9 ส.ค. 2021 เวลา 03:30 • ศิลปะ & ออกแบบ
รู้จัก “คัดสรร ดีมาก” บริษัทออกแบบ “ฟอนต์” ที่หลายคนคุ้นเคย
1
ฟอนต์อนาคตใหม่
ฟอนต์จุฬาภรณ์ลิขิต
ฟอนต์สุขุมวิท
ตระกูล Google Fonts
รวมไปถึงฟอนต์ Mitr ที่เพจลงทุนเกิร์ลเรานิยมใช้ในรูปอยู่เป็นประจำ
ทั้งหมดนี้ ก็คือ ส่วนหนึ่งของผลงานการออกแบบและพัฒนาฟอนต์ จากเครือ “คัดสรร ดีมาก” หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตฟอนต์ ชั้นนำของไทย
เรื่องราวของธุรกิจผู้ผลิตฟอนต์น่าสนใจอย่างไร ?
กว่าจะมาเป็นฟอนต์ที่เราเห็นกันอย่างทุกวันนี้ ต้องผ่านกระบวนการคิดอย่างไรบ้าง ?
แล้วบริษัททำรายได้จากช่องทางไหน ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
คัดสรร ดีมาก ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2002 หรือเมื่อ 19 ปีที่แล้ว
โดยคุณพงศ์ธร หิรัญพฤกษ์ และคุณอนุทิน วงศ์สรรคกร
ซึ่งปัจจุบัน คัดสรร ดีมาก ได้เติบโตและขยายบริษัทย่อยในเครือออกมาทั้งหมด 4 แห่ง ซึ่งได้แก่
“คัดสรร อักษร”
บริษัทที่ทำหน้าที่หลัก คือ การดีไซน์ฟอนต์ สำหรับการสร้างแบรนด์ เพื่อสร้างเอกลักษณ์และความแตกต่างให้กับแบรนด์ โดยบริษัทสามารถผลิตได้ทั้ง ฟอนต์ภาษาไทย และภาษาอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“กะทัดรัด อักษร”
บริษัทที่รับผิดชอบในการดูแลโพสต์โปรดักชันฟอนต์แห่งแรก และแห่งเดียวของประเทศไทย
ซึ่ง “โพสต์โปรดักชันฟอนต์” ก็คือ ขั้นตอนที่ทำให้ “การแสดงผล” ของฟอนต์ไม่มีข้อผิดพลาด
เช่น ฟอนต์นี้พอใช้ในโปรแกรมหนึ่งแล้วแสดงผลได้ปกติ แต่พอเปลี่ยนไปใช้กับโปรแกรมอื่น กลับไม่สามารถแสดงผลได้
อีกทั้งตำแหน่งของ “สระและวรรณยุกต์” ที่ควรจะต้องถูกจัดวางให้อยู่กับตัวอักษรอย่างเหมาะสม ไม่ได้ลอยโดด ออกจากตัวอักษร
รวมไปถึง การทำให้ฟอนต์ที่ถูกนำไปใช้ในระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกัน สามารถแสดงผลได้เหมือนกัน ก็เป็นหน้าที่ของกะทัดรัด อักษรเช่นกัน
เรื่องนี้ก็เป็นเพราะการผลิตฟอนต์ ไม่ใช่มีแค่การออกแบบเท่านั้น
แต่มันยังมีเรื่องของ “ซอฟต์แวร์” ที่ทีมพัฒนา จะต้องทำให้ฟอนต์สามารถแสดงผลได้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ไม่ว่าปลายทางของฟอนต์ที่ทีมผลิตนั้น จะไปแสดงผลในโปรแกรมใด และอุปกรณ์อะไรก็ตาม
“สมรรถภาพ”
บริษัทที่รับผิดชอบในด้านการทำกราฟิก, สิ่งพิมพ์ รวมไปถึง CI (Corporate Identity) หรืออัตลักษณ์แบรนด์
ซึ่งหนึ่งในผลงานชิ้นใหญ่ที่สมรรถภาพได้ปล่อยออกมา ก็คือ การรีแบรนด์ ธนาคารกรุงไทย เมื่อปี 2019 และโปรเจกต์ล่าสุดเป็นการรีแบรนด์ให้กับ SF Cinema ที่มีการปรับโลโก, สั่งออกแบบคัสตอมฟอนต์ของ SF Cinema ขึ้นโดยเฉพาะ และทางทีมยังได้เข้าไปดูแลเรื่อง CI ของแบรนด์ให้อีกด้วย
1
“สารพัด คัดสรร”
บริษัทนี้จะรับผิดชอบดูแลเนื้อหาของแบรนด์ที่สื่อสารออกไป รวมไปถึงการจัดงานสัมมนา และการออแกไนซ์กิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร
1
แม้ว่า เครือคัดสรร ดีมาก จะมีการแบ่งแยกบริษัท สำหรับรับผิดชอบงานต่าง ๆ อย่างชัดเจน
แต่ในบางครั้ง งานหลาย ๆ โปรเจกต์ก็ต้องมีการทำร่วมกัน เช่น คัดสรร อักษร ออกแบบฟอนต์เสร็จแล้ว ส่งให้ทางกะทัดรัด อักษร เป็นผู้ดูแลเรื่องโพสต์โปรดักชันฟอนต์ให้นั่นเอง
โดยรายได้หลัก ๆ ของบริษัทจะมาจาก 3 รูปแบบ
1. จำหน่าย รีเทลฟอนต์ (Retail Font)
ฟอนต์สำเร็จรูปที่มีการออกแบบ และผลิตไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งลูกค้าสามารถเข้ามาเลือกซื้อฟอนต์แบบที่ชอบไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้
โดยฟอนต์ที่ลูกค้าเลือกซื้อไปใช้ก็อาจจะเหมือนกับคนอื่น ๆ ที่เข้ามาซื้อได้ เพราะบริษัทก็มีการขายให้กับลูกค้าคนอื่น ๆ ด้วย
และที่สำคัญคือ ลิขสิทธิ์ในรีเทลฟอนต์ จะยังคงเป็นของผู้ออกแบบฟอนต์
2. ผลิต คัสตอมฟอนต์ (Custom Font)
ลูกค้าในกลุ่มแบรนด์หรือองค์กรจะติดต่อเข้ามาจ้างให้บริษัทผลิตฟอนต์ให้ตรงกับภาพลักษณ์ของแบรนด์หรือองค์กรนั้น ๆ โดยลิขสิทธิ์ของคัสตอมฟอนต์จะเป็นของแบรนด์นั้น ๆ แต่เพียงผู้เดียว
3. การโดเนต
Google Fonts ภาษาไทยที่มีให้โหลดฟรีทั้ง 26 แบบ ล้วนเป็นผลงานจากทีมงานของคัดสรร ดีมาก ซึ่งได้มีการเปิดให้ดาวน์โหลดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการเรียนรู้ของทีมนักพัฒนาฟอนต์ที่จะได้ศึกษาว่าควรพัฒนา และปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งานจริงตรงไหนบ้าง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการเปิดให้ใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
แต่ถ้าผู้ใช้งานนำไปใช้แล้วประทับใจ ก็สามารถโดเนตเงินกลับมา เพื่อเป็นการสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ผู้ออกแบบ และนักพัฒนาฟอนต์มีแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ผลงานออกมาเรื่อย ๆ
1
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้ เราอาจสงสัยว่าแล้วสำหรับคนทำธุรกิจ ฟอนต์มีความจำเป็นแค่ไหน ?
อย่างแรกเลยก็คือ การเลือกฟอนต์ ก็เปรียบเสมือนการสร้างลายเส้นให้กับแบรนด์ ที่ช่วยให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ของเราได้
ในขณะเดียวกัน การเลือกฟอนต์ดี ๆ สักแบบ จะช่วยลดความยุ่งยากในการทำงานในอนาคตได้
เนื่องจากแบรนด์สามารถนำฟอนต์ไปใช้งานได้หลากหลายวิธี เช่น ใช้เป็นป้ายชื่อร้าน, ประกอบเว็บไซต์ และแพ็กเกจจิง รวมไปถึงใช้ในการทำงานกราฟิกต่าง ๆ ของบริษัทได้ทุกรูปแบบ
1
ซึ่งการเลือกใช้ฟอนต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ก็จะช่วยให้การทำสื่อต่าง ๆ ในอนาคตมีทิศทางไปในแนวเดียวกัน และยังกลมกลืนไปกับภาพลักษณ์ของแบรนด์อีกด้วย
ในขณะเดียวกัน หากเรามีการประเมินแล้วว่า แบรนด์หรือองค์กรของเรามีความจำเป็นที่ต้องใช้ฟอนต์ใดฟอนต์หนึ่งไปอีกนาน การคัสตอมฟอนต์ก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว
นอกจากนี้ การเลือกใช้ฟอนต์อย่างถูกลิขสิทธิ์ ยังหมายถึงความเป็นมืออาชีพของบริษัทนั้น ๆ ที่มีความรับผิดชอบ ในการไม่ขโมยผลงานของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และยังไม่ต้องเสี่ยงกับการฟ้องร้องเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ในอนาคตอีกด้วย
1
ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของ คัดสรร ดีมาก ผู้ผลิตฟอนต์ที่เราพิมพ์ และอ่านผ่านตากันมาเป็นสิบ ๆ ปี แต่กลับมีเพียงน้อยคนที่รู้ว่าใครคือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังตัวอักษรเหล่านี้..
โฆษณา