5 ส.ค. 2021 เวลา 16:36 • ปรัชญา
4 ทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตหลังมหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยอาจไม่ได้สอน
ทักษะที่ 1 ทักษะด้านการสื่อสาร
เรียนวิศวะ วิชาที่เรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่อง Hard Skill แต่ในโลกการทำงาน ยังมีทักษะด้าน Soft Skill ที่สำคัญมาก นั่นก็คือการสื่อสารกับคนอื่น
การสื่อสารไม่ใช่แค่เรื่องภาษา ไม่ใช่แค่ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ใช้ภาษาอังกฤษให้คล่องแคล่ว ภาษาเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้เพื่อสื่อสารกับคนอื่น
ตอนเรียนวิศวะ มีเพื่อนที่คุยภาษาวิศวะด้วยกันรู้เรื่อง แต่เวลาทำงาน คนที่ต้องร่วมงานด้วยอาจไม่ได้มีแค่วิศวะ อาจจะเป็นเซล เป็นการตลาด เป็นบัญชี จะทำยังไงให้สื่อสารรู้เรื่องกับคนที่ไม่เข้าใจภาษาวิศวะ
นอกจากการสื่อสารแบบทั่วไปแล้ว ยังมีการสื่อสารอย่างมีวัตถุประสงค์เพื่อเป้าหมายบางอย่าง เช่น การขาย การเจรจาต่อรอง การโมติเวต การให้ฟีดแบ็ค การพูดเพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกดีกับเรา ฯลฯ
อย่างการขาย หลายคนไม่ชอบ ทั้งที่การสมัครและไปสัมภาษณ์งาน ก็คือ การขายอย่างหนึ่ง ที่ไม่ชอบการขายเพราะคิดว่าการขาย คือ การ “เอา” ผลประโยชน์จากคนอื่นมาให้เรา แต่การขายที่ถูกต้องคือการ “ช่วย” อีกฝ่ายแก้ปัญหาของเขา
เวลาส่งอีเมลสมัครงาน เราต้องเขียนให้บริษัทสนใจและอยากนัดสัมภาษณ์เรา เพราะคิดว่าเราน่าจะช่วยแก้ปัญหาของบริษัทได้.เวลาสัมภาษณ์งาน เมื่อเรามีโอกาสได้ถาม เราควรถามผู้สัมภาษณ์ว่า บริษัทคาดหวังอะไรจากตำแหน่งที่เราสมัคร บริษัทมีปัญหาอะไรอยู่ถึงต้องการตำแหน่งนี้มาช่วย แล้วยืนยันไปว่าเราสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ให้บริษัทได้อย่างไร
การสื่อสารเป็นทักษะที่มีรายละเอียดให้เราเรียนรู้และฝึกฝนได้อีกมากมายเลย มีทั้งหนังสือ ทั้งคอร์สเรียน ทั้งเรียนจากการลงมือทำจริง
ทักษะที่ 2 ทักษะด้านการเงินและการลงทุน
เราอยู่ในโลกทุนนิยม เลยต้องมีทักษะนี้ติดตัวไว พื้นฐานของทักษะนี้ เริ่มจากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเองก่อน มีซอฟต์แวร์หรือแอปฟรีให้เลือกเยอะเลย การทำบัญชีจะช่วยให้เราเห็นภาพว่าเรามีรายรับเท่าไหร่ รายจ่ายเท่าไหร่ เหลือเก็บเท่าไหร่ รายจ่ายส่วนใหญ่ของเราหมดไปกับอะไร เมื่อเราเห็นภาพเงินในกระเป๋าของเรา เราจะวางแผนบริหารจัดการได้ถูก
ขั้นต่อมาต้องฝึกเรื่องการออมเงิน ถ้าเป็นไปได้ ควรออมก่อนใช้ คือตั้งใจไว้เลยว่าจะออมเงินเดือนละเท่าไหร่ พอได้เงินมาก็แบ่งมาออมทันที เหลือเท่าไหร่ก็ค่อยใช้ แต่การออมเงินไว้เฉย ๆ ในระยะยาวไม่เกิดประโยชน์ เพราะเงินมีแต่จะด้อยค่าลง พอเริ่มมีเงินก้อน เราควรเอาไปลงทุนในทรัพย์สินต่าง ๆ ยิ่งมีเงินมาก ตัวเลือกทรัพย์สินที่เราลงทุนได้ก็จะยิ่งมากขึ้น
วิธีที่เราจะได้ผลตอบแทนจากทรัพย์สินมีสองวิธี.วิธีแรกคือทรัพย์สินถูกตลาดให้ค่าเพิ่มขึ้น เช่น ซื้อทองตอน 20,000 บาท ราคาขึ้นเป็น 25,000 บาท ซื้อบิตคอยน์ตอน 30,000 เหรียญ ราคาขึ้นเป็น 40,000 เหรียญ
วิธีที่สอง คือ ทรัพย์สินถูกนำไปใช้สร้าง Productivity บางอย่างแล้วมีผลตอบแทนกลับมา เช่น ซื้อหุ้นแล้วบริษัททำกำไรได้ดีเลยจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น หรือซื้อคอนโดมาปล่อยเช่า.วิธีแรกมักจะถูกเรียกว่าการเก็งกำไร ต้องจับจังหวะเป็น เข้าใจอารมณ์ของตลาด วิธีที่สองต้องเข้าใจว่าทรัพย์สินสร้างผลตอบแทนกลับมาได้อย่างไร มีความเสี่ยงอะไรบ้าง
คนยุค Baby Boomer มีตัวเลือกในการลงทุนไม่มาก ฝากเงินกับธนาคาร ซื้อพันธบัตร ได้ดอกเบี้ย 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซื้อทองคำหรือที่ดินเก็บ ผ่านไปหลายสิบปี มูลค่าเพิ่มขึ้นหลายสิบหลายร้อยเท่า คนยุคนี้ มีตัวเลือกในการลงทุนเยอะแยะเต็มไปหมด หุ้น กองทุน คอนโด คริปโต ฯลฯ สนใจหุ้นก็มีให้เลือกอีกว่าจะซื้อหุ้นตัวไหน หรือลงทุนในประเทศไหน
ปัญหาของการมีตัวเลือกเยอะ คือ ไม่รู้จะเลือกอะไรดี จึงต้องระวังการเลือกเพราะเห็นคนอื่นเลือก โดยที่เราไม่ได้มีความรู้ในทรัพย์สินที่เราเลือก ดังนั้น สิ่งที่เราควรลงทุนมากที่สุด ก็คือลงทุนในความรู้ของตัวเอง ก่อนจะตัดสินใจลงทุนในทรัพย์สินตัวไหน เราต้องรู้และเข้าใจทรัพย์สินตัวนั้นเป็นอย่างดี ถ้าจะซื้อหุ้นก็ต้องรู้ว่าหุ้นตัวนั้นทำธุรกิจอะไร ใครเป็นลูกค้า มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ถ้าจะซื้อที่ดินก็ต้องรู้ว่าน้ำท่วมมั้ย ชุมชนละแวกนั้นเป็นอย่างไร
ทักษะที่ 3 ทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
คนยุค Baby Boomer เรียนจบอะไรมา ทำงานนั้นไปจนเกษียณเลย แต่ยุคนี้ความรู้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ภาษาที่เคยใช้เขียนโปรแกรมเมื่อ 20 ปีก่อน ปัจจุบันแทบไม่มีใครเขียนแล้ว เราจึงต้องมีทักษะในการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ การเรียนรู้ให้ได้ผลดีต้องเริ่มจากการมี Passion ที่จะอยากเรียนสิ่งนั้นก่อน เราจะเรียนไปทำไม เราอยากเอาไปใช้ประโยชน์อะไร ถ้ามี Passion แล้ว ความกระตือรือร้นในการเรียนจะตามมาเอง.เราควรมีความรู้หลักที่เรามั่นใจว่าเรารู้ลึกรู้จริงอย่างน้อยหนึ่งอย่าง เป็นความรู้ที่ใช้ทำมาหากินได้ในยุคนี้ และมีความรู้เสริมในเรื่องอื่น ๆ ที่สามารถนำมารวมกับความรู้หลักแล้วทำให้เราโดดเด่นแตกต่างจากคนอื่น
เช่น เราเขียนโปรแกรมภาษายอดนิยมได้เก่งมาก (แต่ในตลาดก็มีคนเก่งภาษานี้เยอะแยะ) ถ้าเราพอจะรู้เรื่องการเกษตรด้วย เราก็อาจสร้างซอฟต์แวร์ที่ช่วยคนทำเกษตรได้ ถ้าเรามีทักษะในการสื่อสารที่ดี ก็อาจเป็น Project Manager ที่คุยกับลูกค้าและประเมินต้นทุนโครงการนำเสนอให้ผู้บริหารได้
ทักษะที่ 4 ทักษะการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
ในโลกการทำงาน มีความทุกข์ให้เราเผชิญหลายอย่าง เราจึงต้องฝึกที่จะมีความสุขให้ได้ สาเหตุที่ทำให้ทุกข์มีหลายอย่าง เช่น เรามักเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ทุกคนเป็น เราอยากรู้ว่าเพื่อนเราได้เงินเดือนเท่าไหร่เพื่อจะเทียบกับตัวเราเอง เราเห็นเพื่อนประสบความสำเร็จแล้วรู้สึกอิจฉา กลับมามองตัวเองว่าทำไมเราห่วยจัง.มีงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ถามผู้เข้าร่วมวิจัยแต่ละกลุ่มด้วยคำถามที่แตกต่างกัน เช่น
– ถ้าคุณได้เงินเดือน 50,000 บาท คุณมีความสุขมั้ย?
– ถ้าคุณได้เงินเดือน 50,000 บาท แต่รู้ว่าเพื่อนที่เข้าทำงานพร้อมคุณได้ 70,000 บาท คุณมีความสุขมั้ย?
– ถ้าคุณได้เงินเดือน 40,000 บาท แต่รู้ว่าเพื่อนที่เข้าทำงานพร้อมคุณได้ 30,000 บาท คุณมีความสุขมั้ย?
ปรากฎว่าคนที่ได้เงินเดือน 40,000 บาท แต่รู้ว่าเพื่อนได้แค่ 30,000 บาท กลับมีความสุขมากกว่าคนที่ได้ 50,000 บาท แต่รู้ว่าเพื่อนได้ 70,000 บาท.บางทีเราชอบเปรียบเทียบเพียงมิติเดียว โดยไม่ได้เอาปัจจัยอื่น ๆ มาเทียบด้วย คนที่ได้อะไรมากกว่าเรา เขาอาจจะต้องเสียอย่างอื่นไปมากกว่าเรา เพียงแต่เรามองไม่เห็น
เราชอบมองว่าคนอื่นเหนือกว่าเรา ทั้งที่เราก็มีบางอย่างที่เหนือกว่าคนอื่น แต่เราไม่รู้สึกว่าเราเหนือกว่า เราจึงต้องฝึกมองให้เห็นข้อดีของตัวเองด้วย
นอกจากเรื่องการจัดการความทุกข์แล้ว การใช้เงินเพื่อความสุขก็มีเรื่องน่าคิด ถ้าเรามีเงินอยู่ก้อนนึง เราควรใช้มันไปกับอะไรดี? ซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า แก็ดเจ็ต ดีมั้ย? หรือเอาไปท่องเที่ยวดี?
จากงานวิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอีกเช่นกัน ความสุขที่เกิดจากการซื้อประสบการณ์ที่ดี อยู่ได้นานกว่าความสุขจากการซื้อของทั่วไป ถ้าเราซื้อกระเป๋าใหม่ วันแรกเราจะมีความสุขมาก หยิบจับอย่างระมัดระวัง หลังจากนั้นความสุขจะเริ่มลดลง ผ่านไปไม่กี่วันก็เฉย ๆ แล้ว แต่ถ้าเราไปเที่ยวประเทศที่อยากไป เราจะมีความสุขตั้งแต่วางแผนเที่ยวเลย ระหว่างเที่ยวก็จะมีประสบการณ์แปลกใหม่มากมาย เที่ยวเสร็จกลับมาแล้วก็ยังรู้สึกนึกถึงอยู่เรื่อย ๆ แม้เวลาผ่านไปเป็นปี พอย้อนกลับไปดูรูป เราก็จะอยากกลับไปเที่ยวอีก เงินที่เราจ่ายเพื่อการท่องเที่ยว จึงมอบความสุขให้เราได้อย่างคุ้มค่ามาก เมื่อเทียบกับการจ่ายเงินเพื่อซื้อของ
เงินซื้อความสุขได้… แค่บางอย่าง คนที่ไม่มีเงิน การมีเงินจะทำให้เขามีความสุขมากขึ้น แต่คนที่มีเงินเยอะอยู่แล้ว การมีเงินเยอะขึ้นไปอีกไม่ได้ทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นได้อีกแล้ว
คนที่มีเงิน 300 ล้านบาท กับคนที่มีเงิน 3,000 ล้านบาท คุณภาพชีวิตแทบไม่ต่างกัน ต่างแค่คนหลังมี Private Jet … นี่คือคำพูดที่คนมีเงินพูด
คนที่ซื้อเรือยอชต์จะมีความสุขแค่สองวัน คือ วันที่ซื้อกับวันที่ขาย วันแรกที่ได้เรือมาจะมีความสุขมาก แต่หลังจากนั้นเรือคือภาระที่ต้องดูแล จะมีความสุขอีกครั้งคือวันที่ขายเรือออกไปได้ … คนมีเงินอีกคนพูดไว้
ดังนั้น เราจึงต้องมีจุดสมดุลของตัวเอง ไม่มีเงินเลยก็ไม่ได้ แต่มีเงินมากไปก็มีปัญหาอีกแบบ หาจุดที่เรามีความสุขให้เจอ เงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้เรามีความสุขได้ เมื่อเรามีเงินพออยู่ได้แล้ว เราจะเริ่มแสวงหาสิ่งอื่น ๆ เราจะอยากมีคุณค่าต่อผู้อื่น ลองสละสิ่งที่เรามี ถ้ามีเงินก็สละเงิน ถ้ายังมีไม่พอที่จะสละได้ ก็ลองสละเวลา สละแรงกาย เพื่อช่วยเหลือคนอื่น แล้วเราจะพบว่ามันคือความสุขอีกแบบที่แตกต่างจากความสุขจากการใช้เงินซื้อของเพื่อปรนเปรอตัวเอง
สุดท้าย ความสุขที่แท้จริง มันอาจเป็นสิ่งที่เรียบง่ายมาก นั่นก็คือความไม่เป็นทุกข์ใด ๆ อีกเลย
มีอาจารย์ที่สอนฮาวทูพ้นทุกข์ไว้เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว นั่นก็คือ การรู้สภาวะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ในปัจจุบัน เมื่อรู้สภาวะต่าง ๆ มากขึ้น จิตก็เริ่มมีปัญญา และปล่อยวางความยึดมั่นต่างๆ ลงเอง ความทุกข์ก็หายไป กลายเป็นความสุขแบบสว่าง ๆ เบ าๆ
ทักษะทั้ง 4 อย่างที่กล่าวมา เป็นเหมือน GPS ที่ช่วยนำทางน้อง ๆ จบใหม่ โลกนอกรั้วมหาลัยมีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะมาก ค่อย ๆ เรียนรู้ไป และขอให้มีชีวิตที่ประสบความสำเร็จตามที่ปรารถนา
Content Contributor: อภิศิลป์ ตรงุกานนท์ Co-founder & Chief Product Officer บริษัท อินเตอร์เน็ต มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (www.pantip.com)
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
โฆษณา