10 ส.ค. 2021 เวลา 07:00 • กีฬา
NBA 103 - ทำความรู้จักกับคำศัพท์ในวงการ NBA (ตอนที่ 9) - ศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับ NBA Free Agency ตอนที่ 1
สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับ
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับทีมชาติสหรัฐกับเหรียญทอง ทีมชาติฝรั่งเศสกับเหรียญเงิน และทีมชาติออสเตรเลียกับเหรียญทองแดง ของกีฬาบาสเกตบอลชายในการแข่งขันโอลิมปิกรอบนี้ด้วยนะครับ หลังจากที่สหรัฐอเมริกาเอาชนะฝรั่งเศสไปได้ 87-82 ในรอบชิงชนะเลิศ ส่วนออสเตรเลียก็เอาชนะสโลวิเนียไปได้ 107-93 ในรอบชิงที่สามเช่นกัน
ในที่สุดตลาดผู้เล่นที่ไม่มีสังกัดหรือ Free Agents ก็ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งตลาดรอบนี้ถือว่าคึกคักแบบค่อนข้างที่จะผิดความคาดหมายไปพอสมควร ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็มีผู้เล่นหลักบางคนได้ทำการขยายสัญญากับต้นสังกัดเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เพียงแต่ในการเจรจาสัญญาต่างๆ นั้น อาจจะสังเกตได้ว่า ตลาด NBA จะไม่สามารถใช้เงินทุ่มสัญญาเพื่อดึงผู้เล่นเข้าสู่ทีมได้ทุกคน ซึ่งทางลีกจะมีกฏเหล็กในเรื่องนี้อยู่ ที่เรียกว่า เพดานค่าเหนื่อย (Salary Caps)
ในส่วนของเพดานค่าเหนื่อยในฤดูกาลนี้ ได้มีการประกาศออกมาแล้วนะครับ
เพดานค่าเหนื่อยจะอยู่ที่ 112.41 ล้านเหรียญสหรัฐ (จากเดิม 109.14 ล้านเหรียญฯ)
เส้น Tax จะอยู่ที่ 136.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (จากเดิม 132.63 ล้านเหรียญฯ)
เพดานขั้นต่ำจะอยู่ที่ 101.17 ล้านเหรียญสหรัฐ (จากเดิม 98.23 ล้านเหรียญฯ)
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับเพดานค่าเหนื่อย และสิทธิ์ต่างๆ ของการเสริมทีม สามารถติดตามได้ที่ด้านล่างนี้ครับ
เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจความหมายและวิธีการของรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับสัญญาที่เกี่ยวข้องกับตลาดผู้เล่นมากขึ้น ในบทความนี้จะเป็นการอธิบายคำศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องครับ ซึ่งรายละเอียดบางส่วนสามารถอ่านได้จากด้านบนด้วยเช่นเดียวกัน
ศัพท์บางคำอาจจะเคยปรากฏมาก่อนแล้วใน Link ด้านบนนะครับ เพียงแต่ผมจะขอเอามาลงใหม่ด้วย เนื่องจากตั้งใจจะให้บทความนี้เกี่ยวข้องกับรายละเอียดของ Free Agency และรายละเอียด (บางส่วน) ของการเจรจาเกี่ยวกับสัญญาของผู้เล่นครับ
1. Restricted Free Agent (RFA)
ปกติแล้วการทำสัญญานั้น เมื่อสัญญาของผู้เล่นดังกล่าวได้สิ้นสุดลงกับต้นสังกัดเดิม มักจะมีการระบุในท้ายสัญญาว่าจะให้ผู้เล่นคนนั้นยังมีข้อผูกมัดกับทีมหรือไม่
ถ้าทีมต้องการให้มีข้อผูกมัด ผู้เล่นคนนั้นจะกลายเป็น RFA
ถึงแม้จะหมดสัญญาแล้วก็จริง แต่ถ้ามีทีมอื่นเสนอสัญญาฉบับใหม่มาให้พิจารณา ต้นสังกัดเดิมจะมีสิทธิ์สุดท้ายที่จะตัดสินใจ ว่าจะต่อสัญญากับผู้เล่นคนดังกล่าวด้วยมูลค่าสัญญาเท่ากับที่ทีมอื่นเสนอมา หรือจะปล่อยให้ผู้เล่นคนนั้นย้ายไปอยู่กับทีมใหม่แทน
ส่วนมากทีมจะใช้สัญญา RFA ในกรณีที่ยังไม่แน่ใจในทิศทางของผู้เล่นคนดังกล่าวว่าควรจะให้มูลค่าเท่าไหร่ หรือไม่แน่ใจว่าจะบริหารทีมโดยยังต้องให้เขามีส่วนร่วมอยู่หรือไม่ เลยลองให้เจ้าตัวไปทดสอบตลาดเพื่อรอดูสัญญาจากทีมอื่นก่อนนั่นเอง
ตัวอย่าง - ผู้เล่น A เซ็นสัญญาแบบ RFA ที่ 2 ปี ค่าเหนื่อยปีละ 10 ล้านเหรียญ พอสัญญาหมด เจ้าตัวก็จะกลายเป็น RFA และเข้าสู่ตลาด Free Agents
ถ้ามีทีม B เสนอมาที่ 1 ปี 7 ล้านเหรียญ ทางต้นสังกัดเดิมก็ต้องพิจารณาด้วยว่าจะสู้ตามมูลค่าสัญญานี้หรือไม่ ถ้าเลือกที่จะจ่าย ผู้เล่น A ก็จะได้อยู่กับทีมเดิมต่อไปด้วยสัญญาใหม่ที่ 1 ปี 7 ล้านเหรียญ แต่ถ้าไม่ เจ้าตัวจะไปอยู่กับทีมใหม่แทน
1.1 สัญญาฉบับแรก (Rookie Contract) ของผู้เล่นที่ได้รับการ Draft ในรอบแรกทุกคน (30 อันดับ) จะติดเงื่อนไข RFA ด้วยเสมอ แต่มีข้อยกเว้นอยู่ว่า ถ้าผู้เล่นดังกล่าวอยู่ในลีกมาแล้วสองปี แต่ทีมไม่ได้ยื่นข้อเสนอในการใช้ Option เพื่อขยายสัญญา เมื่อสัญญานั้นจบลงจะกลายเป็น UFA ทันที (ไม่มีเงื่อนไขผูกมัด หาต้นสังกัดใหม่ได้อย่างอิสระ)
ข้อนี้อาจจะต้องขยายความกันสักหน่อย ปกติแล้ว สัญญา Rookie Contract ของผู้เล่นกลุ่มนี้ จะเป็นแบบ 4 ปี แบ่งเป็นสัญญาการันตีปกติ 2 ปี ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะเป็น Team Option
ถ้าจะเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นให้เป็น UFA ทีมนั้นจะต้องไม่เลือก Opt in เพื่อขยายสัญญาออกไป เมื่อครบ 2 ปีแล้ว ผู้เล่นคนดังกล่าวจะหมดสัญญากับต้นสังกัดเดิมพร้อมกับเป็น UFA ทันที
1.2 ผู้เล่นที่หมดสัญญาแบบ Two-Way Contract (สัญญาพ่วงระหว่างทีมหลักกับทีมรองใน G-League ที่เกี่ยวเนื่องกัน) อย่างน้อย 15 วันก่อนที่ฤดูกาลใหม่จะเริ่มขึ้น จะมี RFA ติดกับต้นสังกัดเดิมมาด้วย
เงื่อนไขนี้มีไว้เพื่อให้ผู้เล่นที่อุตส่าห์ได้รับโอกาสขึ้นมาจากใน G-League สู่ทีมหลัก อย่างน้อยก็ได้มีทางเลือกให้ทีมต้นสังกัดเดิมในการตัดสินใจได้มากขึ้นด้วย ว่าจะเก็บเขาไว้ใช้งานต่อไปหรือไม่ ดีกว่าปล่อยให้เสียไปฟรีๆ หลังจากสัญญา Two-Way สิ้นสุดลง
1.3 เงื่อนไขและขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ RFA มีดังนี้
-ผู้เล่นสามารถรับข้อเสนอเบื้องต้นที่ต้นสังกัดเสนอมาได้ โดยจะเป็นสัญญาแบบการันตี 1 ปี หลังจากนั้นจะกลายเป็น UFA หลังข้อเสนอนี้สิ้นสุดลง
-ผู้เล่นสามารถเจรจาสัญญาฉบับใหม่กับต้นสังกัดเดิมได้
-ผู้เล่นสามารถเซ็นสัญญาที่ทีมอื่นยื่นมาให้พิจารณาได้ก่อนวันสิ้นสุด Trade Deadline แต่ต้นสังกัดเดิมมีสิทธิ์ที่จะยื่นข้อเสนอแบบเดียวกัน ภายในสองวันหลังจากที่ผู้เล่นตัดสินใจเซ็นสัญญาใหม่ เพื่อรั้งตัวไว้ให้อยู่กับทีม ตามเงื่อนไขของ RFA ถ้าทีมตัดสินใจไม่ยื่น ผู้เล่นจะได้ไปสังกัดทีมใหม่ทันที
-ผู้เล่นสามารถทำการ Sign-and-Trade เพื่อให้ทีมเอามูลค่าสัญญานี้ไปทำการแลกกับผู้เล่นจากทีมอื่นต่อไป
-ถ้าผู้เล่นคนนั้นไม่มีข้อเสนอใดๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นสังกัดเดิม หรือทีมใหม่ เสนอเข้ามาเป็นระยะเวลา 1 ปี ต้นสังกัดเดิมสามารถยื่นข้อเสนอเบื้องต้นรอบใหม่ได้เหมือนขั้นตอนแรก เพียงแต่รอบนี้ผู้เล่นจะกลายเป็น RFA อีกครั้งหลังสัญญาสิ้นสุด
2. Offer Sheets (การยื่นข้อเสนอสัญญาฉบับใหม่ให้กับผู้เล่น)
ถ้าหากผู้เล่น RFA ต้องการที่จะย้ายไปอยู่กับต้นสังกัดใหม่ ทางทีมใหม่จะต้องยื่นสัญญาฉบับใหม่ที่ต้องมีระยะเวลาไม่ต่ำกว่าสองปีให้พิจารณา การยื่นสัญญาแบบนี้จะเรียกว่า Offer Sheet
หลังจากที่พิจารณาแล้วได้ทำการเซ็นตกลงในสัญญาฉบับดังกล่าว ต้นสังกัดเดิมจะมีเวลาสองวันที่จะตัดสินใจยื่นข้อเสนอแบบเดียวกันให้กับผู้เล่นคนนั้น ถ้าทีมเดิมตัดสินใจยื่น ผู้เล่นคนนั้นจะได้อยู่ภายใต้สังกัดเดิมต่อไป แต่ถ้าไม่ยื่น ผู้เล่นก็จะได้ย้ายไปอยู่กับต้นสังกัดใหม่ในทันที
เพียงแต่ถ้าผู้เล่นคนนั้นตอบโต้การยื่นข้อเสนอของต้นสังกัดเดิม ด้วยการไม่ยอมไปรายงานตัวกับทีม หรือติดต่อเพื่อยืนยันสัญญาใหม่กับทีมภายในสองวันหลังจากทำการยื่นข้อเสนอแล้ว จะมีการแจ้งเตือนครั้งแรกจนกว่าผู้เล่นคนนั้นจะทำการรายงานตัว
จากนั้นถ้ายังดื้อแพ่งไม่มารายงานตัวอีก ต้นสังกัดเดิมมีสิทธิ์ที่จะยกเลิกข้อเสนอสัญญาฉบับใหม่ (ต้องแจ้งให้ทางลีกได้พิจารณารับทราบก่อน) และผู้เล่นคนนั้นจะกลายเป็น RFA อีกครั้ง เพียงแต่เขาจะไม่สามารถเซ็นสัญญากับทีมที่ยื่นข้อเสนอใหม่มาในตอนแรกได้เป็นเวลา 1 ปี
ตัวอย่างเช่น ทีม B ได้ยื่น Offer Sheet มา แต่ทีมเดิมใช้สิทธิ์ยื่นข้อเสนอแทน แต่ผู้เล่นไม่ยอมมารายงานตัวจนถูกยกเลิกสัญญา ทีม B จะไม่สามารถยื่น Offer Sheet ได้อีก แต่ทีมอื่นๆ ยังคงทำได้ปกติ
การที่ทีมใหม่ยื่น Offer Sheet นั้น ทีมนั้นจะต้องมีเพดานค่าเหนื่อยไม่เกินเส้นที่กำหนด และจะต้องรักษาสภาพนั้นจนกว่าทีมสังกัดเดิมจะตัดสินใจใช้สิทธิ์ยื่นข้อเสนอ (หรือไม่ยื่น) ในขณะที่ทีมในต้นสังกัดเดิม จะไม่สามารถยื่นข้อเสนอเพื่อรั้งตัวผู้เล่นไว้ได้ หากสัญญาฉบับใหม่มีมูลค่าเกินกว่าเพดานค่าเหนื่อยที่ทีมเหลืออยู่ (แต่ยังสามารถเคลียร์ให้เพดานเหลือพอได้ก่อนที่เวลายื่นสิทธิ์จะหมดลง)
3. Qualifying Offers (ข้อเสนอเบื้องต้น)
หลังจากที่ฤดูกาลได้จบลงอย่างเป็นทางการ ทางต้นสังกัดเดิมของผู้เล่นที่กลายเป็น RFA จะสามารถยื่นข้อเสนอเบื้องต้นให้ผู้เล่นได้พิจารณาได้ภายในหนึ่งวันนับจากช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งข้อเสนอนี้จะมีระยะเวลาเพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้น
ถ้าผู้เล่นตัดสินใจที่จะเซ็นสัญญาภายใต้ข้อเสนอนี้ หลังจากที่ข้อเสนอนี้ได้จบลง ผู้เล่นจะกลายเป็น UFA ในทันที ซึ่งปกติแล้วข้อเสนอนี้จะมีระยะเวลาให้ตัดสินใจถึง 1 ตุลาคม แต่สามารถยืดได้ถึง 1 มีนาคมของปีถัดไป ถ้าหลังจากผ่านเส้นตายไปแล้ว ผู้เล่นจะกลายเป็น RFA เช่นเดิม
ถึงแม้ว่าผู้เล่นจะทำการเซ็นข้อเสนอเบื้องต้นไปแล้ว แต่ทีมอื่นก็สามารถยื่นข้อเสนอสัญญาฉบับใหม่ให้ผู้เล่นพิจารณาได้ตามปกติ ทำให้ผู้เล่นบางคนมักจะตัดสินใจเซ็นข้อเสนอเบื้องต้นนี้ในช่วงใกล้หมดเขต ในขณะที่ได้เลือกสัญญาฉบับใหม่ที่จะย้ายสังกัดไปในตัวด้วย เพื่อการันตีว่าหลังจากฤดูกาลปัจจุบันได้จบลง เจ้าตัวจะกลายเป็น UFA และจะมีสิทธิ์ย้ายทีมได้อย่างอิสระหลังจากนั้น
4. Unrestricted Free Agency (UFA)
ผู้เล่นที่เป็น UFA คือผู้เล่นที่ไม่มีภาระผูกพันกับทีมอีกต่อไปหลังสัญญาสิ้นสุดลง สามารถย้ายทีมได้อย่างอิสระ เพียงแต่สัญญาบางฉบับอาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกเป็น UFA ด้วยเช่นกัน
5. Free Agency Moratorium (ช่วงเวลาในการเจรจาที่ยังไม่เป็นทางการ)
จากข้อตกลงระหว่างทางลีกกับสหภาพผู้เล่น ได้ตกลงร่วมกันที่จะกำหนดให้ 5 วันก่อนช่วงเวลาตลาดเปิดอย่างเป็นทางการ จะอนุญาตให้แต่ละทีมสามารถเริ่มเข้าเจรจากับบรรดาผู้เล่นที่จะกลายเป็น Free Agents ได้อย่างเสรี
เพียงแต่ว่า ทีมต้นสังกัดใหม่ก็ต้องระวังด้วยเหมือนกัน เนื่องจากการตกลงเจรจาด้วยวิธีนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นการเจรจาเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ผู้เล่นจะทำการตกลงด้วยวาจาแล้วก็ตาม แต่ถ้ายังไม่มีการลงนามในสัญญา พวกเขาก็ยังสามารถเปลี่ยนใจได้เสมอ
กรณีเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ DeAndre Jordan ที่ตอนแรกตกลงปากเปล่ากับทาง Mavericks แต่พอช่วงท้ายโดน Clippers ตามไปกล่อมถึงที่บ้าน ทำให้สุดท้ายยอมกลืนน้ำลายและเซ็นสัญญาใหม่กับ Clippers แทน
นอกจากนั้น ถ้าทางลีกตรวจสอบและจับได้ว่ามีการแอบพูดคุยก่อนหน้าช่วงเวลานี้ (ซึ่งจริงๆ เกือบทุกทีมก็ทำกัน แต่จะไม่ให้น่าเกลียดและชัดเจนจนเกินไป) ทางลีกจะทำการลงโทษสถานหนัก ซึ่งมีตั้งแต่การปรับเงิน การยกเลิกสัญญา แบนผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง จนไปถึงการริบสิทธิ์ Draft ในอนาคต
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ คือ ทางลีกกำลังสอบสวนกรณีของ Lonzo Ball ที่ย้ายจาก Pelicans ไปที่ Bulls เพราะทางลีกคิดว่าน่าจะมีการพูดคุยตกลงกันก่อนที่ช่วงเวลา Moratorium จะเริ่มขึ้นแล้ว หลังจากมีข่าวลือหลุดมานานมากๆ ก่อนหน้าที่การ Trade นี้จะเป็นจริง
อย่างไรก็ดี ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ ทำให้การเซ็นสัญญาส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำได้จนกว่าช่วงเวลานี้จะสิ้่นสุดลง แต่สัญญาบางฉบับก็สามารถที่จะทำการเซ็นได้ตั้งแต่ช่วงเวลานี้เลย ถ้าสัญญาดังกล่าวเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
5.1 การเซ็นสัญญา Rookie Contract กับผู้เล่นที่ผ่านการ Draft รอบแรก (ในบางกรณี จะมีการ Trade ดาวรุ่งที่เพิ่ง Draft มาไปให้กับทีมอื่นก่อนด้วย ตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้ตั้งแต่ช่วง Draft Day หรือก่อนหน้านั้น)
5.2 การเซ็นสัญญากับผู้เล่นที่ผ่านการ Draft รอบสอง (เป็นสัญญาระยะสั้นเพียงหนึ่งปี)
5.3 ผู้เล่นที่กลายเป็น RFA สามารถรับข้อเสนอเบื้องต้นจากต้นสังกัดเดิมได้ตั้งแต่ช่วงนี้เลย
5.4 ผู้เล่นที่กลายเป็น RFA หลังจากที่สัญญาปีสุดท้ายของ Rookie Contract ได้สิ้นสุดลง จะสามารถเซ็นสัญญาฉบับใหม่ได้ทันทีหากตัดสินใจอยู่กับต้นสังกัดเดิม
5.5 ผู้เล่นที่กลายเป็น RFA สามารถตัดสินใจเซ็นสัญญากับข้อเสนอสัญญาฉบับใหม่จากทีมอื่นได้ตั้งแต่ช่วงนี้เลย ซึ่งจะทำให้ทีมเดิมมีเวลา 2 วันในการตัดสินใจที่จะยื่นข้อเสนอดังกล่าวเพื่อรั้งตัวให้อยู่กับทีมตามเงื่อนไขของ RFA
5.6 ผู้เล่นที่จะทำการเซ็นสัญญารับค่าเหนื่อยขั้นต่ำ (ไม่เกิน 2 ปี) จะสามารถเซ็นได้ทันทีเช่นกัน แต่จะไม่มีสิทธิ์ได้รับโบนัสใดๆ หากตัดสินใจเซ็นตั้งแต่ในช่วงเวลา Moratorium
5.7 การเซ็นสัญญาผู้เล่นแบบ Two-Way Contract หรือการเปลี่ยนจากสัญญา Two-Way ให้กลายเป็นสัญญาหลักปกติ (ในทางกลับกันก็สามารถทำได้เลยเช่นเดียวกัน)
5.8 ทีมสามารถทำการยกเลิกสัญญาผู้เล่น (Waive) และปล่อยออกจากทีมได้เลย และสามารถเลือกผู้เล่นที่ถูกทีมอื่น Waive ออกจากทีมมาได้เช่นกัน (หลังจากผ่านพ้นช่วง Waive Period เป็นที่เรียบร้อย)
6. Team Options (ตัวเลือกในสัญญาที่ทีมมีสิทธิ์ในการเลือก)
ถ้าการทำสัญญามีเงื่อนไขนี้ เมื่อเข้าสู่ระยะเวลาที่ Option นี้มีผล ทีมจะมีสิทธิ์ในการเลือกดังนี้ (ทำการเลือกได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนใจในภายหลังได้)
6.1 เลือก Team Option in ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เล่นคนดังกล่าวอยู่กับทีมต่อไป
6.2 เลือก Team Option Out ซึ่งจะส่งผลให้สัญญาฉบับปัจจุบันสิ้นสุดลงทันที
ปกติแล้ว Option นี้จะทำได้เพียงแค่ปีสุดท้ายของสัญญาเท่านั้น ยกเว้นสัญญา Rookie Contract ที่เซ็นกับดาวรุ่งที่ผ่านการ Draft รอบแรกเท่านั้น ที่ Team Option จะมีผลสองปี
นอกจากนั้น ในปีที่มีการใช้ Options ค่าเหนื่อยที่ได้รับจะต้องไม่ต่ำกว่าฤดูกาลที่แล้ว (หรือฤดูกาลสุดท้ายก่อนที่ Options นี้จะมีผล) แต่สามารถต่ำกว่าฤดูกาลก่อนหน้านั้นได้ปกติ
7. Player Options (ตัวเลือกในสัญญาที่ผู้เล่นมีสิทธิ์ในการเลือก)
ถ้าการทำสัญญามีเงื่อนไขนี้ เมื่อเข้าสู่ระยะเวลาที่ Option นี้มีผล ผู้เล่นจะมีสิทธิ์ในการเลือกดังนี้ (ทำการเลือกได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนใจในภายหลังได้)
7.1 เลือก Player Option in ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เล่นคนดังกล่าวอยู่กับทีมเดิมต่อไปโดยอัตโนมัติ
7.2 เลือก Player Option Out ซึ่งจะส่งผลให้สัญญาฉบับปัจจุบันสิ้นสุดลง พร้อมกับผู้เล่นกลายเป็น UFA ทันที
Option นี้จะทำได้เพียงแค่ปีสุดท้ายของสัญญาเท่านั้น ไม่มีข้อยกเว้นเหมือนกับ Team Option
นอกจากนั้น ในปีที่มีการใช้ Options ค่าเหนื่อยที่ได้รับจะต้องไม่ต่ำกว่าฤดูกาลที่แล้ว (หรือฤดูกาลสุดท้ายก่อนที่ Options นี้จะมีผล) แต่สามารถต่ำกว่าฤดูกาลก่อนหน้านั้นได้ปกติ
8. Early Termination Options (สิทธิ์ในการยกเลิกสัญญาระยะยาวปีสุดท้าย)
เงื่อนไขนี้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการเซ็นสัญญาแบบระยะยาว 5 ปีเท่านั้น และสิทธิ์ในการเลือกจะมีได้แค่ฝั่งของผู้เล่นเท่านั้น (ทีมไม่สามารถใส่เงื่อนไขนี้ในสัญญาได้)
เมื่อสัญญาได้ล่วงเข้าสู่ปีสุดท้าย ผู้เล่นสามารถที่จะเลือกยกเลิกสัญญาฉบับนี้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้สัญญาฉบับปัจจุบันสิ้นสุดลง และกลายเป็น UFA ทันทีหลังจากนั้น
ต้องขอย้ำอีกทีนะครับ ว่าบทความนี้เป็นแค่ตอนที่ 1 เท่านั้น เนื่องจากเนื้อหาคำศัพท์เกี่ยวกับ Free Agency มีค่อนข้างเยอะ และต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจพอสมควร ทางผู้เขียนจึงขอแบงออกเป็นหลายตอน เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น
แล้วพบกันใหม่ในตอนถัดไปครับ
ถ้าชอบก็ฝาก Share และกดติดตามให้ด้วยนะครับ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ
โฆษณา