4 ส.ค. 2021 เวลา 11:24 • กีฬา
👔 เจาะลึกบทบาทผู้อำนวยการกีฬา: พวกเขามีหน้าที่ทำอะไรกันบ้าง (ตอนที่ 2)
หนึ่งในจุดแข็งที่สำคัญที่สุดสำหรับตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา (sporting director) ตามทฤษฎีแล้วก็คือพวกเขาจะเป็นกลุ่มคนที่ได้ตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ในระยะกลางไปจนถึงระยะยาวให้กับสโมสร แทนที่จะเป็นผู้จัดการทีม ซึ่งมีโอกาสถูกปลดได้ทุกเมื่อหากพาทีมได้ผลการแข่งขันแย่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุเช่นนี้ ผู้จัดการทีมหลายคนใน พรีเมียร์ลีก จึงไม่ค่อยมองถึงการให้โอกาสนักเตะเยาวชน เว้นแต่ว่าเขาจะได้รับการหนุนหลังจากใครก็ตามที่อยู่เหนือขึ้นไป ด้วยมุมมองของสโมสรที่ต้องการพัฒนาผู้เล่นพรสวรรค์ไปในทางนั้น
"มันสำคัญมากที่คุณจะต้องได้รับการสนับสนุนจากบอร์ดบริหาร" แอชเวิร์ธ กล่าว "หากเราต้องการพูดกับ เกรแฮม พอตเตอร์ ว่า 'หนึ่งในสิ่งที่คุณต้องทำก็คือมาช่วยพัฒนาอคาเดมี่ และพยายามผลักดันดาวรุ่งขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่' เราก็คงไม่สามารถพูดกับเขาหลังจากผ่านไปสัก 4 เกมได้ว่า 'อาห์ ขอโทษนะที่มันไม่ได้ผลเลย พอเถอะ'"
"มันง่ายนะในการวิจารณ์ผู้จัดการทีมชุดใหญ่ด้วยคำพูดประมาณว่า 'พวกเขาไม่ใช้งานนักเตะดาวรุ่ง ไม่ให้โอกาสกับพวกเขาบ้างเลย' เอาล่ะ คำตอบของผมก็คือ 'แล้วคุณได้รับการสนับสนุนและการรับรองจากทางสโมสรมากแค่ไหนล่ะ?' พวกดาวรุ่งนั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์ฝีเท้า พวกเขาอาจจะมีศักยภาพ แต่คุณก็ไม่มีทางมั่นใจได้หรอกว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง ดังนั้นหากว่าคุณจะไปเรียกร้องให้ผู้จัดการทีมทำอะไรแบบนั้น คุณต้องดูก่อนว่าเขาได้รับการสนับสนุนด้วยไหม"
เรื่องราวอะไรแบบนี้มักนำมาสู่การมโนที่ว่าผู้อำนวยการกีฬากลายเป็นคนขัดขวางการทำงานของผู้จัดการทีม แทนที่จะให้ความช่วยเหลือ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง
"การที่มีทั้งผู้อำนวยการกีฬาและเฮดโค้ชนั้นไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่จะต้องขัดแย้งกันหรอกนะ" โคมอลลี่ กล่างพร้อมเสียงหัวเราะ "มันเป็นเรื่องของคน 2 คนที่ทำงานร่วมกันได้อย่างเข้าขา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น อย่าง สตีฟ ฮิตเช่น กับ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ (ที่ สเปอร์ส) ก็ถือว่าสมบูรณ์แบบ สจ๊วร์ต เว็บเบอร์ ที่ทำงานที่ นอริช กับ ดาเนียล ฟาร์เค่ ก็ไปได้สวย ไหนจะ ซิกี้ กับ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า อีก จะมีอะไรดีไปกว่านี้อีกล่ะ? หรือจะเป็น ไมเคิล เอ็ดเวิดส์ กับ เจอร์เก้น คล็อปป์"
แต่มันก็มีบ้างเหมือนกับที่ โคมอลลี่ ปะทะคารมกับผู้จัดการทีม ซึ่งเกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียว "ตอนนั้นเป็น มาร์ติน โยล ที่คุมทีม มันจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ แดเนียล เลวี่ คอยออกคำสั่งให้กับเขาในทุก ๆ การตัดสินใจ ดังนั้นตอนที่ผมได้รับการแต่งตั้งเข้ามารับตำแหน่ง มันก็เลยกลายเป็นประเด็นขึ้นมา"
"แต่กับผู้จัดการทีมคนอื่น ๆ ที่ผมร่วมงานด้วยใน พรีเมียร์ลีก หรือจะเป็นที่ฝรั่งเศสหรือตุรกี ผมก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรด้วยเลยนะ ตราบใดก็ตามที่ขอบเขตของงานสำหรับแต่ละคนนั้นชัดเจน"
อดีตผู้อำนวยการกีฬาคนหนึ่งใน พรีเมียร์ลีก ได้กล่าวกับ The Athletic ว่าเขามักมีปัญหากับพวกผู้บริหารมากกว่าผู้จัดการทีม เพราะด้วยบทบาทที่อาจส่งผลถึงอิทธิพลในการควบคุมสโมสรจากเบื้องบน "พวกเขา (ผู้บริหาร) ต่างก็ต่อสู้กันเพื่ออำนาจ" เขากล่าว
เขายังเล่าต่ออีกด้วยว่ามีผู้บริหารของสโมสรใน พรีเมียร์ลีก ที่จัดประชุมแบบส่วนตัวกับผู้จัดการทีมอยู่เป็นประจำ ซึ่งดูแล้วเป็นการกระทำที่ข้ามหน้าข้ามตาผู้อำนวยการกีฬาอย่างมาก "ผมบอกพวกเขาไปว่า 'ไม่ ๆ มันจะเป็นแบบนี้ไม่ได้' พวกเขาก็เลยให้ผมเข้าร่วมประชุมด้วย แต่พอผมประชุมเสร็จแล้วเดินออกจากห้อง พวกเขาก็ยังมีประชุมกันต่ออีกอยู่ดี"
อีกหนึ่งเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความไม่ลงรอยระหว่างผู้อำนวยการกีฬากับผู้จัดการทีมก็คือการซื้อขายนักเตะ "ปัญหานี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความรับผิดชอบของแต่ละบทบาทนั้นไม่ได้ถูกระบุเอาไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่แรก" โคมอลลี่ กล่าว "หากว่าผู้จัดการทีมมีเงื่อนไขในสัญญาว่าเขาจะต้องมีส่วนร่วมในการซื้อตัวผู้เล่น เขาก็จะมีสิทธิ์ในการออกเสียงว่า 'ผมอยากได้นั่น ผมอยากได้นี่'"
เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ก็เคยไม่แฮปปี้กับ "คณะกรรมการซื้อขายผู้เล่น" ตอนที่เขาทำงานกับ ลิเวอร์พูล ซึ่งมีอำนาจในการออกเสียง "นั่นแหละคือสูตรสำเร็จแห่งหายนะ" โคมอลลี่ เสริม "แนวทางที่ FSG (เฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป) ทำงาน รวมถึงโครงสร้างในการได้รับข้อมูลที่มีทั้งจาก เอียน เกรแฮม, ไมเคิล เอ็ดเวิดส์ และหัวหน้าแมวมอง มันไม่มีทางที่จะใช้ได้ผลเลย และมันก็เป็นเช่นนั้น"
ที่ ฟูแล่ม ผู้อำนวยการกีฬาจะมีอำนาจในการออกเสียง ซึ่งที่จริงแล้วเขาก็ยังเป็นเจ้าของสโมสรร่วม ผู้จัดการทั่วไป และผู้อำนวยการฟุตบอลอีกด้วย กลายเป็นว่า โทนี่ ข่าน มีอำนาจในการตัดสินใจขั้นสุดท้าย แม้ว่าเฮดโค้ชจะสามารถเสนอความเห็นได้ก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปตามปกติ แต่ก็ไม่ใช่กับที่นี่ที่เดียว เดวิด ซัลลิแวน เจ้าของสโมสรร่วม เวสต์แฮม ก็สามารถทำอะไรได้มากกว่าการแสดงความคิดเห็นในการซื้อขายผู้เล่นเช่นกัน
ส่วนที่ ไบรท์ตัน นั้นจะเป็นไปตามกระบวนการคือ ผู้จัดการทีมจะระบุ "ตำแหน่งที่กำลังต้องการ" จากนั้นผู้อำนวยการกีฬาก็จะมองหาว่ามีนักเตะที่ว่านั้นอยู่ในทีมบ้างหรือเปล่า มีที่ไปเล่นแบบยืมตัว หรือดาวรุ่งระดับอายุต่ำกว่า 23 ปีบ้างไหม "ถ้าหากดูแล้วไม่มีจริง ๆ เราก็จะเข้าสู่ตลาด แผนกสรรหาบุคลากรจะกระโดดเข้ามา และก็จะเป็นหน้าที่ของพวกเขา" แอชเวิร์ธ อธิบาย
"โดยทั่วไปผมก็ต้องการให้พวกเขาลิสต์มาทั้งตำแหน่งที่ต้องการ เป้าหมายที่เข้าเกณฑ์ค่าตัวที่เราจ่ายไหว เล่นเข้ากับสไตล์และปรัชญาของเรา ลิสต์นี้จะมีได้สามแบบ ตัวเลขและข้อมูล สโมสรส่วนใหญ่จะใช้สิ่งนี้ในการระบุตัวนักเตะ จากนั้นก็เป็นความเห็นส่วนบุคคล นี่คือวิธีดั้งเดิมที่ใช้กันมา และสุดท้ายคือมุมมองจากผู้จัดการทีม ซึ่งเราก็หวังว่าจะได้รับการติ๊กครบทั้งสามช่อง"
"หากว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดความไม่มั่นใจ สมมติแล้วกันว่า เกรแฮม ไม่แน่ใจว่าแบ็คขวาคนนี้ไม่ดีพอในการขึ้นเกม เราก็จะมีฟุตเทจและรายงานเพิ่มเติมให้กับเขา ถ้าเขายังบอกว่า 'ผมก็ยังไม่เห็นว่าเขาจะทำได้อยู่ดี' มันก็จะเป็น "โอเค ถ้าอย่างนั้นลองมาหาตัวเลือกอื่นกัน" จากมุมมองของผมมันก็เป็นประมาณนี้แหละ"
"ถ้าหากมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ก็เหมือนกับว่าเป็นการซื้อตัวมาแบบสูญเปล่า มันไม่มีเหตุผลเลยที่จะต้องซื้อตัวนักเตะที่ เกรแฮม ไม่ต้องการเข้ามา หรือไม่สามารถเล่นฟุตบอลในแนวทางเดียวกับที่เขาต้องการได้"
"สิ่งจำเป็นสำหรับพวกเราในฐานะโค้ชก็คือการที่สามารถเตรียมความพร้อมก่อนเกมได้อย่างอิสระ ตัดสินใจเกี่ยวกับทีมได้อย่างอิสระ ได้รู้ว่าคุณได้รับการสนับสนุนที่ดี และคุณไม่ต้องไปวุ่นวายกับเรื่องไร้สาระนอกสนาม ที่อังกฤษมันมีเอเยนต์บางคนที่มีอิทธิพลกับโค้ชหรือนักเตะ ส่วนแฟน ๆ น่ะเหรอ พวกเขามีส่วนสำคัญเลยล่ะ ไม่ว่าผลการแข่งขันจะดีหรือแย่ คุณก็จะต้องยอมรับผลกระทบจากเรื่องเหล่านี้"
นี่คือความเห็นจากปากของ อันเดร วิลลาส-โบอาส ที่เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้กับ The Athletic เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นไปตามที่ผู้อำนวยการกีฬาหลายคนเคยบอกไว้ว่าพวกเอเยนต์มักจะมีอิทธิกลต่อเจ้าของสโมสร และนั่นก็ถือว่าเป็นหนึ่งในความท้าทายของงานผู้อำนวยการกีฬา บางคนก็ยอมรับได้ว่าวงการฟุตบอลปัจจุบันมันเป็นไปแบบนี้ แม้ว่ามันจะน่าผิดหวังก็ตาม แต่บางคนก็ส่ายศีรษะไม่ยอมรับ
"คุณจ่ายเงินให้กับผู้อำนวยการกีฬา 500,000 ปอนด์ต่อปี แต่สุดท้ายแล้วคุณกลับไปเชื่อพวกเอเยนต์ ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาสามารถโน้มน้าวคุณได้ดี ลองทายสิว่าเพราะอะไร เพราะว่าพวกเขากำลังพยายามทำเงินไงละ" ผู้อำนวยการกีฬาคนหนึ่งเผย
โคมอลลี่ เองก็กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน "ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่แค่กับเอเยนต์เท่านั้น แต่มันจะพังกันไปทั้งระบบในสโมสร ถ้าหากว่ามันเกิดขึ้นก็เท่ากับว่าสโมสรกำลังมีวัฒนธรรมที่ผิดเพี้ยน นั่นไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นเลย"
"ยังดีนะที่ผมไม่เคยผ่านประสบการณ์อะไรแบบนี้จากสโมสรที่ผมเคยร่วมงานด้วย" แอชเวิร์ธ กล่าวเสริม "ผมมั่นใจว่ามันจะต้องเป็นเรื่องน่าผิดหวังมากแน่ ๆ สำหรับเพื่อนร่วมงานของผมทุกคน พวกเขามีความตั้งใจที่จะทำงานให้กับสโมสร พยายามตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ แล้ววันดีคืนดีก็มีคนกระโดดเข้ามานำเสนอนักเตะของพวกเขา ซึ่งถ้าหากว่าเป็นผมแล้ว คำแนะนำใด ๆ ก็ตามจากเอเยนต์ ผมจะปล่อยให้มันเป็นไปตามระบบเสมอ"
"เอเยนต์สามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญได้ บางครั้งพวกเขาก็แนะนำนักเตะดี ๆ ที่คุณไม่รู้ว่ามีอยู่ในตลาด ตราบใดก็ตามที่มันเป็นไปตามระบบ ทุกอย่างก็ถือว่าเป็นไปในทางที่ดี และนักเตะคนนั้นก็จะได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกับนักเตะคนอื่น ๆ ถ้าหากว่ามันเป็นเช่นนี้ สำหรับผมแล้วก็ถือว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหากว่าเริ่มมีการลัดขั้นตอน ไม่เป็นไปตามระบบอย่างถูกต้อง ผมก็สามารถจินตนาการได้เลยว่ามันจะต้องพังไม่เป็นท่าแน่นอน"
ไม่ว่าเอเยนต์จะเข้ามามีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหนก็ตาม เจ้าของสโมสรก็ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับผู้อำนวยการกีฬา โคมอลลี่ มองว่าเจ้าของสโมสรนั้นเป็นอะไรที่ตแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับทุกสิ่งในสโมสร และเขาก็ยอมรับว่าบางครั้งก็รับมือด้วยยาก ยากยิ่งกว่าการฟังเสียงโค้ชบ่นเกี่ยวกับนักเตะหรือการเซ็นผู้เล่นใหม่เสียอีก
คำแนะนำที่เขาอยากส่งต่อไปกับคนอื่น ๆ ก็คือพยายามหลีกเลี่ยงการทำงานด้วยตัวคนเดียว "เมื่อผมมองย้อนไปตอนทำงานเป็นผู้อำนวยการฟุตบอล ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของผมก็คือการตัดสินใจโดยที่ไม่ได้ฟังคนอื่น ๆ รอบตัว นี่คืองานที่บ้าคลั่ง มันไม่มีวันหยุด ต้องทำงานทุก ๆ วัน และทุก ๆ เดือน มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับฟังผู้คนที่อยู่รอบข้างคุณ คุณต้องหาเวลาหยุดพักเพื่อคิดให้ดีก่อนการตัดสินใจครั้งต่อไป"
"ผู้จัดการทั่วไปในวงการฟุตบอลสหรัฐฯ นั้นมีอำนาจมากกว่าผู้อำนวยการกีฬาในวงการฟุตบอล พวกเขาจะมีผู้คนที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอยู่รายล้อม ซึ่งสามารถให้ข้อมูลที่ดีได้ตลอดเวลา"
ครั้งหนึ่ง โคมอลลี่ เคยเผยกับหนังสือพิมพ์เอาไว้ว่าเขามีเวลาหยุดพักเพียงแค่ 15 วันเท่านั้น ตลอดช่วงเวลาการทำงาน 3 ปีของเขา "นั่นมันโง่เง่ามาก ๆ (ที่ทำงานหนักขนาดนั้น) และมันก็เป็นสิ่งที่ผมจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เพราะสุดท้ายแล้วมันจะทำให้คุณมองเห็นอะไรได้ไม่ชัดเจนเลย" เขาเสริม
อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นธรรมชาติของงานนี้ แอชเวิร์ธ เคยเปรียบเทียบงานผู้อำนวยการกีฬาเอาไว้ว่าเหมือนกัน "นั่งอยู่ตรงกลางวงล้อ" ซึ่งมีอะไรหลายอย่างอยู่รายล้อม และวงล้อนั้นก็หมุนอย่างต่อเนื่องไม่ให้พวกเขาได้หยุดพัก
เขามีเรื่องเล่าตลก ๆ เกี่ยวกับการไปเที่ยวสวนสนุกกับครอบครัว ในขณะที่เขากำลังเจรจาการซื้อขายมูลค่าหลายล้านปอนด์ไปพร้อม ๆ กันด้วย
"ตอนนั้นผมไปเที่ยว ยูโรดิสนี่ย์ ที่กรุงปารีสกับลูก ๆ และผมก็กำลังอยู่ในคิวรอเล่นเครื่องเล่นยานอวกาศ" แอชเวิร์ธ กล่าวพร้อมรอยยิ้ม "ผมพกโทรศัพท์แบล็คเบอร์รี่ไปเจรจาดีลนี้ด้วย เป็นการซื้อตัว นิคกี้ ชอรี่ย์ มันมีช่วงหนึ่งที่ผมต้องป้องปากพูดว่า 'ฟังนะ ตอนนี้ผมต้องไปก่อนแล้ว' เพราะว่ารั้วกั้นเปิดให้ผมขึ้นเครื่องเล่น"
"หลังจากผมเล่นเสร็จ ถัดมาไม่กี่นาทีผมก็กลับมาโทรศัพท์ แล้วก็พบว่าดีลนี้สำเร็จลุล่วง ผมเดาว่าพวกเขาคงคิดว่าผมกำลังเล่นไม้แข็งอยู่มั้ง ทั้งที่จริง ๆ แล้วผมแค่จะต้องขึ้นเครื่องเล่นเท่านั้นเอง"
(เรียบเรียงจากบทความ Sporting directors: What do they do? Are they effective? Why can it take so long to hire a manager?
เขียนโดย สจ๊วร์ต เจมส์, ลอรี่ วิตเวลล์ และคนอื่น ๆ ลงในเว็บไซต์ theathletic.com เมื่อ 18 กรกฎาคม 2021
เรียบเรียงโดย ณัฐดนัย เลิศชัยฤทธิ์)
โฆษณา