9 ส.ค. 2021 เวลา 11:21
Fearless Girl : รูปปั้นเด็กสาวกล้าหาญผู้เผชิญหน้ากับกระทิงวอลล์สตรีทที่ส่งพลังความเป็น ‘ผู้นำ’ ให้กับ ‘ผู้หญิง’
1
รูปปั้น Fearless Girl เผชิญหน้า Charging Bull
ธันวาคม ปี 1989 รูปปั้นกระทิงดุ (Charging Bull) หรือกระทิงวอลล์สตรีท (Wall Street Bull) ตั้งตระหง่านอยู่ทางทิศเหนือของสวนสาธารณะโบว์ลิง กรีน ใกล้ถนนวอลล์สตรีท บนเกาะแมนฮัตตัน แห่งมหานครนิวยอร์ก ซึ่งอาร์ตูโร ดิ โมดิก้า (Arturo Di Modica) ศิลปินเจ้าของผลงานตั้งใจจะให้เป็นตัวแทนความแข็งแกร่งและการปรับตัวของสหรัฐอเมริกาหลังวิกฤต ‘Black Monday’ วันที่เลวร้ายที่สุดในตลาดหุ้นอเมริกา ช่วงปี 1987
รูปปั้นกระทิงดุยืนหยัดอยู่อย่างโดดเดี่ยวและมั่นคงจนกระทั่ง มีนาคม 2017 แดดเช้าก่อนวันสตรีสากลค่อย ๆ เผยให้เห็นรูปปั้นเด็กสาวขนาด 4 ฟุต รวบผมหางม้า ยืนเท้าสะเอว เชิดหน้ามองรูปปั้นกระทิงดุ (Charging Bull) หรือกระทิงวอลล์สตรีท (Wall Street Bull) ด้วยท่าทางไร้ความเกรงขาม หลังจากนั้นภาพการประจันหน้ากันระหว่างรูปปั้นเด็กสาวกับกระทิงดุ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องความหลากหลายทางเพศของการเป็นผู้นำในองค์กร
‘Fearless Girl’ คือชื่อที่เธอถูกเรียกขาน ตามท่าทางที่สื่อถึงความอาจหาญไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใด ภาพสะดุดตาดังกล่าวชวนให้ผู้คนที่ผ่านไปมาประหลาดใจ กลายเป็นกระแสฮือฮาบวกกับการตีความใหม่ของรูปปั้นทั้งสอง โดยเฉพาะเรื่อง ‘ความเป็นผู้นำ’ กับ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ก่อน Fearless Girl จะกลายเป็นตัวแทนความกล้าหาญ ความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศในเวลาต่อมา
รูปปั้นเด็กสาวผู้กล้าหาญคนนี้มาจากแคมเปญของบริษัท State Street Global Advisors ร่วมกับ McCann New York ที่ออกมาเรียกร้องให้ผู้คนตระหนักถึงความหลากหลายทางเพศในองค์กร และทบทวนถึงนิยามของคำว่า ‘ผู้นำ’ อีกครั้ง เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาผู้คนมักจะเห็นภาพความเป็นผู้นำที่มาพร้อมกับความเป็นเพศชายโดยเฉพาะในบริษัทด้านการเงินที่ประสบความสำเร็จในอเมริกา อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องช่องว่างของค่าตอบแทนหรือเงินเดือนที่ได้รับระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย
หนึ่งในตัวแทนทีมงาน McCann New York กล่าวถึงที่มาของแคมเปญนี้ว่า การทำโฆษณาสิ่งพิมพ์ในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้นสิ้นเปลืองเกินไป พวกเขาจึงพยายามหาวิธีพลิกเรื่องราวทั้งหมด โดยทำในสิ่งที่คนอื่น ๆ ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งทำให้นึกถึงรูปปั้นกระทิงวอลล์สตรีท ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมีพลัง แต่กลับไม่มีใครพูดถึงการเป็นตัวแทนความเป็นชายที่โดดเด่นของรูปปั้นนี้ ทั้งที่ผู้คนจำนวนมากต่อแถวเพื่อสัมผัสส่วนที่แสดงถึงความเป็นชายของเจ้ากระทิงหนุ่ม ทีมงานจึงปิ๊งไอเดียและพยายามเปลี่ยนความหมายของสัญลักษณ์แห่งวอลล์สตรีทนี้ ด้วยรูปปั้น ‘Fearless Girl’
เด็กหญิงผู้ไม่โกรธเกรี้ยว แต่กล้าหาญ
เหตุผลที่รูปปั้นนี้เป็น ‘เด็กหญิง’ แทนที่จะเป็น ‘ผู้หญิง’ เพราะผู้คนทุกเพศทุกวัยจะสามารถเชื่อมโยงและเข้าถึงได้ง่ายกว่า เพราะ ‘เด็ก’ เป็นตัวแทนของอดีตที่ชวนให้ผู้ใหญ่หวนถึงตัวเองในวัยเยาว์ ขณะเดียวกันก็เป็นตัวแทนของลูกหลานที่พร้อมเติบโตขึ้นในอนาคต ส่วนท่ายืนเท้าสะเอวอย่างมั่นคง ทำให้เธอดูพร้อมเผชิญหน้ากับทุกสิ่ง ซึ่งท่าทางดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจมาจากท่า Power Pose จากเวที TED Talks ในหัวข้อ ‘Your body language may shape who you are’ ของเอมี คัดดี (Amy Cuddy) นักจิตวิทยาสังคมที่วิจัยเกี่ยวกับภาษากาย (Body Language) ที่พบว่าการทำท่า Power Pose (ท่าเดียวกับ Fearless Girl) เป็นระยะเวลาหนึ่งทำให้คนรู้สึกมั่นใจและลดความตึงเครียดลงได้
“ท่ามือเท้าสะเอวเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจ เพราะคนส่วนใหญ่มักจะทำเมื่อยังเป็นเด็ก มากกว่าตอนเป็นผู้ใหญ่ แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเราต้องการให้เธอดูเข้มแข็งและมั่นใจ ไม่ได้ต้องการให้เธอดูโกรธเกรี้ยว”
1
ลิซซี วิลสัน (Lizzie Wilson) อาร์ตไดเรกเตอร์ ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ของแคมเปญนี้อธิบายถึงเหตุผลที่ทำรูปปั้นลักษณะดังกล่าว พร้อมบอกว่า การจัดวางรูปปั้นของ ‘เด็กหญิง’ ในช่วงวันสตรีสากลจะยิ่งทำให้ ‘Fearless Girl’ มีพลังมากขึ้นไปอีก
รูปปั้นแน่นิ่งแต่สังคมเคลื่อนไหว
ความตั้งใจแรกของทีมงาน คือวางรูปปั้นนี้ไว้เป็นเวลา 7 วัน แต่ผู้คนจำนวนมากและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาถ่ายรูปกันอย่างล้นหลามทำให้ต้องยืดเวลาการยืนประจันหน้าระหว่างสองรูปปั้นกันต่อไป ก่อนจะย้ายไปยังบ้านใหม่ของเธอ ที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (New York Stock Exchange) ในเวลาต่อมา
นอกจากจะเรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากแล้ว จากรายงานของ State Street Global Advisors เดือนตุลาคม ปี 2020 กล่าวว่า นับตั้งแต่เปิดตัวแคมเปญ Fearless Girl ในปี 2017 ทำให้พบว่ามีบริษัทที่ไม่มีผู้หญิงอยู่ในบอร์ดบริหารเลยถึง 1,463 บริษัท ซึ่ง 789 บริษัทในนี้เริ่มมีผู้หญิงในทีมบริหารแล้ว และอีก 2 บริษัทตั้งใจจะให้มีผู้หญิงอยู่ในทีมบริหารในระยะเวลาอันใกล้นี้
ในแง่ของการโฆษณา แคมเปญดังกล่าวยังกวาด 3 รางวัล Grand Prix ในงาน Cannes Lions ทั้ง PR Lion, Nontraditional Outdoor Lion และ Glass Lion ซึ่งอยู่ในหมวดหมู่งานที่ส่งผลเชิงบวกต่อความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย
ความหมายที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของการวางรูปปั้น Fearless Girl ไว้ตรงข้ามกับรูปปั้นวัวกระทิงที่มีอยู่ก่อนหน้า คือการตีความของผู้คนที่เปลี่ยนไป เพราะเดิมทีผู้สร้างสรรค์เจ้ากระทิงดุดันนี้ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นตัวแทนของความเป็นชาย แต่ตั้งใจให้เป็นของขวัญชาวอเมริกันที่ผ่านพ้นภาวะวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ และอยู่ตรงนั้นมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 1989
รูปปั้นกระทิงตัวนี้จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของ ‘พลังและการปรับตัว’ ของชาวอเมริกัน จนกระทั่ง ‘Fearless Girl’ ปรากฏตัวขึ้น รูปปั้นกระทิงจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำชายหรือความเป็นชายไปโดยปริยาย
อาร์ตูโร ดิ โมดิก้า (Arturo Di Modica) ศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังกระทิงวอลล์สตรีทเรียก Fearless Girl ว่าเป็น ‘กลอุบายของการโฆษณา (advertising trick)’ ที่เปลี่ยนความหมายรูปปั้นของเขาให้กลายเป็นวายร้าย นอกจากนี้ ยังมีศิลปินผู้สนับสนุน ดิ โมดิก้า สร้างผลงานอีกหนึ่งชิ้นขึ้นมา โดยทำเป็นรูปปั้นสุนัขทำท่าฉี่ใส่ขา ‘Fearless Girl’ จนเกิดกระแสฮือฮาขึ้นมาอีกครั้งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
บ้านหลังใหม่ของ Fearless Girl
หลังจาก ‘Fearless Girl’ ยืนหยัดประจันหน้ารูปปั้นวัวกระทิงมา 1 ปีกว่า ในเดือนธันวาคมปี 2018 รูปปั้นเด็กสาวผู้กล้าหาญได้ถูกย้ายไปยังบริเวณหน้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (New York Stock Exchange) ห่างออกมาจากบ้านหลังเดิมของเธอไม่กี่ร้อยเมตร ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อวางรูปปั้นทั้งสองไว้ในที่เดียวกันแล้ว ยิ่งดึงดูดให้ผู้คนจำนวนมากเดินทางมาเก็บภาพอันน่าฉงนใจ ส่งผลต่อการจราจรและความปลอดภัยในบริเวณดังกล่าว อีกทั้งการย้าย ‘Fearless Girl’ ไปยังตลาดหลักทรัพย์ของนิวยอร์กจะยิ่งสร้างผลกระทบให้กับผู้คนจากทุกสาขาอาชีพเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศในวงกว้างมากขึ้น
“ตอนนี้แทนที่จะจ้องมองวัวกระทิง เธอจะจ้องมองธุรกิจทั้งหมดที่นี่ในใจกลางเมืองและเมืองหลวงของธุรกิจของอเมริกา ในมหานครนิวยอร์กแห่งนี้" แคโรลีน มาโลน (Carolyn Malone) นักการเมืองชาวอเมริกัน กล่าวในพิธีเพื่อเปิดผ้าคลุมรูปปั้น “เธอเริ่มต้นจากการบอกเล่า และเธอก็เปลี่ยนมันให้เป็นการเคลื่อนไหวโดยสิ้นเชิง”
คาร์เมลิน มาลาลิส (Carmelyn Malalis) กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งนครนิวยอร์กยังกล่าวอีกว่า “Fearless Girl มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับพวกเราหลายคนไม่ว่าจะเป็นเพศไหน เธอแสดงถึงความก้าวหน้า ศักยภาพ และความหวัง และยังเป็นตัวแทนของผู้หญิงทุกคนที่ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคและความเท่าเทียมมาก่อนหน้าเรา”
2021 ‘Fearless Girl’ ไม่ได้เป็นรูปปั้นเด็กหญิงที่ประจันหน้าวัวกระทิงอีกแล้ว แต่เธอยังคงจ้องมองตึกสูงของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เรียกร้องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศอย่างเงียบเชียบ หากแต่กล้าหาญ มีความหวัง และมีพลังต่อไป
อ่านบทความ Fearless Girl : รูปปั้นเด็กสาวกล้าหาญผู้เผชิญหน้ากับกระทิงวอลล์สตรีทที่ส่งพลังความเป็น ‘ผู้นำ’ ให้กับ ‘ผู้หญิง’ ในรูปแบบเว็บไซต์ได้ที่ https://thepeople.co/fearless-girl-wall-street/
เรื่อง: ธัญญารัตน์ โคตรวันทา
#ThePeople #Social #History #FearlessGirl
โฆษณา