12 ส.ค. 2021 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
เมื่อวานนี้ลงเรื่องสั้นที่เอาชื่อเพลงมาแต่ง
เอามาลงแค่ท่อนเดียวเป็นแซมเปิล เรื่องจริงยาวกว่านี้มาก
ฉบับภาษาอังกฤษก็เคยทำ
โจทย์แบบนี้ดูเหมือนยาก แต่ผมชอบทำมาตั้งแต่วัยรุ่นแล้ว
เมื่อผมเรียนภาษาไทยชั้นมัธยมปลายราวปี 2516-2517 อาจารย์ภาษาไทยให้เขียนเรียงความจากคำศัพท์ต่างๆ ประมาณ 15-20 คำ โจทย์คือนำคำศัพท์เหล่านั้นมาประกอบกันเป็นเรียงความหนึ่งเรื่อง โดยไม่จำกัดแนวเรื่อง จำได้ว่าผมทำได้ดีจนอาจารย์ชม เป็นครั้งแรกที่ผมเขียนเรียงความด้วยความสนุกอย่างยิ่ง
ผมพบว่าตัวเองชอบความท้าทายแบบงนี้
ผ่านไปนานปี ผมเขียนเรื่องสั้นหลายเรื่องโดยใช้โจทย์ข้อนั้นโดยไม่รู้ตัว เช่น คดีมโนสาเร่ ซึ่งใช้เรื่องจากข่าวจริงต่างๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์มาแต่งเป็นเรื่องใหม่ น้ำสองสาย ซึ่งเขียนเรื่องขึ้นมาใหม่จากตอนหนึ่งของตำราแบบเรียนเร็วใหม่ เพลงชีวิต ซึ่งแต่งเรื่องจากชื่อเพลงนับร้อยเพลง เป็นต้น
มารู้ภายหลังว่า เรื่องสั้นแนวนี้น่าจะจัดเป็นศิลปะแนวคอลลาจ (ในสื่อศิลปะ ภาพยนตร์ ดนตรี มักเรียก montage - มอนทาจ) นั่นคือการนำเอาองค์ประกอบหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกันมารวมกัน กลมกลืนเป็นเนื้อหนึ่งเดียวกัน
ศิลปะแบบลูกผสมที่เป็นงานจิตรกรรม ภาพพิมพ์อาจเห็นไม่มาก ในทางดนตรีก็มีเพลงประเภท เมดลีย์ (medley) ทางสายโฆษณาก็มีมาก แต่ที่เป็นงานวรรณกรรมกลับไม่ค่อยโจ่งแจ้งเหมือนศิลปะสายอื่น ที่เห็นชัดก็คือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ต้องแต่งเรื่องใหม่ให้เข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
งานโฆษณาที่ดีมักเป็นการผสมกันขององค์ประกอบสองหรือสามชิ้น ที่มีความแตกต่างกันอย่างมากมายเข้าด้วยกัน ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แปลกๆ ออกมา
ถ้าหากถามว่าทำอย่างไร ผมไม่มีคำตอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ หรือสูตรสำเร็จ แม้ว่าหลักสูตรการสอนวิชาความคิดสร้างสรรค์ในมหาวิทยาลัยของโลกตะวันตกจะพยายามหาสูตรหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วย แต่ความคิดสร้างสรรค์ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องใช้สัญชาตญาณ ไหวพริบ ความช่างสังเกต และลูกบ้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ โดยไม่กลัวผิด
ผมทำงานแบบนี้ไว้มาก ที่เป็นเรื่องสั้นก็เช่น เรื่อง
1 ไอ้โม่ง นำพาดหัวข่าวหลายร้อยฉบับมาร้อยเป็นเรื่อง
2 แมงกะพรุน นำฉากริมทะเลมาร้อยเป็นเรื่อง
3 หุ่นกระบอก นำคำศัพท์จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานทั้งเล่ม ทุกคำสุดท้ายของทุกหน้าที่สิบ มาร้อยเป็นเรื่อง
4 คดีมโนสาเร่ นำข่าวสั้นจำนวนมากมาร้อยเป็นเรื่อง
ฯลฯ
สามเรื่องแรกอยู่ในหนังสือ น้ำแข็งยูนิตตราควายบิน ที่ขายเลหลังเล่ม 50 บาทหมดไปแล้ว
เรื่องสุดท้ายอยู่ในหนังสือ อาเพศกำสรวล
ส่วนการใช้เทคนิคนี้เขียนเรื่องที่ยาวที่สุดก็คือนวนิยาย ผู้ชายคนที่ตามรักเธอทุกชาติ พิมพ์ครั้งที่ 85
หาความท้าทายมาทำ สมองจะได้ไม่เสื่อมเร็ว
ไม่กลัวตาย กลัวสมองเสื่อม
[ติดตามข้อเขียนของ วินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันที่เพจ https://bit.ly/3amiAvG และ blockdit.com]
โฆษณา