9 ส.ค. 2021 เวลา 03:00 • ข่าว
📌ดูหมิ่นซึ่งหน้า กับ หมิ่นประมาท...ต่างกันอย่างไร?
📍ดูหมิ่นซึ่งหน้ากับหมิ่นประมาทเป็นคำทางกฎหมายที่มีองค์ประกอบของการกระทำแตกต่างกัน คนทั่วไปอาจจะยังไม่เข้าใจและมักจะคิดว่า การด่าทอกันหรือการนินทาว่าร้ายจะเป็นการหมิ่นประมาทไปเสียทั้งหมด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด
ในสื่อสังคมเราจะคุ้นกับคำว่าหมิ่นประมาทมากกว่าดูหมิ่น ซึ่งมักจะได้ยินได้ฟังตามข่าวสารหรือเป็นคดีอยู่บ่อยครั้ง ก็เนื่องมาจากคดีหมิ่นประมาทนั้นมีโทษสูงกว่าดูหมิ่นซึ่งหน้า และเกี่ยวพันกับชื่อเสียงมากกว่าจะเป็นคำด่าทั่ว ๆ ไป และการหมิ่นประมาทมักรวมไปถึงการเรียกค่าเสียหายอีกด้วย
สำหรับวันนี้แอดมินจะพาไปดูถึงความแตกต่างของสองคำนี้ เพื่อให้ทุกท่านได้แยกแยะได้ถูกระหว่าง ดูหมิ่นซึ่งหน้า และ หมิ่นประมาท
ตามประมวลกฎหมายอาญา 2 คำนี้เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาทั้งคู่ แต่แยกกันอยู่คนละหมวด และคนละมาตรากัน ซึ่งโทษของความผิดก็แตกต่างกัน
📍ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า
ประมวลกฎหมายอาญา ภาค 3 ลหุโทษ
มาตรา 393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน
หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำว่า ดูหมิ่น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอาย เป็นที่เกลียดชังของประชาชน (คำพิพากษาฎีกาที่ 2867/2547) ซึ่งอาจกระทำด้วยวาจา กริยาท่าทาง หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ เช่น ชูนิ้วกลางให้, คำด่าหรือคำหยาบคาย เช่น "ดอกทอง" "ไอ้สัตว์" "อีตอแหล" "ไอ้เหี้ย" เป็นต้น
คำว่า "ซึ่งหน้า" คือ ต่อหน้าหรือไม่ต่อหน้าก็ได้แต่ผู้ถูกดูหมิ่นอยู่ตรงนั้นหรือในระยะที่ได้ยินได้หรือรับรู้ในขณะนั้นได้ทันที แต่หากอยู่กันคนละที่ซึ่งห่างไกลหรือเป็นการด่ากันทางโทรศัพท์ ไม่ถือว่าเป็นซึ่งหน้า
🧷 คำพิพากษาฎีกาที่ 3711/2557
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 393 ฐานดูหมิ่น
ผู้อื่นซึ่งหน้า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยอยู่ห่างไกลกันคนละอำเภอ แต่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 นั้น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า
📍ความผิดฐานหมิ่นประมาท
ประมวลกฎหมายอาญา หมวด 3 ความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้นหมิ่นประมาทตามกฎหมายจึงหมายความถึงการใส่ความผู้อื่นหรือกล่าวให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม (ไม่ใช่เป็นการพูดอยู่กับตัวผู้ถูกใส่ความนั้นเอง ยกเว้นว่าตอนนั้นจะมีบุคคลที่สามอยู่ด้วย) ส่วนคำพูดในลักษณะใส่ความ คือ คำกล่าวที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย เช่น
เป็นเมียน้อย
🧷 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2541
จำเลยกับผู้เสียหายเคยมีความขัดแย้งกันในเรื่องหนี้เงินกู้มาก่อน ประกอบกับพฤติการณ์ของผู้เสียหายเมื่อไปถึงหน้ารั้วบ้านของจำเลยได้เรียกจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ให้ออกมาพูด นอกรั้วบ้าน อันถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติจำเลย ทำให้จำเลยโกรธผู้เสียหาย และร้องด่าผู้เสียหายว่า "มึงเป็นเมียน้อยสารวัตร ส. อย่ามาทำใหญ่ให้กูเห็นนะ" ต่อหน้า พ.ซึ่งมากับผู้เสียหาย
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง
ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจาก พ. อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
แต่การใช้ชื่อตัวอักษรย่อ และต้องไปสืบค้นหาภายหลังเพิ่มเติมว่าเป็นใคร ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551) ดังนั้นเวลาเราเห็นข่าวบันเทิงที่ใช้ตัวย่อแล้วก็จะไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
📍 นอกจากนั้นความผิดฐานหมิ่นประมาทยังมีการหมิ่นประมาทกรณีอื่น ๆ ด้วย คือ การหมิ่นประมาทคนตาย (มาตรา 327) การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา (มาตรา 328) ซึ่งโทษจะหนักกว่าการหมิ่นประมาทธรรมดา และความผิดฐานหมิ่นประมาทเอง หากทำลงไปโดยเหตุที่อ้างได้ตามกฎหมาย ก็ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท เช่น การแสดงความเห็นโดยสุจริต หรือการดำเนินคดีในศาล (มาตรา 329 และ มาตรา 331) หรืออาจไม่ต้องรับโทษ (มาตรา 330) แล้วแต่กรณี
🧷 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2558
การนำหนังสือพิมพ์ไปแจกโดยทราบว่ามีเนื้อหาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ถือได้ว่าเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปแล้ว จึงเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
โฆษณา