวไซปรัสกรีกที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ กับชาวไซปรัสตุรกีที่เป็นประชากรส่วนน้อย (3 ใน 4 ของประชากรไซปรัสทั้งหมดเป็นชาวไซปรัสกรีก ส่วนที่เหลือเป็นชาวไซปรัสตุรกี)
15. โดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้อำนาจในการปกครองประเทศ 70% และตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นของชาวไซปรัสกรีก ส่วนอีก 30% และตำแหน่งรองประธานาธิบดีให้เป็นของชาวไซปรัสตุรกี
16. ซึ่งอาร์คบิชอปมาคาริออสที่ 3 ก็ได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของไซปรัส ส่วนรองประธานาธิบดีไซปรัสก็เป็นของ ฟาซิล คุชุก (Fazil Kuzuk) ซึ่งเป็นผู้นำของชาวไซปรัสตุรกี
17. ผลปรากฏว่าในช่วงปี 1963-1964 ได้มีการการกระทบกระทั่งกันระหว่างชาวไซปรัสทั้งสองเชื้อชาติ โดยมีที่มาจากการที่รัฐบาลไซปรัสที่มีชาวกรีกไซปรัสครองอำนาจส่วนใหญ่ ต้องการที่จะให้อำนาจการปกครองทั้งหมดเป็นของฝ่ายตน รวมไปถึงปัญหาความขัดแย้งที่ซุกซ่อนมาตั้งแต่สมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
18. ความขัดแย้งนี้ เต็มไปด้วยความรุนแรงและเกิดการเข่นฆ่ากัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวน ท้ายที่สุดสหประชาชาติก็ได้เข้ามาไกล่เกลี่ย และส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามาในไซปรัส
19. แม้ว่าจะมีกองกำลังสหประชาชาติ แต่ความขัดแย้งก็ยังไม่ยุติ จนกระทั่งในวันที่ 15 กรกฎาคม 1974 ปรากฏว่า รัฐบาลของไซปรัสได้ถูกรัฐประหารโดยฝีมือของกลุ่มที่มีแนวคิด Enosis (ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลเผด็จการทหารในกรีซ ที่ต้องการให้ไซปรัสรวมเข้ากับกรีซ) อาร์คบิชอปมาคาริออสที่ 3 ลี้ภัยออกนอกประเทศ
20. ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายนั้น ปรากฏว่าในอีก 5 วันต่อมาหลังการรัฐประหาร ทางตุรกีก็ได้ส่งกองทัพบุกเข้ายึดครองพื้นที่ตอนเหนือของไซปรัส โดยอ้างว่าเพื่อมาคุ้มกันความปลอดภัยให้กับชาวไซปรัสตุรกี แต่ในความเป็นจริง ตุรกีจะถือโอกาสยึดครองไซปรัส
21. ต่อมาในเดือนตุลาคม 1974 พื้นที่ตอนเหนือของไซปรัสที่ถูกยึดครองโดยตุรกี ก็ได้ประกาศเป็นส่วนหนึ่งของตุรกี ส่งผลให้ชาวไซปรัสกรีกที่อาศัยอยู่ตอนเหนือต้องอพยพมาอยู่ทางตอนใต้ และชาวไซปรัสตุรกีที่อยู่ตอนใต้ ก็อพยพไปยังตอนเหนือซึ่งเป็นเขตของตุรกี ตอนนี้ไซปรัสจึงแยกออกเป็น 2 ส่วน
22. และในปี 1983 ไซปรัสตอนเหนือที่ถูกยึดครองโดยตุรกี ก็ได้สถาปนาเป็นสาธารณรัฐตุรกีแห่งไซปรัสเหนือ (Turkish Republic of Northern Cyprus หรือ TRNC)
23. ส่วนทางด้านสหประชาชาติ ก็ได้กำหนดเส้นแบ่งเขตแดนของทั้งสองที่เรียกว่า Green Line เพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งสองเกิดการสู้รบกัน
24. โดยสหประชาชาติและสหภาพยุโรปให้การยอมรับรัฐบาลของสาธารณรัฐไซปรัส (ที่ครองอำนาจอยู่ทางใต้) โดยมองว่าสาธารณรัฐไซปรัสมีอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะไซปรัสทั้งหมด (ซึ่งรวมไปถึงเขต TRNC ทางเหนือด้วย) ในขณะที่ TRNC มีเพียงแค่ตุรกีเท่านั้นที่ให้การรับรอง
3
แผนที่ของไซปรัสปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยสาธารณรัฐไซปรัส (ทางใต้) สาธารณรัฐตุรกีแห่งไซปรัสเหนือ (ทางเหนือ) และพื้นที่สีชมพูเป็นฐานทัพของอังกฤษในเมือง Akrotiri และ Dhekeila
25. จนถึงปัจจุบัน ความขัดแย้งในไซปรัสก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ โดยมีความพยายามในการรวมไซปรัสทั้งสองให้เป็นหนึ่งเดียว แต่ก็ล้มเหลวในทุกครั้ง
*** Reference
#HistofunDeluxe
โฆษณา