6 ส.ค. 2021 เวลา 09:36 • ข่าว
ศาลสั่งระงับข้อกำหนดที่ห้ามเผยแพร่ข้อความที่ทำให้หวาดกลัว-ตัดเน็ตชั่วคราว
ศาลสั่งระงับข้อกำหนดที่ห้ามเผยแพร่ข้อความที่ทำให้หวาดกลัว-ตัดเน็ตชั่วคราว
6 ส.ค. 2564 ศาลแพ่งสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความที่อาจทำให้หวาดกลัว-ให้อำนาจ กสทช. ระงับบริการอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจก่อความเสียหายที่ยากจะเยียวยาแก้ไข
13.40 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 310 คณะผู้พิพากษาศาลแพ่งออกนั่งพิจารณาคดี อ่านคำสั่ง ที่สื่อและประชาชนรวม 12 คน เป็นโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 29) พร้อมขอให้ศาลสั่งระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดแบับนี้ไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษา
คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวใจความว่า ข้อกำหนดฯ ข้อ 1 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ไม่ได้จำกัดเฉพาะข้อความที่เป็นเท็จตามเหตุผลและความจำเป็นที่ระบุไว้ในการออกข้อกำหนด ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง และมีลักษณะไม่แน่ชัด มีขอบเขตกว้างเกินกว่าที่วิญญูชนจะเข้าใจได้ ทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสาร ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 34 และ 35 คุ้มครองรวมถึงไม่ปรากฏหลักเกณฑ์หรือแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อไม่ให้เกิดความเดือนร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ
ส่วนข้อกำหนดฯ ข้อ 2 ที่ให้อำนาจ กสทช. ระงับบริการอินเทอร์เน็ต ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 9 ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงถือเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทวีความรุนแรง รัฐมีการปิดกั้นพื้นที่ จำกัดการเดินทางและการพบปะของบุคคล อินเทอร์เน็ตจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการติดต่อสื่อสารและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
การระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ได้จำกัดเฉพาะการกระทำที่เป็นเหตุที่ทำให้ถูกระงับ แต่เป็นการปิดกั้นการติดต่อสื่อสารในอนาคต รวมถึงอาจทำให้สุจริตที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อความ แต่เป็นเพียงผู้ใช้ IP address เดียวกัน ถูกปิดกั้นการสื่อไปด้วย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 36
การให้ข้อกำหนดใช้บังคับต่ออาจทำให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไข จึงให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดฯ ทั้ง 2 ข้อ โดยการระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดนี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เพราะมีมาตรการทางกฎหมายหลายอย่าง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ให้อำนาจระงับข้อความที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ รัฐยังสามารถใช้สื่อภายใต้การกำกับของรัฐเป็นเครื่องมือสร้างความรู้เท่าทัน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเป็นช่องทางตรวจสอบข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน
ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งห้ามบังคับใช้ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น โดยให้มีผลใช้บังคับทันที
โฆษณา