4 ส.ค. 2021 เวลา 20:26 • นิยาย เรื่องสั้น
"พื้นที่ทับซ้อนของบ้านกับสุสาน”
บทวิจารณ์นวนิยายเรื่อง บ้านในโคลน
นวนิยายเรื่อง “บ้านในโคลน” เขียนจากเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม ดินโคลนถล่มครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นจริงในหมู่บ้านกะทูน-ห้วยโก อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช
โศกนาฏกรรมครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายเป็นจำนวนมาก ซึ่ง “กิตติศักดิ์ คเชนทร์” ผู้เขียนนิยายเล่มนี้ คือหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น
ในนวนิยายเล่มนี้จึงมีเนื้อหาเกี่ยวกับบ้านในความทรงจำของผู้เขียน ภาพชีวิตวัยเยาว์อันปกติสุขและเรียบง่าย ท่ามกลางธรรมชาติที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขาและสายน้ำ
ก่อนทุกอย่างจะพังทลายลง สูญหายไปกับกระแสน้ำโคลนอันเชี่ยวกราก อย่างไม่มีวันหวนคืน
หนังสือนิยาย บ้านในโคลน ของ กิตติศักดิ์ คเชนทร์
1.สังคมอุดมคติ : ‘กองหินเป็นภูเขา เราเป็นยักษ์’
แม้ว่าบ้านในโคลนจะถูกจัดให้อยู่ในหมวดนวนิยายเยาวชน ด้วยเนื้อหาส่วนใหญ่ที่ถูกเล่าผ่านมุมมองและความนึกคิดของตัวละครเอก อย่าง “เด็กชายสิงห์” ซึ่งเป็นลักษณะของนิยายแห่งการเรียนรู้
แต่การเลือกใช้สายตาของเด็กในการดำเนินเรื่องนั้น ก็นับเป็นกลวิธีอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้เรามองเห็นรายละเอียดอันราบเรียบในชีวิตประจำวัน มีความโดดเด่นและความสำคัญขึ้นมา
ในแง่หนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า การใช้สายตาของเด็กยังเป็นการสร้างความชอบธรรมในการเล่าเรื่อง เพื่อไม่ตัดสินว่าเรื่องราวต่างๆถูกหรือผิด เพียงแต่อาศัยความกระหายใคร่รู้มาใช้ในการจัดเก็บรายละเอียดของเรื่องก็เท่านั้น
เนื้อหาในส่วนแรกเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านที่พ่อกำลังสร้าง เป็นภาพวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนในชนบท ธรรมชาติอันงดงาม ปราศจากอันตรายจากสิ่งรอบข้าง เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง
เปรียบเหมือน “สังคมในอุดมคติ หรือยูโทเปีย” ขณะที่ส่วนหลัง ทุกอย่างกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง คล้ายกับเป็น “โลกดิสโทเปีย” เมื่อความหวังถูกแทนที่ด้วยภาพความโหดร้ายจากธรรมชาติในรูปแบบของภัยพิบัติ
“จากนั้น เราก็ชวนกันขึ้นไปบนกองหิน นั่งถีบก้อนหินให้ตกลงไปข้างล่าง แต่มันไม่สนุกอะไร เมื่อกองหินไม่สนุก พวกเราต่างคิดหาวิธีเล่นใหม่ๆ เราสามคนคุยกันพร้อมกับสมมุติตัวเองว่าเป็นยักษ์อยู่บนภูเขา เราต้องการให้ภูเขาหินขนาดสูงท่วมหัวถล่ม แดงก็คิดวิธีเล่นได้ ... เราออกแรงถีบหินกันสุดแรง กองหินถล่ม ก้อนหินกระจายเต็มพื้นดิน พอเหนื่อยเราหยุดพัก นั่งมองก้อนหินดำๆเกลื่อนพื้น ตำแหน่งของแดงมีเม็ดหินตกลงมามากที่สุด” (หน้า ๑๘)
สิ่งที่เห็นได้ชัดจากบทบรรยายนี้คือการเล่นซนของเด็กกลุ่มหนึ่งบนกองหิน แต่หากพิจารณาให้ดี ผู้เขียนยังแฝงนัยยะที่สื่อถึงหายนะที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ ดังการเปรียบให้กองหินเป็นภูเขา และให้เด็กๆเป็นยักษ์
นอกจากนี้ยังนำเสนอสังคมอุดมคติในทั้งสองด้าน กล่าวคือ ภาพหนึ่งแทนการเล่นสนุกของเด็กปกติ(ยูโทเปีย) แต่แง่หนึ่ง ยังใช้เป็นภาพแทนการทำลายธรรมชาติจากน้ำฝีมนุษย์(ดิสโทเปีย)ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ทั้งยูโทเปียและดิสโทเปียที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ก็ยังมีเจตนาเดียวกัน นั่นคือมุ่งไปสู่สังคมอุดมคติที่แท้จริง ซึ่งในที่นี้หมายถึงการรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างยั่งยืนนั่นเอง
2.พื้นที่ทับซ้อนของบ้านกับสุสาน
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับสถานที่นั้น อาจมองได้สองแบบคือ การใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับมนุษย์มากที่สุด และมองว่าสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ปราศจากคุณค่าในตัวเอง เมื่อเสียหายก็สามารถซ่อมแซมหรือทดแทนได้
ดังฉากในร้านตัดผม ที่คนตัดไม้สนทนากับช่างตัดผมว่า
“ตัดกันทุกวันไม้ไม่หมดภูเขาหรือ” ช่างสูงวัยถามชายบนเก้าอี้ ผมของเขาถูกตัดแต่งออกจนดูสั้นติดหนังหัว “ไม่หมดหรอก ภูเขาก็เหมือนหัวคน ต้นไม้ก็เหมือนเส้นผม ตัดแล้วไม่นานก็งอกขึ้นมาใหม่” เขาตอบ(หน้า๑๑๖)
ซึ่งตรงกันข้าม กับทัศนะที่ปฏิเสธการใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง จะให้คุณค่าภายในแก่ธรรมชาติและให้ความเคารพ เฉกเช่นเดียวกับเป็นสิ่งมีชีวิต เหมือนอย่างที่ปู่บอกกับสิงห์ว่า
“บนยอดเขานั่นคือต้นกำเนิดของสายน้ำ มีหยดน้ำไหลออกมาจากซอกหิน ไหลลงมาเรื่อยๆจนเป็นลำห้วยเล็กๆ ไหลรวมกันเป็นคลองแล้วไหลต่อลงมาถึงบ้านเรา ไหลต่อไปเรื่อยๆ ไหลผ่านบ้านคน ไหลผ่านหลากหลายชีวิตที่พึ่งพาอาศัยคลองสายนี้ ผู้คนใช้ดื่มใช้อาบจับปลาเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตยาวนาน...” (หน้า๑๒๑-๑๒๒)
จากคำบรรยายเห็นได้ชัดว่าปู่ของสิงห์ มองเห็นคุณค่าของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์ รวมทั้งพยายามปลูกฝังจิตสำนึกนี้ให้แก่สิงห์ด้วย
ความแตกต่างกันอย่างสุดขั้วของสองแนวคิดนี้เอง ที่ส่งผลให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติ และต่อต้านการทำลายป่า
ขณะที่การทำลายธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อสรรพชีวิตและระบบนิเวศในวงกว้าง รวมถึงตัวมนุษย์ด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติตามมา
อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมดินโคลนถล่มในเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนทั้งหมู่บ้าน ทำให้บ้านเกือบทุกหลังจมหายไปกับกระแสโคลน กลบฝังหลายร้อยชีวิตเอาไว้ในนั้น
ประหนึ่ง เปลี่ยนพื้นที่ของหมู่บ้านให้กลายเป็นสุสานในทางกายภาพและทางจิตใจทันที อย่างที่ไม่ควรจะเป็น
3.ความตาย ความหมายชีวิต
เด็กชายสิงห์รู้จักความตายครั้งแรกตอนที่นกปีกหักของเขาตาย และอีกครั้งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติดินโคลนถล่ม ถึงแม้ญาติพี่น้องทุกคนในครอบครัวของเขาจะรอดปลอดภัยดี
แต่หลายชีวิตที่ต้องสูญเสียไป รวมถึง “แดง” ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเขา กำลังให้อะไรกับเรา
แน่นอนว่า ความตายย่อมนำพามาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจ การสูญเสีย การพลัดพรากจากลาคนที่รักเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่พึงปรารถนา
แต่ในอีกทางหนึ่ง ความตายก็ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจเรา ทำให้เรามองเห็นคุณค่าและแง่งามของการมีชีวิตอยู่มากขึ้น
อุทาหรณ์จากนิยายเรื่อง “บ้านในโคลน” เป็นการบอกเล่าความตาย เพื่อให้ความหมายกับทุกชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่ ให้กำลังใจกับเราทุกคนว่าควรมีความหวัง แม้ในเวลาที่สิ้นหวังที่สุด
เพราะตราบใดที่หัวใจยังมีหวัง ย่อมก่อให้เกิดพลังที่จะก้าวต่อไปได้เสมอ เช่นเดียวกับทุกตัวละครที่สามารถเอาชีวิตรอดจากเหตุการณ์อันเลวร้ายมาได้ในท้ายที่สุด
“บ้านในโคลน” จึงไม่เพียงแต่เป็นนวนิยายที่สร้างกระจกสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ แต่ยังหยิบเอาความสูญเสียในอดีตมาใช้เป็นอุทาหรณ์ เพื่อกระตุ้นให้เราย้อนคิดถึงต้นตอของปัญหาที่นำมาสู่หายนะ และคิดหาวิธีป้องกัน ร่วมมือกัน อย่าให้โศกนาฎกรรมอย่างในเรื่องต้องเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก
ความพยายามปลุกเร้ากระแสสำนึกรักษ์ธรรมชาติในนิยายเล่มนี้ ของ “กิตติศักดิ์ คเชนทร์” ซึ่งถือได้ว่ามา ”ถูกยุค ถูกสมัย” แต่จะสามารถสร้างจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติและก่อให้เกิดการลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจังต่อคนในสังคมได้มากน้อยเพียงใด
คงไม่มีใครตอบได้ นอกจากตัวเราเอง
โฆษณา