Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TODAY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
9 ส.ค. 2021 เวลา 09:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เมื่อโควิดพ่นพิษ สู่วิกฤต ‘เหลื่อมล้ำ’ ระดับโลก
นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิดเมื่อต้นปี 2020 จนถึงปัจจุบัน ประชากรทั่วโลกกว่า 2,000 ล้านคนที่มีรายได้น้อย ต้องประสบปัญหาในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการเพื่อการดำรงชีวิต
ไม่ว่าจะเป็น ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีประชากรราว 20 ล้านคนต้องตกงานพร้อมทั้งสูญเสียรายได้ประจำที่เคยได้รับ
ขณะที่ในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า คนไทยกว่า 6 ล้านคนต้องตกงาน พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าจะมีเด็กจบใหม่อย่างน้อย 1.3 ล้านคน ที่ยังไม่สามารถหางานทำได้ จากพิษวิกฤตโควิด
แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน กลับพบข้อมูลที่น่าสนใจจากฟากฝั่งของความมั่งคั่ง คือ
- มีเศรษฐีหน้าใหม่ระดับ Millionaire เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 ล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก (ข้อมูลจาก เครดิต ซูสซี่ โกลบอล)
- ประเทศจีนมีเศรษฐีระดับพันล้าน (Billionaire) เพิ่มขึ้น 1 คน ในทุกๆ 36 ชั่วโมง
- มหาเศรษฐี 10 อันดับแรกของโลก มีรายได้เพิ่มขึ้นในระดับที่สามารถซื้อวัคซีนให้แก่ประชากรทั่วโลกได้
ขณะที่การจัดอันดับมหาเศรษฐีทั่วโลกโดยนิตยสารฟอร์บส ประจำปีนี้ ก็พบว่าความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี 2020 เป็น 13.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2021
มากไปกว่านั้นคือมีมหาเศรษฐีหน้าใหม่เข้าสู่การจัดอันดับถึง 493 ราย ทำลายสถิติเดิมอย่างราบคาบ
สิ่งที่เกิดขึ้นนับว่าสะท้อนถึงช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ที่นับวันดูจะยิ่งห่างไกลมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงวิกฤตโควิด
1
แล้วที่มาของความเหลื่อมล้ำคืออะไร? ทำไมโควิดจึงเป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องนี้ TODAY Bizview ชวนไขข้อข้องใจและหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
[Unfair game ระหว่างมหาอำนาจกับประเทศกำลังพัฒนา ในการจัดการวิกฤตโควิด]
ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ครั้งนี้ ‘วัคซีน’ เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับทุกๆ ประเทศบนโลก
ดังนั้น จึงเห็นความพยายาม รวมไปถึงการเร่งมือในการผลิตวัคซีน ซึ่งแน่นอนว่าประเทศแรกๆ ที่ผลิตวัคซีนได้ ก็หนีไม่พ้นชาติมหาอำนาจอย่าง อเมริกา ยุโรป จีน หรือ รัสเซีย ซึ่งถือครองเทคโนโลยีขั้นสูงด้านการแพทย์
ในขณะที่ประเทศที่มีศักยภาพน้อยกว่าทั้งในด้านเงินทุนและเทคโนโลยีนั้นทำได้แค่เพียงรอการสั่งซื้อ รวมไปถึงเข้าร่วมโครงการความร่วมมือเพื่อจัดหาวัคซีน เช่น โครงการ Covax หรือรอการบริจาควัคซีนจากพี่ใหญ่ในโลก
อ้างอิงข้อมูลโดย
Ourworldindata.org
พบว่า หากนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 ถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ กลุ่มประเทศแถบยุโรป (อังกฤษ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์) หรือแม้กระทั่งจีน มีจำนวนผู้ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส ไม่ต่ำกว่า 40% ของจำนวนประชากรรวมในประเทศ
สวนทางกับกลุ่มประเทศในแถบแอฟริกา ที่มีเปอร์เซ็นต์ผู้ได้รับวัคซีนเฉลี่ยไม่ถึง 5% หรือภูมิภาคแถบอาเซียน ที่มีเปอร์เซ็นต์ผู้ฉีดวัคซีนเฉลี่ยราว 10% (ไม่นับรวมสิงคโปร์ที่มีศักยภาพสูงกว่าในแง่การจัดการและเงินทุน มีผู้ได้รับวัคซีนราว 50%)
หากพิจารณาลงลึกถึงลักษณะเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่กับประเทศกำลังพัฒนา จะเห็นภาพความต่างที่ชัดเจนมากขึ้นจากการที่ประเทศอย่างสหรัฐฯ หรือจีน ถือครองเทคโนโลยีที่สำคัญผ่านบริษัทอย่างเฟซบุ๊ก, แอมะซอน, เทสลา, กูเกิล, เทนเซ็นต์ ซึ่งได้รับผลกระทบน้อยมากจากโควิด
เพราะผู้คนยังจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต ต้องทำงานจากบ้าน เปลี่ยนรูปแบบการเสพความบันเทิงมาเป็นการเล่นเกมหรือดูสื่อบันเทิงผ่านการสตรีมมิ่งออนไลน์ ทดแทนการทำกิจกรรมนอกบ้าน
ตรงกันข้ามกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพารายได้หลักๆ จากการท่องเที่ยว หรือจากอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก
การถูกจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้าง การตกงาน และภาวะหนี้ที่ท่วมสูงจนต้องมีการกู้เงินโดยรัฐบาลเพื่อจัดการวิกฤตและเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกมิติ
สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ประเทศที่ถือครองวัคซีนมาก ย่อมฉีดวัคซีนได้เร็ว ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว อีกทั้งภาวะการเงินที่แข็งแรงทำให้การเยียวยาทำได้ดีและทั่วถึงกว่า
สวนทางกับประเทศกำลังพัฒนาที่เมื่อได้รับวัคซีนช้า ก็ยิ่งส่งผลต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศที่ต้องชะงัก ประชากรขาดรายได้ ก็ต้องใช้งบเยียวยามากขึ้นและยาวนานขึ้น เพราะต้องรอวัคซีนนั่นเอง
[ผลกระทบแปรผกผัน ผู้มีรายได้สูง VS ผู้มีรายได้ต่ำ]
อีกหนึ่งข้อมูลสำคัญจาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization) ระบุว่า ในประเทศส่วนใหญ่ กลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่ำ (กลุ่ม Blue collar) ที่อาศัยการใช้แรงงานและจำนวนชั่วโมงทำงาน ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องควักเงินออมมาใช้จ่ายดำรงชีพ และประสบปัญหาขาดแคลนเงินสำรองในการใช้จ่าย
ตรงกันข้ามกับกลุ่มแรงงานทักษะสูง ที่มีความเชี่ยวชาญ ที่ทำงานในออฟฟิศเป็นหลัก (กลุ่ม white collar) และอยู่ในกลุ่ม 40% ของผู้ที่มีรายได้สูง ได้รับผลกระทบน้อยมาก
เพราะพวกเขาสามารถทำงานหรือบริหารงานจากที่บ้านได้ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่บริษัทมีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ ‘กีตา โกพินาท’ ผู้อำนวยการด้านเศรษฐศาสตร์จาก IMF ได้แสดงกังวลต่อปัญหานี้ว่า “คนจนก็จะยิ่งจนลงมากขึ้น”
พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือกลุ่มแรงงานทักษะต่ำเพื่อทำการ reskill เข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ ก่อนที่ช่องว่างของรายได้ของทั้งสองกลุ่มจะไกลเกินเอื้อม
[สูตรโกงมหาเศรษฐี เลี่ยงภาษี ลดเงินเดือน กู้เงินใช้ ผ่องถ่ายความมั่งคั่งผ่านทรัพย์สิน]
เชื่อหรือไม่ว่า? จากการรวบรวมข้อมูลของทาง Propublica ที่ทำการเก็บข้อมูลจากกรมสรรพากรแห่งสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2014-2018 พบว่ามหาเศรษฐีระดับโลกหลายรายอย่างเสียภาษีน้อยนิดเดียว ตัวอย่างเช่น
- วอร์เรน บัฟเฟตต์ มีรายงานว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 2.43 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่กลับรายงานรายได้รวมเพียง
125 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจ่ายภาษีรวมเพียง 23.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้งแอมะซอน มีรายงานว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 9.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่กลับรายงานรายได้รวมเพียง 4.22 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และจ่ายภาษีรวมเพียง 973 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- อีลอน มัสก์ ซีอีโอจากเทสลา มีรายงานว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 1.39 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่กลับรายงานรายได้รวมเพียง 1.52 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และจ่ายภาษีรวมเพียง 455 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ซึ่งหากดูจากอัตราภาษีที่คนเหล่านี้จ่ายเทียบกับรายได้และความมั่งคั่งที่มี กลุ่มคนเหล่านี้จ่ายภาษีในอัตราเฉลี่ยที่ราวๆ 3-4% เท่านั้น
ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เพราะโดยปกติอัตราการเสียภาษีของประชากรทั่วไปในสหรัฐฯ หากมีรายได้เกิน 518,410 เหรียญสหรัฐฯ จะต้องเสียภาษีสูงถึง 37% ของรายได้
หรือหากเสียภาษีในรูปแบบของบริษัทจดทะเบียน ก็ยังต้องเสียภาษีอยู่ราวๆ 27% ของรายรับ
แล้วทำไมมหาเศรษฐีเหล่านี้จึงเสียภาษีน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก แถมยังทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
คำตอบคือ เศรษฐีเหล่านี้อาศัยกระบวนการหลัก 4 อย่าง คือ การซื้อสินทรัพย์, ลดรายได้ (เงินเดือน), กู้เงินใช้ และผ่องถ่ายความมั่งคั่งหลังเสียชีวิต
-การซื้อสินทรัพย์ - มหาเศรษฐีเหล่านี้ สะสมความมั่งคั่งในรูปแบบหุ้น อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ราคาของสินทรัพย์ก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ และตราบใดที่พวกเขายังไม่ขายสินทรัพย์ออกไป ก็จะไม่มีข้อมูลรายรับที่นำมาสู่การเสียภาษี
-ลดเงินเดือน - ถือเป็นคีย์สำคัญสำหรับกลุ่มมหาเศรษฐีเหล่านี้ เพราะซีอีโอบริษัทชื่อดัง อย่างเช่น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก
ซีอีโอเฟซบุ๊ก หรือ อีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลา ใส่เงินเดือนจากการเป็นซีอีโอบริษัทเพียง 1 เหรียญสหรัฐฯ หรือแค่ 32 บาทต่อปี แต่พวกเขาเลือกรับผลตอบแทนในรูปแบบหุ้นหรือส่วนลดในการซื้อหุ้นบริษัทแทน
หรือแม้กระทั่ง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ยังเคยออกมายอมรับว่าเขาเสียภาษีน้อยกว่าเลขาฯ ของตัวเองเสียอีก เพราะเจ้าตัวได้รับเงินเดือนน้อยกว่าเลขาฯ ของตัวเอง
สาเหตุหลักเนื่องจากการระบบคิดภาษีของกรมสรรพากร จะโฟกัสไปที่รายรับเป็นหลัก ทำให้เมื่อซีอีโอเหล่านี้เลือกรับเงินเดือนในระดับที่ต่ำมากๆ ทำให้อัตราการเสียภาษีนั้นต่ำลงไปด้วย
อีกทั้งเมื่อเลือกรับเป็นหุ้น ก็จะเข้าสู่วัฏจักรแห่งความมั่งคั่งที่มูลค่าหุ้นจะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปทุกๆ ปี
-กู้เงินใช้ - แน่นอนว่า เมื่อเหล่ามหาเศรษฐีเลือกรับเงินเดือนน้อย แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย? คำตอบคือ การกู้เงินนั่นเอง
โดยพวกเขาใช้หลักทรัพย์อย่างเช่น อสังหาริมทรัพย์ หุ้นหรือกองทุนที่ครอบครอง มาใช้เป็นหลักค้ำประกันแทน
ด้วยเครดิตที่ยอดเยี่ยมและทรัพย์สินจำนวนมหาศาล พวกเขาเหล่านี้ได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกมากในระดับ 3-4% เท่านั้น
แถมยังเหมือนถูกโชคสองชั้น เพราะเงินกู้จะไม่ถูกนับเป็นรายได้ ทำให้การจ่ายคืนเงินก็แก่ธนาคารก็ไม่ต้องเสียภาษีด้วย นับว่าเป็นความได้เปรียบมหาศาลอย่างถูกกฎหมายเสียด้วย
-ผ่องถ่ายความมั่งคั่ง - ท้ายที่สุด เมื่อมหาเศรษฐีเหล่านี้เริ่มแก่ชรา ทรัพย์สินก็จะต้องถูกส่งต่อให้แก่ทายาท ซึ่งก็มีอัตราการเสียภาษีที่ต่ำ และไม่นับเป็นรายได้นั่นเอง
เรียกได้ว่า มหาเศรษฐีเหล่านี้ได้ใช้ช่องว่างของกฎหมายได้อย่างแยบยลในการลดภาระภาษีของตน ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ โดยได้มีความพยายามที่จะผลักดันเพื่อปรับปรุงกฎหมายการเก็บภาษีให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่พลเมืองทุกคน
[Stagflation ยาพิษคนจน สวรรค์คนมั่งคั่ง]
อีกหนึ่งสภาวะทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤต ที่มีส่วนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างความมั่งคั่งระหว่างกลุ่มมหาเศรษฐีและประชาชนทั่วไปในทุกมุมโลกก็คือ ‘Stagflation’
Stagflation มาจากคำว่า Stagnation (ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากอัตราว่างงานที่สูง) รวมกับ Inflation (ภาวะเงินเฟ้อ)
ซึ่งเมื่อผนวกรวมกันแล้ว สรุปได้ง่ายๆ ว่า ประชาชนมีรายได้ลดลง แต่ราคาสินค้าต่างๆ กลับเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ลดลง
โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จำพวกทองคำหรือเซมิคอนดักเตอร์ ที่เป็นส่วนประกอบหลักของสิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (อ้างอิงจาก Bloomberg commodity index) ช่วงปี 2020 – 2021 มีการปรับตัวของดัชนีดังกล่าวจากระดับ -20% ขึ้นมาถึงระดับ 50%
ประกอบกับดัชนีราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระดับราคา 35 เหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2020 ขยับขึ้นมาที่ราคา ณ ปัจจุบันที่ 75 เหรียญสหรัฐฯ
ซึ่งเป็นผลมาจากการที่หลากหลายประเทศมหาอำนาจที่เร่งฉีดวัคซีนเพื่อเร่งฟื้นฟูเข้าสู่ภาวะปกติทางเศรษฐกิจ ทำให้กิจกรรมต่างๆ เริ่มกลับมาดำเนินการเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ความต้องการในการใช้น้ำมันเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง
เหตุการณ์นี้จึงสวนทางกับภาวะปกติที่ควรจะเป็น นั่นคือ หากเศรษฐกิจขยายตัว อัตราการว่างงานจะต่ำ อัตราเงินเฟ้อจะสูง (คนมีกำลังจับจ่ายใช้สอย สินค้าก็แพงขึ้น)
หรือหากเศรษฐกิจหดตัว อัตราการว่างงานจะสูง อัตราเงินเฟ้อจะต่ำ (คนไม่ค่อยมีกำลังในการใช้จ่าย สินค้าราคาถูกลง)
จากปัจจัยรวมทั้งหมดส่งผลให้กลุ่มมหาเศรษฐีระดับ Multi Billionaire ที่ถือครองความมั่งคั่งผ่านทางทรัพย์สินประเภทหุ้น อสังหาริมทรัพย์ กองทุน ต่างได้รับผลอานิสงส์มหาศาลจากการที่ราคาหุ้นและสินทรัพย์ต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี การแพทย์ และวัคซีน
ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำและไม่ได้ถือครองหุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุน ก็ได้รับผลกระทบจากการที่เงินที่มีในมือมีค่าลดลง แต่ราคาสินค้ากลับสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งข้อมูลจากนิตยสารฟอร์บส (เมษายน 2021) ระบุว่า มหาเศรษฐีในสหรัฐฯ เพียง 719 คน ถือครองทรัพย์สินที่มีมูลค่ารวมถึง 4.56 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเป็น 4 เท่าของทรัพย์สินรวมในกลุ่มประชากรระดับครึ่งล่างในประเทศจำนวน 150 ล้านคน ที่ 1.01 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นั่นเอง
[คนไทยจนลงแค่ไหน? และเศรษฐีไทยรวยขึ้นจริงหรือไม่?]
ย้อนกลับมาที่บ้านเรา ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่สำรวจในปี 2020 พบว่า แนวโน้มหนี้ภาคครัวเรือนต่อจีดีพีในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ มีโอกาสขยับไปถึง 89-91% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 18 ปี
และมีประชากรเพียง 38% เท่านั้นที่เป็นผู้มีเงินออม มากไปกว่านั้นคือ มีเพียง 43.8% ในกลุ่มดังกล่าว เป็นคนที่มีเงินออมมากกว่า 3 เดือนจากค่าครองชีพ สะท้อนถึงปัญหาความสามารถในการออมเงินของคนไทย
ขณะที่ภาระหนี้จากเงินกู้ (DSR- Debt Service Ratio) ของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยก็สูงถึง 44.1% เรียกได้ว่าภาระหนี้เงินกู้เพิ่มขึ้น ขณะที่รายรับก็ลดลงตาม
ขณะที่ฟากฝั่งของมหาเศรษฐีของไทย ข้อมูลจากการจัดอันดับมหาเศรษฐีไทย 50 อันดับแรกประจำปี 2021 โดยนิตยสารฟอร์บส พบว่า ปีนี้เหล่าผู้มั่งคั่งของไทยมีทรัพย์สินรวมกันคิดเป็นมูลค่าราว 1.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 20% แม้ประเทศไทยจะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิดก็ตาม
ประกอบกับข้อมูลที่ว่า คนรวยจำนวนเพียง 1% ในประเทศไทยถือครองทรัพย์สินสูงถึง 66.7% ในประเทศ พร้อมกับการที่ประเทศไทยเคยติดอันดับ 1 ในดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำระดับโลกเมื่อปี 2018 ซึ่งแนวโน้มในปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นจนถึงปัจจุบัน
[ลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร? และสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในอนาคต]
จากสภาวการณ์โควิดในปัจจุบันที่ยังคงอยู่ในภาวะเริ่มฟื้นตัวในหลายๆ ประเทศในอัตราที่แตกต่างกันตามความสามารถในการเข้าถึงและฉีดวัคซีนแก่ประชากรของแต่ละประเทศ พร้อมๆ กับปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่ยังคงอยู่
จึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากสำหรับหน่วยงานรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สิน รายได้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องกระจายรายได้และความเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยของเราเอง
เพราะลำพังในสถานการณ์ปกติ ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนก็สูงมากอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อเจอกับวิกฤตโควิดก็กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาความเหลื่อมล้ำให้เร็วขึ้นอีกหลายเท่า
น่ากลัวเหลือเกินว่า หากเหตุการณ์ยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ คำว่า ‘คนจนจะหมดไปจากประเทศ’ อาจจะเกิดขึ้นได้จริง แต่ไม่ใช่เพราะคน ‘หายจน’ แต่คนจนจะ ‘อดตาย’ ในตอนท้ายของเรื่องนั่นเอง
บทความโดย เขตต์คณิต คงชนะ
อ้างอิง
https://www.ft.com/content/cd075d91-fafa-47c8-a295-85bbd7a36b50
https://www.ft.com/content/86b99144-ba71-441d-b297-ddcdc94ea7f2
https://www.ft.com/content/747a76dd-f018-4d0d-a9f3-4069bf2f5a93
https://www.ft.com/video/e397538c-e0c0-4bf3-9da5-d0bb935ff99e
https://www.forbes.com/sites/chasewithorn/2021/04/30/american-billionaires-have-gotten-12-trillion-richer-during-the-pandemic/?sh=2fa507a3f557
https://ourworldindata.org/covid-vaccinations
https://www.bbc.com/news/world-55793575
https://inequality.org/great-divide/updates-billionaire-pandemic/
https://www.nationthailand.com/in-focus/30404626
https://forbesthailand.com/forbes-lists/thailand-richest
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/932552
https://edition.cnn.com/2021/06/08/politics/what-matters-income-taxes/index.html
https://www.propublica.org/article/the-secret-irs-files-trove-of-never-before-seen-records-reveal-how-the-wealthiest-avoid-income-tax
https://www.bbc.com/news/business-57575077
https://www.schwabassetmanagement.com/content/is-stagflation-back
https://www.forbes.com/sites/forbespr/2020/04/02/thailands-50-richest-on-forbes-list-suffer-decline-in-wealth-amid-coronavirus-woes/?sh=543c0485149b
7 บันทึก
11
1
10
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
TODAY Bizview
7
11
1
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย