7 ส.ค. 2021 เวลา 00:00 • หนังสือ
สี่ปีก่อนผมเข้าโรงพยาบาลรับการผ่าตัดใหญ่ ตลอดอาทิตย์ที่พักฟื้น บนแขนมีสายน้ำเกลือต่อกับขวดยาแก้ปวด เมื่อเจ็บแผลให้กดปุ่ม น้ำยาแก้ปวดก็จะไหลเข้าร่าง
ทุกวันหมอและพยาบาลถามว่า “วันนี้ปวดแผลระดับเท่าไรในสเกล 1-10 ?”
คล้าย ๆ การให้เรทติ้งภาพยนตร์!
3
ค่า 1-10 นี้ย่อมเป็นอัตวิสัย ค่าเดียวกันของแต่ละคนไม่เท่ากัน
ค่า 8 ของนาย ก. อาจเท่า 5 ของนาย ข.
คนบางคนอาจทนความปวดที่ค่า 9 ได้ แต่บางคนอาจไม่สามารถทนที่เลข 5 บางคนกดปุ่มน้ำยาแก้ปวดตั้งแต่เลข 3 แล้ว
คราวนี้ลองเปลี่ยนค่าความปวดเป็นค่าความทุกข์ เรากำหนดตัวเลขอย่างไรต่อแต่ละความทุกข์ของเรา?
เจ้านายเรียกไปด่า นาทีที่คำด่าแล่นเข้าหู รู้สึกโกรธ เศร้าหมอง หดหู่ หากให้กดปุ่มวัดความปวด ก็อาจพุ่งถึง 9 หรือ 10
แต่หากเทียบคำด่านั้นกับเรื่องอื่น ๆ เช่น ไฟไหม้บ้าน = 10 ป่วยหนักเป็นโรคร้าย = 11 คนรักตาย = 12 เราจะเห็นว่าให้คะแนนเจ้านายด่าสูงเกินไปแล้ว
ถ้าเทียบแบบนี้ ความทุกข์ที่ถูกเจ้านายด่าอาจได้แต้มแค่ 5 หรือ 6
3
ภรรยาดุ = 5-6 แต่ถ้าปลงได้ว่าเป็นธรรมชาติของเธออย่างนั้น ค่าทุกข์ก็อาจลดลงเหลือ 1-2
4
ตำนาน สามก๊ก เล่าว่าครั้งหนึ่งกวนอูถูกยิงด้วยเกาทัณฑ์ ขณะที่หมอผ่าตัดเอาหัวลูกศรออก เขาดื่มเหล้าเล่นหมากรุก กิริยาท่าทางไม่แสดงว่ารู้สึกเจ็บปวดอะไร
5
กวนอูคงไม่ใช่ซูเปอร์แมนจากดาวคริปตอน เจ็บคงเจ็บแน่ แต่จิตไม่ปรุงแต่งเป็นเรื่องใหญ่โต เพราะวันพรุ่งนี้ก็คงต้องออกไปรบอีก ถ้าบ่นทุกครั้งที่ถูกยิง ก็ไม่ต้องรบแล้ว
ความทุกข์ทั้งหลายในโลกตกอยู่ใต้สัจธรรมของความไม่จีรัง มันไม่อยู่ตลอด มันไม่เจ็บเท่ากันตลอด มันมีจุดเบาแรงและสิ้นสุด เหมือนการฉีดยา หรือการถูกหยิก มันไม่ดำรงอยู่ตลอดกาล
2
นั่นหมายความว่าหากเรากลั้นใจอดทนรับความทุกข์นั้นอีกสักอึดใจ หรือสองอึดใจ สเกลของความทุกข์นั้นอาจลดลงไป 1-2 ขีด
อาการอกหักวันแรกกับหนึ่งปีหลังมันเป็นตัวเลขต่างกัน ความปวดลดลงได้
ถ้าสามารถเข้าใจสัจธรรมของการปรุงแต่ง สิ่งที่เรียกว่า ‘ความทุกข์’ ก็อาจลดลงเหลือ 0
2
หากรักษาสภาวะจิตได้ที่ 0 ตลอดเวลา ก็เข้าสู่สภาวะอริยะ
2
คนธรรมดารักษาจิตได้ต่ำกว่า 5 ทั้งวันก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่ถ้าเราฝึกจิตไปเรื่อย ๆ จนเข้มแข็ง เจ็บแต่ไม่ปรุงแต่งเป็นทุกข์ ก็ไม่ต้องกดปุ่มยาแก้ปวด ถอด ‘สายน้ำยา’ ทิ้งได้ตลอดไป
1
จากหนังสือ #ความสุขเล็กๆก็คือความสุข / https://bit.ly/2Q05gHz
โฆษณา