6 ส.ค. 2021 เวลา 03:28 • ธุรกิจ
การคุ้มครองเงินฝากถือเป็นนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนผู้ฝากมั่นใจว่าจะได้รับเงินฝากคืนภายใต้วงเงิน และภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด หากสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต
"สถาบันคุ้มครองเงินฝาก" หรือ “Deposit Protection Agency” เรียกง่ายๆ ว่า "สคฝ." หรือ "DPA" จึงถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา
DPA ถือเป็นหนึ่งในกลไกที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งเป็นกลไกในการดูแลผู้ฝากเงิน หากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยเฉพาะผู้ฝากเงินรายย่อยจะได้รับเงินฝากคืนตามที่ปรากฏในหลักฐาน แต่ไม่เกินวงเงินคุ้มครองที่กฎหมายกำหนด ภายใน 30 วันหลังจากสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต
#คุ้มครองใคร
บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เช่น บริษัท กองทุนต่าง ๆ มูลนิธิ วัด สมาคม สหกรณ์ บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต ทั้งนี้สำหรับชาวต่างชาติจะได้รับการคุ้มครองต่อเมื่อเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศที่เป็นเงินบาท
#คุ้มครองอะไร
ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่เปิดไว้ที่สถาบันการเงินซึ่งเป็นเงินสกุลบาทและเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ได้แก่
✅เงินฝากกระแสรายวัน
✅เงินฝากออมทรัพย์
✅เงินฝากประจำ
✅บัตรเงินฝาก
✅ใบรับฝากเงิน
#ไม่คุ้มครองอะไร
ผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือเงินฝากบางประเภท เช่น
❌เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
❌เงินลงทุนในตราสารต่าง ๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หน่วยลงทุน (SSF, RMF)
❌เงินฝากในสหกรณ์
❌แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน
❌เงินอิเล็กทรอนิกส์
❌ผลิตภัณฑ์ประกันประเภทออมทรัพย์ ที่ออกโดยบริษัทประกัน
#คุ้มครองอย่างไร
หากสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากจะได้รับเงินฝาก (เงินต้นและดอกเบี้ย) คืนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากภายใต้วงเงินคุ้มครองที่กำหนด โดยจะคุ้มครองในลักษณะ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน (ไม่ใช่ต่อ 1 บัญชี) ซึ่งหมายถึง ในกรณีที่ผู้ฝากมีบัญชีเงินฝากหลายบัญชีที่เปิดอยู่กับสถาบันการเงิน 1 แห่ง จะต้องนำเงินฝาก (เงินต้นและดอกเบี้ย) ในทุกสาขาและทุกบัญชีของสถาบันการเงินแห่งนั้นมารวมคำนวณ
#คุ้มครองเท่าไร
ปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 5 ล้านบาทจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2564 และจะบังคับใช้วงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาทตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
#คุ้มครองที่ไหน
📌ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (19 แห่ง)
📌สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (11 แห่ง)
📌บริษัทเงินทุน (2 แห่ง)
📌บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (3 แห่ง)
สามารถดูรายละเอียดได้ตามลิงค์ด้านล่างนะคะ
คราวนี้เรามาดูข้อมูลฐานเงินบัญชีเงินฝากในประเทศในเดือน พ.ค. 64 กันบ้าง จากข้อมูลของ BOT เราจะพบว่า
🙂มีคนที่มีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ 1,536 บัญชี รวมเป็นเงินประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท
🙂มีคนที่มีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 200 - 500 ล้านบาท อยู่ 3,215 บัญชี รวมเป็นเงินประมาณ 9 แสนล้านบาท
🙂มีคนที่มีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 50 - 200 ล้านบาท อยู่ 18,465 บัญชี รวมเป็นเงินประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท
🙂มีคนที่มีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 1 - 50 ล้านบาท อยู่ประมาณ 1.7 ล้านบัญชี รวมเป็นเงินประมาณ 6.5 ล้านล้านบาท
😅ในขณะที่มีคนที่มีเงินฝากในบัญชีน้อยกว่า 1 ล้านบาท อยู่ประมาณ 107 ล้านบัญชี (คิดเป็น 98.16%) รวมเป็นเงินประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 21.33%)
จะเห็นได้ว่าถ้าสถาบันการเงินล้ม คนที่เสียประโยชน์คือหนึ่งใน 1.7 ล้านบัญชี จากทั้งหมด 109 ล้านบัญชีทั่วประเทศนั่นเอง
#วางแผนการเงินอย่างไรสำหรับคนที่มีเงินฝากเกินหนึ่งล้าน
👉กระจายเงินฝากไปที่สถาบันการเงินต่าง ๆ อย่าไปกระจุกที่ใดที่หนึ่ง (ปิดความเสี่ยงให้ครบทุกบัญชี)
👉แบ่งมาฝากเงินไว้กับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และบำนาญของบริษัทที่มีความมั่นคง
👉ลงทุนในหุ้นหรือกองทุนตามความเสี่ยงที่เรารับได้
👉ซื้อทองเก็งกำไรสะสมไว้บ้าง
👉สะสมแบรนด์สินค้าแบรนด์เนมที่มีความนิยมและมีสภาพคล่อง
ที่สำคัญอย่าลืมกลับมาดูที่เป้าหมายทางการเงินของเรา แล้วจัดพอร์ตสินทรัพย์ใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอย่างเหมาะสมด้วยนะคะ
โฆษณา