6 ส.ค. 2021 เวลา 12:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Forrest Gump : ความสำเร็จตามคตินิยมของอเมริกันชนหลังสงครามโลก ผ่านสายตาของ Forrest Gump
Forrest Gump อัจฉริยะปัญญานิ่ม (1994)
“ชีวิตเปรียบเหมือนกล่องช็อกโกแลต เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะหยิบได้รสอะไร”
ประโยคจาก Forrest Gump หนังเก่าขึ้นหิ้งของใครหลายๆ คน ที่ได้รับรางวัลออสการ์ 6 สาขาในปี 1994 และรางวัลลูกโลกทองคำในปีถัดมา นอกจากการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์อเมริกาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยโทนภาพสีสวยและบทภาพยนตร์ที่ดีเยี่ยมแล้ว หนังเรื่องนี้ยังทำให้เราเห็นประเด็นใหม่ๆ ในทุกครั้งที่หยิบยกมาดู
1
“Life is a box of chocolates you never know what you're gonna get.”
เส้นเรื่องหลักของหนังเรื่องนี้ ถูกเล่าผ่านสายตาของ ฟอเรสท์ กัมพ์ (แสดงโดย ทอม แฮงส์) ชายหนุ่มผู้มีสติปัญญาต่ำกว่าคนทั่วไป (IQ 75) แต่โชคชะตาได้นำพาเขาไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญๆ ของสหรัฐอเมริกาหลายต่อหลายครั้ง และด้วยมุมมองแบบเรียบง่าย ไม่เคยตั้งคำถาม ทำให้เขาทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ตามแต่โชคชะตาจะพัดพาไปจนประสบความสำเร็จตามค่านิยมของชาวอเมริกันยุคนั้นในที่สุด
สำหรับคนที่เคยดูหนังเรื่องนี้ ก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้หลงเสน่ห์ไปกับความซื่อๆ ตรงๆ ใสๆ แบบน่ารัก ของฟอเรสท์ กัมพ์ รวมทั้ง คำคมของแม่ของเขา ที่หลากหลาย โดนใจ ที่บางคำพูดช่วยให้มองเห็นความจริง ในมุมที่เราไม่คิดมาก่อน ทำให้ทุกคนอดไม่ได้ที่จะกลับไปดูอีกครั้ง เมื่อมีโอกาส
วันนี้ Bnomics จึงอยากหยิบยกหนังในดวงใจของใครหลายคนเรื่องนี้ เพื่อวิเคราะห์ถึงค่านิยมของชาวอเมริกันในยุคหลังสงครามโลก ที่แฝงอยู่ในหนังเรื่องนี้
📌 สหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งโอกาสและเสรีภาพ
ต้องบอกก่อนว่าฟอเรสท์ กัมพ์ นั้นเกิดในช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง หรือเรียกว่าเด็กยุคเบบี้บูม เขาจึงเติบโตมาในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูพอดี
ในช่วงปี 1950 มูลค่า GNP ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเพียง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯในทศวรรษก่อนหน้า และยิ่งสูงขึ้นไปอีกในปี 1960 ด้วยมูลค่ากว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนหนึ่งก็มาจากความต้องการซื้อสินค้าและบริการที่อั้นไว้ในช่วงที่เกิดสงคราม และการที่อุตสาหกรรมต่างๆ จากสามารถกลับมาผลิตได้เต็มกำลัง และยังมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ อาทิ อุตสาหกรรมการบิน และอิเล็กทรอนิกส์ ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดอีกด้วย ขณะเดียวกันเด็กในยุคเบบี้บูมที่เติบโตขึ้นมาทำให้จำนวนผู้บริโภคในประเทศมากขึ้น และมีชาวอเมริกันมากมายที่ขยับขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางของสังคมได้เข้ามาเป็นกำลังการบริโภคที่สำคัญ
GDP ของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1947 - 1971
หลังจากทศวรรษ 1960 มูลค่า GDP ของสหรัฐฯ ก็เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก งานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์จาก University of Chicago และ Stanford University ได้เผยให้เห็นว่า 20% ของการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากนั้น เป็นผลมาจากการลดการกีดกันด้านการศึกษา ลดการกีดกันผู้หญิง และคนผิวดำในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาชีพที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “อาชีพที่ใช้ทักษะสูง” ทำให้ผู้คนมีโอกาสประกอบอาชีพที่ตรงตามความสามารถของตนเอง และเลือกอาชีพได้อย่างเสรี ซึ่งเราจะเห็นได้จากฉากหนึ่งในหนังที่มีการให้คนผิวดำเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ (แม้จะมีคนผิวขาวบางกลุ่มที่ต่อต้านก็ตาม)
📌 วิถีทางแบบอเมริกันชน...สู่อเมริกันดรีม
ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน คุณภาพชีวิตของแต่ละคนถูกตัดสินจากความสามารถ ทุกคนจึงดิ้นรนเพื่อหนทางประสบความสำเร็จตามแบบของตนเอง
คตินิยมของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ในยุคนั้น จึงให้ค่าไปกับ
(1) ปัจเจกชนนิยม มีความเป็นตัวของตัวเองเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานของเสรีนิยมหรือทุนนิยม
(2) ความเท่าเทียม
(3) เชื่อว่าความอุตสาหะจะนำมาซึ่งความสำเร็จและความเปลี่ยนแปลงในชีวิต
แม้ว่าฟอเรสท์ กัมพ์ จะเกิดมามีสติปัญญาด้อยกว่าคนทั่วไป และร่างกายผิดปกติ แต่แม่ของเขาก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้เข้าเรียนในระบบการศึกษาปกติเหมือนคนอื่นๆ เธอบอกลูกเสมอว่า “จำไว้ ลูกไม่มีอะไรด้อยกว่าใคร” ( “Don’t ever let anybody tell you that they’re better than you.” )
“Don’t ever let anybody tell you that they’re better than you.”
คนอเมริกันเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต และรัฐต้องทำให้มั่นใจว่าทุกคนจะมีโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเชื้อชาติใด จะไม่มีใครถูกพรากโอกาสไปเพียงเพราะมีสถานะทางสังคมต่ำ ไม่มีอำนาจ และจะไม่มีใครถูกกีดกันเพียงเพราะสีผิว หรือสำเนียง
หากทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมแล้ว คนอเมริกันเชื่อว่าการทำงานหนักจะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต มีครอบครัว มีบ้าน มีรถ มีหน้าที่การงานที่ดี หรือเป็นค่านิยมที่เรียกว่า “อเมริกันดรีม (American Dream)” ทุกคนสามารถเป็น สตีฟ จอบส์ เป็น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กได้
ถ้าดูจากที่กล่าวมาข้างต้น ฟอเรสท์ กัมพ์ จึงน่าจะเป็นภาพแทนของคตินิยมอเมริกันขนานแท้ เขาเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัย เป็นทหารรับใช้ชาติในสงครามเวียดนาม และเป็นนักธุรกิจที่ทำงานหนักจนประสบความสำเร็จในแบบที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ใฝ่ฝันถึง
เมื่อดูหนังเรื่องนี้จบลง เรื่องราวของฟอเรสท์ กัมพ์ คงเป็นกำลังใจให้หลายๆ คน ลุกขึ้นมาไขว่คว้าทุกโอกาสที่เข้ามา และทำให้ดีที่สุด เขาเป็นตัวอย่างของผู้ตามที่ไม่เคยตั้งข้อสงสัย ปฎิบัติตัวดีต่อผู้อื่น มองโลกในแง่ดีโดยที่ไม่สนใจบริบทสถานการณ์รอบข้าง เขามองเพียงแต่เป้าหมายของตนเหมือนอย่างที่เขาวิ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น (Run, Forrest, Run!) โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคน
1
Credit: Paramount Picture
อย่างไรก็ดี อย่าลืมว่าบริบทในหนังเรื่องนี้คือ 60 - 70 ปีก่อน หากคนอย่างฟอเรสท์ กัมพ์ มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เขาอาจจะกลายเป็นเพียงคนซื่อๆ ที่ไม่เคยตั้งคำถามใดๆ เลย และถูกค่านิยมของคนหมู่มากชักจูงไปก็เป็นได้
ย้อนมาปัจจุบัน ในสถานการณ์โควิดที่ทำให้ทุกคนรู้สึกสิ้นหวัง มีชีวิตอยู่ไปวันๆ และมองไม่เห็นเป้าหมายในอนาคตของตนเอง หลงลืมไปแล้วว่าครั้งหนึ่งเคยฝันอยากทำอะไร บางคนก็สูญเสียคนที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับ ฟอเรสท์ กัมพ์ จะทำให้คุณเอาความฝันเหล่านั้นกลับมาใหม่ ลุกขึ้นมาต่อสู้กับโชคชะตาอีกครั้งหนึ่ง
3
หากสังเกตดีๆ หนังเรื่องนี้ใช้ขนนกเป็นสัญลักษณ์ของฟอเรสท์ กัมพ์ นั่นหมายถึงว่าบางครั้งเราอาจทำตัวเป็นขนนกที่ล่องลอยไปตามแต่กระแสลมจะพัดพาไปอย่างไม่มีจุดหมายที่แน่ชัดบ้างก็ได้
การใช้ชีวิตเช่นนั้นจะพาเราเจอประสบการณ์มากมาย และในที่สุด เราจะไปถึงจุดหมายในแบบของเราได้เหมือนกัน
เหมือนอย่างฟอเรสท์ กัมพ์ ที่ไม่รู้ว่าโชคชะตาของตัวเองคืออะไร ได้แต่ทำตามโอกาสที่คนอื่นหยิบยื่นให้ ผ่านประสบการณ์บาดเจ็บ และสูญเสียเพื่อนสนิทในสงคราม แต่เขาไม่เคยปล่อยตัวเองให้จมกับความทุกข์ ความสิ้นหวังเลยสักครั้ง ในทางตรงกันข้าม เขากลับทำทุกอย่างเต็มที่ ไม่ว่าโชคชะตาจะนำพาไปเจอกับอะไร ทั้งยังสานต่อความฝันของเพื่อนที่จากไปจนประสบความสำเร็จในทำธุรกิจ
1
Bnomics จึงอยากจะยกประโยคที่ฟอเรสท์ กัมพ์ ได้กล่าวไว้มาปิดท้ายบทความนี้
“ผมไม่รู้ว่าแม่พูดถูก หรือ ผู้หมวดแดนพูดถูก ไม่รู้ว่าคนเรามีชีวิตที่ลิขิตไว้แล้วไหม หรือว่าแค่ล่องลอยไปตามลม แต่ผมว่า น่าจะถูกทั้งคู่ เป็นได้ทั้งสองอย่างพร้อม ๆ กัน”
4
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา