7 ส.ค. 2021 เวลา 03:00 • ธุรกิจ
RFID คืออะไร?
RFID คือเทคโนโลยีในการบ่งชี้แบบหนึ่ง ย่อมาจาก Radio Frequency Identification วัตถุประสงค์หลักเพื่อนำมาใช้ ติดกับวัตถุต่างๆ เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนเฉพาะเจาะจง หรือเป็นหมายเลขประจำตัว เช่นใช้แทนฉลาก หรือรหัสแท่ง (Bar Code) ที่ติดกับสินค้า หรือใช้เป็นป้ายที่ติดกับใบหูของสัตว์เลี้ยง การทำงานของ RFID อาศัยคลื่นวิทยุ โดยจะมีส่วนประกอบสำคัญคือ เครื่องอ่าน กับ แท็ก โดยแท็กจะมีการส่งข้อมูลที่เป็นเอกลักษณ์หรือหมายเลขประจำตัวออกมาเป็นคลื่นวิทยุเมื่อถูกกระตุ้นด้วยกระบวนการบางอย่างจากเครื่องอ่าน สำหรับเครื่องอ่านจะมีส่วนที่รับสัญญาณคลื่นวิทยุได้เพื่อถอดรหัสข้อมูลที่ส่งมาจากแท็ก
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการใช้งาน RFID ให้มีความสามารถมากขึ้น เช่นการนำไปใช้งานกับบัตรสมาร์ตคาร์ดเป็นบัตรสมาร์ทคาร์ดแบบไร้หน้าสัมผัส (Contactless Smart Card) ทำให้นอกจากจะมีการรับส่งข้อมูลหมายเลขประจำตัวแล้ว ก็ยังสามารถติดต่อสื่อสารและเขียนอ่านข้อมูลที่มีปริมาณมากกว่าเดิมได้
คลื่นวิทยุที่ใช้ในระบบ RFID มีช่วงความถี่กี่ประเภท?
RFID สามารถใช้คลื่นวิทยุได้หลากหลายช่วงความถี่ แต่ที่นิยมกันมาก จะมีอยู่ 3 ช่วงความถี่ต่อไปนี้
ความถี่ต่ำ (Low Frequency) เรียกย่อๆ ว่า LF เป็นความถี่ในช่วง 125 KHz
ความถี่สูง (High Frequency) เรียกย่อๆ ว่า HF เป็นความถี่ในช่วง 13.56 MHz
ความถี่สูงมาก (Ultra High Frequency) เรียกย่อๆ ว่า UHF เป็นความถี่ในช่วง 860-960 MHz
1. คลื่นความถี่ต่ำ (LF) 125 KHz เป็นความถี่ที่มีการใช้งานทั่วไปในระบบของ RFID มีระยะในการรับส่งข้อมูลใกล้ ความเร็วในการอ่านค่อนข้างช้า ใช้มากในระบบ Access Control เช่นระบบควบคุมการเปิดปิดประตู หรือระบบคีย์คาร์ด, ระบบลงเวลาทำงาน, บัตรสมาชิก และใช้งานทางด้านปศุสัตว์
2. คลื่นความถี่สูง(HF) 13.56 MHz ใช้มากในงานทางด้านไอที และงานที่ต้องการความปลอดภัยสูง เช่นใช้งานในบัตรสมาร์ทคาร์ดแบบไร้หน้าสัมผัส (Contactless Smart Card) ซึ่งนิยมนำไปใช้เป็นบัตรเงินสด, บัตรเครดิต และบัตรโดยสารรถไฟฟ้า และมีการใช้งานเป็นแท็กตามมาตรฐาน NFC สำหรับโทรศัพท์มือถือ และใช้งานเป็นป้ายสินค้า
3. คลื่นความถี่สูงมาก (UHF) 860-960 MHz สามารถใช้งานได้ในระยะที่ไกลกว่าช่วงความถี่อื่น นิยมใช้งานเป็นป้ายสินค้าตามมาตรฐาน EPC ซึ่งถูกกำหนดมาให้ใช้งานแทนระบบบาร์โค้ด ดังนั้นจึงมีการใช้งานกันมากในงานทางด้านคลังสินค้า การผลิต และการจัดจำหน่าย
แท็ก (Tags) คืออะไร?
ท็กคือชิ้นวัสดุที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์อยู่ภายในและมีคุณสมบัติสามารถรับส่งข้อมูลกับเครื่องอ่านได้ผ่านทางคลื่นวิทยุ โดยอาจใช้คลื่นความถี่เท่าใด หรือใช้กระบวนการสื่อสารแบบใดก็ได้ และจะมีแบตเตอรีอยู่ภายในหรือไม่ก็ได้ รูปร่างก็มีได้หลากหลายแล้วแต่ความต้องการในการใช้งาน
แท็กสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ Active Tags กับ Passive Tags
Active Tag คือแท็กที่มีแหล่งจ่ายไฟในตัวเอง เช่น มีแบตเตอรีอยู่ภายใน ทำให้แท็กชนิดนี้โดยมากจะสามารถรับส่งข้อมูลได้ในระยะไกล ในระดับเมตรขึ้นไปจนถึงหลายสิบเมตร ตัวอย่างเช่น แท็ก Easy Pass ที่เราติดไว้ที่หน้ากระจกรถเพื่อใช้กับระบบทางด่วน จะเป็นแท็กแบบนี้ Active Tag จึงมักมีขนาดที่ใหญ่ และมีราคาที่สูงกว่าแท็กแบบธรรมดา
แท็กแบบ Passive คือแท็กแบบทั่วๆ ไป มักมีลักษณะแบน และมีขนาดเล็ก ภายในจะไม่มีแหล่งพลังงานเป็นของตัวเอง (ไม่มีแบตเตอรี) ต้องอาศัยพลังงานจากคลื่นวิทยุที่ส่งมาจากเครื่องอ่าน แท็กประเภทนี้มักมีระยะทำงานอยู่ในช่วง 1 cm ขึ้นไปจนถึงประมาณ 1 เมตร (แต่หากใช้เครื่องอ่านที่มีสายอากาศขนาดใหญ่ อาจใช้งานได้ไกลกว่านี้) ตัวอย่างของแท็กแบบ Paasive นี้ เช่นบัตรทาบสำหรับเปิดปิดประตู (Proximity Card) บัตรสมาร์ทคาร์ดแบบไร้หน้าสัมผัส (Contactless Smart Card) และแท็กของ NFC เป็นต้น
โดยทั่วไปเราจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าแท็กหรือเครื่องอ่านมีใช้งานอยู่นั้นใช้ความถี่หรือมาตรฐานใดในการทำงาน นอกเสียจากการดูจากคู่มือการใช้งาน
ซึ่งนอกจากเรื่องของความถี่แล้ว วิธีการสื่อสารของแท็กและเครื่องอ่านยังมีอยู่หลายมาตรฐาน เช่นที่ความถี่ HF เหมือนกัน ก็ยังมีโปรโตคอลในการสื่อสารหลายแบบ ซึ่งไม่สามารถใช้งานแทนกันได้ ขึ้นอยู่กับชิปที่อยู่ภายใน ดังนั้นการจะเลือกซื้อเครื่องอ่านหรือแท็ก ควรต้องมีการเปิดดู Specification เปรียบเทียบกัน หรือนำเครื่องอ่านและแท็กที่จะใช้มาลองทดสอบพร้อมกัน
หากท่านสนใจศึกษาเทคโนโลยี RFID เพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ บริษัท แมทช์พอยต์ จำกัด ที่เว็บไซต์ https://www.matchpoint.co.th
โฆษณา