7 ส.ค. 2021 เวลา 00:42 • ไลฟ์สไตล์
“มาคารอง” กับประธานาธิบดีฝรั่งเศส
Macaron จะออกเสียงว่า มา-คา-รอง หรือ มา-กา-รอง ก็ตามแต่จะเรียกกัน ขนมที่มีสีสันสวยสดใส มีมากมายหลายรส เห็นแล้วก็เลือกไม่ค่อยถูกเพราะดูน่ากินไปหมด
ขอบคุณภาพประกอบจาก howdoyousaythatword.com
ท่านประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบันคือนาย Emmanuel Macron ซึ่งเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสคืออายุเพียง 40 ปีแต่ก็ชนะการเลือกตั้งมาด้วยคะแนนนิยมกว่า 66 เปอร์เซ็นต์ ท่านเป็นผู้ที่มีเรื่องเกี่ยวพันกับขนมมาคารองหลายเรื่องอยู่
“มาคารอง” ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นขนมของชาติฝรั่งเศส แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า มาคารองนั้นต้นกำเนิดเป็นขนมของอิตาลี ในยุครุ่งเรืองของการค้าทางทะเลนั้น อัลมอนด์ได้ถูกนำมาจากชาติอาหรับผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาสู่อิตาลี ทำให้เกิดขนมที่ทำจากแป้งอัลมอนด์ มีลักษณะเป็นขนมปังแป้งกรอบหรือบิสกิต เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงของอิตาลี
เชื่อกันว่าขนมแป้งกรอบที่ว่าได้ข้ามพรมแดนอิตาลีไปสู่ฝรั่งเศสในปี 1533 เมื่อพระนาง Catherine de Medici ของอิตาลีได้เสกสมรสกับพระเจ้า Henry II ของฝรั่งเศส และพระนางได้นำขนมบิสกิตอิตาเลี่ยนนี้มาเผยแพร่แก่ราชสำนักฝรั่งเศส
ขนมมาคารองในระยะแรกนั้นเป็นเพียงขนมแป้งกรอบ ขนมมาคารองอย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้นั้นเริ่มไม่ปี 1862 เมื่อ Louis Ernest Ladurée เปิดร้านเบเกอรี่ขึ้นที่ถนน Royale ในกรุงปารีส Jeanne Souchard - ภริยาของ Louis Ernest เกิดมีความคิดพี่จะเอาขนมและเครื่องดื่มมาไว้ในร้านเดียวกันเพื่อให้คนในสังคมโดยเฉพาะสุภาพสตรีได้นั่งสังสรรค์กัน จึงได้เปิดเป็นร้านน้ำชาแห่งแรกในกลุ่มปารีสขึ้นมา
แต่ขนมมาคารองที่ขายในร้าน Ladurée นั้นก็ยังเป็นมาคารองแบบเดิมที่เป็นขนมแป้งกรอบ จนกระทั่ง Pierre Desfontaines หลานของ Louis Ernest จับเอาขนมแป้งกรอบมาประกบกันแล้วใส่ไส้ ganache (เป็นส่วนผสมของช็อกโกแลตและวิปปิ้งครีม)ไว้ตรงกลางเหมือนแซนวิช กลายเป็นขนมชนิดใหม่และได้รับความนิยมไปทั่วทั้งกรุงปารีส
ขอบคุณภาพประกอบจาก swankyrecipes
กิจการของร้าน Ladurée ก็เจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้ มีร้านสาขามากมายหลายแห่งทั้งในและนอกประเทศฝรั่งเศส ร้าน Ladurée ก็เคยมาเปิดที่เมืองไทยด้วย แต่ก็ปิดร้านกลับกรุงปารีสไปในปี 2563 และด้วยผลของโควิด Ladurée ก็คงจะปิดกิจการลงทุกสาขาทั่วโลกและขายทางออน์ไลน์แทน
ส่วนที่เป็นแป้งที่ประกบขนมมาคารองนั้นไม่ใช่แป้งธรรมดานะครับ แต่เป็นแป้งที่ทำจากเม็ดอัลมอนด์มาตีกับไข่ขาว ดังนั้น เวลารับประทานก็จะต้องได้รสสัมผัสและความหอมของอัลมอนด์ เมื่อกัดเข้าไปต้องไม่แตกร่วนร่วงหล่นออกมา ฝีมือการทำมาคารองได้ดีหรือไม่ดีก็อยู่ตรงนี้แหละครับ
ขนมมาคารองนิยมทานเป็นคำ ๆ ค่อย ๆ กินเพื่อลิ้มรสชาติของเปลือกและไส้ ส่วนไส้นั้นก็แล้วแต่ชอบ ถ้าแบบฝรั่งไส้จะหวานจัด แต่ถ้าเป็นแบบเอเชีย ไส้จะหวานเบาบางกว่า
มาคารองที่วางขายจะมีสีสันต่าง ๆ เหมือนลูกกวาด ยิ่งวางไว้ด้วยกันในตู้โชว์เป็นสีต่าง ๆ สวยงามน่ากินจนเลือกไม่ถูก อันนี้ก็แล้วแต่ว่า เชฟเขาจะทำเป็นรสอะไรออกมาก็จะทำและแต่งกลิ่นของรสนั้นเป็นสีต่าง ๆ
เมื่อทานเป็นคำ ๆ ระหว่างที่ลิ้มรสไปแต่ละคำก็ต้องมีเครื่องดื่มไว้จิบแก้ความหวานและติดคอ เครื่องดื่มที่นิยมรับประทานกับมาคารองมีอยู่ 3 อย่างคือ
1. ชา เป็นเครื่องดื่มคู่ขวัญกันมาตั้งแต่เริ่มแรก ชาฝรั่งเศสนั้นจะไม่เข้มเหมือนของอังกฤษ ที่นิยมก็จะเป็นชาดำ เอามาใส่นมหรือใส่มะนาวฝานสักแว่นตามชอบ แต่ถ้าหาชาฝรั่งเศสไม่ได้ ชอบทานกับชาอังกฤษหรือแม้แต่ชาเขียวก็ไม่ได้ผิดกติกาอันใด หรือลองกับชาไทยก็เป็นฟิวชั่นไปอีกแบบ
มาคารองรสต่าง ๆ นั้นก็เหมาะกับเครื่องดื่มแต่ละประเภท Pierre Hermé ซึ่งเป็นเชฟชื่อดังและเจ้าของร้านขนมมาคารองที่ดังพอ ๆ กับ Ladurée ในกรุงปารีส(มาเปิดร้านที่เมืองไทยแล้วเหมือนกัน) แนะนำไว้ว่า มาคารองรสดั้งเดิมทั้งหลายเช่น ช็อคโกแลตหรือเฮเซลนัท กินกับน้ำชาได้ทุกรส แต่ถ้าเป็นชาเขียว นี้จะเหมาะกับ มาคารอง รสราสเบอรี่ เชอรี่ เสาวรส อะไรพวกนี้มากกว่า
2. กาแฟ คนฝรั่งเศสนิยมกินกาแฟมากกว่าชา เพราะฉะนั้นจึงมีร้านกาแฟอยู่ทั่วเมือง ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในบ้านเราปี 2475 สมัยที่พวกผู้ก่อการเป็นนักเรียนอยู่ในฝรั่งเศสก็ไปพบปะวางแผนกันที่ร้านกาแฟเช่นเดียวกัน
ขอบคุณภาพประกอบจาก Diane Plante Bruneault
Pierre Hermé บอกว่า มาคารองรสที่เหมาะกับกาแฟได้แก่วนิลา พิสตาชิโอ และรสกาแฟ ส่วนพวกรสดอกไม้เช่น ลาเวนเดอร์ จะเหมาะกับกาแฟที่มีรสอ่อนออกมาหน่อย
3. แชมเปญ แปลกแต่จริง มาคารองก็เข้ากับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ประเภทแชมเปญ แต่แชมเปญก็มีหลายชนิด Pierre Hermé แนะนำว่าถ้าเป็นมาคารองที่มีรสไม่หวานก็เหมาะกับแชมเปญชนิดที่เรียกว่า Brut คือมีรสชาติไม่หวาน(dry) ถ้าเป็นมาคารองรสหวาน ก็ให้ทานกับแชมเปญชนิด Demi-Sec (semi-dry) หรือ Doux (sweet) ถ้ามาคารองมีรสผลไม้ก็ให้ทานคู่กับแชมเปญประเภท Demi-Sec
ขนมมาคารองทุกวันนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศสไปแล้ว นอกจาก Ladurée และ Pierre Hermé แล้วก็ยังมีร้านขายมาคารองอยู่ทั่วทุกมุมเมือง ใครไปถึงฝรั่งเศสแล้วไม่ได้กินขนมมาคารองก็เหมือนมาไม่ถึงฝรั่งเศส
ในเมืองไทย ก็มีร้านที่ทำขนมมาคารองที่มีชื่อเสียงอยู่หลายร้าน ซึ่งนอกจากจะมีไส้มาตรฐานอย่างเช่น ช็อคโกแลต มะนาว ส้ม กุหลาบ ฯลฯ แล้ว ยังมีไส้แบบใหม่ ๆ ให้ลิ้มลองเช่น ชาไทย ข้าวเหนียวทุเรียน ไปจนกระทั่งฟรัวการ์ ทรัฟเฟิล จนถึงล็อบสเตอร์!!!
ขอบคุณภาพประกอบจากร้าน Karrat
ขนมมาคารองเกี่ยวข้องกับประธานาธิบดีของฝรั่งเศสอย่างไร? คงจะทราบกันแล้วนะครับว่า ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของประเทศฝรั่งเศสคือนาย Emmanuel Macron
นามสกุลของท่านประธานาธิบดีนั้นไปพ้องเสียงเกือบจะเหมือนมาคารอง ขนมชื่อดังของประเทศ ที่จริงนามสกุลของท่านประธานาธิบดีคือ Macron ออกเสียงว่า มา-ครง แต่ที่เป็นขนมจะสะกดว่า Macaron และออกเสียงว่า มา-คา-รอง ตอนได้รับเลือกตั้งใหม่ ๆ พวกนักข่าวต่างประเทศหลายคนเขียนนามสกุลของท่านเป็น Macaron เป็นที่ตลกขบขันกันทั่วหน้า
ถึงแม้ท่านประธานาธิบดีจะไม่ได้เกี่ยวกับขนม แต่นาง Brigitte Trogneux ผู้เป็นศรีภรรยาของท่านก็มีเชื้อสายมาจากคนทำมาคารองเหมือนกันคือ นาย Jean Trogneux เป็นผู้มีชื่อเสียงในการทำ Macarons d’Amiens ซึ่งเป็นมาคารองแบบท้องถิ่นอย่างหนึ่ง ร้าน Jean Trogneux Chocolatiers เป็นร้านขนมเก่าแก่มีอายุอานามถึง 5 ชั่วอายุคนแล้วคือ เปิดขายมาตั้งแต่ปี 1872
ขอบคุณภาพประกอบจาก boredpanda
ขนมมาคารองมีสีสดใส มีรสให้เลือกมากมาย ค่อย ๆ ลิ้มรสความหอมและความกรอบของแป้งที่เหนียวเล็กน้อยพร้อมกับไส้หวาน ๆ ที่คุณชอบ สลับฉากด้วยเครื่องดื่มถ้วยโปรด ก็ทำให้บ่ายของคุณวันนี้น่าอภิรมย์ลืมเรื่องความน่าเบี่อของภาวะล็อคดาวน์ไปได้
เรื่องตอนที่แล้ว “กิน “น้ำพริก” แล้วไม่ติดโควิด” อ่านได้ที่
Gourmet Story - เรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่เป็นเกร็ดความรู้ เล่าสู่กันฟัง เพิ่มความอร่อยของอาหารที่เรารับประทาน ติดตามได้ที่
โฆษณา