Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
7 ส.ค. 2021 เวลา 13:00 • ประวัติศาสตร์
มองย้อนประวัติศาสตร์ ส่องโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “จีน”
อะไร คือ เบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้จีนก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นมหาอำนาจในวันนี้ ?
มองย้อนประวัติศาสตร์ ส่องโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ แบบ "ประเทศจีน"
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ประเทศจีนถูกจับตามองในฐานะของมหาอำนาจใหม่ที่กำลังเติบโตมาอย่างรวดเร็ว
สถาบันวิจัยหลายสำนักได้คาดการณ์ว่าขนาด “เศรษฐกิจจีน”
จะขยายตัวจนแซงสหรัฐในอีกไม่นาน
ความสำเร็จของจีนในวันนี้ไม่ได้ได้มาโดยง่าย
หากแต่เกิดจากการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์
นำความผิดพลาดในอดีตมาเป็นบทเรียนเพื่อสร้างชาติจีนที่เข้มแข็งและมั่นคง
วันนี้ Bnomics จะพาทุกคนย้อนประวัติศาสตร์
ไปดูเส้นทางสู่โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบจีนในปัจจุบัน
1
📌 เส้นทางสู่การเป็นมหาอำนาจของจีน...ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ก่อนอื่น ต้องขอเล่าประวัติศาสตร์ไปไกลสักหน่อย
เพื่อทุกคนเข้าใจถึงความเป็นมาเป็นไปของการพัฒนาเศรษฐกิจจีน
ในช่วงที่ผ่านมาได้ดียิ่งขึ้น
โดยในช่วงปี 1839 ได้เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ขึ้นระหว่างจีนและจักรวรรดิอังกฤษ
โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากนโยบายการต่างประเทศในยุคราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) ที่จักรพรรดิไม่มีความประสงค์ที่จะค้าขายกับต่างประเทศ
เนื่องจากมองว่าประเทศจีนมีทรัพยากรทุกอย่างครบอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว
ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องค้าขายกับชาวต่างชาติจากบ้านป่าเมืองเถื่อน
1
อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของประเทศตะวันตกกลับอยากค้าขายกับจีน
เนื่องจากต้องการสินค้าที่ผลิตในประเทศจีน เช่น ชามกระเบื้อง ผ้าไหม ใบชา
ส่งผลให้ประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ ที่มีความต้องการสินค้าจากจีน
จำเป็นต้องชำระสินค้าในรูปของเงินเหรียญและทองคำเท่านั้น
ประเทศอังกฤษ ซึ่งขาดดุลการค้ากับจีน
และสูญเสียเงินเหรียญและทองคำเป็นปริมาณมาก ก็ไม่พอใจ
และได้พยายามแก้ไขปัญหานี้โดยการแอบลักลอบนำฝิ่นที่ปลูกที่อินเดียมาขายให้กับชาวจีน
ส่งผลให้ชาวบ้านตลอดจนขุนนางชั้นสูงติดฝิ่นกันอย่างงอมแงม
ไม่เป็นอันทำงานทำการ จนทำให้จักรพรรดิสั่งห้ามนำฝิ่นเข้ามา
และได้มีการยึดและทำลายฝิ่นของอังกฤษ ซึ่งทำให้เกิดการสูญเงินจำนวนมหาศาล
และเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่สงครามครั้งนี้
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ จีนได้พ่ายแพ้สงครามฝิ่นกับอังกฤษ
ส่งผลให้ต้องลงนามในสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ถูกบังคับให้เปิดเมืองท่าหลายแห่ง และยกเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษ
เป็นจุดเริ่มต้นของศตวรรษแห่งความตกต่ำที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและปัญหาสำหรับจีน
1
เพราะหลังจากนั้น ประเทศจีนก็ได้เผชิญกับความโชคร้ายอย่างต่อเนื่อง
หากเปรียบกับหนังก็คงไม่ต่างจากเรื่อง A Series of Unfortunate Events
ที่ตัวละครหลักเผชิญกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ถูกชาติอื่นๆ เข้ามาข่มเหง
และบีบบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเช่นเดียวกับที่จักรวรรดิอังกฤษทำกับประเทศอื่นๆ รวมถึงเผชิญกับภัยรุกรานจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ
ก้าวแรกออกจากศตวรรษแห่งความตกต่ำเกิดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 เมื่อ
เหมา เจ๋อตุง ได้ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นต่อชาวจีนนับแสนคน
ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งเป็นการสิ้นสุดศตวรรษแห่งความตกต่ำของจีน
และนำประเทศเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม
สิ่งที่เหมา เจ๋อตงได้เร่งดำเนินการคือการเปลี่ยนผ่านประเทศจีนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม
1 ตุลาคม ปี 1949 เหมา เจ๋อตุง ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญของเหมาคือนโยบายก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า (The
Great Leap Forward) ซึ่งเป็นนโยบายเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์
(Centrally-planned economic policies)
โดยเหมาเชื่อว่าการปลูกพืชผลทางการเกษตร และการผลิตเหล็ก คือ
หัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
1
ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในนโยบายด้านการเกษตรที่เหมาได้ดำเนินการคือ
การจัดตั้งระบบคอมมูน (People’s commune) ขึ้น โดยมีการยกเลิกระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน และให้แต่ละชุมชนมีการจัดสรรทรัพยากร ร่วมกันทำงาน และเกิดเป็นระบบที่เรียกว่า "นารวม" ขึ้น และได้กลายเป็นภาพที่ประเทศตะวันตกได้จดจำประเทศจีนว่าเป็นประเทศที่มีแต่การปลูกข้าว
"ระบบนารวม" นโยบายพัฒนาประเทศในสมัย เหมา เจ๋อตุง
นอกจากนี้ เหมายังได้ประกาศนโยบาย 4 ศัตรูพืชแห่งชาติ (The Four Pest
Campaign) โดยรณรงค์ให้ประชาชนชาวจีนกำจัดนก หนู แมลงวัน และยุง
เพื่อป้องกันไม่ให้มาทำลายพืชผลทางการเกษตร ซึ่งส่งผลให้ระบบนิเวศเสียสมดุล
"นโยบาย 4 ศัตรูพืชแห่งชาติ" ของจีน ปี ค.ศ. 1958 - 1962
ในขณะเดียวกัน ก็มีการมุ่งเน้นไปที่การสร้างอุตสาหกรรมเหล็กในพื้นที่ชนบท
ก็ได้มีการโยกย้ายแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเหล็ก
และยังรวมไปถึงการประกาศใช้นโยบาย “เตาหลอมหลังบ้าน” (Backyard Furnaces)
ชาวบ้านกับนโยบาย "เตาหลอมหลังบ้าน" (Backyard Furnaces)
ที่ให้แต่ละชุมชนตีเหล็กกล้าด้วยตัวเอง โดยใช้เศษเหล็กมาเป็นวัตถุดิบ
ทั้งที่ไม่มีความรู้ ส่งผลให้ผลผลิตที่ออกมานั้นเป็นเหล็กดิบคุณภาพต่ำ
ไม่ใช่เหล็กกล้าแต่อย่างใด
การโยกย้ายแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง
ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร
และทำให้พืชผลมากมายไม่ได้รับการเก็บเกี่ยว จนต้องเน่าเสียไป
ประกอบกับนโยบาย 4 ศัตรูพืชแห่งชาติ ซึ่งทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลอย่างมาก
และได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์การขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่
(The Great Chinese Famine) ซึ่งมีการประเมินว่าได้คร่าชีวิตชาวจีนไปหลายสิบล้านคน
ทั้งนี้ นโยบายทางเศรษฐกิจในยุคของเหมา
แสดงให้เห็นถึงก้าวแรกของจีนที่ผิดพลาดอย่างมาก
เมื่อระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบรวมศูนย์
ได้นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ
และไม่มีระบบตลาดที่ช่วยหล่อลื่นปลดปล่อยศักยภาพของภาคเอกชนและเศรษฐกิจได้ (ซึ่งรัสเซียที่ใช้ระบบเศรษฐกิจจากส่วนกลางเป็นหลัก ก็ประสบปัญหาเช่นกัน)
จนถึงกับมีคนเคยกล่าวไว้ว่า “รัฐบาลได้ใช้เม็ดเงินลงทุนไปเป็นจำนวนมาก
หากแต่ได้ผลผลิตกลับมาเพียงน้อยนิดเท่านั้น”
📌 ก้าวที่ถูกต้องเกิดขึ้น เมื่อได้ผู้นำที่ใช่
ภายหลังจากที่เหมา เจ๋อตงได้ถึงแก่อสัญกรรมในปี 1976 เติ้ง เสี่ยวผิง
ก็ได้รวบอำนาจและก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำสูงสุดคนใหม่ของจีน
และได้ประกาศนโยบายการปฏิรูปและการเปิดประเทศ (Reform and opening up)
โดยมีการนำระบบตลาดเสรีมาประยุกต์ใช้เข้ากับระบบเศรษฐกิจแบบจีน
(ซึ่งเป็นจุดหักเหที่สำคัญที่สุดเรื่องหนี่งที่นำมาซึ่งความสำเร็จในวันนี้) จนเกิดเป็นวลีอันโด่งดังที่ว่า “แมวไม่ว่าจะสีอะไร ขอให้จับหนูได้ก็เพียงพอ” รวมถึงการประกาศนโยบาย 4 ทันสมัย (The Four Modernization)
ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและปฏิรูปด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม
การป้องกันประเทศ และวิทยาศาสตร์ ให้มีความทันสมัย
เทียบเท่ากับนานาอารยประเทศ เป็นต้น
นโยบายการปฎิรูปและการเปิดประเทศ (Reform and Opening up)
ในส่วนของด้านการปฏิรูป สิ่งที่เติ้ง เสี่ยวผิง
ได้ดำเนินการทำเป็นสิ่งแรกคือการปฏิรูปด้านภาคการเกษตร
ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
จากนโยบายที่ล้มเหลวในยุคก่อนหน้า
โดยมีการยกเลิกระบบนารวม
เป็นระบบความรับผิดชอบของครัวเรือน (the Household Responsibility
System) ซึ่งเป็นการมอบสิทธิในการใช้ที่ดินเกษตรให้กับแต่ละครัวเรือน
โดยกำหนดว่าจะต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินโดยการขายผลผลิตให้กับภาครัฐในราคาควบคุมของทางการ และผลผลิตที่เหลือจากนั้นก็สามารถเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน
หรือนำไปขายได้ในราคาตลาด
โดยในส่วนของราคาตลาดก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเศรษฐกิจเข้าสู่ทุนนิยม เช่นเดียวกัน โดยเติ้ง เสี่ยวผิงได้มีการจัดตั้งระบบสองราคา (Dual Price System) ขึ้น
โดยมีการกำหนดราคาควบคุมของทางการ และราคาตลาด
เพื่อให้ระบบตลาดเสรีเข้ามาช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เพื่อให้ประชาชนมีแรงจูงใจในการทำงาน ในการผลิตสินค้า ซึ่งสุดท้ายแล้ว
ก็แสดงออกมาให้เห็นในรูปของผลผลิตที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการค่อยๆ ทยอยปลดล็อคให้ภาคเอกชน
สามารถดำเนินธุรกิจของตัวเองได้ มีการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้น
เพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุน และมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ
อย่างค่อยเป็นค่อยไป
2
ทั้งนี้ สาเหตุที่การดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบทุนนิยมนั้นเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก็เพื่อไม่ให้คนตกใจมากนักเสียจนคิดว่าประเทศจีนไม่ได้เป็นสังคมนิยมอีกต่อไป หรือมีการละทิ้งหลักการขั้นพื้นฐานที่ฝังอยู่ในใจคนส่วนใหญ่มายาวนาน
เติ้ง เสี่ยวผิงเคยยกสำนวนจีนอันเก่าแก่ขึ้นมาว่า “จงข้ามแม่น้ำโดยค่อยๆ
เหยียบก้อนหินทีละก้อน” ซึ่งหมายถึงว่า ในฝั่งของแม่น้ำที่ประเทศจีนกำลังยืนอยู่ คือ เศรษฐกิจและสังคมแบบคอมมิวนิสต์ที่ทุกคนได้ร่วมฝ่าฝันและสร้างขึ้นมา
ในขณะที่อีกฝั่งของแม่น้ำ คือ เศรษฐกิจและสังคมแบบทุนนิยมที่ชาวจีนส่วนใหญ่ไม่เคยใฝ่ฝันถึง เพราะฉะนั้น การจะก้าวไปให้ถึงแม่น้ำอีกฝั่งให้ได้ จะต้องก้าวไปอย่างใจเย็นและระมัดระวัง
📌 จากการปฏิรูปสู่การเปิดเมือง... กำเนิดเซินเจิ้นโมเดล
ตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจจีน
แนวคิดดังกล่าวได้กลายมาเป็นหัวใจสำคัญที่ใช้ในการเปิดประเทศ (Opening
up) เช่นเดียวกัน โดยการเปิดประเทศได้กลายมาเป็นโจทย์สำคัญสำหรับเติ้ง
เสี่ยวผิง เมื่อเขามองว่าเม็ดเงินลงทุน และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปลดล็อคศักยภาพของประเทศจีนซึ่งมีแรงงานจำนวนมหาศาลได้
ดังเช่นที่ได้ช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศทุนนิยมรอบข้างอย่าง
เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือแม้แต่เกาะฮ่องกง
ซึ่งได้ตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา
เจริญเติบโตอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การจะเปิดประเทศได้เป็นโจทย์ที่ยากพอสมควร
เพราะหากจะทำตามโมเดลการพัฒนาของประเทศอื่นๆ เหล่านั้น
อาจจะเผชิญกับข้อครหาที่ว่าประเทศจีนได้ตกไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตกแล้ว
มีการนำแนวคิดของตะวันตกมาใช้
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เติ้ง เสี่ยวผิงทำคือการ
“ข้ามแม่น้ำดังกล่าวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและอย่างระมัดระวัง”
โดยการเปิดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones) ขึ้นมา
เพื่ออนุญาตให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ปราศจากข้อกฎเกณฑ์แบบเดิม
ปราศจากการแทรกแซงของภาครัฐ
โดยอนุญาตให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้เฉพาะในพื้นที่ที่กำหนด
ซึ่งพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่เติ้งได้จัดตั้งขึ้นมาในช่วงแรก ประกอบไปด้วย
เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น (Shenzhen) จูไห่ (Zhuhai) และเซี่ยเหมิน
(Xiamen) เป็นต้น
เมืองเซินเจิ้น อนาคตของเศรษฐกิจจีน
ทั้งนี้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ได้ถูกพิจารณาจากด้านตำแหน่งที่ตั้งอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เมืองเซินเจิ้น
ที่มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจากเกาะฮ่องกงมา
โดยโมเดลการพัฒนาของเมืองเซินเจิ้นก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในโมเดลที่ประสบความสำเร็จของจีน
ซึ่งเริ่มต้นจากเมืองท่าการประมงที่แทบไม่มีอะไรเลย
กลายมาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดึงดูดนักลงทุน และบริษัทต่างๆ
เข้ามาตั้งฐานการผลิตเป็นจำนวนมากได้
เม็ดเงินลงทุนเหล่านี้ได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
1
เมืองเซินเจิ้นเองได้กลายเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน
ไม่ว่าจะเป็น Tencent Holdings หรือ Huawei Technologies
เป็นต้นนอกจากนี้ หากดูในแง่ของจีดีพีแล้ว
จะพบว่าขนาดเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นได้เพิ่มจากเพียงแค่ราวๆ
สองร้อยล้านหยวนในปี 1979 มาเป็นเกือบ 3 ล้านล้านหยวนในปี 2019
คิดเป็นกว่าหมื่นเท่าในระยะเวลาเพียงแค่ 40 ปีเท่านั้น
1
ขนาดเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจพิเศษจีน เมื่อปี 1979 เทียบกับปี 2019
หลังจากนั้น การปฏิรูปเข้าสู่ระบบทุนนิยมก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
ก่อให้เกิดรูปแบบของ “สังคมนิยมแบบจีน” ที่มีอัตลักษณ์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
มีการนำเสนอแนวคิด 3 ผู้แทน (The Three Represents)
ซึ่งเป็นการวางบทบาทพรรคคอมมิวนิสต์ในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของการผลิตที่ก้าวหน้า ตัวแทนของวัฒนธรรมที่ก้าวหน้า ตลอดจนเป็นตัวแทนของการรักษาผลประโยชน์ให้ชาวจีน
นอกจากนี้ ก็ยังคงมีการปฏิรูปกฎเกณฑ์ต่างๆ
ให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเสรีมากยิ่งขึ้น
การปฏิรูปภาคการธนาคาร การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ตลอดจนมีการเข้าร่วมกับองค์การการค้าโลกหรือ WTO ในยุคของเจียง เจ๋อมิน
ในปี 2001 ซึ่งส่งผลให้การค้าต่างประเทศของจีนขยายตัวอย่างมาก
และเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมา
ภายหลังมา จีนก็ยังคงปฏิรูปตัวเองอย่างต่อเนื่อง มีทั้งการเปลี่ยนนโยบาย
เปลี่ยนทิศทางจากเดิมเป็นทิศทางใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด อย่างเช่น ในยุคของหู จิ่นเทา
ก็มีการชะลอการปฏิรูปเศรษฐกิจเข้าสู่ทุนนิยม มีการลดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจจีนมีองค์ประกอบของทุนนิยมมากเกินไปจนนำไปสู่วิกฤติดังเช่นในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหลายๆ
ประเทศ
แม้แต่ในยุคของสี จิ้นผิง
ก็ได้มีการประกาศแนวคิดใหม่อย่างเช่นยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน
ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโมเดลการพัฒนาไปให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนในประเทศ
(Internal Circulation) โดยเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ
และเน้นการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก และลดการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศลง
เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศจีนตกเข้าไปอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง
ดังเช่นที่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก กำลังติดอยู่อีกด้วย
ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานของจีน (Duo Circulation)
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการริเริ่มโครงการต่างๆ อย่างเช่นโครงการ Belt and
Road Initiatives ซึ่งเป็นโครงการที่ให้การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ คล้ายกับ Marshall Plan ของสหรัฐฯ
และได้กลายเป็นความท้าทายต่อระเบียบโลกเสรีนิยมที่ยืนหยัดมายาวนานตั้งแต่หลังสงครามโลกที่สองอีกด้วย
ซึ่งก็ต่างไปจากที่เติ้ง เสี่ยวผิงเคยกล่าวไว้อย่างสิ้นเชิงว่า
“จงอย่าทำตัวเด่น ให้ก้มต่ำๆ ไว้ แต่ให้อยู่ภายใต้เงาคนอื่น...”
ทั้งนี้ ก็คงเนื่องจากจีนได้ประเมินจากสถานการณ์ว่า
ขณะนี้คือช่วงเวลาที่บทบาทการเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ
นั้นเผชิญกับความท้าทายมากที่สุด เป็นช่วงเวลาที่ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ
มีการสั่นคลอน และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมากที่สุดที่จีนจะขึ้นมามีบทบาทนำในการทำหน้าที่แทนสหรัฐฯ
และก้าวไปเป็นมหาอำนาจคนต่อไป
และจีนก็ได้เริ่มเติบใหญ่และเริ่มมีความเข้มแข็งเพียงพอ
เมื่อเทียบกับในอดีต ที่เพิ่งอยู่ในช่วงการเริ่มต้น
เริ่มลุกขึ้นมาอีกครั้ง
สมาชิกประเทศที่เข้าร่วมโครงการ Belt and Road Initiative
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า
บทเรียนสำคัญของโมเดลการพัฒนาที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเจริญรุ่งเรืองในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
1
จนสามารถเข้าสู่เส้นทางแห่งการเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจนั้น
มาจากการที่ผู้นำจีนได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตของการไม่ใส่ใจ
ไม่สนใจโลกภายนอก จนทำให้จีนเผชิญปัญหาและล้าหลัง ไม่ทันกับคู่แข่ง
1
ทำให้ท้ายที่สุด ได้ปรับกลยุทธ์ของตน โดยหันกลับมาเปิดใจ
มองการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก
พร้อมกับรับเอาสิ่งที่ดีและทันสมัยมาประยุกต์ใช้
ร่วมกับการคงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของความเป็น “สังคมนิยมแบบจีน” เอาไว้
ทั้งหมด คือ เคล็ดลับและเส้นทางความสำเร็จของผู้ที่กำลังเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลก
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
1
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
https://edition.cnn.com/style/article/shenzhen-effect-china-model-city-intl-hnk/index.html
https://www.china-briefing.com/news/economic-reform-china-opening-up-future-prospects/
https://www.globaltimes.cn/content/661734.shtml
https://www.heritage.org/global-politics/commentary/liberalization-reverse
https://asia.nikkei.com/Economy/Shenzhen-s-success-overshadows-China-s-other-special-economic-zones
https://www.principal.th/sites/default/files/2020-02/Dr.Aksornsri%27s%20Presentation.pdf
https://www.asianstudies.org/publications/eaa/archives/crossing-the-river-by-feeling-the-stones-deng-xiaoping-in-the-making-of-modern-china/
https://press.uchicago.edu/ucp/books/book/chicago/L/bo24731869.html
https://www.brookings.edu/wp-content/uploads/2019/04/9780815737254_ch1.pdf
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/WE_MPG/WEMPG_Dec10.pdf
27 บันทึก
21
2
27
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
All About History
27
21
2
27
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย