7 ส.ค. 2021 เวลา 06:01 • ประวัติศาสตร์
How To วิธีแก้ปัญหาข่าวลือ และ Fake News ของรัชกาลที่ 4 ทรงทำอย่างไรมาดูกัน
3
วันนี้ช่วงพักเลยหยิบ ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ในตู้ มาพลิกๆ อ่านดู ไปเจอประกาศ 2 ฉบับที่น่าสนใจ คือ "ประกาศไม่ให้เชื่อข้อความที่มีผู้ทิ้งหนังสือไปลงหนังสือพิมพ์" และ "ประกาศทรงอนุญาตให้ราษฎรถวายฎีกาทูลถามเรื่องที่เล่าลือได้”
2
"ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4" หนังสือที่รวบรวม "ประกาศ" ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ดำรัสสั่งไว้ นับแต่ปี พ.ศ. 2397- 2411
จากประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ ทำให้ทราบว่าในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงมีเรื่องข่าวลือแพร่สะพัดอยู่มากทีเดียว จนต้องมีประกาศเพื่อจัดการข่าวลือออกมาเป็นกิจลักษณะแบบนี้
1
โดยประกาศฉบับแรก เรื่อง "ไม่ให้เชื่อข้อความที่มีผู้ทิ้งหนังสือไปลงหนังสือพิมพ์" เป็นประกาศที่มุ่งจัดการควบคุมข่าวสารที่ไม่ทราบแหล่งที่มาที่ไป
โดยเฉพาะการนำข้อความ หนังสือ ที่ไม่ทราบผู้เขียน มาทิ้งไว้ให้ โรงพิมพ์หมอบลัดเลย์ ตีพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งต้องเข้าใจว่าในสมัยนั้นกิจการโรงพิมพ์เป็นของใหม่ที่กำลังเริ่มเกิดขึ้นในสยาม
2
ประกาศไม่ให้เชื่อข้อความที่มีผู้ทิ้งหนังสือไปลงหนังสือพิมพ์ ใน ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4
หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) มิสชั่นนารีขาวอเมริกัน ผู้ริเริ่มกิจการโรงพิมพ์ แห่งแรกในสยาม โดยออกหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกคือ "หนังสือจดหมายเหตุ"
โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ ตั้งอยู่ที่ปากคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เรื่องราวที่ตีพิมพ์จึงได้รับความสนใจของผู้คนที่อ่านออกเขียนได้ในเวลานั้นเป็นอย่างมาก ซึ่งสุดท้ายแล้วข้อมูลเหล่านั้นจะแพร่ขยายวงกว้างเป็นข่าวลือจากปากสู่ปาก ไม่ต่างจากข่าวลือจากบัตรสนเท่ห์ ที่มักเป็นเรื่องราวการแฉ หรือใส่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดดังในอดีต
(ตรงนี้ขอแนะนำให้ไปหาอ่านเรื่องอีกาคาบข่าวในสมัยต้นรัชกาลที่ 2 จนเป็นเหตุของการสำเร็จโทษเจ้าฟ้าเหม็น กันดูนะครับ)
ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการประกาศห้ามไม่ให้ตีพิมพ์ข้อความประเภทบัตรสนเท่ห์ที่เป็นข่าวลือออกมา เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนวุ่นวายในบ้านเมือง ซึ่งก็ดูคล้ายๆ กับการจัดการ Fake News ที่ถูกมองว่าเป็นข้อมูลเท็จ ไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะหาผู้เป็นต้นเรื่องของข้อมูลนั้นๆไม่ได้
โดยการสั่งไม่ให้ตีพิมพ์ข้อมูลประเภทดังกล่าว ในสมัยรัชกาลที่ 4 คงไม่เป็นเรื่องแปลกอะไร สำหรับช่วงเวลาที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเต็มในระบบสมบูรณาสิทธิราชย์ และผู้คนยังไม่รู้จักเรื่องเสรีภาพของสื่อ เหมือนในสมัยปัจจุบัน
1
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ประกาศฉบับหลังจากนั้นเป็นประกาศที่ทรงอนุญาตให้ราษฎรถวายฎีกาทูลถามเรื่องที่เล่าลือได้ โดยพระองค์จะทรงพระราชทานคำตอบแก่ผู้ที่นำความขึ้นทูลเกล้าถวายให้ทราบจนสิ้นสงสัย
1
โดยหากมีผู้ถวายความได้แปลกใหม่ ก็จะพระราชทานรางวัลให้ เพื่อจูงใจให้ขุนนาง พระสงฆ์ ราษฎรทั่วไปไม่ว่าจะเป็นหญิงชาย รวมไปถึงชาวต่างด้าว ให้สามารถถวายฎีกาทูลถามเรื่องข่าวลือได้โดยไม่ต้องกลัวการถูกลงพระราชอาญา
1
โดยในประกาศฉบับนี้ ยังได้ลงตัวอย่างแบบฟอร์มวิธีการเขียนฎีกาเพื่อทูลถามความจริงจากข่าวลือ ให้กับราษฎรได้เห็นเป็นแนวทางฎีกาอย่างเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนเลยทีเดียว
ประกาศทรงอนุญาตให้ราษฎรถวายฎีกาทูลถามเรื่องที่เล่าลือได้ ใน ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการถวายฎีกาทูลถามข่าวลือนี้ คงมีผู้เขียนไปทูลถามอยู่บ้าง ซึ่งก่อนหน้านั้น ราษฎรที่เป็นไพร่สามัญสามารถเข้าเฝ้าถวายฎีกาโดยตรงต่อพระองค์มาก่อนแล้ว
ดังเช่น กรณีของอำแดงเหมือนที่เข้าถวายฎีการ้องทุกข์ต่อหน้าพระพักตร์ ขณะที่พระองค์เสด็จออกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท เพื่อทรงโปรยทานตามราชประเพณีมาแล้ว เมื่อ พ.ศ.2408 จนเป็นที่มาของประกาศพระราชบัญญัติลักษณะลักพา ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถเลือกคู่ครองเองได้ เป็นครั้งแรก มาแล้วนั้น
ภาพการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงอนุญาตให้ราษฎรเข้าเฝ้าได้ใกล้ชิดและสามารถมองเห็นพระพักตร์ได้
พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท
จะเห็นได้ว่าวิธีการที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกใช้ในการจัดการข่าวลือ จะเริ่มจากการควบคุมแหล่งการเผยแพร่ข่าวลือ โดยไม่ให้มีการตีพิมพ์ข่าวหรือข้อมูลที่ไม่มีแหล่งอ้างอิงที่แน่นอน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของข่าวลือที่มาในรูปแบบใหม่ นั้นคือหนังสือพิมพ์ เป็นเบื้องต้นก่อน
จากนั้นทรงเปิดโอกาสให้ราษฎรได้ถวายฎีกาทูลถามข้อสงสัยจากข่าวลือในบ้านเมืองที่ได้ยินมา โดยพระองค์จะทรงตอบข้อสงสัยเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง วิธีการนี้นับเป็นกุศโลบายทางการเมืองที่แยบยล
เนื่องจากเมื่อผู้สงสัยหรือได้ยินข่าวนั้นได้รับคำตอบในเรื่องนั้นๆไปจากพระองค์แล้ว ก็จะเป็นผู้นำข่าวและข้อความนั้นไปเล่าแพร่ต่อกันจนกลบข่าวลือแพร่อยู่ก่อนไปเอง
1
นอกจากนี้การที่เปิดโอกาสให้ขุนนางชั้นล่างและราษฎรสามัญ ส่งฎีกาถามข่าวลือเข้ามา ก็ทำให้พระองค์เองได้มีโอกาสสดับรับฟังข้อมูล ในด้านกลับจากกลุ่มคนที่อยู่นอกอำนาจราชสำนักส่วนกลางด้วย
ทั้งนี้เพราะข่าวลือบางเรื่องที่ราษฎรลือกัน ย่อมมีมูลเหตุที่เป็นอยู่จริงบ้างไม่เป็นจริงบ้าง บ้างเรื่องอาจสะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดจากการบริหารราชการของผู้อยู่ในเนื้อข่าวลือนั้นได้ด้วยเช่นกัน
โดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องข่าวลือในสมัยรัชกาลที่ 4 คงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้ในสมัยก่อนหน้าหรือสมัยปัจจุบัน เพราะว่า ข่าวลือ เป็นข่าวที่แพร่ได้รวดเร็วและผู้คนมักเชื่อกันมาก
เนื่องจากเป็นเรื่องได้ยินจากปากหลายๆ คนเล่าต่อกัน และข่าวลือแต่ละเรื่องนั้นย้อมมีสีสันที่เสริมแต่งจนเกิดอรรถรสชวนให้ผู้คนใคร่รู้และติดตามกันมากขึ้น จนท้ายที่สุดก็เชื่อว่าเรื่องเล่าลือนั้นเป็นความจริงไปได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ข่าวลือ ย่อมมีอยู่ในทุกๆสังคม ไม่ว่าจะประเทศที่พัฒนาแล้วหรือด้อยพัฒนา ทั้งในอดีตเรื่อยมาจนปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร ข่าวลือ ที่เล่ากันตามตลาด ท่าน้ำ โรงน้ำชา และย่านชุมชน ในอดีต ได้เปลี่ยนมาอยู่ในชุมชนของโลกออนไลน์ ที่แพร่กันวงกว้างและเร็วมากขึ้น
1
ปรากฎการณ์นี้สะท้อนให้เห็น ถึงสภาพความจริงทางสังคมประการหนึ่งได้เช่นกัน นั้นก็คือการขาด ความเชื่อมั่นและเคลือบแคลงสงสัยในตัวบุคคล หรือระบบต่างๆ ที่มองว่าไม่โปร่งใส ขาดความชัดเจน
1
นอกจากนี้ยังอาจมาจากความไม่รู้ หรือขาดการเข้าถึงข้อมูลที่รอบด้านของผู้คน ด้วยเพราะการศึกษา หรือ ความเชื่อที่แตกต่างกัน ทั้งหมดนี้จึงเป็นภาพสะท้อนถึงสภาพสังคมและความมั่นคงในจิตใจของผู้คนในช่วงเวลานั้น
ดังนั้นหน้าที่ของผู้ปกครอง ไม่ใช่การพยายามปิดข่าวลือนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องนำข่าวเหล่านั้นมาคิดในมุมกลับด้วยว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดเรื่องเล่าลืออย่างนั้นและเหตุใดคนจำนวนมากจึงเชื่อข่าวลือนั้น
2
เมื่อทราบว่าอะไรคือสาเหตุและต้นต่อของปัญหา แล้วต้องพยายามนำข้อเท็จจริงมาตอบข้อสงสัยหรือความเข้าใจที่คาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงของผู้ที่เชื่อข่าวลือเหล่านั้น ดังเช่นในกรณีที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็น่าสนใจไม่น้อย
อ้างอิง
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการ. "ประกาศไม่ให้เชื่อข้อความที่มีผู้ทิ้งหนังสือไปลงหนังสือพิมพ์" ใน ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 กรุงเทพฯ :มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2548.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการ. "ประกาศทรงอนุญาตให้ราษฎรถวายฎีกาทูลถามเรื่องที่เล่าลือได้" ใน ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 กรุงเทพฯ :มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2548.
1
บทความเรื่อง "สั่งริบหนังสือกฎหมาย โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์" ในศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/history/article_18383
1
โฆษณา