7 ส.ค. 2021 เวลา 03:33 • ประวัติศาสตร์
“สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถแคทเธอรีนที่สองแห่งรัสเซีย (Catherine the Great)” มหาราชินีแห่งรัสเซีย”
1
“สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถแคทเธอรีนที่สองแห่งรัสเซีย (Catherine the Great)” ทรงเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งแห่งรัสเซีย หากแต่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักพระองค์มากนัก
บทความนี้จะเป็นเรื่องราวของพระองค์
“โซฟี ออกุสต์ เฟรเดอริคแห่งอัลฮัลท์-แซบสท์ (Sophie of Anhalt-Zerbst)” เสด็จพระราชสมภพที่เมืองสเชชเซ็น ดินแดนปรัสเซีย ในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ.1729 (พ.ศ.2272)
พระบิดาของพระองค์คือ “คริสเตียน ออกุสต์ เจ้าชายแห่งอันฮัลท์-แซบสท์ (Christian August, Prince of Anhalt-Zerbst)” เป็นเจ้าชายเยอรมัน และพระมารดาคือ “โยฮันนา เอลิซาเบธแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อททร็อร์พ (Joanna Elisabeth of Holstein-Gottorp)” เจ้าหญิงผู้มาจากครอบครัวชั้นสูงและมีสายเลือดของราชวงศ์เดนมาร์ก
คริสเตียน ออกุสต์ เจ้าชายแห่งอันฮัลท์-แซบสท์ (Christian August, Prince of Anhalt-Zerbst)
เจ้าชายคริสเตียนนั้นทรงมีพระชนม์เยอะกว่าเจ้าหญิงโยฮันนาหลายปี โดยเจ้าหญิงโยฮันนาทรงปรารถนาจะมีชีวิตที่สนุกสนาน หากแต่พระสวามีก็ไม่ได้ทรงเอาใจ
โยฮันนา เอลิซาเบธแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อททร็อร์พ (Joanna Elisabeth of Holstein-Gottorp)
เมื่อให้พระประสูติกาลเจ้าหญิงโซฟี เจ้าหญิงโยฮันนาก็ทรงผิดหวังที่พระราชบุตรเป็นพระธิดา ไม่ใช่พระโอรส
อีก 18 เดือนต่อมา พระองค์ทรงให้พระประสูติกาลพระโอรส ชื่อ “วิลเลียม (William)” พระองค์จึงทรงเอาใจใส่พระโอรสมากกว่าพระธิดา หากแต่เจ้าชายวิลเลียมก็สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังไม่ถึงวัยผู้ใหญ่
ภายหลังจากสูญเสียเจ้าชายวิลเลียม เจ้าหญิงโยฮันนาก็มักจะเสด็จไปเยี่ยมพระญาติ โดยพาเจ้าหญิงโซฟีไปด้วย และเคยพาเจ้าหญิงโซฟีไปเข้าเฝ้า “พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 (Frederick the Great)” กษัตริย์แห่งปรัสเซียอีกด้วย
พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 (Frederick the Great)
ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เจ้าหญิงโซฟีก็ทรงทราบดีว่าในอนาคต พระองค์จะต้องอภิเษกสมรสกับชายผู้สูงศักดิ์และมั่งคั่ง และเจ้าหญิงโยฮันนาผู้เป็นพระมารดา ก็ต้องการให้ราชวงศ์สวีเดนทรงประทับใจในตัวพระธิดา
เจ้าหญิงโยฮันนาทรงให้เจ้าหญิงโซฟีเรียนการเต้นรำ ดนตรี และภาษาต่างประเทศ
เมื่อเสด็จไปเยี่ยมพระญาติ เจ้าหญิงโซฟีจะทรงตั้งใจฟังในสิ่งที่ผู้ใหญ่คุยกันและเรียนรู้เรื่องราวของครอบครัวต่างๆ ที่ทรงอำนาจในยุโรป
เจ้าหญิงโซฟีขณะทรงพระเยาว์
นอกจากนั้น เจ้าหญิงโซฟียังทรงสังเกตพระมารดา
เจ้าหญิงโยฮันนาทรงมีพระอุปนิสัยคุยโวโอ้อวด เรียกร้องความสนใจ ทำให้คนรอบข้างไม่ชอบ และเจ้าหญิงโซฟีก็ไม่ต้องการจะเป็นเหมือนพระมารดา
ในเวลานั้น พระปิตุลา (ลุง) ของเจ้าหญิงโซฟีได้รับแต่งตั้งเป็นองครักษ์ ถวายอารักขา “ เจ้าชายปีเตอร์แห่งฮ็อลชไตน์-ก็อททร็อร์พ (Duke of Holstein-Gottorp)” วัย 11 ปี ซึ่งภายหลังคือ “จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย (Peter III of Russia)”
จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย (Peter III of Russia)
เจ้าชายปีเตอร์เป็นพระราชนัดดาของ “จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (Peter the Great)” อดีตพระประมุขแห่งรัสเซีย
เมื่อเจ้าหญิงโซฟีได้พบกับเจ้าชายปีเตอร์ พระองค์ก็สังเกตได้ว่าเจ้าชายปีเตอร์ทรงมีพระวรกายผอมบาง ขี้อายและดูโดดเดี่ยว ไม่เป็นที่น่าสนใจ หากแต่พระองค์ก็ทรงปฏิบัติต่อเจ้าชายปีเตอร์อย่างดี
3
ขณะที่เจ้าหญิงโซฟีมีพระชนม์ได้ 11 ปี รัสเซียก็ได้มีพระประมุของค์ใหม่ นั่นคือ “จักรพรรดินีเอลิซาเบธแห่งรัสเซีย (Elizabeth of Russia)”
จักรพรรดินีเอลิซาเบธแห่งรัสเซีย (Elizabeth of Russia)
จักรพรรดินีเอลิซาเบธเป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 และพระองค์ก็ไม่ได้อภิเษกสมรส ไม่มีพระราชบุตร พระองค์จึงทรงแต่งตั้งเจ้าชายปีเตอร์เป็นรัชทายาท
จักรพรรดินีเอลิซาเบธทรงมีรับสั่งให้เจ้าชายปีเตอร์เสด็จมาประทับอยู่กับพระองค์ที่รัสเซีย
1 มกราคม ค.ศ.1744 (พ.ศ.2287) ขณะที่เจ้าหญิงโซฟีและครอบครัวกำลังจะเสวยพระกระยาหารเย็น ก็ได้มีม้าเร็วจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมาถึง และถวายจดหมายให้เจ้าหญิงโยฮันนา
จดหมายฉบับนั้นมีเนื้อความว่า “จักรพรรดินีเอลิซาเบธทรงมีพระราชประสงค์ให้ฝ่าบาทและพระธิดา เสด็จมารัสเซียให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
1
จดหมายฉบับนั้นยังกล่าวอีกว่าเจ้าหญิงโยฮันนาจะทรงเข้าใจความหมายที่แท้จริงของจดหมายฉบับนี้
2
เจ้าหญิงโยฮันนาทรงเข้าใจความหมายเป็นอย่างดี นั่นก็คือเจ้าหญิงโซฟี พระธิดาของพระองค์ได้ถูกเลือกให้อภิเษกสมรสกับองค์รัชทายาท ผู้ที่จะขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ต่อไปของรัสเซีย
การเดินทางไปรัสเซียครั้งนี้ เจ้าชายคริสเตียน พระบิดาของเจ้าหญิงโซฟีไม่ได้รับเชิญ เจ้าหญิงโซฟีและเจ้าหญิงโยฮันนาจึงต้องเดินทางโดยปราศจากเจ้าชายคริสเตียน และต้องเดินทางไปอย่างลับๆ และใช้ชื่อปลอม เนื่องจากจักรพรรดินีเอลิซาเบธไม่ทรงต้องการให้ใครรู้ถึงแผนการของพระองค์
การเดินทางไปยังรัสเซียนั้นยาวไกลและยากลำบาก หากแต่เจ้าหญิงโซฟีก็ไม่ทรงเกรงเลยซักนิด พระองค์กลับรู้สึกตื่นเต้น
การเดินทางนั้นยากลำบาก ต้องเดินทางโดยรถม้าไปตามเส้นทางที่ไม่สะดวก อากาศหนาวเย็น
ในเวลานั้น ประเทศต่างๆ ในยุโรปต่างดูแคลนว่ารัสเซียเป็นประเทศที่ล้าหลัง ด้อยพัฒนา ถึงแม้จะกว้างใหญ่ กินพื้นที่ทั้งยุโรปและเอเชีย แต่พื้นที่ส่วนมากก็ยังไม่ได้รับการพัฒนา
พื้นที่ส่วนใหญ่ของรัสเซียในเวลานั้นมีแต่ทุ่งหญ้า ภูเขา ป่าไม้ บางพื้นที่ก็ใกล้เคียงกับทะเลทราย ผู้คนก็ไร้การศึกษา ส่วนมากเป็นทาสติดที่ดินซึ่งต้องรับใช้เจ้าของที่ดิน
เมื่อถึงชายแดนรัสเซีย เจ้าหญิงโซฟีและเจ้าหญิงโยฮันนาต้องทรงเปลี่ยนรถม้า เปลี่ยนไปประทับยังรถม้าหลวงซึ่งถูกลากโดยม้า 10 ตัว และภายในก็ตกแต่งอย่างดี หน้าต่างประดับด้วยเงินและทองคำ และยังมีเบาะที่ประดับด้วยผ้าไหมอย่างดี
1
รถมัาหลวง
เมื่อเสด็จมาถึงรัสเซีย จักรพรรดินีเอลิซาเบธพร้อมด้วยเจ้าชายปีเตอร์ได้ประทับรออยู่แล้ว
เจ้าชายปีเตอร์นั้นทรงสำราญพระทัยที่จะได้พบเจ้าหญิงโซฟี เนื่องจากเจ้าหญิงโซฟีนั้นอยู่ในวัยใกล้เคียงกับพระองค์ อีกทั้งเจ้าหญิงโซฟียังตรัสเป็นภาษาเยอรมันเช่นเดียวกับพระองค์
เจ้าชายปีเตอร์ไม่ทรงโปรดรัสเซีย พระองค์ยังทรงยึดติดกับภาษาที่คุ้นเคยและธรรมเนียมปรัสเซีย
ในขณะเดียวกัน เจ้าหญิงโซฟีก็แตกต่างจากเจ้าชายปีเตอร์อย่างสิ้นเชิง พระองค์อุทิศองค์เพื่อการศึกษาภาษารัสเซีย และเนื่องจากครอบครัวของพระองค์นับถือนิกายลูเทอรัน พระองค์จึงต้องเปลี่ยนมาเข้าคริสตจักรรัสเซียเพื่อจะได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายปีเตอร์ พระองค์จึงทรงศึกษาพิธีกรรมต่างๆ ของคริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์
1
เจ้าชายปีเตอร์และเจ้าหญิงโซฟี
เจ้าหญิงโซฟีทรงจริงจังในการศึกษา ในยามค่ำคืน พระองค์จะทรงพระดำเนินเท้าเปล่าในห้องโถงของพระราชวัง ท่องศัพท์และไวยากรณ์รัสเซีย
ห้องโถงยามค่ำคืนนั้นมีอากาศหนาวเย็น เจ้าหญิงโซฟีจึงประชวรด้วยโรคปอดบวม
ในช่วงเวลาที่ประชวรนี้ จักรพรรดินีเอลิซาเบธจะเสด็จมาประทับข้างเตียงของเจ้าหญิงโซฟี กุมพระหัตถ์ของเจ้าหญิงโซฟีราวกับเป็นพระราชธิดาของพระองค์เอง
ข่าวการประชวรของเจ้าหญิงโซฟีนั้นโด่งดังไปทั่ว ราชสำนักก็เกรงว่าเจ้าหญิงโซฟีจะสิ้นพระชนม์
เหล่าต้นห้องของเจ้าหญิงโซฟีทราบดีว่าพระองค์ประชวรเนื่องจากทุ่มเทกับการศึกษาภาษารัสเซีย และเรื่องนี้ก็ถูกพูดถึงปากต่อปากจนไปถึงประชาชน ทำให้แทบทุกคนสวดมนต์อ้อนวอนขอให้เจ้าหญิงต่างชาติพระองค์นี้ ผู้ซึ่งรักรัสเซียมากเหลือเกิน ให้หายจากอาการประชวร
เจ้าหญิงโซฟี (ภาพจากภาพยนตร์)
ผู้คนเริ่มเปรียบเทียบเจ้าหญิงโซฟีกับเจ้าชายปีเตอร์ เนื่องจากเจ้าชายปีเตอร์ตรัสแต่ภาษาเยอรมันและไม่ได้โปรดรัสเซียเลย
เจ้าหญิงโซฟีทรงมีพระอาการดีขึ้นเรื่อยมา และปรากฎองค์ในราชสำนักเมื่อวันครบรอบวันประสูติปีที่ 15 ของพระองค์
พระองค์ยังทรงดูอ่อนแรง แต่พระองค์ก็ได้ทราบว่าในขณะที่พระองค์ประชวร ผู้คนต่างก็เคารพและรักพระองค์
เมื่อเจ้าหญิงโซฟีทรงมีพระอาการดีขึ้น จักรพรรดินีเอลิซาเบธก็ทรงเดินหน้าเรื่องงานอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายปีเตอร์และเจ้าหญิงโซฟี ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นหายนะครั้งใหญ่
จักรพรรดินีเอลิซาเบธทรงพบจดหมายที่เจ้าหญิงโยฮันนาเขียนถวายกษัตริย์แห่งปรัสเซีย โดยเนื้อความในจดหมายนั้น เจ้าหญิงโยฮันนาได้กล่าวถึงการที่พยายามจะยั่วยุให้จักรพรรดินีเอลิซาเบธกำจัดรองอัครมหาเสนาบดี และหาคนอื่นที่นิยมปรัสเซียมาแทนที่
จดหมายนี้เป็นหลักฐานว่าเจ้าหญิงโยฮันนาเป็นสายลับให้ปรัสเซีย
3
เจ้าหญิงโซฟีนั้นเป็นพระธิดาของเจ้าหญิงโยฮันนา เมื่อพระมารดาถูกจับได้ว่าเป็นสายลับ พระธิดาอย่างพระองค์ก็ต้องได้รับผลกระทบด้วยแน่นอน
เจ้าหญิงโซฟีทรงกังวลว่าพระองค์อาจจะถูกส่งกลับบ้าน แต่จักรพรรดินีเอลิซาเบธไม่ได้ลงโทษเจ้าหญิงโซฟี หากแต่ทรงอนุญาตให้เจ้าหญิงโยฮันนาอยู่ถึงเมื่องานอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงโซฟีกับเจ้าชายปีเตอร์จัดเสร็จ จากนั้น เจ้าหญิงโยฮันนาต้องเสด็จกลับ
28 มิถุนายน ค.ศ.1744 (พ.ศ.2287) เจ้าหญิงโซฟีได้เข้าพิธีบัพติศมาของคริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์ และได้พระนามในภาษารัสเซียว่า “เอคาเทรินา (Ekaterina)” หรือภาษาอังกฤษว่า “แคทเธอรีน (Catherine)”
เจ้าหญิงโซฟี หรือในเวลานี้คือ “เจ้าหญิงแคทเธอรีน” ได้ทรงพร้อมเข้าพิธีอภิเษกสมรสแล้ว
หากแต่ก่อนจะถึงวันพิธี เจ้าชายปีเตอร์ได้ทรงพระประชวรด้วยไข้ทรพิษ ทำให้ทั่วพระฉวีเต็มไปด้วยตุ่ม
เมื่อพระอาการดีขึ้น พระพักตร์ของเจ้าชายปีเตอร์ก็เต็มไปด้วยรอยจากตุ่ม
เจ้าหญิงแคทเธอรีน ทรงมีพระประสงค์จะแสดงออกว่าพระองค์ไม่ได้สนใจเรื่องรอยบนพระพักตร์ของเจ้าชายปีเตอร์เลย หากแต่เมื่อเห็นพระพักตร์ของเจ้าชายปีเตอร์ หลังจากที่เจ้าชายปีเตอร์หายจากพระประชวรแล้ว เจ้าหญิงแคทเธอรีนก็ทรงสะดุ้งโดยไม่ได้ตั้งใจ
การกระทำนี้ทำให้เจ้าชายปีเตอร์ทรงกริ้ว ถึงแม้เจ้าหญิงแคทเธอรีนจะไม่ได้ทรงตั้งใจก็ตาม
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เจ้าชายปีเตอร์ก็ไม่ทรงญาติดีกับเจ้าหญิงแคทเธอรีนอีกเลย หากแต่ในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ.1745 (พ.ศ.2288) ทั้งสองพระองค์ก็ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรส
เจ้าหญิงแคทเธอรีนทรงตระหนักว่าจักรพรรดินีเอลิซาเบธทรงดีต่อพระองค์ และคอยดูแลพระองค์ในยามที่พระองค์ประชวร
หากแต่จักรพรรดินีเอลิซาเบธก็ไม่ได้ทรงพระทัยดีเสมอไป ในฐานะองค์จักรพรรดินี พระองค์ทรงคุ้นเคยกับการทำทุกอย่างตามพระทัย หากใครทำให้พระองค์ทรงกริ้ว พระองค์ก็ทรงสั่งลงโทษ
นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงมีพระราชประสงค์ที่จะควบคุมเจ้าชายปีเตอร์และเจ้าหญิงแคทเธอรีน โดยหากนางต้นห้องคนไหนดูแล้วใกล้ชิด สนิทสนมกับเจ้าหญิงแคทเธอรีนมากจนเกินไป พระองค์ก็จะทรงมีรับสั่งให้ย้ายนางต้นห้องคนนั้นไปอยู่ที่อื่น
เมื่อเจ้าหญิงโยฮันนาเสด็จกลับปรัสเซีย พระองค์ก็ทรงทิ้งหนี้สินจำนวนมหาศาลไว้ ซึ่งเจ้าหญิงแคทเธอรีนก็ทรงตั้งพระทัยจะใช้หนี้ทุกบาททุกสตางค์ที่พระมารดาก่อไว้ โดยจะนำเงินที่ได้รับพระราชทานจากจักรพรรดินีเอลิซาเบธ มาจ่ายหนี้ของพระมารดา
1
แต่การที่เจ้าหญิงแคทเธอรีนจะใช้หนี้แทนพระมารดาทั้งหมด ก็เป็นการยาก เนื่องจากพระองค์ก็ทรงมีค่าใช้จ่ายมากมาย ทั้งค่าของขวัญให้เหล่าข้าราชสำนัก และยังค่าเสื้อผ้าอันสวยหรูของพระองค์
ในเวลานี้ ตำแหน่งของพระองค์คือ “แกรนด์ดัชเชสส์ (Grand Duchess)” และพระองค์ก็ต้องทำองค์ให้สมกับตำแหน่ง
ทางด้านจักรพรรดินีเอลิซาเบธ ก็ทรงคาดหวังให้เจ้าชายปีเตอร์และเจ้าหญิงแคทเธอรีนมีพระราชบุตร ที่จะเป็นรัชทายาทต่อจากเจ้าชายปีเตอร์ หากแต่ก็ดูเหมือนเรื่องนี้จะไม่ง่าย
เจ้าชายปีเตอร์ไม่ได้ทรงสนพระทัยในเจ้าหญิงแคทเธอรีนนัก พระองค์มักจะทำอะไรตามพระทัย ไม่ได้ทรงสนพระทัยว่าเจ้าหญิงแคทเธอรีนจะรู้สึกอย่างไร
1
เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังพิธีอภิเษกสมรส เจ้าชายปีเตอร์ก็ได้ประกาศว่าพระองค์กำลังตกหลุมรักกับหนึ่งในนางต้นห้องของเจ้าหญิงแคทเธอรีน และเจ้าหญิงแคทเธอรีนก็ไม่สามารถว่าอะไรได้
เจ้าชายปีเตอร์และเจ้าหญิงแคทเธอรีน (ภาพจากภาพยนตร์)
ยิ่งเวลาผ่านไป เจ้าชายปีเตอร์ก็ทรงสนพระทัยในเหล่านางต้นห้องสาวๆ ในราชสำนัก แต่ไม่สนพระทัยในเจ้าหญิงแคทเธอรีน ซึ่งเป็นชายาของพระองค์เลย
เดือนมีนาคม ค.ศ.1747 (พ.ศ.2290) เจ้าชายคริสเตียน พระบิดาของเจ้าหญิงแคทเธอรีน ได้สิ้นพระชนม์ ทำให้เจ้าหญิงแคทเธอรีนยิ่งทรงเปลี่ยวเหงา แต่ถึงอย่างนั้น พระองค์ก็ต้องทรงเข้าร่วมงานเลี้ยงต่างๆ ถึงแม้ว่าพระองค์จะรู้สึกเศร้าแค่ไหนก็ตาม
1
เจ้าหญิงแคทเธอรีนทรงหาทางผ่อนคลายความเศร้าโดยการอ่านหนังสือ โดยในเวลานี้ พระองค์ทรงได้เรียนภาษารัสเซียแล้ว จึงสามารถอ่านหนังสือรัสเซียได้ รวมทั้งหนังสือภาษาฝรั่งเศสอีกด้วย ทำให้พระองค์ทรงเพิ่มพูนความรู้ ทรงศึกษาด้วยองค์เอง
2
ค.ศ.1751 (พ.ศ.2294) จักรพรรดินีเอลิซาเบธได้ทรงแต่งตั้งขุนนางสามคน ให้เป็นข้าราชบริพารส่วนพระองค์ในเจ้าชายปีเตอร์
หนึ่งในสามคนนั้นคือ “เซอร์เก ซาลตีคอฟ (Sergei Saltykov)”
เซอร์เก ซาลตีคอฟ (Sergei Saltykov)
ซาลตีคอฟนั้นเป็นผู้ชายหน้าตาดี และตกหลุมรักเจ้าหญิงแคทเธอรีน พยายามตามจีบพระองค์
ซาลตีคอฟมักจะไปขี่ม้ากับเจ้าหญิงแคทเธอรีน โดยเจ้าหญิงแคทเธอรีนเองก็ชอบซาลตีคอฟ และตกลง คบหากับซาลตีคอฟ
ค.ศ.1754 (พ.ศ.2297) เจ้าหญิงแคทเธอรีนทรงครรภ์ และหลายคนก็ทราบดีว่าเด็กในท้อง คือลูกของซาลตีคอฟ แต่เนื่องจากเจ้าหญิงแคทเธอรีนเป็นชายาของเจ้าชายปีเตอร์ ดังนั้นเด็กในท้อง ก็คือองค์รัชทายาท
20 กันยายน ค.ศ.1754 (พ.ศ.2297) ในพระราชวังฤดูร้อนที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เจ้าหญิงแคทเธอรีนได้ให้พระประสูติกาลพระโอรส โดยเจ้าชายปีเตอร์และเจ้าหญิงแคทเธอรีน ก็ทำทีเป็นว่าเด็กนั้นคือพระโอรสของทั้งสอง
1
ผู้ที่ดูจะดีใจมากที่สุดกับการที่เจ้าหญิงแคทเธอรีนมีพระโอรส ก็คือจักรพรรดินีเอลิซาเบธ
จักรพรรดินีเอลิซาเบธไม่ได้อภิเษกสมรส พระองค์ไม่มีพระราชบุตร ดังนั้นเมื่อเจ้าหญิงแคทเธอรีนทรงให้พระประสูติกาลพระโอรส จักรพรรดินีเอลิซาเบธก็เสด็จเข้ามาในห้องบรรทมของเจ้าหญิงแคทเธอรีน และพระราชทานชื่อให้เจ้าชายน้อยว่า “พอล (Paul)” และให้พยาบาลนำเจ้าชายน้อยออกไปจากห้อง
เจ้าหญิงแคทเธอรีนทรงทราบดีว่าพระองค์จะไม่ได้พระโอรสคืน หากแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้
17 วันหลังจากที่เจ้าชายพอลประสูติ จักรพรรดินีเอลิซาเบธก็ได้มอบหมายให้ซาลตีคอฟเดินทางไปสวีเดน และประกาศให้ประเทศอื่นๆ ทราบว่าเจ้าชายปีเตอร์และเจ้าหญิงแคทเธอรีนได้มีพระโอรส ผู้ซึ่งจะเป็นองค์รัชทายาทต่อไป
1
จากนั้น ซาลตีคอฟต้องเดินทางต่อไปยังแฮมเบิร์ก หนึ่งในนครรัฐของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และประจำการที่นั่น
ซาลตีคอฟจะไม่ได้กลับมารัสเซีย และเจ้าหญิงแคทเธอรีนก็ต้องโดดเดี่ยวอีกครั้ง
เจ้าหญิงแคทเธอรีน ถึงแม้ว่าจะเป็นแกรนด์ดัชเชสส์ แต่คนทั่วๆ ไปก็ไม่ได้ปฏิบัติต่อพระองค์ดีมากนัก และในเมื่อตอนนี้พระองค์มีพระโอรส ผู้ซึ่งจะเป็นรัชทายาทองค์ต่อไป พระองค์จึงต้องการให้ผู้คนเคารพและให้เกียรติพระองค์มากกว่านี้
จากที่ผ่านมา พระองค์ทรงขี้อาย แต่ในตอนนี้ พระองค์ทรงพูดกับทุกคนที่พระองค์ต้องการพูดด้วย พระองค์ทรงเลิกกังวลว่าจักรพรรดินีเอลิซาเบธจะคิดอย่างไร และได้ผูกมิตรกับทูตอังกฤษ และรองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย
เหล่าคนชั้นสูงที่เจ้าหญิงแคทเธอรีนทรงผูกมิตรด้วย ต่างประทับใจในความรอบรู้และเฉลียวฉลาดของพระองค์ และเริ่มคิดว่า บางทีเจ้าหญิงแคทเธอรีนอาจจะเหมาะที่จะเป็นองค์ประมุขมากกว่าพระสวามี หรืออาจจะเหมาะกว่าจักรพรรดินีเอลิซาเบธซะด้วยซ้ำ
1
แต่การจะพูดเรื่องนี้อย่างโจ่งแจ้ง ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการวางแผนล้มบัลลังก์พระประมุของค์ปัจจุบัน มีโทษที่หนักมาก
หนึ่งในขุนนางที่เจ้าหญิงแคทเธอรีนทรงสนิทสนมด้วย คือชาวโปแลนด์ที่ชื่อ “สตานิสลอว โปเนียโทวสกี (Stanislaw Poniatowski)”
โปเนียโทวสกีเป็นเลขาของทูตอังกฤษ และได้คบหากับเจ้าหญิงแคทเธอรีน ก่อนจะถูกส่งกลับโปแลนด์ โดยเขาได้มีพระธิดากับเจ้าหญิงแคทเธอรีนในปีค.ศ.1757 (พ.ศ.2300) หากแต่พระธิดาก็สิ้นพระชนม์ขณะมีพระชันษาเพียง 15 เดือน
2
ก่อนหน้านั้นไม่นาน ปรัสเซียได้รุกรานรัฐแซกโซนี ทำให้รัสเซียเข้าร่วมใน “สงครามเจ็ดปี (Seven Year’s War)”
สงครามเจ็ดปี (Seven Year’s War)
สหราชอาณาจักรเข้าร่วมกับปรัสเซีย ในขณะที่รัสเซีย ก็ได้เข้าร่วมกับออสเตรีย
1
จักรพรรดินีเอลิซาเบธทรงสงสัยที่ปรึกษาบางคนของพระองค์ พระองค์ทรงสงสัยว่าเหล่าที่ปรึกษาอาจจะคิดหักหลังพระองค์
ในปีค.ศ.1758 (พ.ศ.2301) พระองค์มีรับสั่งให้จับกุมรองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย โดยพระองค์ทรงพบจดหมายที่เขียนถึงเจ้าหญิงแคทเธอรีน
ในจดหมายนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้เขียนเรื่องของการสงคราม และทูลเจ้าหญิงแคทเธอรีนว่าอยากจะให้เจ้าหญิงแคทเธอรีนเป็นพระประมุขต่อจากจักรพรรดินีเอลิซาเบธ
เมื่อได้รับทราบข่าวนี้ เจ้าหญิงแคทเธอรีนก็ทรงหวาดกลัวอย่างมาก พระองค์อาจจะติดร่างแหไปด้วย
1
เจ้าหญิงแคทเธอรีนได้ทูลขอเข้าพบจักรพรรดินีเอลิซาเบธเป็นการส่วนพระองค์ หากแต่จักรพรรดินีเอลิซาเบธก็ไม่ได้ทรงตอบ ก่อนที่อีกสองเดือนต่อมา จะมีรับสั่งให้นำเจ้าหญิงแคทเธอรีนเข้ามาในห้องบรรทมของพระองค์ในยามค่ำคืน
ภาพจากภาพยนตร์
เมื่อมาถึงห้องบรรทม เจ้าหญิงแคทเธอรีนก็เห็นเจ้าชายปีเตอร์ประทับอยู่ด้วย อีกทั้งหลังฉาก ก็มีผู้พิพากษานั่งอยู่
1
เจ้าหญิงแคทเธอรีนเข้าพระทัยในทันทีว่าพระองค์กำลังถูกสอบสวน หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานกบฏ พระองค์ก็ต้องรับโทษหนัก
1
เจ้าหญิงแคทเธอรีนรีบคุกพระชงฆ์ลงกับพื้น และทูลความในพระทัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความโดดเดี่ยวที่ผ่านมา และยืนยันว่าพระองค์ไม่เคยคิดหักหลัง และขอให้ส่งพระองค์กลับปรัสเซีย
1
เมื่อได้ฟังดังนั้น จักรพรรดินีเอลิซาเบธก็ทรงพระทัยอ่อน ในขณะที่เจ้าชายปีเตอร์นั้นทรงกริ้ว เนื่องจากเจ้าชายปีเตอร์มีพระประสงค์จะกำจัดเจ้าหญิงแคทเธอรีน และอภิเษกสมรสกับผู้หญิงคนล่าสุดที่พระองค์ทรงติดพัน
3
สุดท้าย จักรพรรดินีเอลิซาเบธก็ตัดสินว่าเจ้าหญิงแคทเธอรีนนั้นไม่มีความผิด และให้กลับไปพักผ่อนได้
ถึงแม้ว่าเจ้าหญิงแคทเธอรีนจะเป็นชาวปรัสเซีย แต่พระองค์ก็ทรงภักดีต่อรัสเซีย ในขณะที่เจ้าชายปีเตอร์นั้นแสดงออกอย่างชัดแจ้งว่าพระองค์นั้นยังคงภักดีต่อปรัสเซีย
เจ้าชายปีเตอร์ทรงจัดงานฉลองทุกครั้งที่ปรัสเซียชนะในสงคราม และพระองค์ยังส่งข้อมูลลับของรัสเซียให้แก่กษัตริย์แห่งปรัสเซีย ซึ่งการกระทำนี้ นับเป็นความผิดร้ายแรง เจ้าชายปีเตอร์ทรงหักหลังชาติที่วันหนึ่ง พระองค์ต้องขึ้นปกครอง
ในเวลานี้ พระสุขภาพของจักรพรรดินีเอลิซาเบธก็เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ทำให้เจ้าชายปีเตอร์ยิ่งได้ใจ และมักจะรับสั่งว่า หากจักรพรรดินีเอลิซาเบธสวรรคต และพระองค์ได้ครองราชย์ พระองค์จะนำรัสเซียไปผูกมิตรกับปรัสเซีย
เจ้าหญิงแคทเธอรีนไม่พอพระทัย พระองค์ทรงเกลียดความคิดนี้ และคิดว่าจะเป็นอย่างไร หากประเทศนี้จะต้องถูกปกครองโดยคนอย่างเจ้าชายปีเตอร์
1
พระองค์ทรงคิดว่าจะเป็นอย่างไรหากพระองค์ได้เป็นจักรพรรดินี พระองค์จะทรงทำอะไรบ้าง ที่แน่ๆ พระองค์มีพระประสงค์จะให้รัสเซียนั้นยิ่งใหญ่และทรงอำนาจยิ่งกว่าเดิม
ทหารรัสเซียหลายนายเกลียดชังความคิดของเจ้าชายปีเตอร์ แต่พวกเขาก็เคารพเจ้าหญิงแคทเธอรีน โดยทหารหลวงนายหนึ่ง ก็ได้ทำให้เจ้าหญิงแคทเธอรีนต้องพระทัย
ทหารนายนั้นคือ “กริกอรี ออร์ลอฟ (Grigory Orlov)”
กริกอรี ออร์ลอฟ (Grigory Orlov)
ออร์ลอฟเป็นหนึ่งในพี่น้องตระกูลออร์ลอฟ กลุ่มพี่น้องทหารที่ภักดีต่อเจ้าหญิงแคทเธอรีน และในไม่ช้า เจ้าหญิงแคทเธอรีนก็ทรงตกหลุมรักออร์ลอฟ
1
3 มกราคม ค.ศ.1762 (พ.ศ.2305) จักรพรรดินีเอลิซาเบธทรงมีรับสั่งให้เจ้าหญิงแคทเธอรีนและเจ้าชายปีเตอร์ไปเข้าเฝ้าพระองค์ที่ข้างเตียงบรรทม โดยขณะนั้น พระองค์ประชวรหนัก และใกล้จะสวรรคต
ถึงแม้ว่าจักรพรรดินีเอลิซาเบธจะไม่ได้ทรงเมตตาเจ้าหญิงแคทเธอรีนนัก แต่เจ้าหญิงแคทเธอรีนก็กรรแสงเมื่อคิดว่าจักรพรรดินีเอลิซาเบธจะสวรรคต
เพียงสองวันหลังจากนั้น จักรพรรดินีเอลิซาเบธก็ได้สวรรคตด้วยพระชนมายุ 52 พรรษา และปกครองรัสเซียมานานกว่า 21 ปี
ภาพจากภาพยนตร์
เมื่อจักรพรรดินีเอลิซาเบธสวรรคต เจ้าชายปีเตอร์ก็คือพระประมุของค์ต่อไป ส่วนเจ้าหญิงแคทเธอรีนก็จะเป็นพระอัครมเหสี
พระบรมศพของจักรพรรดินีเอลิซาเบธถูกบรรจุในโลงพระบรมศพ และตั้งไว้ในอาสนวิหารพระแม่แห่งคาซาน (Cathedral of Our Lady of Kazan) ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
พระบรมศพถูกตั้งให้ประชาชนเข้ามาเคารพและถวายอาลัยเป็นเวลา 10 วัน โดยตลอดทั้ง 10 วัน เจ้าหญิงแคทเธอรีน ซึ่งในเวลานี้ คือ “จักรพรรดินีแคทเธอรีน” ได้มาร่วมถวายอาลัยตลอด ในขณะที่เจ้าชายปีเตอร์ ซึ่งในเวลานี้ คือ “จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3” เอาแต่จัดงานปาร์ตี้ เลี้ยงฉลองอย่างสนุกสนาน ฉลองการที่พระองค์ขึ้นครองราชย์
3
ความแตกต่างนี้เป็นสิ่งที่ชาวรัสเซียล้วนแต่สังเกตเห็นได้
จักรพรรดิปีเตอร์ได้ทรงมีรับสั่งถึงแผนการที่พระองค์ทรงคิดที่จะทำต่อรัสเซีย ซึ่งแต่ละอย่าง ก็ล้วนแต่ไม่มีใครเห็นด้วย อีกทั้งพระองค์ยังทรงประกาศเลิกสงครามต่อปรัสเซีย
ไม่เพียงแค่นั้น พระองค์ยังทรงคืนดินแดนที่รัสเซียยึดมาจากปรัสเซียในช่วยสงคราม อีกทั้งพระองค์ยังทรงฉลองพระองค์ด้วยเครื่องแบบทหารปรัสเซีย และมีแผนจะเปลี่ยนศาสนาประจำชาติ
นอกเหนือจากนั้น พระองค์ยังมักจะรับสั่งว่าพระองค์จะทรงหย่าจากจักรพรรดินีแคทเธอรีน และส่งจักรพรรดินีแคทเธอรีนไปอยู่อารามแม่ชี จากนั้น พระองค์ก็จะอภิเษกสมรสกับผู้หญิงที่พระองค์ทรงติดพัน
1
จักรพรรดินีแคทเธอรีนก็ทรงต้องการจะปกครองแทนจักรพรรดิปีเตอร์ และพระองค์ก็ได้รับการถวายความช่วยเหลือจากพี่น้องตระกูลออร์ลอฟ หากแต่ก็ไม่สามารถที่จะลงมือได้ทันที
ในเวลานั้น จักรพรรดินีแคทเธอรีนได้ทรงพระครรภ์กับออร์ลอฟ ซึ่งหากจักรพรรดิปีเตอร์ทราบเรื่องนี้ พระองค์ก็จะยิ่งมีเหตุผลที่จะหย่าได้ จักรพรรดินีแคทเธอรีนจึงทรงสวมฉลองพระองค์สีดำไว้ทุกข์แบบเต็มตัว เพื่อลวงไม่ให้ใครดูออกว่าพระองค์ทรงครรภ์
1
ในคืนที่จักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงให้พระประสูติกาลพระราชบุตรในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.1762 (พ.ศ.2305) คนรับใช้ที่จักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงไว้ใจ ได้จุดไฟนอกพระราชวัง เพื่อลวงให้จักรพรรดิปีเตอร์ออกไปจากพระราชวัง เพื่อที่จักรพรรดินีแคทเธอรีนจะได้ให้พระประสูติกาลพระราชบุตร
แผนการได้ผล จักรพรรดิปีเตอร์ เมื่อทอดพระเนตรเห็นไฟไหม้นอกพระราชวัง ก็ได้หลงกล และเสด็จออกจากพระราชวัง ซึ่งนั่นทำให้จักรพรรดินีแคทเธอรีนมีเวลาพอที่จะให้พระประสูติกาลพระโอรส ซึ่งเมื่อให้พระประสูติกาลเสร็จ เหล่าคนรับใช้ก็รีบนำพระโอรสออกไปซ่อนไว้ในที่ปลอดภัย
1
ในสิ้นเดือนเมษายนของปีนั้น จักรพรรดิปีเตอร์ก็มีรับสั่งให้จักรพรรดินีแคทเธอรีนเข้าร่วมงานเลี้ยงฉลองการที่รัสเซียเป็นพันธมิตรกับปรัสเซีย โดยในงานนั้น ถึงแม้จักรพรรดินีแคทเธอรีนจะเป็นพระมเหสีของจักรพรรดิปีเตอร์ แต่จักรพรรดิปีเตอร์ก็ทรงนั่งกับผู้หญิงที่พระองค์ทรงติดพัน ทิ้งให้จักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงนั่งอีกด้านอย่างโดดเดี่ยว
จากนั้น จักรพรรดิปีเตอร์ก็มีรับสั่งให้ย้ายจักรพรรดินีแคทเธอรีนไปพระราชวังเปเตียร์กอฟ ส่วนจักรพรรดิปีเตอร์ก็จะย้ายไปยังที่ประทับใหม่ พร้อมด้วยผู้หญิงของพระองค์
ในเวลานี้ จักรพรรดินีแคทเธอรีนไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากรอและลุ้น
1
ใครจะมาถึงพระองค์ก่อนกัน จะเป็นจักรพรรดิปีเตอร์ที่สั่งให้พระองค์ย้ายไปยังอารามแม่ชี หรือจะเป็นพี่น้องตระกูลออร์ลอฟที่มาทูลว่าถึงเวลาล้มล้างจักรพรรดิปีเตอร์ และให้พระองค์ขึ้นครองราชย์
พระราชวังเปเตียร์กอฟ
เช้าตรู่วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1762 (พ.ศ.2305) หนึ่งในพี่น้องตระกูลออร์ลอฟได้มาปลุกพระองค์ และทูลว่าทุกอย่างเตรียมพร้อมหมดแล้ว
พี่น้องออร์ลอฟได้นำเสด็จจักรพรรดินีแคทเธอรีนมายังค่ายทหาร ซึ่งทหารแต่ละคนก็ล้วนแต่คุกเข่าให้พระองค์ แสดงเจตจำนงค์ว่าต้องการให้พระองค์ขึ้นเป็นพระประมุข
จากนั้น ทหารก็นำเสด็จพระองค์ไปยังอาสนวิหารคาซาน เพื่อให้ท่านอาร์ชบิชอปประกาศว่าพระองค์คือจักรพรรดินี
ภายหลังจากเสด็จออกจากอาสนวิหาร จักรพรรดินีแคทเธอรีน พร้อมด้วยกองทหาร ก็ได้มุ่งไปยังพระราชวังฤดูหนาว และประกาศว่าจักรพรรดิปีเตอร์ทรงทรยศต่อประชาชนชาวรัสเซีย และพระองค์จะเป็นพระประมุขแทน และช่วยเหลือประเทศชาติ
ต่อไป ถึงเวลาจัดการกับจักรพรรดิปีเตอร์ โดยจักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงฉลองพระองค์ด้วยเครื่องแบบทหาร มุ่งสู่ที่ประทับของจักรพรรดิปีเตอร์
ระหว่างทางเสด็จ ได้มีม้าเร็วมาถึงขบวนของพระองค์ พร้อมจดหมายจากจักรพรรดิปีเตอร์
ในจดหมายนั้น ทำให้ทราบว่าจักรพรรดิปีเตอร์ได้ทรงทราบข่าวเรื่องที่พระองค์ถูกล้มล้าง โดยในทีแรก จักรพรรดิปีเตอร์ได้ทรงเจรจา จะแบ่งอำนาจการปกครองให้จักรพรรดินีแคทเธอรีน หากแต่จากนั้น ก็ได้ทรงขอให้ส่งพระองค์กลับปรัสเซียพร้อมด้วยผู้หญิงของพระองค์
แต่จักรพรรดินีแคทเธอรีนไม่ทรงใจอ่อน พระองค์มีรับสั่งให้ส่งผู้หญิงของจักรพรรดิปีเตอร์ไปที่อื่น และให้ทหารคอยคุ้มกันจักรพรรดิปีเตอร์ในที่ประทับ
ภายหลังจากจัดการกับจักรพรรดิปีเตอร์ได้แล้ว จักรพรรดินีแคทเธอรีนก็จะเป็นพระประมุขแห่งรัสเซีย หากแต่หนทางสู่อำนาจของพระองค์นั้น ก็ยังเป็นที่เคลือบแคลง
จักรพรรดินีเอลิซาเบธไม่ได้ทรงตั้งพระองค์เป็นรัชทายาท อีกทั้งพระองค์ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับพระราชวงศ์รัสเซีย ซึ่งต่างจากจักรพรรดิปีเตอร์
หากว่ามีผู้อื่นที่มีสิทธิมากกว่าพระองค์มาทวงบัลลังก์ ปัญหายุ่งยากก็จะตามมา
กรกฎาคม ค.ศ.1762 (พ.ศ.2305) หลังจากที่จักรพรรดิปีเตอร์ถูกล้มล้างเพียงไม่นาน จักรพรรดินีแคทเธอรีนก็ทรงได้รับจดหมาย ทูลว่าจักรพรรดิปีเตอร์ได้สวรรคตแล้ว โดยสาเหตุการสวรรคตก็ยังเป็นปริศนา
จักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงตระหนักในทันทีว่าพระองค์จะต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสวรรคตของจักรพรรดิปีเตอร์ ซึ่งพระองค์ก็แก้สถานการณ์ ด้วยการประกาศว่าจักรพรรดิปีเตอร์สวรรคตจากเหตุธรรมชาติ และให้นำพระบรมศพของจักรพรรดิปีเตอร์ออกแสดงให้ประชาชนเห็น
วันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1762 (พ.ศ.2305) จักรพรรดินีแคทเธอรีนได้เข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นจักรพรรดินีแห่งรัสเซีย
ภายหลังจากครองราชย์ จักรพรรดินีแคทเธอรีนก็ทรงให้ดำเนินการตามแผนต่างๆ ที่พระองค์ทรงคิดไว้
ในเวลานั้น รัสเซียกำลังมีหนี้ท่วม โดยในช่วงสงคราม รัสเซียได้ยืมเงินจำนวนมากจากธนาคารในฮอลแลนด์ เหล่าทหารในกองทัพก็ยังไม่ได้รับเงินเดือนมาหลายเดือนแล้ว
จักรพรรดินีแคทเธอรีนได้ทรงประกาศว่าพระองค์จะไม่ขอรับเงินเดือนที่จักรพรรดินีจะต้องทรงได้ และให้นำเงินที่พระองค์จะต้องได้ กลับคืนสู่ท้องพระคลัง
ในแต่ละวัน พระองค์จะตื่นบรรทมไม่เกินหกโมง และทรงงานเป็นเวลาถึง 15 ชั่วโมง โดยพระองค์จะทรงศึกษาเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในรัสเซีย
1
ที่ผ่านมา คณะรัฐบาลของรัสเซียล้วนเต็มไปด้วยลูกท่านหลานเธอ มีแต่คนที่มาจากตระกูลใหญ่
แต่ในรัชสมัยของจักรพรรดินีแคทเธอรีน ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
จักรพรรดินีแคทเธอรีนได้ทรงหาคนที่มีความสามารถโดยไม่สนว่ามาจากตระกูลอะไร และพระราชทานตำแหน่งสำคัญให้ และพระองค์ยังทรงเชิญผู้คนจากทั่วรัสเซียให้เลือกผู้แทน เพื่อที่จะให้ผู้แทนในแต่ละพื้นที่มายังมอสโคว และบอกเล่าเรื่องราวสำคัญในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พระประมุขแห่งรัสเซียได้ให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการเลือกผู้แทน
ความทุ่มเทของพระองค์ ทำให้นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสรายหนึ่ง เรียกพระองค์ว่า “จักรพรรดินีแคทเธอรีน มหาราชินี (Catherine the Great)” และในไม่ช้า ทุกคนก็เรียกขานพระองค์เช่นนั้น
นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงพยายามจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวรัสเซีย โดยในรัชสมัยของพระองค์ มีการสร้างโรงเรียนหลายแห่ง และยังสร้างโรงพยาบาลอีกเป็นจำนวนมาก
แต่สิ่งหนึ่งที่พระองค์ยังไม่สามารถทำได้ คือการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนรัสเซียที่ยากจนที่สุด
นั่นคือ “เหล่าทาสติดที่ดิน”
เหล่าทาสติดที่ดินนี้ล้วนแต่มีเจ้าของ เจ้าของทาส ก็คือเจ้าของที่ดินที่เหล่าทาสทำงานและพักอาศัย
จักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงต้องการให้เหล่าทาสติดที่ดินเป็นอิสระ หากแต่การจะเปลี่ยนนั้นเป็นไปได้ยาก
หากพระองค์ทรงปลดปล่อยทาสทั้งหมด ตระกูลขุนนางและคริสตจักร ซึ่งล้วนแต่มีทาสเป็นจำนวนมาก ก็จะต่อต้านพระองค์ การจะเปลี่ยนจึงต้องเป็นไปอย่างช้าๆ
ในปีค.ศ.1762 (พ.ศ.2305) เหล่าทาสติดที่ดินก็กลายเป็นแรงงานอิสระ ทำงานให้เจ้าของที่ดิน
ในเวลานั้น ผู้คนหลายคนต่างคาดหวังให้จักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงอภิเษกสมรสอีกครั้ง ซึ่งผู้ที่หลายคนคาดเดาว่าพระองค์จะอภิเษกสมรสด้วย ก็คือกริกอรี ออร์ลอฟ ทหารคนสนิท ผู้ที่จงรักภักดีต่อพระองค์
เมื่อเป็นอย่างนี้ หลายคนจึงอิจฉาตระกูลออร์ลอฟ และคิดว่าหากจักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงอภิเษกสมรสกับกริกอรี ออร์ลอฟจริง ก็จะทำให้ตระกูลออร์ลอฟมีอำนาจมากเกินไป อีกทั้งออร์ลอฟก็ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์อีกด้วย
อีกผู้หนึ่งที่มีความเป็นไปได้ ก็คือสตานิสลอว โปเนียโทวสกี ผู้ซึ่งเป็นคนรักเก่าของพระองค์
โปเนียโทวสกีได้หวังว่าจักรพรรดินีแคทเธอรีนจะมีรับสั่งให้ตนกลับรัสเซีย ตนจะได้ครองรักกับจักรพรรดินีแคทเธอรีน หากแต่จักรพรรดินีแคทเธอรีน ไม่ต้องการจะอภิเษกสมรสอีกครั้ง และพระองค์มีพระราชประสงค์จะปกครองรัสเซียโดยลำพัง
แต่พระองค์ก็ทรงตระหนักว่าอาจจะใช้ประโยชน์จากโปเนียโทวสกีได้ พระองค์จึงมีพระราชประสงค์จะให้โปเนียโทวสกีขึ้นครองราชย์ เป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์
ที่โปแลนด์ กษัตริย์มาจากการเลือกตั้ง พระองค์จึงพระราชทานเงินให้โปเนียโทวสกีไปลงแข่งขันเลือกตั้ง และโปเนียโทวสกีก็ชนะการเลือกตั้ง ขึ้นเป็น “พระเจ้าสตานิสลอวที่ 2 เอากุสตุส (Stanisław August Poniatowski)”
พระเจ้าสตานิสลอวที่ 2 เอากุสตุส (Stanisław August Poniatowski)
รัสเซียนั้นกว้างใหญ่และทรงอำนาจกว่าโปแลนด์มาก และดูเหมือนว่า พระเจ้าสตานิสลอวที่ 2 ก็จำเป็นต้องใช้เงินอยู่เรื่อยๆ ซึ่งจักรพรรดินีแคทเธอรีนก็คอยสนับสนุนด้านการเงินอยู่ตลอด
1
การทำอย่างนี้ ทำให้จักรพรรดินีแคทเธอรีนสามารถควบคุมพระเจ้าสตานิสลอวที่ 2 ทำให้พระเจ้าสตานิสลอวที่ 2 ต้องภักดีต่อพระองค์ โดย “จักรพรรดิโจเซฟที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Joseph II, Holy Roman Emperor)” พระประมุขแห่งออสเตรีย และเป็นพันธมิตรของจักรพรรดินีแคทเธอรีน ก็ทรงเห็นด้วยกับแผนการที่จะผูกมิตรกับโปแลนด์
จักรพรรดิโจเซฟที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Joseph II, Holy Roman Emperor)
หากแต่ชาวโปแลนด์จำนวนมากไม่พอใจที่รัสเซียเข้าครอบงำโปแลนด์ พวกเขาจึงก่อกบฏ ซึ่งจักรพรรดินีแคทเธอรีนก็ทรงส่งทหารรัสเซียจำนวน 40,000 นายไปปราบกบฏ
ทหารรัสเซียได้ทำการขับไล่กองทัพกบฏออกไปจากเขตแดนโปแลนด์ ข้ามไปยังเขตแดนตุรกี ตุรกีจึงประกาศสงครามต่อรัสเซีย
จักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงคาดหวังว่าหากรัสเซียทำสงครามกับตุรกี รัสเซียก็มีโอกาสที่จะเอาชนะ และเข้าควบคุมคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกองทัพเรือรัสเซีย
ค.ศ.1770 (พ.ศ.2113) รัสเซียและตุรกีได้ทำสงครามทางทะเล โดยฝ่ายรัสเซียสามารถทำลายเรือฝ่ายตุรกีได้จำนวน 15 ลำ จากทั้งหมด 16 ลำ และทำให้ทหารเรือตุรกีเสียชีวิตกว่า 90,000 นาย ในขณะที่ฝ่ายรัสเซียเสียทหารเพียง 30 นาย
ชัยชนะของรัสเซีย ได้สร้างความหวาดกลัวให้ประเทศอื่นๆ ในยุโรป ที่ต่างก็เกรงว่าจักรพรรดินีแคทเธอรีนจะทรงขยายดินแดนเข้ามายังประเทศของตน จึงได้มีการจัดประชุม หาทางตกลงกับจักรพรรดินีแคทเธอรีน
จักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงตอบตกลงที่จะเข้าร่วมประชุมกับจักรพรรดิโจเซฟที่ 2 และ “พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 แห่งปรัสเซีย (Frederick the Great)”
พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 แห่งปรัสเซีย (Frederick the Great)
พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 ทรงมีข้อตกลงที่จะทำให้ทุกชาติพอใจมาเสนอ
จะมีการแบ่งดินแดนโปแลนด์ออกเป็นส่วนๆ โดยจักพรรดินีแคทเธอรีน จะได้ปกครองภาคตะวันออกซึ่งประชาชนส่วนมากนับถือคริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์ ส่วนพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 จะทรงปกครองดินแดนที่มีเนื้อที่ 13,000 ตารางไมล์ และมีผู้คนที่นับถือโปรเตสแตน์อีกราว 600,000 คน ส่วนจักรพรรดิโจเซฟที่ 2 ก็ปกครองพื้นที่ทางใต้ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือคาทอลิก
พระเจ้าสตานิสลอวที่ 2 ทรงเห็นด้วยและไม่ติดขัด หากแต่ชาวโปแลนด์ต่างโกรธแค้น และหลายคนก็สาบานว่าจะไม่ยอมให้โปแลนด์ถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ อีก
ในเวลานี้ รัสเซียมีอาณาเขตยาวไกลถึงทะเลดำ หากแต่การสงครามก็ได้นำพาโรคระบาดเข้ามาด้วย โดยทหารรัสเซียที่สู้รบในตุรกี ได้ติดกาฬโรค และนำพาโรคนี้กลับมายังรัสเซียด้วย
ในเวลาไม่กี่เดือน ผู้คนในมอสโควเสียชีวิตจากกาฬโรควันละเกือบ 1,000 คน ศพผู้คนนอนกองกันริมถนน ประชาชนที่ยังรอดชีวิต ต่างก็โทษแพทย์ และไม่เชื่อฟังคำแนะนำของแพทย์อีกต่อไป
จักรพรรดินีแคทเธอรีนก็ทรงหนักพระทัย แต่ในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายนี้เอง กริกอรี ออร์ลอฟก็ได้ช่วยพระองค์อีกครั้ง
ออร์ลอฟได้ออกคำสั่งที่เข้มงวดแก่ประชาชน โดยประชาชนต้องเชื่อฟังแพทย์ และให้มีการแยกผู้ป่วยออกจากคนปกติ เพื่อไม่ให้การระบาดกระจายวงกว้าง
จากนั้น ออร์ลอฟก็สั่งให้เผาบ้านและเสื้อผ้าของผู้ติดเชื้อ และให้จัดการกับศพผู้เสียชีวิต
ออร์ลอฟนั้น ถึงแม้จะเข้มงวด แต่ก็อ่อนโยนและเข้าอกเข้าใจ ชาวรัสเซียจึงเห็นว่าเขาตั้งใจจะช่วยจริงๆ หลายคนจึงเชื่อฟังเขา
ภายในเวลาไม่นาน ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็ลดลงเรื่อยๆ และมอสโควก็รอดจากหายนะนี้มาได้ โดยออร์ลอฟ ก็ได้รับความดีความชอบจากเหตุการณ์นี้
1
1 ตุลาคม ค.ศ.1772 (พ.ศ.2315) เจ้าชายพอล พระราชโอรสในจักรพรรดินีแคทเธอรีน ได้มีพระชนมายุครบ 18 พรรษา
จักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงเริ่มมองหาคู่ให้เจ้าชายพอล โดยพระองค์ทรงหวังให้เจ้าชายพอลมีพระราชบุตร เพื่อที่จะสืบต่อบัลลังก์
แต่เนื่องจากเจ้าชายพอลนั้นถูกพรากไปจากอ้อมอกของจักรพรรดินีแคทเธอรีนตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์จึงไม่ได้มีความผูกพันกับพระราชมารดานัก หากแต่กลับไปชื่นชมจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 พระราชบิดาที่พระองค์แทบจำไม่ได้ด้วยซ้ำ
เจ้าชายพอล (ภาพจากภาพยนตร์)
เจ้าชายพอลทรงเริ่มเลียนแบบสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจักรพรรดิปีเตอร์ ซึ่งนั่นก็รวมถึงพระประสงค์ที่จะเป็นชาวปรัสเซีย และนอบน้อมต่อกษัตริย์แห่งปรัสเซีย
การกระทำของเจ้าชายพอล ทำให้เหล่าข้าราชสำนักไม่พอใจ และทำให้จักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงลังเลว่าเจ้าชายพอล สมควรขึ้นเป็นจักรพรรดิในอนาคตหรือไม่
ในเดือนกันยายน ค.ศ.1773 (พ.ศ.2316) ได้มีผู้อ้างว่าตนคือจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 อดีตพระราชสวามีของจักรพรรดินีแคทเธอรีน
ชายผู้นั้นคือ “เยเมลยาน ปูกาเชฟ (Yemelyan Pugachev)”
เยเมลยาน ปูกาเชฟ (Yemelyan Pugachev)
ปูกาเชฟนั้นเคยอยู่กองทหารม้ารัสเซีย ก่อนจะหนีทัพไปยังเมืองโอเรนบุร์ก
ในเวลานั้น โอเรนบุร์กยังเป็นป่าดง ไม่ได้พัฒนามากนัก ซึ่งก็มีคนที่หลงเชื่อปูกาเชฟและเข้าร่วมกับปูกาเชฟนับพัน
คนที่เข้าร่วมกับปูกาเชฟ ไม่มีใครเคยเห็นจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 จริงๆ พวกเขาไม่รู้ว่าพระองค์มีพระพักตร์เช่นไร จึงหลงเชื่อว่าปูกาเชฟคือจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 จริงๆ
ปูกาเชฟอ้างว่าจักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงพยายามจะสังหารเขา เนื่องจากเขามีแผนจะปลดปล่อยเหล่าทาสทั้งหมด หากแต่เขาหนีมาได้ทัน
เมื่อคนจำนวนมากหลงเชื่อ ปูกาเชฟจึงอ้างตนเป็นจักรพรรดิเต็มที่ แต่งกายและแสดงท่าทางเช่นองค์จักรพรรดิ และยังแต่งตั้งยศให้เพื่อนๆ ของตน ผู้ที่ติดตามก็หลงเชื่อ มีการทำเหรียญทองคำใช้แทนเงินตราของตนเอง
เหล่าผู้ติดตามเชื่อจริงๆ ว่าเขาคือจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 พวกเขาชื่นชอบในการที่ปูกาเชฟยืนหยัดข้างคนยากคนจน ซึ่งปูกาเชฟก็ยุให้พวกเขาลุกขึ้นสู้ และฆ่าเจ้าของที่ดินที่คอยกดขี่
ทางด้านมอสโคว จักรพรรดินีแคทเธอรีนที่ทรงได้ยินข่าวนี้ ก็ส่งแม่ทัพและกองทัพเล็กๆ ไปจัดการกับปูกาเชฟ หากแต่พระองค์ทรงประเมินปูกาเชฟต่ำเกินไป
ในปีค.ศ.1774 (พ.ศ.2317) ปูกาเชฟมีผู้ติดตามกว่า 15,000 คน ทำให้จักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงหวั่นพระทัย
จักรพรรดินีแคทเธอรีนได้ทรงส่งทหารไปมากกว่าเดิม และคราวนี้ ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1774 (พ.ศ.2317) ปูกาเชฟก็ล่าถอยและหลบหนีไป โดยปูกาเชฟหนีไปทางเทือกเขาอูราลพร้อมผู้ติดตามอีกราว 2,000 คน
อีกสี่เดือนต่อมา ปูกาเชฟก็กลับมาอีกครั้ง โดยคราวนี้ เขารวบรวมคนได้อีกกว่า 20,000 คน หากแต่ก็ไม่สามารถเอาชนะกองทัพรัสเซียได้
1
ปูกาเชฟถูกจับกุม และถูกคุมตัวในกรง ส่งกลับไปพิจารณาโทษยังรัสเซีย ซึ่งปูกาเชฟก็ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ.1775 (พ.ศ.2318)
จักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงอภัยโทษให้เหล่ากบฏคนอื่นๆ หากแต่จากเหตุการณ์นี้ ก็ทำให้พระองค์ทรงเชื่อยิ่งขึ้นว่ารัสเซีย จำเป็นต้องมีผู้ปกครองที่เข้มแข็ง ซึ่งพระองค์ก็ต้องเป็นเช่นนั้น
ปีต่อมา เจ้าชายพอลได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงปรัสเซียพระองค์หนึ่ง และมีพระโอรสด้วยกัน นั่นคือ “เจ้าชายอเล็กซานเดอร์ (Alexander)”
ครั้งนี้ จักรพรรดินีแคทเธอรีนจะไม่ทรงพรากลูกจากแม่ เหมือนเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงเคยโดนมาก่อน และพระองค์ก็ทรงรักและทุ่มเทกับพระราชนัดดา
1
จักรพรรดินีแคทเธอรีนซึ่งเริ่มอยู่ในวัยชรา ทรงใช้เวลาว่างเล่นกับพระราชนัดดา เพื่อผ่อนคลายความเครียดต่างๆ และจากความเศร้าที่ออร์ลอฟ ผู้ซึ่งซื่อสัตย์กับพระองค์มาตลอด ได้ตายจากไป
ในปีค.ศ.1783 (พ.ศ.2326) พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ “กริกอรี โพเทมคิน (Grigory Potemkin)” คู่รักคนล่าสุดของพระองค์ ให้เดินทางไปทางใต้ทางทะเลดำเพื่อยึดครองดินแดนเพิ่ม ซึ่งก็สำเร็จ โพเทมคินสามารถยึดคาบสมุทรไครเมียได้สำเร็จ
กริกอรี โพเทมคิน (Grigory Potemkin)
ในเวลาต่อมา ตุรกีได้เล็งเห็นว่าจักรพรรดินีแคทเธอรีนจะเป็นภัยในอนาคต ดังนั้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1787 (พ.ศ.2330) จึงประกาศสงครามต่อรัสเซียอีกครั้ง ตามมาด้วยสวีเดนที่ประกาศสงครามต่อรัสเซีย โดยหวังว่าจะตีดินแดนทางเหนือมาได้
สองปีต่อมา สวีเดนก็พ่ายแพ้ และจักรพรรดินีแคทเธอรีนก็ทรงมีรับสั่งให้โพเทมคินไปเจรจาสันติภาพกับตุรกี หากแต่โพเทมคินก็ล้มป่วยและเสียชีวิตเสียก่อน สร้างความตกพระทัยให้จักรพรรดินีแคทเธอรีนอย่างมาก
1
มกราคม ค.ศ.1792 (พ.ศ.2335) จักรพรรดินีแคทเธอรีนได้ทรงลงนามสัญญาสันติภาพกับตุรกี และรัสเซียก็ได้ดินแดนเพิ่ม หากแต่พระองค์ก็ทรงโดดเดี่ยวเมื่อปราศจากชายที่รัก
ในปีค.ศ.1796 (พ.ศ.2339) จักรพรรดินีแคทเธอรีนทรงเป็นจักรพรรดินีมาแล้วกว่า 35 ปี โดยในเวลานี้ พระองค์มีพระชนมายุกว่า 67 พรรษา
16 พฤศจิกายน ค.ศ.1796 (พ.ศ.2339) พระองค์ทรงตื่นบรรทมตามปกติและเสวยกาแฟ และเสด็จไปยังห้องแต่งตัว
แต่เมื่อเวลาผ่านไป พระองค์ก็ไม่เสด็จออกมาซักที เหล่าคนรับใช้จึงไปตาม และพบว่าพระองค์ทรงล้มอยู่กับพื้น เหล่าคนรับใช้จึงรีบอุ้มพระองค์ไปบนเตียง
จักรพรรดินีแคทเธอรีนสวรรคตในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1796 (พ.ศ.2339) ด้วยอาการอุดตันของเส้นเลือดในพระสมอง
เจ้าชายพอลได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ต่อมาแห่งรัสเซีย
ในทุกวันนี้ จักรพรรดินีแคทเธอรีน ก็ยังคงเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในพระประมุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งรัสเซีย โดยตลอดรัชสมัยของพระองค์ รัสเซียกลายเป็นหนึ่งในชาติที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก ขยายดินแดนออกไปได้กว้างไกล
นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงปรับปรุงสิ่งต่างๆ ในรัสเซีย มีการสร้างโรงพยาบาลและโรงเรียนจำนวนมาก
เมื่อคราวที่จักรพรรดินีแคทเธอรีนเสด็จมาถึงรัสเซียใหม่ๆ เมื่อคราวที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ไม่ทรงแน่พระทัยว่าอนาคตของพระองค์จะเป็นอย่างไร
แต่พระองค์ก็ทรงเชื่อมั่นในองค์เอง และประสบความสำเร็จในทุกด้าน
พระองค์สามารถคว้าบัลลังก์แห่งรัสเซีย และที่สำคัญ พระองค์ทรงคว้าใจของประชาชนชาวรัสเซียมาได้อีกด้วย
นั่นทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องเป็น “มหาราชินี”
1
โฆษณา