6 ส.ค. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 35] โครงการส่งเสริมการศึกษา “ภาษายุทธศาสตร์” : นโยบายส่งเสริมภาษาต่างประเทศที่ไม่ใช่ “ภาษายอดนิยม” ของรัฐบาลเกาหลีใต้
South Korean government’s CFL Education Promotion
ในประเทศไทยนั้น เวลาเราเรียนภาษาต่างประเทศ ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาที่ 2 และหากใครเรียนภาษาที่ 3 ส่วนใหญ่มักจะเป็น “ภาษายอดนิยม” อย่างภาษาญี่ปุ่น เกาหลี จีนกลาง อาหรับ รัสเซีย เยอรมัน ฝรั่งเศส หรือภาษาสเปน ขณะที่ยังมีภาษาต่างประเทศอีกกลุ่มที่มีคนเรียนไม่มากนัก เช่น ภาษาเวียดนาม อินโดนีเซีย ฮินดี ตุรกี อิตาลี โปรตุเกส หรือภาษาดัตช์
การเรียนภาษาต่างประเทศในหลายประเทศก็เป็นแบบเดียวกันกับไทย ที่ภาษาที่ 3 มีทั้ง “ภาษายอดนิยม” และ “ภาษาที่มีคนเรียนไม่มาก” ซึ่งรวมถึงการเรียนภาษาต่างประเทศในเกาหลีใต้ แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้เริ่มนโยบาย “ภาษายุทธศาสตร์” เพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้คนเกาหลีใต้ที่สนใจได้เรียน “ภาษาที่คนเรียนไม่มาก” ให้มากขึ้น
เรามาทำความรู้จักกับโครงการของเกาหลีใต้ในด้านนี้กันครับ...
[Credit ภาพ : CFL Education Promotion of South Korea]
โครงการส่งเสริมการศึกษา “ภาษายุทธศาสตร์” (Critical Foreign Languages Education Promotion / 특수외국어교육진흥사업) เป็นโครงการภายใต้สถาบันการศึกษาระหว่างประเทศแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ เพื่อเพิ่มโอกาสด้านการศึกษาเฉพาะทางที่หลากหลายด้านภาษาต่างประเทศเพื่อสร้างบุคลากรคนเกาหลีใต้ที่สามารถใช้ “ภาษายุทธศาสตร์” ได้มากขึ้น (อย่างในด้านการทูต ธุรกิจการค้า เศรษฐกิจ หรือความมั่นคง)
ภาพแนะนำถึงรายการโทรทัศน์ของกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ เพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาภาษายุทธศาสตร์สู่เยาวชนคนเกาหลีใต้รุ่นใหม่ [Credit ภาพ : กระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ (교육부)]
นโยบายนี้ของรัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นเมื่อเริ่มบังคับใช้กฎหมายการส่งเสริมการศึกษาภาษายุทธศาสตร์ ในปี ค.ศ.2016 (ช่วงรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีพัก กึนฮเย) ก่อนที่จะมีแผนการขั้นพื้นฐาน 5 ปีฉบับแรก (ค.ศ.2017-2021 ช่วงรัฐบาลประธานาธิบดีมุน แจอิน) โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้...
- การเพิ่มความต้องการกำลังคนผู้เชี่ยวชาญภาษายุทธศาสตร์ เพื่อเตรียมบุคลากรเหล่านี้รองรับการทำงานด้านต่าง ๆ ในยุทธศาสตร์ชาติของเกาหลีใต้
- การเสริมสร้างการจ้างงานให้คนเกาหลีใต้รุ่นใหม่ที่สามารถใช้ภาษายุทธศาสตร์ รวมถึงตำแหน่งงานในต่างประเทศ และธุรกิจ Start-up
- การหาข้อมูลของประเทศที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อเกาหลีใต้ และเตรียมพร้อมที่จะเพิ่มความหลากหลายของการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ
การดำเนินโครงการส่งเสริมการศึกษาภาษายุทธศาสตร์ของเกาหลีใต้ 5 กระบวนการหลักในแผนการ 5 ปีฉบับแรก (ค.ศ.2017-2021) ได้แก่...
- การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน “ภาษายุทธศาสตร์” ที่มีมาตรฐานในเกาหลีใต้ อย่างการสร้างหลักสูตรมาตรฐานด้านการเรียนการสอนภาษาไทย (ตั้งแต่ระดับ A0 เรื่องพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ แล้วไล่ตามระดับทักษะภาษาตามมาตรฐาน CEFR ของยุโรปถึงระดับ C2)
**สำหรับเรื่องระดับทักษะภาษาตามมาตรฐาน CEFR ของยุโรป สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.blockdit.com/posts/5ff161723c14010cf2f69df9
- การพัฒนาคอร์สเรียน “ภาษายุทธศาสตร์” แบบออนไลน์ฟรี ใน K-MOOC เว็บไซต์เรียนออนไลน์ส่วนกลางของเกาหลีใต้ โดยมีคอร์สเรียนภาษา 11 ภาษา ประกอบด้วยภาษามองโกเลีย ภาษาเวียดนาม ภาษากัมพูชา ภาษาไทย ภาษาพม่า ภาษาฮินดี ภาษาเปอร์เซีย ภาษาอาหรับ ภาษาสวาฮิลี ภาษาโปแลนด์ และภาษาโปรตุเกส (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม ค.ศ.2021)
คอร์สเรียนภาษายุทธศาสตร์ออนไลน์ฟรีของมหาวิทยาลัยฮันกุกภาษาและกิจการต่างประเทศ (HUFS) บนเวบไซต์ K-MOOC ได้แก่ ภาษาโปแลนด์ โปรตุเกส มองโกเลีย สวาฮีลี ไทย (ระดับ A0) และภาษาเปอร์เซีย (ระดับ A1)
- การตีพิมพ์ตำราเรียน “ภาษายุทธศาสตร์” ฉบับมาตรฐานในเกาหลีใต้ อย่างเช่นตำราเรียนภาษาไทย ที่กำลังทำตำราเรียนระดับ A0-B2 ในปัจจุบันนี้
- การจัดทำพจนานุกรมเพื่อใช้แปลระหว่างภาษายุทธศาสตร์ภาษาต่าง ๆ กับภาษาเกาหลี
- การจัดทำระบบการสอบวัดระดับภาษายุทธศาสตร์แบบเป็นทางการของเกาหลีใต้ เช่น การสอบวัดระดับภาษาไทย
หน้าปกตำราเรียนภาษาไทยมาตรฐานสำหรับคนเกาหลีใต้ ระดับ A0-A2 จัดทำโดยภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุกภาษาและกิจการต่างประเทศ (HUFS) ตั้งแต่ปี ค.ศ.2019 โดยมีราคาแต่ละเล่มอยู่ในช่วง 20,000 - 30,000 KRW [ที่มาของภาพ : Kyobo Book Centre]
หน้าปกตำราเรียนภาษายุทธศาสตร์มาตรฐานสำหรับคนเกาหลีใต้ ระดับ A1 (ในตัวอย่างเป็นตำราเรียนภาษาโปรตุเกส สวาฮีลี เปอร์เซีย และฮินดี) จัดทำโดยมหาวิทยาลัยฮันกุกภาษาและกิจการต่างประเทศ (HUFS) ตั้งแต่ปี ค.ศ.2019 โดยมีราคาแต่ละเล่มอยู่ในช่วง 26,000 - 32,000 KRW [ที่มาของภาพ : Kyobo Book Centre]
หน้าปกพจนานุกรมเกาหลี-ฮินดี และไทย-เกาหลี จัดทำโดยมหาวิทยาลัยฮันกุกภาษาและกิจการต่างประเทศ (HUFS) โดยมีราคาแต่ละเล่ม 50,000 KRW [ที่มาของภาพ : Kyobo Book Centre]
ภาษาที่ทางรัฐบาลเกาหลีใต้คัดเลือกให้เป็น “ภาษายุทธศาสตร์” มีทั้งหมด 53 ภาษาประกาศลงในกฎหมาย แบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ 5 กลุ่ม โดยมี “ภาษายุทธศาสตร์” ที่จะเริ่มนโยบายส่งเสริมการศึกษาก่อนในช่วงแรกของโครงการ 17 ภาษา (ชื่อภาษาในรายชื่อที่มีเครื่องหมาย * กำกับ) ซึ่งเป็นภาษาจากเอเชียใต้และกลุ่มประเทศ ASEAN จำนวน 7 ภาษา เพื่อให้สอดคล้องกับ ”นโยบายมุ่งสู่ใต้ครั้งใหม่” (New Southern Policy) ของรัฐบาลเกาหลีใต้ภายใต้ประธานาธิบดีมุน แจอิน ที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับอินเดียและกลุ่มประเทศ ASEAN มากขึ้น
กลุ่มภาษายุทธศาสตร์เป้าหมาย 5 กลุ่ม ในโครงการส่งเสริมการศึกษาภาษายุทธศาสตร์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ [Credit ภาพ : CFL Education Promotion of South Korea]
- กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกา (12 ภาษา)
อาหรับ* ตุรกี* อาเซอร์ไบจาน เปอร์เซีย* ปาทาน ดารี ฮีบรู เฮาซา สวาฮีลี* ซูลู รวันดา อัมฮารา
- กลุ่มประเทศยูเรเชีย (7 ภาษา)
คาซัค อุซเบก* คีร์กีซ ยูเครน เติร์กเมน ทาจิก มองโกเลีย*
- กลุ่มประเทศเอเชียใต้และ ASEAN (14 ภาษา)
ฮินดี* อูรดู สันสกฤต เนปาล เบงกอล สิงหล เวียดนาม* มลายู* อินโดนีเซีย* ไทย* พม่า* กัมพูชา* ลาว ตากาล็อก
- กลุ่มประเทศยุโรป (18 ภาษา)
โปแลนด์* โรมาเนีย ฮังการี* เช็ก สโลวัก เซอร์เบีย โครเอเชีย ลัตเวีย เบลารุส จอร์เจีย กรีก บัลแกเรีย อิตาลี ดัตช์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์
- กลุ่มประเทศละตินอเมริกา (2 ภาษา)
โปรตุเกส (ฝั่งบราซิล)* และโปรตุเกสแบบที่ใช้ในดินแดนอื่น ๆ*
(ส่วนตัว “หนุ่มมาเก๊า” คาดว่าทางโครงการให้น้ำหนักกับภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิลมากกว่า และประชากรส่วนใหญ่ที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นคนบราซิล ทางโครงการเลยรวมภาษาโปรตุเกสฝั่งอื่น ๆ เช่น ภาษาโปรตุเกสฝั่งยุโรปที่ใช้ในประเทศโปรตุเกสเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้)
สำหรับสถาบันการศึกษา (มหาวิทยาลัยเอกชนในเกาหลีใต้) ที่ร่วมพัฒนาการศึกษาภาษายุทธศาสตร์ในโครงการนี้ ได้แก่
- มหาวิทยาลัยทันกุกร่วมกับมหาวิทยาลัยช็องอุน : 4 ภาษา (อาหรับ มองโกเลีย โปรตุเกส เวียดนาม)
- มหาวิทยาลัยพูซันภาษาและกิจการต่างประเทศ เมืองพูซัน (BUFS) : 8 ภาษา (อาหรับ พม่า ฮินดี กัมพูชา อินโดนีเซีย-มลายู ไทย ตุรกี และเวียดนาม)
ภาพแนะนำแอปพลิเคชัน "특수외국어 마스터" เพื่อฝึกภาษายุทธศาสตร์ 8 ภาษา (อาหรับ พม่า ฮินดี กัมพูชา อินโดนีเซีย ไทย ตุรกี และเวียดนาม) ของ BUFS [ที่มาของภาพ : https://appsonwindows.com/apk/6693160/ ]
- มหาวิทยาลัยฮันกุกภาษาและกิจการต่างประเทศ กรุงโซล (HUFS) : 11 ภาษา (ฮินดี ฮังการี อินโดนีเซีย-มลายู เปอร์เซีย มองโกเลีย โปแลนด์ โปรตุเกส สวาฮีลี ไทย ตุรกี และอุซเบก)
มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการศึกษาภาษายุทธศาสตร์ของเกาหลีใต้ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในเพื่อการพัฒนาทางยุทธศาสตร์ของประเทศด้วย อย่างมหาวิทยาลัยฮันกุกภาษาและกิจการต่างประเทศ กรุงโซล (HUFS) ที่มีศูนย์การศึกษาภาษายุทธศาสตร์ (ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2018 สอดคล้องกับช่วงเริ่มโครงการ) ได้ร่วมมือกับศูนย์บริการด้านข้อมูลและวัฒนธรรมเกาหลีใต้ (KOCIS) ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของรัฐบาลเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2020
ความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการศึกษาภาษายุทธศาสตร์ให้กับคนเกาหลีใต้ในต่างประเทศ (ผ่านสาขาต่างประเทศของศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ซึ่งอยู่ภายใต้ KOCIS) และส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศเกาหลีใต้ในต่างประเทศ (ผ่าน HUFS ที่จะแปลและแก้ไขเนื้อหาตามสื่อของ KOCIS ก่อนเผยแพร่สู่ต่างประเทศ) โดยภาษายุทธศาสตร์ในความร่วมมือนี้มี 11 ภาษา ได้แก่ อินโดนีเซีย-มลายู เปอร์เซีย ไทย โปแลนด์ มองโกเลีย ฮินดี ตุรกี ฮังการี สวาฮีลี อุซเบก และโปรตุเกส
ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี (Korean Cultural Center / 한국문화원) ประจำประเทศไทย บริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อโศก กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ KOCIS [ภาพถ่ายโดยเจ้าของบล็อก]
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "โครงการส่งเสริมการศึกษาภาษายุทธศาสตร์” ซึ่งเป็นนโยบายส่งเสริมภาษาต่างประเทศที่ไม่ใช่ “ภาษายอดนิยม” ของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาด้านภาษาต่างประเทศและเริ่มดำเนินการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นโยบายนี้ยังเป็นหนึ่งในตัวอย่างนโยบายเชิงรุกด้านภาษาที่ 3 เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ของชาติ (โดยเฉพาะด้านการทูตและเศรษฐกิจ) ในประเทศต่าง ๆ ครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาของข้อมูล]
- เนื้อหาเกี่ยวกับการสอนภาษาไทยตามมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ โดย Assoc.Prof.Park Kyung-Eun ภาควิชาภาษาไทย คณะภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยฮันกุกภาษาและกิจการต่างประเทศ ในกิจกรรมเสวนาเรื่อง "ภาษาไทยในโลกกว้าง : การเรียนการสอนและการวิจัยภาษาไทยในบริบทนานาชาติ" โดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ 29 กรกฎาคม ค.ศ.2021
โฆษณา