9 ส.ค. 2021 เวลา 07:00 • กีฬา
[ OLYMPIC GAMES 2020 - BEAUTIFUL MOMENTS ]
"เพราะกีฬาเป็นมากกว่าคำว่า 'แพ้' หรือ 'ชนะ' "
"รวมเหตุการณ์ประทับใจ โอลิมปิกเกมส์ 2020"
โอลิมปิกเกมส์ 2020 ปิดฉากลงไปเป็นที่เรียบร้อย การแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติได้สร้างความสนุกสนานให้กับชาวโลก
ว่าแล้วเราจึงขอรวบรวมเหตุการณ์ที่สวยงามที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขัน โตเกียว 2020 มาให้คุณผู้อ่านได้ย้อนนึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือน ที่นักกีฬาจากทั่วโลกได้ห้ำหั่นกัน
แน่ล่ะ เราเอามาเฉพาะสิ่งดีๆ เท่านั้น เพราะกีฬาเป็นมากกว่าคำว่า 'แพ้' หรือ 'ชนะ'
1 เหรียญทองที่แบ่งสอง
การแข่งขันกระโดดสูงประเภทชายที่ยืดเยื้อกันยาวกว่า 2 ชั่วโมง เพราะทั้ง มูทาซ บาร์ชีม (กาตาร์) และ จานมาร์โก ตัมเบรี่ (อิตาลี) นั้นทำสถิติได้เท่ากันที่ 2.37 เมตร
ด้วยความที่ยืดเยื้อ บาร์ชีม นักกระโดดสูงชาวกาตาร์ จึงกระซิบถามกรรมการว่า "จารย์ครับ พวกเราแบ่งเหรียญกันได้ไหม?" (Soundtrack เราใส่เองนะ)
ผู้ตัดสินชี้ขาดพิจารณาอยู่ชั่วครู่ก็ลงความเห็นว่า "ได้" และนั่นเองทำให้เราได้เห็นภาพ ตัมเบรี่ กระโดดโลดเต้นแบบสุดเหวี่ยง เพราะนี่คือเหรียญทองที่เขาเฝ้ารอมาทั้งชีวิต
ตัมเบรี่ ได้รับบาดเจ็บข้อเท้าจนพลาด โอลิมปิก 2016 จนทำให้เขาเกือบจะเลิกเล่น ทว่ากัดฟันสู้ พยายามกลับมาลงแข่งอีกครั้ง ในทัวร์นาเมนต์เก็บคะแนนสะสมที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่ก็ต้องพบกับความล้มเหลว
นักกระโดดสูงชาวอิตาเลียน เสียใจมากและเอาแต่เก็บตัวในห้องพัก กระทั่ง บาร์ชีม นี่เองที่บุกมาถึงห้องและให้กำลังใจฮึดสู้อีกครั้ง และก็ได้มาแข่งขันต่อที่ โตเกียว 2020 นี่เอง
ทั้งคู่ได้สร้างประวัติศาสตร์การครองเหรียญทอง โอลิมปิก ร่วมกันในการแข่งขันกรีฑาครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1912 เลยทีเดียว
2 ประวัติศาสตร์เริ่มนับ 1 ของฟิลิปปินส์
อดีตเจ้าของได้เหรียญเงินใน ริโอ เกมส์ 2016 ต้องอพยพไปเก็บตัวที่มาเลเซีย อันเนื่องมากจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดอย่างรุนแรงที่ฟิลิปปินส์
แม้จะไปอยู่ที่มาเลเซีย ทว่าเธอก็ต้องพบกับอุปสรรคมากมาย เพราะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั้นถูกไวรัสตัวนี้ลุกล้ำอย่างหนักหน่วง ทว่า ฮิดิลิน ก็ยังมุ่งมั่นฝึกซ้อมอย่างเต็มที่
โตเกียว 2020 เทอยังต้องเผชิญหน้ากับคู่ปรับตลอดกาลจากจีนที่ชื่อ เลี่ยว ชิ่วหยุน และก็ได้เท่าเทียมกันตลอด กระทั่ง ฮิดิลิน เรียกน้ำหนักในท่า 'คลีน แอนด์ เจิร์ก' ที่ 127 กิโลกรัม
ผลปรากฏว่า...เธอทำได้ และมันกลายเป็นสถิติใหม่ของการแข่งขันอีกด้วย
เสียงหวีดร้องอาบด้วยคราบน้ำตาที่ปลื้มปีติ ไม่เพียงแค่ ฮิดิลิน เท่านั้น แต่มันยังรวมถึงผู้คนในฟิลิปปินส์ ที่ร่วมอิ่มเอมความสุขกับเหรียญทอง โอลิมปิก เหรียญแรกในประวัติศาสตร์
"ฉันเฝ้ารอที่จะได้ออกไปใช้ชีวิตอีกครั้ง เพราะฉันอยู่ในมาเลเซีย ฉันไม่รู้ เพราะมันเกือบสองปีได้แล้วที่ต้องอยู่ต่างประเทศ" ฮิดิลิน กล่าวหลังจากรับเหรียญรางวัล
'วีรสตรี' แห่งความภาคภูมิใจเคียงข้าง แมนนี่ ปาเกียว
ฮิดิลิน ดิอาซ
3 ผู้แพ้ที่ดี
มวยสากลสมัครเล่นหญิงรุ่นไม่เกิน 60 กิโลกรัม สุดาพร สีสอนดี นักชกความหวังชาวไทย ต้องเผชิญหน้ากับอดีตแชมป์โลกและ 'เต็ง 1' ของรายการจากไอร์แลนด์ เคลลี่ แฮร์ริงตัน
นักชกจากอุดรธานี ผู้มาพร้อมความหวังของคนทั้งชาติ สุดาพร บากบั่นหมั่นฝึกซ้อมจนก้าวผ่านอุปสรรคนานับประการ กระทั่งมาเจอกับคู่ปรับตัวฉกาจที่เคยเอาชนะเธอในการแข่งขัน เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ เมื่อรอบชิงชนะเลิศเมื่อปี 2018
ตลอด 3 ยก ที่ โตเกียว 2020 อาจจะคู่คี่ดู๋ดี๋ก็จริง แต่ดูเหมือนว่า สุดาพร ต่อยได้ชัดเจนกว่า เพราะภาพช้าที่ทีมงานตัดมาให้ชมระหว่างพักยกก็มักจะเป็นนักมวยสาวไทย ที่เข้าเป้าหลายครั้ง
กระทั่งก่อนที่กรรมการผู้ชี้ขาดจะชูมือ สุดาพร เองก็มั่นใจว่าเธอน่าจะเป็นผู้จะผ่านสู่รอบชิงชนะเลิศ
แต่กลายเป็นว่า แฮร์ริงตัน คือฝ่ายชนะ
สีหน้าของผู้แพ้จากเมืองไทย ผิดหวังชัดเจน แต่...นี่คือกีฬา ความพ่ายแพ้ไม่ใช่ทุกสิ่ง สปิริตต่างหากที่ยั่งยืน
ภาพที่ สุดาพร แสดงความมีน้ำใจนักกีฬาด้วยการชูมือคู่แข่งทั้งๆ ที่การตัดสินอาจจะดูน่ากังขาเล็กน้อยเป็นโมเมนต์อันน่าประทับใจจริงๆ
เพราะกีฬาเป็นมากกว่าคำว่า 'แพ้' หรือ 'ชนะ'
4 สุนิสา ผู้ก้าวข้ามวัฒนธรรม
ก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้น น้อยคนนักในเมืองไทย จะได้ยินชื่อของ สุนิสา หรือ สนิ ลี นักยิมนาสติกทีมชาติสหรัฐอเมริกา
ความฉงนปนสงสัยว่าเหตุใดนักกีฬาอเมริกัน ถึงมีชื่อราวกับไทยแท้ เช่นนี้ นั่นก็เพราะเธอคือหญิงสาวเชื้อสายม้งนั่นเอง
แน่นอนว่าการที่ไม่ใช่พลเมืองอเมริกัน โดยกำเนิด ทำให้ สุนิสา ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมาย แต่เธอก็อดทนและพยายามจนสามารถเป็นตัวแทนมาแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2020 ได้สำเร็จ
เหรีญทองประเภทยิมนาสติก ประเภทบุคคลรวมอุปกรณ์หญิงนั้นทำให้เธอสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายม้งที่ทำได้
5 ความภาคภูมิใจในฐานะ LGBTQ
แม้ว่าโลกปัจจุบันจะค่อนข้างจะเปิดกว้าง ผู้หญิงมีบทบาทมากกว่าแต่ก่อน, คนรุ่นใหม่ได้รับการยอมรับมากขึ้น, เชื้อชาติหรือสีผิวมีเส้นแบ่งแยกบางลงหรือเพศที่ 3 ที่เคยต้องปกปิด ก็สามารถเชิดหน้าชูตาในสังคมได้ตามปกติ
ทว่าก็มีไม่น้อยที่ยังรู้สึก 'เหยียด' กลุ่มบุคคลเหล่านี้
ทอม เดลี่ย์ นักกระโดดน้ำทีมสหราชอาณาจัร คือหัวหอกของการรณรงค์การขับเคลื่อนของกลุ่ม 'LGBTQ' (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer) เพราะเขาเองก็เปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะและเพิ่งแต่งงานกับผู้ชายด้วยกันไปเมื่อไม่นานมานี้
แน่นอนว่าด้วยชื่อเสียงและฝีมือที่เข้าขั้น 'อัจฉริยะ' ของเขานั้นทำให้การเคลื่อนไหวทุกย่างก้าวได้รับการจับตาจากผู้คนภายนอก
ใน โตเกียว 2020 ทอม เองก็ได้สร้างความแปลกประหลาดให้กับผู้ชมและผู้ร่วมแข่งขันกับการ 'ถักนิตติ้ง' ขณะชมการแข่งขันกระโดดน้ำ โดยเขาให้เหตุผลว่านี่เป็นกิจกรรมที่ทำให้ตนเองมีสมาธิมากยิ่งขึ้น
และมันก็ส่งผลให้เขาได้เหรียญทองในประเภทกกระโดดน้ำชายคู่ 10 เมตร
"ผมรู้สึกภาคภูมิใจนะ ที่จะพูดว่าผมคือเกย์ และเป็นแชมป์ โอลิมปิก" นี่คือคำกล่าวของ ทอม หลังจากได้รับเหรียญ
6 น้ำใจไม่ทิ้งใคร
ในการแข่งขันวิ่ง 800 เมตรชาย เข้าถึงรอบคัดเลือกรอบรองชนะเลิศ ฮีทที่ 3 ปรากฏเหตุการณ์ที่น่าประทับจิตกับความมี 'น้ำใจนักกีฬา'
กรรมการปล่อยตัวออกสตาร์ท ทุกคนดาหน้ากวดรวดเดียวเพื่อหวังจะเข้าไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศให้ได้ ทว่านักวิ่งจากสหรัฐอเมริกา อย่าง ไอซายห์ จีเวตต์ กับ ไนเจล เอโมส จากบอตสวานา ดันวิ่งไปชนกันจนล้มลง
คนที่พลาดคือ เอโมส ที่ดันไปชน จีเวตต์ จนล้มลง
นักกีฬาคนอื่นๆ อาจจะหุนหันพลันแล่นที่พลาดโอกาสจะได้ไปต่อยังรอบชิงชนะเลิศ และที่สำคัญนี่ยังเป็น โอลิมปิกเกมส์ ที่ 4 ปี จะจัดครั้งนึง จึงต้องเน้นกันสุดตัว
แต่ไม่ใช่กับ 2 หนุ่มนี้แน่ เพราะพวกเขาไม่ได้กล่าวโทษกันเลย แถมยังพยุงกันขึ้นมาวิ่งต่อจนจบ ซึ่งมีเวลาตามหลังคนที่เข้าเส้นชัยอยู่ถึง 54 วินาที
โดยเฉพาะ จีเวตต์ ที่ต้องคำนับหัวใจสุดกว้างใหญ่
หลังจากแข่งขันเสร็จลมกรด 800 เมตร ชาวอเมริกัน เผยว่า "ตอนที่เราล้มลงผมบอกให้เขา (ไนเจล เอโมส) วิ่งกันต่อเถอะ"
เอโมส ตอบกลับมาว่า "ผมขอโทษนะ"
แล้วทั้งคู่ก็วิ่งกันต่อจนเข้าเส้นชัย
เรื่องชัยชนะไม่สำคัญเท่ากับ 'น้ำใจนักกีฬา'
7 แต่งงานกับผมนะ?
น้อยครั้งนักที่จะเห็นการขอแต่งงานกันใน โอลิมปิกเกมส์ และครั้งนี้ที่โตเกียว นั้นมีเซอร์ไพร์สในคู่ของ มาเรีย เบเลน เปเรซ มัวริซ นักฟันดาบหญิงชาวอาร์เจนติน่า ที่ถูก ลูคัส เซาเซโด้ โค้ชของเธอสร้างความตื้นตันใจ
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า มาเรีย พลาดท่าให้กับ อันนา มาร์ตั้น ของฮังการี ทำให้ตกรอบ 32 คนสุดท้ายในรายการฟันดาบประเภท เซเบรอ
หลังจบการแข่งขัน แน่นอนล่ะว่า มาเรีย ย่อมรู้สึกเสียดายปนเสียใจที่ไม่สามารถไปต่อได้ เพราะในวัย 36 ปี โอลิมปิก หนนี้คงจะเป็นขวบนสุดท้ายแล้ว
พลันใดนั้น ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อของบ้านเกิด ลูคัส ซึ่งยังมีสถานะเป็นโค้ช ควบตำแหน่งคนรู้ใจที่คบกันมายาวนานกว่า 17 ปี ชูป้ายอยู่ด้านหลัง มาเรีย พร้อมกับเขียนเป็นภาษาละตินด้วยคำว่า "Te queres casar conmigo??? Po favo."
แปลเป็นไทย คือ "แต่งงานกับผมนะ?"
แล้วผู้สื่อข่าวก็บอกให้นักฟันดาบทีมชาติอาร์เจนติน่า ลองหันไป ซึ่งพอเธอหันควับ ลูคัส ก็คุกเข่าลง พร้อมได้ยินคำว่า "เยส" จากปากของ มาเรีย
และคลิปวิดีโอการขอแต่งงานครั้งนี้ก็โด่งดังไปทั่วแคว้นแดนละตินทีเดียว
ความรักคือสิ่งที่สวยงาม
8 ผ้าโพกหัวที่ระลึกถึง
เจ้าของ 5 เหรียญทอง โตเกียว 2020 ที่ใช้แรงบันดาลใจจาก 'คุณครู' ของตนเอง
กว่าจะมาเป็นเจ้าของสถิติโลกและสถิติ โอลิมปิกเกมส์ เคเลบ เดรสเซล เกือบจะหันหลังให้วงการว่ายน้ำมาแล้ว แต่เพราะ แคลร์ แมคคูล คุณครูสมัยยังเรียน ไฮสคูล ให้กำลังใจและยืนเคียงข้างเขามาเสมอนั่นเองที่ทำให้เจ้าตัวฮึดสู้จนกลายเป็นหนึ่งในสุดยอดนักกีฬาเฉกเช่นทุกวันนี้
กระทั่งปี 2017 แคลร์ ได้จากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็ง นั่นทำให้สามีของเธอมอบผ้าพันคอให้กับ เคเลบ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ และเขาก็มักจะพกมันไปด้วยตลอดเวลาที่แข่งขัน
“มันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของผม ถ้านับเฉพาะของที่วัตถุจับต้องได้ มันเหมือนได้พาเธอ (แคลร์ แมคคูล) มาอยู่ตอนที่ผมกำลังจะกระโจนลงแข่งขัน เธออยู่กับผมในทุกการแข่ง และมันจะเป็นแบบนั้นต่อไปจนกว่าผมจะยุติเส้นทางในอาชีพ”
นี่คือคำกล่าวของ เคเลบ ที่มีต่อคุณครูของเขา
แม้มันจะเป็นความสัมพันธ์เล็กๆ แต่มันยิ่งใหญ่สำหรับของเด็กคนหนึ่งที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงใจจากคนรอบข้างจนช่วยเปลี่ยนชีวิตไปโดยสิ้นเชิง
#OlympicGames2020 #Tokyo2020 #BeautifulMoments
โฆษณา