Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A-LISA.NETแบ่งปันความรู้เรื่องธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก
•
ติดตาม
5 ส.ค. 2021 เวลา 14:05 • ประวัติศาสตร์
เล่าเรื่อง คนจับช้าง
ปู่ใหญ่นั่งสูบบุหรี่ใบจากพ่นควันอย่างสบายอารมณ์อยู่บนกองฟืน ที่ผ่าเสร็จแล้ว ใกล้กับกองฟืนมีศาลเก่าอยู่หลังหนึ่งสร้างขึ้นจากไม้เนื้อแข็ง ลักษณะศาลมีสี่เสาหลังคามุงด้วยสังกะสี ด้านหน้าเปิดโล่งมองเข้าไปด้านในเห็นขดเชือกเก่า ๆ ม้วนเก็บอยู่ ศาลนี้คงถูกปล่อยทิ้งร้างมานานแล้วเพราะมีฝุ่นจับหนาเตอะและหยากไย่ใยแมงมุมเกาะเกี่ยวเป็นสายระโยงระยางอยู่เต็มไปหมด เมื่อฉันเดินเฉียดเข้าไปใกล้ ๆ ก็รู้สึกขนลุกซู่! ขึ้นมาทันที
ฉันเข้าไปนั่งลงบนกองฟืนข้าง ๆ ปู่ใหญ่แล้วชี้มือไปทางศาลหลังนั้นพร้อมกับถามขึ้นว่า “ขดเชือกที่อยู่ในศาลนั้นเป็นเชือกอะไรหรือจ๊ะ ปู่ใหญ่” เมื่อได้ยินคำถามปู่ใหญ่จึงหันไปมองตามทางที่มือของฉันชี้ไปแล้วตอบออกมาว่า “เชือกปะกำ” ฉันไม่เคยได้ยินเรื่อง ‘เชือกปะกำ’ มาก่อน ด้วยความอยากรู้จึงขอให้ปู่ใหญ่เล่าถึงที่มาของศาลหลังนี้ให้ฟัง
เล่าเรื่องคนจับช้าง
ปู่ใหญ่อัดบุหรี่เข้าไปจนเต็มปอดอีกครั้งแล้วปล่อยควันสีเทากลุ่มใหญ่ออกมา ใบหน้าของแกเรียบเฉยแต่ดวงตามีประกายวิบวับเหมือนกำลังครุ่นคิดถึงความทรงจำบางอย่างเมื่อครั้งอดีตที่ฝังแน่นอยู่ใต้ก้นบึ้งของหัวใจ จากนั้นก็เริ่มต้นเล่าว่า
ปู่ของแกซึ่งก็คือเทียดของฉันนั้นเป็นคนต่างถิ่น เดินทางมาที่หมู่บ้านแห่งนี้โดยไม่เคยมีใครรู้จักหัวนอนปลายเท้ามาก่อน เขามาพร้อมกับน้องชายอีกหนึ่งคน คนพี่มีชื่อว่า ‘ฤทธิ์’ ส่วนคนน้องนั้นชื่อว่า ‘รัตน์’ ทั้งสองคนพี่น้องมีรูปร่างสูงใหญ่กว่าชาวบ้านทั่วไป ผิวขาวเหลืองสักยันต์ที่ขาตั้งแต่ใต้หัวเข่าสูงขึ้นไปจนถึงเอว ส่วนลำตัวช่วงบนมีรอยสักเป็นรูปยันต์วิเศษต่าง ๆ และเป็นต้นตระกูล ‘เมืองแก้วเนรมิต’ ของเรา
พวกเขาเดินทางมาที่นี่ด้วยเกวียนเทียมวัวเล่มหนึ่ง บนเกวียนบรรทุกหีบเหล็กมาด้วยหลายใบ เมื่อมาถึงหมู่บ้านนี้ก็คิดอยากลงหลักปักฐานจึงได้ไปขออนุญาตกับทางผู้ใหญ่บ้านและได้สู่ขอลูกสาวของคนในหมู่บ้านมาเป็นเมีย จากนั้นก็แยกย้ายกันออกไปปลูกสร้างบ้านเรือนของตนเอง บ้านของปู่ใหญ่หลังนี้ก็คือมรดกที่ได้รับตกทอดมาจากเทียดนั่นเอง
เทียดเป็นคนขยันขันแข็ง เดินทางเข้าป่าเข้าดงเพื่อถางป่าแปลงเป็นเรือกสวนไร่นาจนมีอาณาเขตกว้างใหญ่ นอกจากนี้ยังมีวิชาคาถาอาคมและความสามารถในการจับช้างป่าจนผู้ชายในหมู่บ้านต่างก็เลื่อมใสศรัทธามาขอเป็นลูกศิษย์ลูกหามากมาย พอเวลาผ่านไประยะหนึ่งเทียดก็ชักชวนบรรดาลูกศิษย์ออกไปจับช้างป่าเพื่อนำมาขายและฝึกเอาไว้รับจ้างลากซุง
ป่าที่เทียดพาขบวนลูกศิษย์ออกไปคล้องช้างป่านั้นอยู่ในแถบภูหลวง ภูเขียวและน้ำหนาว เนื่องจากป่าในบริเวณนั้นอุดมสมบูรณ์และมีสัตว์ป่าชุกชุมมาก ส่วนเครื่องมือสำคัญที่นำไปใช้จับช้างก็คือ ‘เชือกปะกำ’ เส้นนี้นั่นเอง
ต่อมาพ่อของปู่ใหญ่ก็ร่ำเรียนวิชาจับช้างจนเก่งกล้าสามารถและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอช้าง เมื่อปู่ใหญ่โตเป็นหนุ่มอายุได้สิบห้าปีก็เริ่มติดตามพ่อออกไปคล้องช้างป่าในฐานะควาญช้างและร่ำเรียนวิชาเวทย์มนต์คาถาเพื่อสืบทอดศาสตร์วิชาต่อไปในฐานะลูกชายคนโต
เมื่อได้ยินคำว่า ช้าง ตามประสาเด็กฉันก็ชักสนุกและอยากฟังต่อจึงได้ขอให้ปู่ใหญ่เล่าเรื่องราวในสมัยก่อนตอนที่ออกไปจับช้างป่าให้ฟังบ้า ปู่ใหญ่ดีดก้นบุหรี่ใบจากที่ดูดจนเหี้ยนทิ้งไป แล้วเอามือที่ยังมีกลิ่นฉุนของบุหรี่ติดอยู่ลูบหัวของฉันไปมาอย่างรักใคร่เอ็นดู แกเงียบไปอึดใจหนึ่งแล้วจึงเล่าว่า
เล่าเรื่องหมอช้าง
ช้างนั้นเชื่อกันว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ตามตำราพระคชศาสตร์กล่าวถึงการกำเนิดช้างมงคลไว้ว่า พระนารายณ์บรรทมอยู่บนเกษียรสมุทรบังเกิดดอกบัวจากพระอุทรมี ๘ กลีบ ๑๗๓ เกสร จึงนำดอกบัวนั้นไปถวายพระอิศวรที่เขาไกรลาส พระอิศวรจึงแบ่งเกสรดอกบัวนั้นประทานแก่พระองค์เองจำนวน ๘ เกสร ประทานแก่พระพรหมจำนวน ๒๔ เกสรประทานแก่พระนารายณ์หรือพระวิษณุจำนวน ๘ เกสร และประทานแก่ พระอัคคีจำนวน ๑๓๕ เกสร มหาเทพทั้ง ๔ ได้เนรมิตช้างขึ้นมาจากเกสรดอกบัวนั้น บังเกิดเป็นช้างเผือก ๔ ตระกูล ตั้งชื่อตามนามแห่งเทพผู้ให้กำเนิด คือ ช้างตระกูลอิศวรพงศ์ ช้างตระกูลพรหมพงศ์ ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ และช้างตระกูลอัคนีพงศ์
การออกไปคล้องช้างป่าในสมัยโบราณเรียกว่าการ ‘โพนช้าง’ เป็นการจับช้างบนหลังช้างต่อโดยใช้บ่วงบาศคล้องที่เท้าหลังของช้างป่า การคล้องช้างป่าหรือการโพนช้างนี้เชื่อกันว่าเป็นวิชาที่สืบทอดกันมาจากชาวอินเดียโบราณ ผู้ที่จะออกไปโพนช้างป่าได้เรียกว่า ‘ครูบาใหญ่หรือหมอเฒ่า’ ซึ่งเป็นผู้ที่รอบรู้ในวิชาคชศาสตร์ ไสยศาสตร์ รู้พิธีกรรมการเซ่นผีป่าตลอดจนรู้เรื่องสมุนไพรที่จะนำมาใช้รักษาเวลาบริวารเกิดเจ็บป่วยขณะเดินป่า
ลำดับชั้นของหมอช้างผู้มีตำแหน่งสูงสุดตามตำราคชศาสตร์ เรียกว่า ‘ปฏิยายะ’ บางแห่งเรียกว่า ‘กรรมหลวงหรือครูบาใหญ่’ แต่ในหมู่บ้านของเราเรียกกันว่า ‘ครูบาเฒ่า’ ในแต่ละพื้นที่จะมีเพียงคนเดียวเท่านั้นและได้รับความนับถือให้เป็น ‘จ้าวเถื่อน’ สามารถประกอบพิธีกรรมทุกอย่างในนามของพระครูได้ ระดับรองลงมาเรียกว่า ‘ครูบา’ คือหมอช้างที่ถูกแต่งตั้งจากครูบาใหญ่ให้เป็นหัวหน้ากลุ่มในคณะเดินทางและถัดมาเรียกว่า ‘ครูบาขวาและครูบาซ้าย’ เป็นหมอผู้ช่วยของครูบา ตำแหน่งครูบาขวาและครูบาซ้ายนี้ชาวกูยเลี้ยงช้างเมืองสุรินทร์เรียกกันว่า ‘หมอสะดำและหมอสะเดียง’ ต่อมาเป็นตำแหน่ง ‘จา’ เป็นผู้ช่วยหมอหรือครูบา และ ‘ควาญหรือมะ’ เป็นผู้รับใช้ของหมอช้างหรือครูบาถือว่าเป็นตำแหน่งเริ่มต้น ผู้ที่จะเป็นหมอช้างได้ต้องผ่านการ ‘ครอบ’ จากครูบาใหญ่เสียก่อนถึงจะเข้ารับตำแหน่งได้
เล่าเรื่องเครื่องมือจับช้าง
เครื่องมือที่ใช้ในการโพนช้างป่ามีหลายชนิด แต่เครื่องมือสำคัญที่สุดเรียกว่า ‘เชือกปะกำหรือเชือกบาศ’ ทำจากหนังควายสามเส้นนำมาฟั่นรวมกันเป็นเกลียวโดยใช้หนังควายตัวผู้สองเส้นและตัวเมียอีกหนึ่งเส้นปลุกเสกลงวิชาคาถาอาคม มีความศักดิ์สิทธิ์ เหนียวและคงทนมาก ‘ไม้คันจาม’ เป็นไม้ยาวที่ใช้เสียบต่อเข้ากับแขนนางซึ่งติดอยู่กับเชือกปะกำใช้สำหรับคล้องเท้าช้าง ‘ทาม’ เป็นเชือกที่ทำจากหนังควายเอาไว้ผูกคอช้างป่าที่คล้องได้ ‘ไม้งก’ ทำจากไม้เนื้อแข็งเอาไว้ตีท้ายช้างต่อขณะไล่คล้องช้างป่าเพื่อเร่งความเร็วของช้างต่อ
1
และ ‘ซั้งหรือสะไนหรือสเนงเกล’ ทำจากเขาควายใช้เป่าเป็นสัญญาณเวลาออกจับช้างป่า คนโบราณเชื่อว่าก่อนออกเดินทางเข้าป่าให้เป่าสะไนก่อนเพื่อให้เกิดความโชคดี เมื่อเดินทางเข้าป่าก็จะนำสะไนไปด้วย ถ้าเทวดาและทวยเทพในป่าได้ยินเสียงสะไนก็จะมาช่วยดูแลอารักขา เมื่อสัตว์ในป่าได้ยินเสียงสะไนก็จะไม่เข้ามาทำร้ายทำให้สามารถอยู่ในป่าได้อย่างปลอดภัย
ส่วนเครื่องไม้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการคล้องช้างอื่น ๆ เช่น สายสะเดียงรัดท้อง ตะกร้าใส่เสบียงเวลาออกคล้องช้าง ฯลฯ ล้วนแต่ถือว่าเป็นของสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งของที่ต้องได้รับการดูแลด้วยความยำเกรงเมื่อใช้เสร็จแล้วต้องนำไปไว้ในที่อันเหมาะสมและต้องทำพิธีก่อนใช้งานเสมอ
เล่าเรื่องพิธีกรรมก่อนออกไปโพนช้าง
การออกไปโพนช้างป่าแต่ละครั้งใช้เวลาสามถึงสี่เดือนไม่แน่นอนแล้วแต่ว่าจะได้ช้างจนพอใจแล้วหรือจนกว่าข้าวสารที่เตรียมไปจะหมดแต่จะไม่ออกไปโพนช้างในฤดูแล้งเพราะกันดารน้ำ ช้างป่าจะไม่ออกมาหากินในทุ่งราบ
ทุกครั้งก่อนจะออกไปโพนช้าง ครูบาใหญ่จะเรียกหมอช้างระดับรองลงมาที่เคยออกโพนช้างด้วยกันมาประชุมเพื่อปรึกษาหารือว่าจะไปคล้องช้างที่ป่าไหนดี จับยามสามตาดูฤกษ์ยามว่าออกเดินทางวันใดถึงจะมีโชคจับช้างได้มาก และจะต้องดูแลช้างต่อให้กินอาหารจนอ้วนพีมีพละกำลัง ช้างต่อที่ดีนั้นต้องมีรูปร่างแข็งแรงใหญ่โต วิ่งได้รวดเร็ว มีนิสัยกล้าหาญไม่กลัวช้างป่าส่วนใหญ่จะใช้ช้างสีดอ
ก่อนยกขบวนออกไปโพนช้าง ครูบาใหญ่ต้องทำพิธียกหมอหรือพิธีไหว้ครูเสียก่อน โดยพิธีไหว้ครูนี้จะทำกันที่โรงพิธีกลางลานบ้านของครูบาใหญ่ ตรงกลางของโรงพิธีจะตั้งแท่นบูชาเทวรูปและเครื่องสักการบูชาต่าง ๆ ที่ใช้ในการประกอบพิธี ถัดมาเป็นขดเชือกปะกำและจุดไฟเรียงรายไว้สามกอง
ครูบาใหญ่จะนั่งอยู่หน้าแท่นบูชาขนาบข้างด้วยหมอช้างผู้ช่วยอีกสองคน ส่วนคนอื่น ๆ นั่งรวมกันเป็นวงล้อมรอบ เริ่มพิธีโดยการจุดธูปเทียนแล้วครูบาใหญ่เป็นผู้กล่าวคำยกหมอและคนอื่นคอยว่าตาม
เทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ผู้มีอำนาจในเรื่องของช้างจะถูกอัญเชิญมาร่วมในพิธีกรรมสำคัญคือ พระพิฆเนศวร พระโกญจนาเนศวรและในลำดับชั้นที่รองลงมาก็คือ พญาเทพกรรมหรือพระกรรมบดีปู่เจ้าเป็นเทวดาที่มี ๖ กร ในท่านั่งสมาธิ มีบริวารเป็นฤๅษี ๒ ตน คือฤๅษีธรรมเทพอยู่เบื้องขวาและฤๅษีสิทธิพระกรรมอยู่เบื้องซ้าย
เมื่อกล่าวคำบูชาเสร็จแล้วครูบาใหญ่จะทำพิธีครอบผู้ที่จะขึ้นเป็นหมอช้าง แต่ละคนต้องมีขันล้างหน้าหนึ่งใบ ผ้าขาวหนึ่งผืนกับเงิน ๖ สลึงเป็นค่าคายให้กับครูบาใหญ่ จากนั้นครูบาใหญ่จะกล่าวคำยกหมอแล้วให้หมอใหม่ว่าตามพร้อม ๆ กันทีละวรรค เป็นคำบูชาครูบาอาจารย์ทุกท่านทุกองค์ขอให้มาครอบงำอยู่ ให้ชำนาญการคล้องช้าง ให้ปราศจากอันตรายและเสนียดจัญไรทั้งปวงและในขั้นตอนสุดท้ายครูบาใหญ่ก็จะให้หมอช้างใหม่ปฏิญาณตนว่าจะโพนช้างเป็นอาชีพโดยสุจริต จะไม่ฆ่าช้างยิงช้างและจะปฏิบัติตามโอวาทของครูบาใหญ่ เมื่อปฏิญาณตนเสร็จแล้วครูบาใหญ่ก็จะปะพรมน้ำมนต์ให้ทุกคนและให้หมอช้างใหม่อมน้ำมนต์ผสมขี้ช้างพ่นลงไปที่เชือกปะกำ หมอช้างผู้ช่วยทั้งสองคนจะขึ้นขี่ช้างเดินรอบโรงพิธีพร้อมกับทำท่าคล้องช้างและกล่าวอำนวยชัยให้พร จากนั้นก็หุงข้าวที่กองไฟสามกองในโรงพิธี หุงข้าวเสร็จแล้วเป็นอันเสร็จพิธียกครู
เล่าเรื่องออกไปโพนช้าง
เมื่อถึงวันออกเดินทาง หมอช้างกับควาญช้างก็จะจัดพิธีเซ่นไหว้ศาลปะกำของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนที่มีอาชีพคล้องช้าง เครื่องเซ่นก็มีไก่ต้มเป็นหลักเพื่อขอโชคลาภและความเป็นสิริมงคลในการเดินทาง จากนั้นก็ทำพิธีเสี่ยงทายคางไก่ ตั้งจิตอธิษฐานแล้วจึงถอดกระดูกคางไก่ออกมาตรวจดู ถ้าคางไก่ยาวเรียวงอนอย่างกับงาช้างทำนายว่าจะมีโชคชัยสามารถคล้องช้างกลับมาได้ แต่ถ้าคางไก่หักหรือข้อห่างทำนายว่าจะไม่ประสบโชคหรืออาจถูกช้างป่าทำอันตรายได้ หากเข้าป่าไปอาจจะไม่ได้กลับมาอีกเลย
จากนั้นควาญช้างก็จะเอาช้างต่อมาเทียบที่ศาลปะกำแล้วหมอช้างเอาเบาะปูบนหลังช้างยื่นส่งให้ควาญ เบาะชั้นแรกเรียกว่าเบาะอ่อน ทำจากเปลือกกระโดนนำมาทุบ เบาะอ่อนนี้จะลดการเสียดสีของหลังช้างกับสัมภาระและเปลือกกระโดนยังมีคุณสมบัติเป็นยาแก้ระบมอีกด้วยเบาะชั้นที่สองเรียกว่าเบาะแข็ง ทำจากหนังควายตากแห้งช่วยป้องกันหลังช้างไม่ให้แตกจากการถูกสัมภาระกดทับ เมื่อวางเบาะแล้วหมอช้างก็จะเอาโทนขึ้นตั้งผูกรัดตีนโทนข้างหนึ่งอ้อมใต้ท้องช้างมามัดกับตีนโทน อีกข้างหนึ่งจนมั่นคง เสร็จแล้วหมอช้างก็จะกล่าวอัญเชิญเชือกปะกำและส่งเชือกปะกำให้ควาญนำไปวางไว้บนหลังช้าง ตามด้วยอุปกรณ์ของใช้อื่น ๆ ที่จะนำไปด้วย เวลาขึ้นขี่ช้างหมอช้างจะขึ้นขี่คอช้างจากด้านหน้า ในขณะที่ควาญจะต้องขึ้นช้างจากทางด้านหลังเท่านั้น
เมื่อจัดเตรียมข้าวของเสร็จแล้วก็บอกลาลูกเมียสั่งเสียให้ยึดถือข้อห้ามตามประเพณีอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามปัดกวาดบ้านเรือนห้ามรับแขกบนเรือน ห้ามแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่และห้ามตัดผม เป็นต้น หากบ้านใดไม่ปฏิบัติหรือไม่เชื่อฟังจะเป็นเสนียดจัญไร อาจทำให้เกิดเภทภัยอันตรายแก่สามีหรือลูกชายที่ออกไปโพนช้างได้
เสียงเป่าสะไนดังโหยหวนได้ยินไปทั่วทั้งหมู่บ้าน เป็นสัญญาณจากครูบาใหญ่เพื่อบอกว่าถึงฤกษ์งามยามดีที่ชาวคณะโพนช้างต้องออกเดินทางแล้วและเป็นเสียงบอกกล่าวไปถึงบุตรภรรยาและญาติมิตรว่าบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขากำลังจะมุ่งหน้าสู่การเดินทางที่ยาวนานและเต็มไปด้วยอันตราย อาจมีคำถามเกิดขึ้นในใจของใครหลายคนว่าสามีและบุตรของพวกเขาจะได้กลับมาอีกหรือไม่? แล้วถ้ากลับมาจะได้กลับมาอีกเมื่อไร? และจะกลับมาในสภาพแบบไหน? แต่คำถามนี้ไม่สามารถเอื้อนเอ่ยออกไปได้ นอกจากให้คำสัตย์ต่อพระครูปะกำว่าตนจะตั้งมั่นในการรักษากฎระเบียบต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด
คณะโพนช้างจะเดินทางออกไปเป็นขบวน นำขบวนโดยช้างของครูบาใหญ่ตามติดด้วยหมอช้างขวาซ้ายและกองที่เหลือโดยทุกกองจะเดินตามลำดับชั้น เมื่อเดินทางถึงป่าที่ไปจะคล้องช้าง ครูบาใหญ่จะสั่งให้หยุดพักเพื่อทำพิธี ‘เปิดป่าหรือเบิกไพร’ โดยครูบาใหญ่จะสั่งให้ยกศาลขึ้นเพื่อเซ่นบวงสรวงเจ้าป่าเจ้าเขา แล้วให้หมอช้าง ๓-๔ คนไปล่าสัตว์มาเป็นเครื่องเซ่น หลังจากนั้นครูบาใหญ่และชาวคณะทั้งหมดจะจัดหาบุหรี่ ๒ มวน เทียน ๒ เล่ม กรวยใส่หมากพลู ๒ กรวย แล้วจึงนำเชือกปะกำ ไม้คันจามและเชือกผูกไม้ตีท้ายช้างของควาญกับของเซ่นไหว้ทั้งหมดขึ้นไว้บนศาล พวกหมอช้างและควาญทั้งหมดจะยืนอยู่หน้าศาลเพียงตา ครูบาใหญ่เป็นผู้จุดเทียนบูชาพร้อมกับกล่าวชื่อป่าที่จะไปทำการคล้องช้างและป่าที่มีบริเวณติดต่อกันเป็นภาษาผี เมื่อเสร็จพิธีเบิกป่าครูบาใหญ่ก็จะทำพิธีเซ่นเจ้าป่าแล้วเริ่มบริกรรมคาถาบังคับช้าง พร้อมกับให้ก่อกองไฟขึ้น ๓ กอง เรียกว่า ‘กองกำพวด’
กองที่ ๑ จุดไว้ที่หน้าค่าย เรียกว่า กำพวดเชิง
กองที่ ๒ จุดไว้ด้านขวามือ เรียกว่า กำพวดสะดำ
กองที่ ๓ จุดไว้ด้านซ้ายมือ เรียกว่า กำพวดสะเดียง
กองไฟทั้งสามกองถือว่าเป็นกองไฟอันศักดิ์สิทธิ์ สามารถคุ้มครองทุกคนให้แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวงได้ กองไฟด้านขวาและกองไฟด้านซ้ายห้ามใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นนอกจากเพื่อป้องกันภัยส่วนกองไฟด้านหน้าใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ เช่น หุงต้มอาหาร
เมื่อทำพิธีเบิกไพรเสร็จแล้ว ครูบาใหญ่จึงเลือกหาชัยภูมิที่เหมาะสำหรับเป็นที่พักของชาวคณะ ทำเลที่เลือกจะเป็นสถานที่ใกล้กับหนองน้ำและมีหญ้าเพียงพอสำหรับเลี้ยงช้างต่อแต่ต้องให้ห่างจากจุดที่ช้างป่า อาศัยอยู่ในระยะที่ไปและกลับมาถึงได้ในวันเดียว
ชัยภูมิที่พักนั้นจะปลูกเพิงไว้ แต่ละคนอยู่ในทิศทางถูกต้องตามตำราคชศาสตร์ ให้ครูบาใหญ่นอนข้างขวาหมอช้างนอนข้างซ้ายควาญนอนทางปลายตีน และต้องให้ครูบาใหญ่นอนก่อนแล้วคนอื่นจึงนอนได้ ตลอดเวลาที่อยู่ในป่าต้องพูดกันด้วย ‘ภาษาผี’ เท่านั้น
เมื่อจัดแจงเรื่องที่พักเสร็จแล้ว ครูบาใหญ่จะให้หมอช้างขี่ช้างออกไปเที่ยวสอดแนมช้างป่าและแกะดูรอยตีนช้างที่ออกมาหากินใหม่ ๆ มีที่ตรงไหนก็จะได้ไปดักโพนที่ตรงนั้น ธรรมชาติของช้างป่าเวลากลางวันจะชอบหากินอยู่ในดง ส่วนในเวลากลางคืนจะหากินในที่แจ้ง
เมื่อสอดแนมจนรู้ตำแหน่งที่ช้างป่าออกมาหากินแล้ว พอถึงเวลาพลบค่ำควาญก็จะพากันผูกช้างต่อ ปลดสิ่งของซึ่งไม่จำเป็นจะต้องใช้ในการคล้องช้างออกจนหมดเพิ่มแต่เชือกทามผูกสวมกับคอช้างต่อไว้สำหรับผูกช้างป่าที่คล้องได้แล้วจูงกลับมา
ช้างป่าจะอยู่รวมกันเป็นโขลง มี ‘ช้างพัง’ ตัวเมียตัวใหญ่ที่สุดเป็นนายโขลงเรียกว่า ‘แม่แปรก’ ช้างตัวผู้มีงาเรียกว่า ‘ช้างพลาย’ ส่วนช้างตัวผู้ที่ไม่มีงาเรียกว่า ‘สีดอ’
พวกโพนช้างต้องพยายามเข้าทางใต้ลมที่โขลงช้างอยู่เพราะช้างได้กลิ่นไกลและชำนาญวิธีหนีมาก ถ้าเข้าทางเหนือลมพอช้างแม่แปรกได้กลิ่นแปลก ๆ ก็จะทิ้งงวงดัง “ป๋อง!” เป็นสัญญาณให้บรรดาช้างลูกโขลงระวังตัว ถ้าแม่แปรกคาดว่าจะมีภัยมาถึงก็จะร้องดัง “แปร๋!” ขึ้นเป็นสัญญาณครั้งที่สองเพื่อให้ช้างลูกโขลงมารวมกันอยู่กับแม่แปรก แต่ถ้าแม่แปรกแน่ใจแล้วว่าจะมีภัยแน่ ๆ ก็จะร้องดัง “แปร๋!” ขึ้นอีกครั้งหนึ่งแล้วก็นำโขลงช้างหนีเข้าป่าไปทันที
ครูบาใหญ่จะแบ่งกลุ่มช้างต่อออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มครูบาใหญ่ กลุ่มหมอช้างขวาและกลุ่มหมอช้างซ้าย โดยสั่งให้ทั้งสองกลุ่มขยายออกเป็นแนวปีกกาซ้ายขวาเพื่อไล่ต้อนโขลงช้างป่าออกมายังที่โล่งแล้วไสช้างต่อเข้าประชิดช้างป่าที่ตัวที่ต้องการคล้อง หมอช้างจะใช้ไม้คันจามที่มีบ่วงบาศทำจากเชือกปะกำวางลงตามจังหวะการวิ่งของช้างป่า เมื่อเท้าช้างป่าเหยียบถูกบ่วงบาศหมอช้างจะกระตุกเพื่อให้บ่วงบาศรัดเท้าช้างป่าเสร็จแล้วก็จะโรยเชือกปะกำลงดินทั้งหมดเหลือแต่ปลายอีกด้านซึ่งผูกติดอยู่กับทามที่คอช้างต่อ แล้วไสช้างต่อเข้าหาต้นไม้ใหญ่เพื่อนำปลายเชือกปะกำผูกติดกับต้นไม้ใหญ่อีกทีหนึ่งแต่ถ้าหากช้างป่าเชือกนั้นมีพละกำลังมากก็จะนำปลายหนังปะกำผูกติดกับสมอที่ทำด้วยเขากวางแล้วปล่อยให้ช้างป่าลากไป สมอเขากวางจะทำหน้าที่เหมือนเบรกรถยนต์โดยจะเกาะติดต้นไม้หรือรากไม้ไปเรื่อย ๆ จนช้างป่าหมดแรงแล้วค่อยจับผูกไว้กับต้นไม้ใหญ่อีกที
ช้างป่าที่จับได้แล้วเรียกอีกอย่างว่า ‘ช้างเชลย’ จะถูกปล่อยให้อดน้ำอดอาหารอีก ๒-๓ วันเพื่อให้หมดแรง หลังจากนั้นควาญจะทำหน้าที่เปลี่ยนเครื่องพันธนาการเดิมเป็นทามคอโดยใช้ช้างต่อ ๒ เชือกเข้าประกบ ถ้าหากช้างป่าดิ้นแรงเท่าใดทามคอก็จะทำหน้าที่ทิ่มแทงคอมากขึ้นเท่านั้น
กรณีที่ควาญหลายคนจับช้างป่าเชือกเดียวกันและขาเดียวกันหมอช้างจะเป็นผู้ตัดสินว่าใครสมควรได้ช้างเชือกนั้นไป โดยพิจารณาจากบ่วงบาศที่อยู่บนสุดเป็นผู้มีสิทธิ์ แต่ถ้าบ่วงบาศหนึ่งติดเท้าหน้าอีกบ่วงบาศหนึ่งติดเท้าหลัง ให้บ่วงบาศที่ติดเท้าหลังมีสิทธิ์เป็นคนแรก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพยานบุคคลโดยรอบที่สนับสนุนด้วย
เมื่อคล้องช้างป่าได้แล้ว ครูบาใหญ่จะทำพิธีปัดรังควาญไล่ภูตผีป่าออกจากตัวช้างป่า โดยใช้กิ่งไม้หรือผ้าขาวม้าปัดที่หลังช้างป่าพร้อมกับบริกรรมคาถา ‘ปะสะช้าง’ กำกับ
ควาญช้างจะช่วยกันกั้นคอกสำหรับฝึกหัดช้างป่าที่จับมาได้อยู่ริมน้ำเพราะเชื่อกันว่าเมื่อนำช้างป่ามาฝึกหัดอยู่ใกล้กับน้ำ ช้างจะยอมรับการบังคับจากหมอช้างหรือควาญได้ง่ายยิ่งขึ้น อาจใช้เวลาเพียงแค่เดือนเดียวในการลดความดุร้ายและสร้างความคุ้นเคยกับคน
ในระหว่างออกโพนช้างนี้ หากปรากฏว่าใครในคณะคล้องช้างเกิดทำผิดข้อห้ามข้อใดข้อหนึ่งหรือคล้องช้างได้ลักษณะต้องห้ามจะต้องเข้าพิธีปะสะ ซึ่งเป็นพิธีชำระโทษปัดเสนียดจัญไรโดยมีครูบาใหญ่เป็นผู้ประกอบพิธีให้
เมื่อครูบาใหญ่เห็นว่าขบวนโพนช้างจับช้างได้มากพอสมควรแล้วและข้าวสารที่นำติดตัวมาก็เหลือน้อยลง ครูบาใหญ่ก็จะปรึกษากับชาวคณะทั้งหมดเพื่อสั่งให้ยกขบวนกลับหมู่บ้าน เมื่อกลับมาถึงบริเวณป่าใกล้ทางเข้าหมู่บ้านแล้ว ครูบาใหญ่ก็จะสั่งให้ช้างต่อที่นำช้างลูกคอมาด้วยนำช้างไปผูกไว้ตามต้นไม้หนึ่งเชือกต่อหนึ่งต้น ช้างที่ไม่มีช้างลูกคอมาก็ให้พักช้างแล้วนำข้าวของเครื่องใช้ลงจากหลังช้าง ส่วนเชือกปะกำนั้นให้นำมาไว้รวมกัน เมื่อช้างต่อทั้งหมดรวมทั้งหมอช้างอันดับต่าง ๆ และควาญมาพร้อมกันแล้ว ครูบาใหญ่ก็จะนั่งยอง ๆ หันหน้าไปทางกองหนังปะกำ หมอช้างและควาญทุกคนก็จะถือเทียนที่จุดแล้วคนละเล่มนั่งยอง ๆ อยู่ข้างหลัง เมื่อส่งเทียนเหล่านี้ให้กับครูบาใหญ่จนครบทุกคนแล้วก็กล่าว คำลา ‘ผีปะกำ’ กล่าวเสร็จแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธีลาปะกำ
จากนั้นหมอช้างกับควาญก็จะจัดแจงขนเชือกปะกำและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่นำมาด้วยขึ้นช้างต่อแล้วนำช้างลูกคอของตนกลับสู่หมู่บ้าน เมื่อกลับถึงบ้านก็นำเชือกปะกำขึ้นไปเก็บไว้บนศาลปะกำตามเดิม
พ่อของปู่ใหญ่นั้นเป็นหมอช้างตำแหน่งหมอเบื้องขวาหรือหมอสะดำ ส่วนตัวปู่ใหญ่เองเคยเป็นควาญเข้าไปโพนช้างในป่ากับพ่ออยู่เพียงแค่สองสามครั้งเท่านั้นยังไม่มีโอกาสได้จับช้างสักเชือก ทางราชการก็ประกาศให้หยุดจับช้างป่าและประกาศให้ช้างป่าเป็นสัตว์สงวนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลังจากนั้นประเพณีการโพนช้างจึงได้ค่อย ๆ สูญหายไป
เล่าเรื่องขอช้าง
เพื่อไม่ให้เสียชื่อจอมขมังเวทย์เก่า ปู่ใหญ่ยังเล่าเสริมเรื่องของ ‘ขอช้าง’ ที่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์และความเชื่อที่มีมาแต่โบราณให้ฉันฟังต่ออีกยืดยาวว่า เครื่องมือบังคับช้างเรียกว่า ‘ขอช้างหรือคชกุศ’ เป็นหนึ่งในสิ่งมงคลแปดประการของพราหมณ์ เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจบารมี และความสำเร็จ
คชกุศจึงเป็นของมงคล มีพลังเปี่ยมไปด้วยมนต์ขลังแห่งพระครูปะกำที่สามารถค้ำคูณดวงชะตาและข่มสรรพอาถรรพ์ คุณไสยและสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ได้อย่างชะงัด เป็นของมงคลที่หาได้ยากยิ่งและมีอานุภาพสูงหลายประการ
คชกุศยังเป็นเทพศาสตราวุธขององค์พระพิฆเนศ ซึ่งเป็นโอรสของพระอิศวร ตามตำราเล่าว่า ครั้งหนึ่งในป่าหิมพานต์เกิดมีช้างพลายเชือกหนึ่งชื่อ ‘เอกทันต์’ เป็นช้างที่ดุร้ายมีฤทธิ์มาก เที่ยวสร้างความเดือดร้อนให้เทวดาและมนุษย์จนอยู่ไม่เป็นสุขไม่มีใครสามารถปราบได้ พระอิศวรจึงทรงมีบัญชาให้พระนารายณ์ลงมาปราบ ช้างเอกทันต์พยายามหลบหนีเพราะรู้ตัวดีว่าสู้ไม่ได้ พระนารายณ์ตามไปจนพบและทรงใช้บ่วงบาศคล้องเอาช้างเอกทันต์ไว้ได้ แต่เกิดปัญหาว่าบริเวณที่จับช้างได้นั้นเป็นทุ่งกว้างโล่งไม่มีต้นไม้จึงหาที่ผูกช้างไม่ได้
ในที่สุดจึงทรงปักตรีศูล อันเป็นเทพศาสตราวุธลงไปในดินแล้วตรัสสั่งให้เทพศาสตราวุธนั้นกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ ทันใดนั้นเทพศาสตราวุธก็กลายเป็นต้นมะตูมใหญ่ จึงทรงผูกช้างไว้กับต้นมะตูมแล้วทรมานจนช้างคลายพยศ จากนั้นพระนารายณ์ก็เสด็จขึ้นทรงช้างพร้อมกับหักกิ่งมะตูมที่เป็นหนามมาทำเป็นขอช้าง บังคับนำช้างไปเฝ้าพระอิศวร ต่อมาพระนารายณ์ก็ทรงมอบขอช้างนั้นให้แก่พระพิฆเนศใช้เป็นเทพอาวุธประจำพระองค์ ดังนั้นคนโบราณจึงเชื่อกันว่าต้นมะตูมเป็นไม้มงคลจึงมักจะนำใบมะตูมใส่ลงไปในขันน้ำมนต์หรือไม่ก็เอาใบมะตูมมาทัดหู เพราะเชื่อว่าใบมะตูมนั้นเป็นสิริมงคลเหมือนกับขอช้าง
สมัยก่อนเคยมีเรื่องเล่ากันว่า ที่ศาลาวัดแห่งหนึ่งมีผีนางไม้ดุมากสิงอยู่ ผีนางไม้ตนนี้ชอบออกมาอาละวาดก่อกวนผู้ที่มาพักบนศาลาอยู่ เนือง ๆ ไม่มีหมอผีคนไหนปราบได้ คนสมัยก่อนไม่มีโรงแรมให้พักเวลาเดินทางรอนแรมไปไหนไกล ๆ ก็จะพักค้างคืนที่ศาลาวัด อยู่มาวันหนึ่ง มีคณะโพนช้างผ่านมาพักที่ศาลาแห่งนี้ พอตกกลางคืนผีนางไม้ก็ออกมาอาละวาดเขย่าศาลาจนไม่ได้หลับไม่ได้นอนไปตาม ๆ กัน ครูบาเฒ่าซึ่งเป็นหัวหน้าคณะนึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระครูปะกำจึงเอาขอช้างหรือคชกุศนี้สับลงไปที่เสาตกน้ำมันที่นางไม้ตนนี้สิงสถิตอยู่ ปรากฏว่าแค่ทีเดียวเท่านั้น ผีนางไม้ตนนี้ก็หยุดอาละวาดสิ้นฤทธิ์ทันที นับแต่นั้นมาก็ไม่เคยออกมารบกวนผู้ใดอีกเลย ครูบาเฒ่าท่านว่าขนาดช้างตกมันตัวเบ้อเริ่มยังเอาอยู่ แค่นางไม้ตัวเล็ก ๆ จะไปเหลืออะไร
นักเลงรุ่นเก่าจึงมักแสวงหาขอช้างที่ผ่านการลงอาคมจากพระครูปะกำมาไว้ในครอบครอง ยิ่งขอช้างที่เคยสะกดช้างตกมันมาแล้วยิ่งนับถือว่าดีไปใหญ่ แต่ถ้าจะให้เรียกว่าสุดยอดขอช้างมงคลต้องเป็นขอที่เคยสะกดช้างเผือกมาก่อน
ฉันนั่งฟังปู่ใหญ่เล่าเรื่องออกไปโพนช้างเมื่อครั้งอดีตด้วยความสนุกจนเวลานี้พระอาทิตย์ลอยต่ำลงมาใกล้จะลับเหลี่ยมเขาแล้ว ได้ยินเสียงดัง “กริ๊งๆ กริ๊ง ๆ” มาจากทางหน้าบ้าน เมื่อหันไปดูจึงเห็นแม่กำลังขี่รถจักรยานคันโปรดเข้ามา
เล่าเรื่องคนจับช้าง เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือนวนิยายเรื่อง เมี่ยงคำ
อ่านตอนอื่นๆ ได้ที่
https://bit.ly/3xpbLDR
บันทึก
1
4
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย