Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Play Now Thailand
•
ติดตาม
6 ส.ค. 2021 เวลา 08:42 • กีฬา
นักกีฬาก็คน!
โดย เชน ชอนตะวัน
แม้ นาโอมิ โอซากะ เป็นแชมป์แกรนด์สแลม 4 รายการ และนักกีฬาหญิงที่รายได้มากที่สุดของโลกในรอบปีที่ผ่านมา แต่สำหรับตัวเธอแล้ว นักกีฬาก็เป็นแค่คนธรรมดา มีเลือดเนื้อจิตใจเหมือนคนอื่นๆ
โอลิมปิก 2020 ใกล้รูดม่านปิดฉากเต็มทีแล้ว มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย สำหรับผู้ที่คว้าชัยชนะย่อมได้รับการยกย่องเปรียบประดุจวีรบุรุษของชาติ ส่วนผู้แพ้ย่อมต้องกล้ำกลืนความผิดหวัง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกทุกครั้ง แต่สำหรับโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวครั้งนี้ หลายเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทำให้โลกได้รับรู้ถึงตัวตนอีกด้านหนึ่งของนักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์ว่า ความจริงแล้วพวกเขาคือมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา ที่มีเลือดเนื้อจิตใจเหมือนคนทั่วไป
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหน เธอคือ นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสมือ 2 ของโลก ลูกครึ่งเฮติ-ญี่ปุ่น ผู้ที่ได้รับเกียรติให้เป็นผู้จุดกระถางคบเพลิงในพิธีเปิดโอลิมปิก 2020 และเป็นตัวเต็งที่จะคว้าเหรียญทองเทนนิสหญิงเดี่ยว หากทุกอย่างเป็นไปตามความคาดหมาย โอลิมปิก 2020 ครั้งนี้จะเป็นโอลิมปิกแห่งความทรงจำสำหรับตัวเธอและชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศ แต่ชีวิตจริงไม่ใช่เทพนิยาย นาโอมิที่แบกความกดดันจากความคาดหวังอันใหญ่หลวง จบเส้นทางเพียงรอบ 3 พลิกความคาดหมายยิ่งกว่าการที่ โนวัก ยอโควิช มือหนึ่งชายของโลกไม่มีเหรียญติดมือเสียอีก
ที่ต้องพูดแบบนั้นก็เพราะยอโควิชเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ และแพ้ให้กับ อเล็กซานเดอร์ ซเวเรฟ มือ 5 โลกจากเยอรมนี ซึ่งถือเป็นนักเทนนิสชั้นแนวหน้าด้วยกัน ส่วนนาโอมิแพ้ให้กับ มาร์เกตา วอนดรูโซวา มืออันดับ 42 ของโลกจากเช็ก ซึ่งชื่อชั้นยังห่างกันมาก และที่น่าเสียดายคือเป็นการตกรอบหลังจากเส้นทางคว้าแชมป์ค่อนข้างสดใส เนื่องจาก แอชลีห์ บาร์ตี มือหนึ่งหญิงของโลกจากออสเตรเลีย พลาดท่าตกรอบแรกไปแล้วด้วย ที่สำคัญยังเป็นความพ่ายแพ้เพราะตัวเองมีส่วนไม่น้อย ตีอันฟอร์ซ เออร์เรอร์ หรือตีเสียเองถึง 18 ครั้ง
เจ้าตัวยอมรับว่า ความกดดันสำหรับการลงแข่งโอลิมปิกครั้งแรกในครั้งนี้มันหนักหนาเกินไปสำหรับเธอจริงๆ
ความจริงแล้วหลังพิธีเปิดโอลิมปิก 2020 ใครที่เป็นแฟนคอยติดตามเอาใจช่วยนาโอมิมาตลอดคงรู้สึกใจชื้น ที่เห็นแชมป์แกรนด์แสลมหญิงเดี่ยว 4 รายการผู้นี้กลับมามีรอยยิ้มและท่าทีที่มีความสุขอีกครั้ง หลังจากห่างหายจากสนามแข่งขัน นับตั้งแต่ถอนตัวจากการแข่งขันรายการเฟรนช์โอเพนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากประเด็นขัดแย้งเรื่องการไม่อยากให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ซึ่งนาโอมิให้เหตุผลว่าอยากพักเพื่อรักษาสภาพจิตใจที่รู้สึกซึมเศร้าอย่างบอกไม่ถูก
การประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย และการเป็นนักกีฬาหญิงที่มีรายได้ต่อปีสูงที่สุดในโลก มีอะไรให้ซึมเศร้ายังงั้นหรือ? คำตอบคือ หากมองเหรียญทั้งสองด้าน มันมีโอกาสเกิดขึ้นได้แน่นอน อย่าลืมว่านักกีฬาคือมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ใช่ว่าสภาพจิตใจจะต้องแข็งแกร่งกว่าคนอื่นเสมอไป โดยเฉพาะหากมีพื้นฐานชีวิตที่ไม่เหมือนคนอื่นอย่างนาโอมิ ซึ่งบิดาเป็นชาวเฮติ มารดาเป็นชาวญี่ปุ่น เกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กที่เมืองโอซากา ก่อนที่ครอบครัวจะย้ายไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯ และเติบโตมาในสังคมชาวอเมริกัน โดยมี เซรีนา วิลเลียมส์ อดีตนักเทนนิสมือหนึ่งหญิงของโลกเป็นแรงบันดาลใจ
นาโอมิใช้นามสกุลมารดาเพื่อลงแข่งขันในนามทีมชาติญี่ปุ่นมาตั้งแต่เด็กๆ จนทำให้เธอมีแฟนๆ ในบ้านเกิดไม่น้อย แต่ความเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นผิวสีก็ใช่ว่าจะทำให้นาโอมิได้รับการยอมรับในสังคมชาวญี่ปุ่นอย่างสนิทใจ จริงๆ ครอบครัวของทามากิ มารดาของเธอ ไม่พูดกับทามากินานถึง 15 ปีเต็ม หลังจากทราบว่าทามากิแอบคบหากับ เลียวนาร์ด ฟรังซัวส์ มาตั้งแต่สมัยที่ทามากิยังเป็นนักเรียนมัธยม และฟรังซัวส์เรียนมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ แม้ปัจจุบันครอบครัวของทามากิจะยอมรับลูกเขยผิวสีชาวเฮติและหลานๆ คือ นาโอมิกับมาริ พี่สาวแล้วก็ตาม
1
นาโอมิกับพี่สาวเกิดที่โอซากา แต่มารดาของเธอเป็นคนเมืองเนมูโระ ชายฝั่งในจังหวัดฮอกไกโด ซึ่งเป็นครอบครัวหัวเก่าที่จะต้องสืบสายเลือดกับคนญี่ปุ่นด้วยกันเท่านั้น การได้รู้จักกับเลียวนาร์ดที่เดินทางมาเที่ยวเมืองซัปโปโรในจังหวัดฮอกไกโด เปรียบเสมือนการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับทามากิ ทั้งคู่จึงตัดสินใจคบหากันอย่างเงียบๆ แม้ทามากิจะเก็บความลับเรื่องการคบหากับหนุ่มนักศึกษาผิวสีชาวเฮติมาได้นานหลายปี แต่ในที่สุดก็จำเป็นต้องบอกให้บิดาของตนรับรู้ เนื่องจากเธอกำลังจะถูกจับคลุมถุงชนแต่งงานกับหนุ่มชาวญี่ปุ่นด้วยกัน
บิดาของทามากิโกรธมาก พร้อมกับด่าลูกสาวว่าทำให้ชื่อเสียงของตระกูลเสื่อมเสียป่นปี้ ในที่สุดทามากิจึงเลือกที่จะย้ายไปใช้ชีวิตร่วมกับเลียวนาร์ดที่เมืองโอซากา ที่นี่เองนาโอมิกับพี่สาวได้ลืมตาดูโลก ในวัยเด็กทั้งสองคนยังเล็กเกินกว่าจะเข้าใจว่าทำไมตนเองจึงไม่มีคุณตาคุณยายเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ หลังจากนาโอมิอายุ 3 ขวบ ครอบครัวก็ย้ายไปอยู่ที่สหรัฐฯ เลียวนาร์ด บิดาของนาโอมิ เห็นตัวอย่างจากความสำเร็จของ 2 พี่น้องตระกูลวิลเลียมส์ จึงเดินตามรอยริชาร์ด บิดาของวีนัสกับเซรีนา ด้วยการทุ่มชีวิตหวังปลุกปั้นให้มาริกับนาโอมิเป็นนักเทนนิสอาชีพให้จงได้
เลียวนาร์ดกับทามากิทำสำเร็จ แม้มาริ พี่สาวจะตัดสินใจแขวนแร็กเกตในที่สุด แต่นาโอมิพัฒนาการเล่นของตนเอง จนสามารถเอาชนะ เซรีนา วิลเลียมส์ ไอดอลในวัยเด็กของตนเองได้สำเร็จ ในรอบชิงชนะเลิศรายการยูเอส โอเพน ปี 2018 ขณะที่อายุเพียง 20 ปี ชัยชนะและความสำเร็จครั้งนั้น นอกจากจะนำมาซึ่งชื่อเสียงและเงินทองมากมายแล้ว มันยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นาโอมิต้องเผชิญกับความกดดันในฐานะนักกีฬาอาชีพอย่างจริงๆ จังๆ ครั้งแรก และว่ากันว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นาโอมิรู้สึกซึมเศร้า จนกระทั่งตัดสินใจถอนตัวจากการลงแข่งเฟรนช์ โอเพนและวิมเบิลดันในปีนี้เพราะอยากพักเพื่อฟื้นฟูจิตใจ
ครั้งนั้นนาโอมิทำผลงานยอดเยี่ยมมาก สมควรเป็นฝ่ายชนะเซรีนา แต่ชัยชนะของเธอกลับถูกบดบังจากการมีปากเสียงกันระหว่างเซรีนากับ คาร์ลอส รามอส ผู้ตัดสินชาวโปรตุเกส เนื่องจากเซรีนาไม่พอใจที่ถูกผู้ตัดสินเตือนว่า อย่าให้โค้ชส่งซิกแผนการเล่นลงจากอัฒจันทร์ ซึ่งเซรีนายืนยันว่าเธอไม่ได้สนใจดูโค้ชเลย อดีตมือหนึ่งหญิงของโลกจึงเริ่มควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ จากนั้นในจังหวะที่ตีเสีย เซรีนาระบายอารมณ์ด้วยการฟาดแร็กเกตกับพื้นสนาม จึงถูกลงโทษตัดแต้ม ที่เดือดอยู่แล้วเลยทะลักจุดเดือด ไปด่าผู้ตัดสินว่าโจรขโมยแต้ม จึงถูกปรับเสียเกมไป และไม่มีสมาธิอีกเลย
แน่นอนเมื่อเป็นการเล่นในรายการยูเอส โอเพน ซึ่งแฟนๆ ในสนามส่วนใหญ่เอาใจช่วยอยากให้เซรีนาได้แชมป์ การมีปากเสียงระหว่างเซรีนากับผู้ตัดสิน ทำให้คนกลางอย่างนาโอมิไม่รู้จะทำตัวอย่างไร เธอถึงกับร้องไห้เมื่อได้ยินเสียงโห่ของแฟนๆ ในสนาม แม้แฟนๆ ส่วนใหญ่ตั้งใจโห่ใส่ผู้ตัดสิน แต่นาโอมิรู้ดีว่าผู้ชมอยากเห็นเซรีนาเป็นฝ่ายชนะมากกว่า เธอจึงได้แต่ร้องไห้ออกมา เหมือนอยากขอโทษที่ตนเองมีส่วนทำให้ผู้ชมผิดหวัง แต่ยังดีที่เซรีนามีน้ำใจเป็นนักกีฬา เข้ามาปลอบใจและขอให้แฟนๆ ปรบมือให้เกียรตินาโอมิ ครั้งนั้นนาโอมิยอมรับว่าทั้งดีใจและเศร้าใจมาก แต่ในฐานะแฟนของเซรีนาคนหนึ่งจึงเข้าใจความรู้สึกของผู้ชมดี
จากการปลูกฝังของทามากิ ผู้เป็นมารดา นาโอมิกับพี่สาวจึงเติบโตมาในกรอบวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น แม้จะอยู่ในสังคมอเมริกัน นาโอมิจึงเป็นคนพูดน้อยค่อนข้างเก็บตัว แตกต่างจากเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน ประกอบกับเลียวนาร์ด บิดาของเธอ เลี้ยงนาโอมิกับพี่สาวตามรอยของสองพี่น้องตระกูลวิลเลียมส์ สองพี่น้องตระกูลโอซากะจึงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับการฝึกซ้อมเทนนิสมากกว่าการไปโรงเรียน ไม่ค่อยมีเพื่อนสนิท นอกจากคนในครอบครัว และแน่นอนเพื่อเดินตามความฝันของตนเองและบิดา นาโอมิแทบไม่รู้จักความสนุกสนานของชีวิตวัยรุ่นเลย
การคว้าแชมป์ยูเอส โอเพน ปี 2018 ตามด้วยการคว้าแชมป์ออสเตรเลียน โอเพน ปี 2019 ทำให้นาโอมิกลายเป็นนักเทนนิสหญิงคนแรกในรอบ 18 ปีถัดจาก เจนนิเฟอร์ คาปริอาตี ที่ได้แชมป์แกรนด์สแลมรายการแรกในอาชีพแล้ว ยังคว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการถัดไปได้สำเร็จ ส่งผลให้นาโอมิก้าวขึ้นมาเป็นมือหนึ่งของโลกในวัยเพียง 21 ปี กลายเป็นนักเทนนิสหญิงซูเปอร์สตาร์คนใหม่ในทันที แต่อาการบาดเจ็บและความกดดันในฐานะมือหนึ่งของโลก ทำให้ผลงานของนาโอมิในช่วงที่เหลือของปีแผ่วลงไปไม่น้อย
ปี 2020 เป็นปีที่สถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ลุกลามไปทั่วโลก ก่อนที่ทางดับเดิลยูทีเอทัวร์จะสั่งพักการแข่งขันในฤดูกาลนี้ นาโอมิลงแข่ง 4 รายการ และสามารถคว้าแชมป์ยูเอส โอเพน มาครองได้อีกเป็นครั้งที่ 2 แม้จะไม่ใช่คนที่พูดเก่งหรือชอบแสดงออก แตกต่างจาก เซรีนา วิลเลียมส์ ไอดอลของตัวเองมาก แต่นาโอมิก็ร่วมแสดงถึงการคัดค้านการใช้ความรุนแรงเกินขอบเขตของตำรวจผิวขาวที่มีต่อชาวอเมริกันผิวสี ด้วยการประกาศถอนตัวจากรอบรองชนะเลิศรายการซินซินเนติ โอเพน รวมทั้งสวมหน้ากากสีดำมีชื่อของชาวอเมริกันผิวสีที่เสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจลงแข่งขันทุกนัดจนถึงรอบชิงชนะเลิศของยูเอส โอเพน
ปี 2021 นาโอมิทำสถิติเป็นนักเทนนิสคนที่ 3 ในยุคสมัยใหม่ ถัดจาก โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ และ โมนิกา เซเลส ที่คว้าแชมป์รายการแกรนด์สแลมได้ทุกครั้ง ในการเข้าชิงชนะเลิศรายการแกรนด์สแลม 4 ครั้งแรกในอาชีพ ทำท่าว่าปีนี้จะเป็นปีทองของเธออีกครั้ง แต่แล้วในการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลมคอร์ตดิน รายการเฟรนช์ โอเพนก็เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากหลังแข่งรอบแรกเสร็จสิ้น นาโอมิไม่ยอมให้สัมภาษณ์หลังเกมตามกฎของดับเบิลยูทีเอทัวร์ ผลคือเธอถูกปรับเงิน 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และถูกคาดโทษว่าจะถูกลงโทษหนักกว่านี้
ในวันถัดมานาโอมิจึงขอถอนตัวจากการแข่งขัน และไม่ลงแข่งรายการใดๆ อีกเลย รวมทั้งวิมเบิลดัน ก่อนหน้ากีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว นาโอมิให้สัมภาษณ์ว่าเธอมีปัญหาเรื่องสภาพจิตใจ และรู้สึกว่าไม่อยากตอบคำถามใดๆ ของสื่อมวลชนที่ส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของเธอ โดยเฉพาะในรายการเฟรนช์ โอเพนที่เธอทำได้ดีที่สุดเพียงเข้ารอบสอง และมักถูกต้อนด้วยคำถามแซะในทำนองไม่เก่งคอร์ตดิน การตัดสินใจไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนครั้งนี้ ทำให้นาโอมิถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ตัวเธอยืนยันว่ามันเลวร้ายอะไรนักหรือ เพียงแค่เธอรู้สึกไม่สบายใจที่จะตอบคำถามสื่อมวลชน
ความจริงก็น่าเห็นใจนาโอมิไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาเธอต้องตอบคำถามที่ทำให้ลำบากใจหลายเรื่อง เช่นเรื่องที่การ์ตูนนิสต์หนังสือพิมพ์ออสเตรเลีย และภาพยนตร์การ์ตูนโฆษณาบะหมี่ชื่อดังของญี่ปุ่น วาดภาพเธอในลักษณะหญิงตะวันตกผิวขาวซึ่งเป็นการเหยียดเชื้อชาติ รวมถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องเพื่อนชายคนสนิทที่เป็นแร็ปเปอร์ชื่อดัง หรือการถูกผู้คนในโลกโซเชียลคุกคามเรื่องที่เธอโพสต์ภาพขณะสวมชุดว่ายน้ำ ล่าสุดช่วงก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก นาโอมิก็ลำบากใจที่จะต้องแสดงความเห็นว่า โอลิมปิก 2020 ควรถูกยกเลิกตามเสียงเรียกร้องของชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่หรือไม่ เพราะในฐานะนักกีฬาคนหนึ่ง นาโอมิอยากลงแข่งขันโอลิมปิกในบ้านเกิดมาก
นาโอมิยอมรับว่า การได้รับเกียรติให้จุดกระถางคบเพลิงในพิธีเปิดโอลิมปิกเป็นเกียรติยศอันสูงสุดในชีวิตของเธอ แชมป์แกรนด์สแลมรายการใดก็เทียบไม่ได้ เธอรู้ดีว่าในฐานะลูกครึ่งผิวสี การได้รับเกียรติเป็นตัวแทนนักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่น มันมีความหมายทั้งกับตัวเธอและประเทศญี่ปุ่นยุคใหม่มากเพียงไร น่าเสียดายที่เธอทำได้เพียงตกรอบ 3 พลาดโอกาสคว้าเหรียญทองให้คุณตาคุณยายชาวญี่ปุ่นได้ภาคภูมิใจ นาโอมิยอมรับว่าเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าผิดหวังที่สุด และไม่ใช่เพราะการพักแข่งขันมานานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะความกดดันต่างๆ ในการลงแข่งโอลิมปิกครั้งแรก ซึ่งเธอรับมือกับมันได้ไม่ดีพอ
สิ่งที่เกิดขึ้นกับนาโอมิทำให้เห็นว่า นักกีฬาก็มีชีวิตเลือดเนื้อจิตใจเหมือนคนทั่วไป ไม่ใช่หุ่นยนต์ การที่เธอกล้าพูดตรงๆ ว่ามีปัญหาเรื่องสภาพจิตใจ ทำให้ผู้มีอำนาจในแวดวงกีฬาโลกหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสภาพจิตใจหรือโรคซึมเศร้าในหมู่นักกีฬามากขึ้น แม้แต่ ไมเคิล เฟลป์ส อดีตนักว่ายน้ำซูเปอร์สตาร์ยังชื่นชมนาโอมิว่า การที่เธอกล้าพูดออกมาตรงๆ ไม่เพียงแต่ทำให้โลกตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสภาพจิตใจของนักกีฬาเท่านั้น ยังอาจช่วยชีวิตใครหลายคนที่กำลังเป็นโรคซึมเศร้าอีกด้วย ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่เฟลป์สพูด เกิดขึ้นกับนักกีฬาหญิงระดับซูเปอร์สตาร์อีกคนหนึ่งในโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวครั้งนี้!
เธอคือ ซิโมน ไบลส์ นักยิมนาสติกสาวทีมชาติสหรัฐฯ ที่มีตำแหน่งแชมป์โลกการันตีมากที่สุดในยุคนี้ สาวร่างเล็กวัย 24 ปี ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นนักยิมนาสติกที่เก่งที่สุดคนหนึ่งที่สหรัฐฯ เคยมีมา และได้รับการคาดหมายว่าอย่างน้อยน่าจะทำได้ 3 เหรียญทองในโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว แต่เธอตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันประเภททีมกลางคัน ตามด้วยถอนตัวจากบุคคลรวมอุปกรณ์หญิง รวมถึงบุคคลแยกอุปกรณ์ โต๊ะกระโดด, ฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ และบาร์ต่างระดับ โดยให้เหตุผลว่าสภาพจิตใจของเธอมีปัญหา ไม่พร้อมลงแข่งขัน ซึ่งทำให้ไบลส์ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าตัดโอกาสเพื่อนนักกีฬาคนอื่น
ไบลส์ยอมรับว่าการประกาศถอนตัวจากการแข่งขันเกือบทุกรายการ เป็นเพราะสภาพร่างกายและจิตใจของตัวเองไม่พร้อม ไม่มีความสัมพันธ์กัน และมันไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกที่เธอไม่สามารถควบคุมร่างกายตัวเองได้ว่าหลังจากตีลังกาแล้วจะลงพื้นด้วยอวัยวะใด ซึ่งยิมนาสติกเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความสัมพันธ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ถ้าหากเกิดความว่อกแว่ก ลังเลหรือเสียสมาธิ อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาด และเป็นอันตรายต่อตัวนักกีฬาได้ เธอจึงเลือกที่จะเซฟสภาพร่างกายและจิตใจของตนเองก่อน โดยยอมรับว่าการถอนตัวครั้งนี้ได้รับอิทธิพลจากการที่นาโอมิถอนตัวจากการแข่งขันรายการเฟรนช์ โอเพน
ไบลส์โชคดีกว่านาโอมิ ที่ทัพนักกีฬาสหรัฐฯ มีจิตแพทย์คอยให้คำปรึกษาและแนะนำ แม้จะเศร้าจากการสูญเสียญาติผู้ใหญ่ แต่ไบลส์ตัดสินใจกลับมาลงแข่งอุปกรณ์คานทรงตัว ซึ่งแม้ไม่ใช่อุปกรณ์ที่ถนัด แต่เธอก็สู้เต็มที่จนคว้าเหรียญทองแดงมาครอง ซึ่งอาจเป็นเหรียญที่ทำให้เธอได้รับการยกย่องมากกว่าการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2016 ที่รีโอเดจาเนโร และเหรียญทองรายการชิงแชมป์โลกอีกนับสิบเหรียญที่เคยได้มา แต่ที่แน่ๆ การที่ไบลส์ถอนตัวจากการแข่งขัน ช่วยตอกย้ำว่าสิ่งที่นาโอมิพูดไว้ไม่ใช่ข้ออ้างเลื่อนลอย แต่เป็นเรื่องที่ผู้คนในยุคนี้ควรหันมาให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของนักกีฬาอย่างจริงจังเสียที
นาโอมิยอมรับว่าเมื่อครั้งที่ถอนตัวจากเฟรนช์ โอเพน ไม่คิดเหมือนกันว่าการประกาศไม่ให้สัมภาษณ์หลังแข่งจะกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต เพราะที่ผ่านมาเธอให้ความร่วมมือกับดับเบิลยูทีเอทัวร์ และฝ่ายจัดการแข่งขันทุกรายการมาตลอด แต่ทำไมเวลาที่เธอรู้สึกไม่สบายใจที่จะตอบคำถาม จึงต้องถูกลงโทษและคาดโทษอย่างรุนแรง ขนาดพนักงานประจำตามบริษัทต่างๆ ยังได้รับอนุญาตให้ลาหยุด ลาพักร้อน หรือลาป่วยได้เลย เธอแค่ไม่อยากให้สัมภาษณ์ครั้งแรกเอง กลับถูกวิจารณ์ราวกับทำสิ่งที่เลวร้ายมาก นาโอมิยืนยันว่าไม่เคยมีโค้ชฝึกสอนการพูด ทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์หลังแข่ง รู้สึกอย่างไรก็ตอบไปแบบนั้น ไม่มีการประดิษฐ์ถ้อยคำ จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจว่า บางครั้งมันก็เป็นเรื่องปกติ ถ้าคนเราจะรู้สึกไม่ดีและไม่อยากทำอะไร
นาโอมิยืนยันว่าได้รับกำลังใจจากผู้คนมากมาย ที่ประสบปัญหาเรื่องสภาพจิตใจเหมือนกัน และอยากบอกว่านักกีฬาก็คือคนธรรมดา ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร หากจะมีช่วงเวลาที่ไม่ดีบ้าง เหมือนอย่างที่เธออยากบอกกับทุกคนว่า “It’s O.K. To not be O.K” และหากการกระทำของเธอเป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคนยอมรับว่า ปัญหาเรื่องสภาพจิตใจเกิดขึ้นได้กับทุกคน และทุกปัญหามีทางออก มันย่อมดีกว่าการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเองแน่นอน แค่นั้นก็น่าพอใจที่สุดแล้วสำหรับตัวเธอ
#นาโอมิโอซากะ #ซิโมนไบลส์ #olympics2020 #โอลิมปิก #เทนนิส #โรคซึมเศร้า
3 บันทึก
12
1
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
โอลิมปิกสัมพันธ์
3
12
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย