Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
linxikun
•
ติดตาม
6 ส.ค. 2021 เวลา 22:43 • ประวัติศาสตร์
โอเค เบตง (OK Betong)
2525-2564/1982-2021
🎉3️⃣9️⃣ปี#เส้นทางช่างศิลป์
จาก ช่างศิลป์ >> สู่ >>Vm
บนหนทางอันยาวไกล นับพันนับหมื่นกิโล
ผ่านรอยต่อแห่งกาลเวลา และยุคสมัยที่แปรเปลี่ยน
ขออนุญาตยืมชื่อหนังสุดคลาสสิกของพี่อุ๋ย นนทรีย์ รุ่นพี่ช่างศิลป มาใช้จั่วหัวเรื่องการผจญภัยกับการเดินทางไกลนับพันนับหมื่นกิโล ของอดีตเด็กหนุ่มผมยาวสุดเซอร์ ผู้เปี่ยมไปด้วยไฟแห่งฝันและจินตนาการ
เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน
คำขวัญประจำอำเภอเบตง
เบตง หรือ Buluh Betong ในภาษามาลายู และ 勿洞 Wù dòng หมุกตั่ง ในสำเนียงแต้จิ๋ว
เช้าวันหนึ่งในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2527-2535 หลังจากจัดการกับกวยจั๊บเจ้าอร่อย ข้างโรงแรมยะลารามา ที่ใช้เป็นที่พักเรียบร้อยแล้ว ก่อนเตรียมอุปกรณ์เพื่อเดินทางไปจัดดิสเพลย์ยัง อ.เบตง ใต้สุดแคว้นแดนสยาม
ที่ท่ารถแท็กซี่ ยะลา-เบตง ค่าโดยสารจำได้ว่าตอนนั้นคนละ 80 บาท พอผู้โดยสารมาครบตามจำนวนที่นั่ง
รถแท็กซี่เบนซ์หางปลาคันโก้
ก็เริ่มเคลื่อนตัวออกจากคิวรถกลางเมืองยะลา ใช้เส้นทางทางหลวงหมายเลข 410 ผ่าน อ.บันนังสตา อ.ธารโต และ อ.เบตง จุดหมายปลายทาง ในช่องประตูรถและหลังเบาะหน้าจะมีถุงพลาสติกใส่ไว้หลายใบ สำหรับคนที่เมารถไว้อาเจียน
บิล(เปล่า)โรงแรมยะลารามา 拉瑪大酒店 Lā mǎ dà jiǔdiàn ลา มา ไต่ จิ้ว เตี่ยม ทุกครั้งที่พักนอกจากทางโรงแรมจะออกบิลค่าที่พักปกติให้แล้ว ทางเราจะขอบิลเปล่าเผื่อบิลจริงหายไว้ด้วย เนื่องจากเวลาเดินสายจัดร้านในแต่ละภาค จะใช้เวลาเกินสัปดาห์ถึงเกือบเดือน
มาในนามช่างศิลป์ไนกี้ เมื่อวันที่ 10 /7/ 2533 เขียนชื่อผู้เขียนผิด แต่มีขอบิลเปล่ามาด้วย บางครั้งความรีบเร่งทำให้เกิดความผิดพลาดได้
ภาพปัจจุบันของโรงแรมยะลารามา ขอบคุณภาพประกอบจาก FB : โรงแรมยะลารามา YALA RAMA HOTEL
แท็กซี่เบ๊นซ์ หางปลาเกียร์พวงมาลัย สุดแสนคลาสสิก ตำนานกว่า 50 ปี ของผู้คนชายแดนใต้ ขอบคุณภาพประกอบจาก paaktai.com
เพราะระยะทาง 140 กม.นั้น มีโค้งตัวเอสเกือบตลอดทาง คนเมาหรือไม่เมารถอาจอาเจียนเอาได้ง่ายๆ โชคดีที่ผู้เขียนชินกับการเดินทางสมบุกสมบันมาทุกรูปแบบ จึงไม่สะทกสะท้านมีเพียงแค่การลุ้นทุกครั้งที่พี่โชเฟอร์ขับตัดโค้ง เพราะ
เส้นทางคดเคี้ยวมากแทบจะเรียกได้ว่า
โค้งชนโค้ง
แต่ด้วยภูมิทัศน์ตลอดสองข้างทางที่สวยงามเต็มไปด้วยธรรมชาติป่าเขาที่สมบูรณ์ ผ่านเขื่อนบางลางที่ชุ่มฉ่ำสวยงามตระการตา ตลอดช่วงที่เลียบไปกับ*แม่น้ำปัตตานี ทำให้เพลิดเพลินเกินกว่าจะเมารถได้
สามแยกกาโต Kato บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 สาย ยะลา-เบตง ซ้ายมือคือแม่น้ำปัตตานี ที่มาภาพ Google Map
Signboard of Southernmost of Thailand ป้ายใต้สุดสยาม ตั้งอยู่บริเวณชายแดนระหว่างอำเภอเบตงกับรัฐเปรัคประเทศมาเลเซีย ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7 กิโลเมตร สร้างจากหินอ่อน มีการสลักสัญลักษณ์เป็นรูปแผนที่ประเทศไทยและข้อความด้วยสีทองโดดเด่นอยู่ภายในเนื้อหิน ผู้ที่มาเยือนเมืองเบตง ถ้าไม่ได้ถ่ายรูปคู่กับป้ายใต้สุดสยาม ถือได้ว่ามาไม่ถึงเบตง ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก betongcity.go.th
เมืองเบตงตั้งอยู่ในหุบเขา มีลักษณะเหมือนแอ่งกระทะที่โอบล้อมด้วยหุบเขาน้อยใหญ่ ผู้เขียนมาทั้งในนามช่างศิลป์แอร์โรว์และไนกี้ มีร้านค้าให้จัดดิสเพลย์หลายร้านพอสมควร เออ..แต่จำชื่อร้านไม่ได้สักร้านเลยเนาะ
บ่งบอกถึงวันเวลาและวัยของผู้เขียน
Linxikun
เราต้องเดินทางแต่เช้าเพื่อทำงานให้แล้วเสร็จก่อนรถเที่ยวสุดท้าย เพราะต้องกลับไปพักยะลาโรงแรมเดิมที่ยังเปิดไว้อีก 1 คืน ตัวเมืองเบตงมีความเจริญและคล้ายคลึงกับ อ.สุไหงโก-ลก 👉https://www.blockdit.com/posts/610dc56f57f30604a9ea26ba จ.นราธิวาส ที่เป็นเมืองชายแดนไทย-มาเลย์ เหมือนกันแต่ยังมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า เสียดายที่การมาครั้งนี้ไม่ได้ถ่ายภาพไว้ ทั้งที่ไปกินข้าวอยู่ที่ร้านข้าวมันไก่ ข้าง
ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ข้างวงเวียนหอนาฬิกา
ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่มุมถนนสุขยางค์ บริเวณสี่แยกหอนาฬิกาใจกลางเมือง สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2467 ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก เส้นรอบวง 1.40 ม. เฉพาะตัวตู้สูง 2.90 ม. ถ้ารวมฐานสูง 3.20 ม. ที่มาภาพ Google Map
ระหว่างนั้นมีเด็กชายอายุประมาณ 8-9 ขวบ มายืนจ้องแล้วถามเป็นสำเนียงใต้ว่า ผู้หญิงหรือผู้ชาย ฮ่าๆตอนนั้นมาในนามช่างศิลป์แอร์โรว์ ระหว่างปี 2527-2529 ผู้ชายผมยาวคงเป็นที่แปลกตาไม่น้อยสำหรับคนท้องถิ่น โดยเฉพาะเด็กๆในยุคนั้น ด้วยเวลาที่จำกัดจึงไม่มีเวลาสำรวจเมืองมากนัก และได้มีโอกาสลิ้มลองข้าวมันไก่เบตงที่ขึ้นชื่อของที่นี่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งที่ยังมีเมนูอาหารขึ้นชื่อของที่นี่อีกมากมาย เช่น
ไก่สับเบตง เคาหยก ผักน้ำ
กบภูเขาเบตง ผัดหมี่เบตง
ฯลฯ
ภาพผู้เขียนในยุคนั้น อดีตเด็กหนุ่มผมยาวสุดเซอร์ ผู้เปี่ยมไปด้วยไฟแห่งฝันและจินตนาการ
มีครั้งหนึ่งเดินสายมาด้วยวันเวลาที่คาบเกี่ยวกับช่วงสงกรานต์ ขนาดหลบอยู่ในร้านก็ไม่รอดจากสาดน้ำและปะแป้ง ก่อนเดินทางกลับด้วยแท็กซี่เบ๊นซ์เหมือนขามา ระหว่างทางเริ่มค่ำมืด จะมีด่านตรวจความสงบเรียบร้อยของทหารก่อนเข้าตัวเมืองยะลา เจ้าหน้าที่ให้ทุกคนลงมาจากรถ เปิดท้ายรถค้นกระเป๋าทุกใบ พอถึงใบของผู้เขียน พี่ทหารดึงโมบายออกมาทำหน้างงนิดๆก่อนถามว่าอะไร ผู้เขียนตอบว่า
โมบายไว้แขวนตกแต่งร้านค้าครับ
Linxikun
แหะๆบรรยากาศตอนนั้นมาคุพอสมควร ก่อนกลับถึงที่พักโดยสวัสดิภาพ คืนนั้นเพลียจากการทำงานและเดินทางถึงกับหลับเป็นตายเลยครับ เราจะมากล่าวถึง ยะลา หรือ 也拉 Yě lā เอียลา ในสำเนียงแต้จิ๋ว ในลำดับถัดไป
*มีโอกาสมา"เบตง"หลายครั้ง ทั้งในนามช่างศิลป์แอร์โรว์ 2527-2529 และช่างศิลป์ไนกี้ 2530-2535
อ.เบตง เมืองที่แวดล้อมด้วยเขาสูง เหมือนสวิสเซอร์แลนด์เมืองไทย เมืองที่มีเสน่ห์กับความหลากหลายของวัฒนธรรมและเชื้อชาติ ที่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน อาหารการกินอันเป็นเอกลักษณ์ และเป็น 1 ในอำเภอของจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล 1 เดียวในภาคใต้ ถ้าใครได้มาเยือน คงยากที่จะลืมเลือนและหลงรักที่นี่..เพราะ
เบตง
ยังคงโอเค!!
*แม่น้ำปัตตานี คือแม่น้ำที่มีต้นน้ำอยู่ในเทือกเขาสันกาลาคีรี อ.เบตง จ.ยะลา ไหลผ่านเขื่อนบางลาง ผ่าน จ.ปัตตานี และสิ้นสุดไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทย ที่ อ.เมืองปัตตานี แม่น้ำมีความยาวทั้งสิ้น 214 กม.
เครดิตข้อมูลจาก วิกิพีเดีย
**ผู้เขียนมีโอกาสมา"เบตง" ซึ่งมีระยะทางจากกรุงเทพ กว่า 1,200 กม. หลายครั้ง แต่จะเป็นการล่องมาจากการเดินสายภาคใต้ตอนล่าง ไม่ได้เดินทางตรงจากกรุงเทพ ทั้งในนามช่างศิลป์แอร์โรว์ 2527-2529 และช่างศิลป์ไนกี้ 2530-2535
ขอบคุณสำหรับการติดตาม มาลุ้นกันว่าทริปหน้า เส้นทางช่างศิลป์ จะพาทุกท่านท่องไปในอดีต ณ จังหวัดใด
หมายเหตุ : เรื่องราวต่างๆมาจากชีวิตจริง หากพาดพิงถึงใครหรือข้อมูลผิดพลาดคลาดเคลื่อน ขออภัย🙏ไว้ ณ ที่นี้ ผู้เขียนมิได้มีเจตนาอื่นใด นอกจากเล่าย้อนอดีตความทรงจำที่เคยตระเวนทำงานไปทั่วทุกสารทิศ
สนับสนุนผู้เขียน / Sponsor กดติดตาม>>
blockdit.com/linxikun
เรากลับไปแก้ไขอดีต..ไม่ได้
แต่
เราทำวันนี้ให้ดีที่สุด..ได้
Linxikun
#เส้นทางช่างศิลป์
#ช่างศิลป์แอร์โรว์
#ช่างศิลป์ไนกี้
#ช่างศิลป์ยุคทำมือ
#ช่างศิลป์ในตำนาน
ไลฟ์สไตล์
เรื่องเล่า
พัฒนาตัวเอง
บันทึก
4
26
4
26
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย