6 ส.ค. 2021 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
“ร็อกไอซ์” น้ำแข็งถุงพันธุ์อึด รายได้ร้อยล้าน
น้ำแข็งยูนิต น่าจะเป็นหนึ่งในสินค้าไม่กี่อย่าง ที่เราสามารถตัดสินใจซื้อได้ โดยไม่แคร์ว่าจะเลือกยี่ห้อไหนดี
ขอแค่ดูแล้วสะอาด ราคาพอใจ ก็พร้อมคว้าจากตู้เย็น แล้วเดินไปจ่ายเงิน
2
โดยราคาเฉลี่ยของน้ำแข็งยูนิตส่วนใหญ่ ที่ขายตามท้องตลาด จะไม่เกิน 10 บาท
ยกเว้นน้ำแข็งยูนิต ที่มีชื่อว่า “ร็อกไอซ์” เพราะแบรนด์นี้ กล้าตั้งราคาขาย ถุงละ 18 บาท
ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงกว่าราคาเฉลี่ยในท้องตลาดเกือบเท่าตัว
แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ถึงราคาจะสูง แต่ก็มีลูกค้าจำนวนไม่น้อยยอมจ่าย
​พิสูจน์ได้จากรายได้ของบริษัท
1
ผลประกอบการบริษัท โคคุโบะ ร็อกไอซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
ปี 2561 รายได้ 120 ล้านบาท กำไร 1.5 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 128 ล้านบาท กำไร 10 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 127 ล้านบาท กำไร 8 ล้านบาท
1
แล้วเส้นทางของน้ำแข็งถุง รายได้ร้อยล้านเป็นอย่างไร ?
ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่า บนถุงของน้ำแข็งร็อกไอซ์ จะมีตัวอักษรสีน้ำเงินเขียนว่า “Kokubo” และตัวอักษรญี่ปุ่นสีแดงเรียงแถวลงมา
นั่นก็พอจะบอกใบ้ได้ว่า ต้นกำเนิดของร็อกไอซ์นั้น มาจากญี่ปุ่น
2
ร็อกไอซ์ ก่อตั้งโดยคุณ Yoshi Kokubo เมื่อปี พ.ศ. 2516 ​
ต่อมาเพื่อหวังเจาะตลาดคนไทย ร็อกไอซ์จึงนำเข้าน้ำแข็งจากญี่ปุ่น มาขายในไทย​
โดยให้บริษัทตัวแทนในไทย เช่าทั้งห้องเย็น และรถสำหรับใช้ในการจัดส่ง
12
แม้วิธีนี้จะทำให้ต้นทุนน้ำแข็งสูงขึ้น จากเดิมที่ขายในญี่ปุ่น ก็ราคาสูงถึง 85 บาทต่อกิโลกรัมอยู่แล้ว
พอมาเจอต้นทุนค่าขนส่งเข้าไปอีก ก็เป็นไปได้ว่า ถ้าจะให้คุ้มทุน ก็อาจจะต้องขายน้ำแข็งในราคาหลักร้อย
2
แต่เพราะรู้ดีว่า ถ้าทำเช่นนั้น เส้นทางของการแจ้งเกิดของแบรนด์ในตลาดไทย คงยิ่งริบหรี่..
เพราะย้อนกลับไป 40 กว่าปีที่แล้ว คงมีคนไทยน้อยคน ที่จะยอมจ่ายเงินหลักร้อย เพื่อซื้อน้ำแข็ง 1 กิโลกรัม หรือ 1 ถุงยูนิต
2
ดังนั้น จึงไม่แปลกเลย ที่ในตอนนั้น ร็อกไอซ์ ญี่ปุ่น ตัดสินใจยอมเฉือนเนื้อตัวเอง ด้วยการลดราคาแบบกระหน่ำ ซัมเมอร์เซล ตีตลาดด้วยการขายน้ำแข็งในราคากิโลกรัมละ 45 บาทเท่านั้น
 
โดยช่องทางการจัดจำหน่ายหลัก ๆ ในตอนนั้น ก็ยังไม่ได้กว้างขวาง มีแค่ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารญี่ปุ่นในบางแห่ง
2
แต่ดูเหมือนว่า ราคา 45 บาท ก็ยังไม่สบายกระเป๋าพอสำหรับคนไทย หลังจากเปิดตลาดในเมืองไทยได้ 2 ปี
ร็อกไอซ์ ก็จำต้องหั่นราคาน้ำแข็งอีกครั้ง ให้เหลือกิโลกรัมละ 22 บาท
 
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีตัวเลขยืนยันว่า ตอนนั้นร็อกไอซ์เจ็บหนักแค่ไหน จากกลยุทธ์ “ลดราคา” เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาด
แต่อย่างน้อย ผลลัพธ์ที่ได้กลับมา คือ ทำให้ร็อกไอซ์ ได้ศึกษาตลาดในไทย จนมั่นใจ
2
จนในที่สุด ในปี พ.ศ. 2548 ก็ตัดสินใจเปิดโรงงานน้ำแข็งร็อกไอซ์ ในประเทศไทย ขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อผลิตน้ำแข็งยูนิต ภายใต้แบรนด์ “ร็อกไอซ์” โดยเฉพาะ
เพื่อวางขายตามร้านสะดวกซื้อ โดยคราวนี้ ตั้งราคาไว้ที่ถุงละ 12 บาท
1
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงเกิดคำถามในใจว่า
น้ำแข็งของร็อกไอซ์ ดีกว่ายี่ห้ออื่นอย่างไร หรือแค่เป็นแบรนด์ญี่ปุ่น เลยต้องจ่ายแพงกว่า
1
นอกจากเรื่องคุณภาพของน้ำแข็ง ที่สัมผัสได้ด้วยตา คือ ก้อนน้ำแข็งเป็นสี่เหลี่ยม สะอาด ใส เพราะกรรมวิธีการผลิตที่พิถีพิถัน
บางคนคงพอได้ยินกิตติศัพท์ของ “ร็อกไอซ์” มาบ้าง ว่าเป็นน้ำแข็งถุงสายพันธุ์อึด
เพราะต่อให้ต้องสู้กับอากาศร้อน ที่สาหัสของบ้านเราขนาดไหน
แต่เมื่อเทียบกับน้ำแข็งถุงยี่ห้ออื่น “ร็อกไอซ์” กลับละลายช้ากว่า
3
ซึ่งความลับที่ซ่อนอยู่ภายในก้อนน้ำแข็งร็อกไอซ์ มาจาก​กระบวนการผลิต ที่มีการควบคุมอุณหภูมิให้ต่ำกว่าการผลิตน้ำแข็งทั่วไปถึง 3 เท่า
และใช้หลักการที่เรียกว่า Slow Freeze หรือการแช่ให้แข็งตัวช้า ทำให้น้ำแข็งยูนิต มีความหนาแน่น และละลายช้า
6
นอกจากนี้ ยังบรรจุอยู่ในถุงลามิเนต 2 ชั้น ​ซึ่งออกแบบให้เป็น Food Grade เพื่อความปลอดภัย รวมถึงสามารถป้องกันการรั่วซึม และการเข้าของอากาศภายนอกได้เป็นอย่างดี
ทำให้แม้จะหยิบออกจากตู้เย็น ก็แทบจะไม่มีน้ำหยดซึมออกจากถุง หรือต่อให้ผ่านไป 30 นาที ก็มีเพียงหยดน้ำเล็กน้อยเท่านั้น
4
ด้วยจุดแข็งทั้งหมดนี้เอง ทำให้ร็อกไอซ์ ยืนหนึ่งในอาณาจักรน้ำแข็งมาช้านานไม่พอ
ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่า บนถุงน้ำแข็ง มีเครื่องหมายเชลล์ชวนชิมอยู่ด้วย
4
ซึ่งปกติเราจะเห็นสัญลักษณ์นี้ ตามร้านอาหาร แต่เหตุผลที่มาอยู่บนถุงน้ำแข็งได้
เพราะ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เจ้าของตำนานเชลล์ชวนชิม เคยบอกไว้ว่า มีโอกาสไปชิมอาหารมาแล้วทั่วโลก แต่น้ำแข็งที่สะอาดแบบนี้ เคยไปเจอมาที่ญี่ปุ่น ซึ่งก็คือน้ำแข็งร็อกไอซ์ นั่นเอง
2
เรื่องราวของน้ำแข็งร็อกไอซ์ ถือเป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่า
แม้น้ำแข็ง จะเป็นสินค้าธรรมดา ที่ดูแล้วไม่น่าจะมีจุดแข็งอะไร มาสร้างความแตกต่างได้
1
แต่ถ้าพยายามมองหา Pain Point ของคนซื้อให้เจอ แล้วพยายามมองหานวัตกรรม มาเพื่อแก้ปัญหา
สินค้าธรรมดา ๆ ก็อาจจะกลายเป็นดาวเด่นได้
 
เช่นเดียวกับ ร็อกไอซ์ กล้าเล่นกับ Pain Point ของคนซื้อ ที่มักเจอปัญหาว่า พอหยิบน้ำแข็งออกจากตู้เย็น กว่าจะจ่ายเงิน เดินกลับถึงบ้าน น้ำแข็งก็ละลายไปไม่น้อย
6
ด้วยการหาวิธีผลิตและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อยื้อเวลาให้ละลายช้าที่สุด
เพียงแค่นี้ ก็ทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์ไม่มีวันละลาย
และกลายเป็นน้ำแข็ง ที่ต่อให้หลายคนไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงแพงกว่ายี่ห้ออื่น
1
แต่พอรู้แล้ว ก็ไม่ใช่แค่เข้าใจ แต่บางคนยังเลือกที่จะยอมจ่ายเพื่อท้าพิสูจน์
และดื่มด่ำกับคุณภาพของน้ำแข็งยูนิต ที่ไม่มีใครเหมือน​​​..
1
อ้างอิง :
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
โฆษณา