9 ส.ค. 2021 เวลา 12:09 • สุขภาพ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศท่ามกลาง การแพร่ระบาดโควิด-19
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate change เป็นประเด็นที่หลายประเทศให้ความสนใจมาตั้งแต่ช่วงก่อนที่จะเกิดโควิดแล้ว โดยถูกจัดให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)
แน่นอนว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะหนีผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ได้ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 1990 ได้ส่งผลให้เกิดผลกระทบระยะยาวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเป็นมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังไม่นับรวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรณี (geo-physical disasters) ที่ส่งผลให้มีคนกว่า 1.3 ล้านคน ต้องเสียชีวิตในระหว่างปี 1998 ถึง 2017
การแพร่ระบาดของโควิดตั้งแต่ปลายปี 2019 ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของผู้คนมากมาย หลายๆ อุตสาหกรรมต้องหยุดชะงักลง อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เกิดโควิดนั้นมีตัวเลขทางสถิติที่ชี้ให้เห็นว่าปริมาณความต้องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและไฟฟ้าลดลง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง ซึ่งเป็นผลในแง่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
โควิดก่อให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อม...ภาพลวงตาชั่วคราว แต่เศรษฐกิจชะงักยาวคือเรื่องจริง
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า ไม่มีใครอยากจะมองประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดไปพร้อมๆ กับการที่เชื้อไวรัสคร่าชีวิตมนุษย์ไปนับล้านคนนั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดี ดังนั้นเราจึงไม่เรียกสิ่งนี้ว่าข้อดีของโควิด
แม้ว่าโควิดจะสร้างความยากลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ อย่างไรก็ตามมันกลับทำให้อากาศที่เราหายใจเข้าไปทุกวันมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จากข้อมูลพบว่าในช่วงที่ล็อกดาวน์ส่งผลต่อการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งไนโตรเจนไดออกไซด์นี้เป็นก๊าซที่ถูกปล่อยออกมาจากการเผาไหม้แก๊สโซลีน, ถ่านหิน, ดีเซลในยานพาหนะ, โรงงานไฟฟัา และโรงงานอุตสาหกรรม การล็อกดาวน์การเดินทางและการหยุดชะงักของอุตสาหกรรมในประเทศหลักๆ จึงส่งผลให้ปริมาณการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงเป็นอย่างมาก
การลดลงของปริมาณการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ ในประเทศจีน ช่วงที่มีการล็อกดาวน์
การลดลงของปริมาณการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ ในประเทศจีน ช่วงที่มีการล็อกดาวน์
ไม่ใช่เพียงแต่ไนโตรเจนไดออกไซด์เท่านั้นที่ลดลง แต่คาร์บอนไดออกไซด์ก็ลดลงเช่นกัน ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ประมาณการณ์ว่าปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกลดลงไปกว่า 7% เลยทีเดียว
ส่วนทรัพยากรทางธรรมชาติทางทะเลก็ดีขึ้น เนื่องจากการปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยว ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟู อย่างในไทยเอง ก็พบว่าทรัพยากรทางทะเลในหลายๆ แห่งฟื้นตัว มีการพบเห็นสัตว์ทะเล อาทิ เต่ามะเฟือง พะยูน ปลาโลมาอิรวดี และปลาฉลามหูดำ บ่อยครั้งขึ้น
การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลในแต่ละวัน
แต่ต้องอย่าลืมว่า มาตรการล็อกดาวน์เป็นมาตรการรับมือกับโควิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น การลดลงของมลพิษ การฟื้นฟูของทรัพยากรทางธรรมชาติ และปัญหาสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นเพียงผลชั่วคราวเช่นกัน แต่การล็อกดาวน์ส่งผลกับเศรษฐกิจในระยะยาว ดังนั้นถึงแม้ว่าเราจะมองว่าการล็อกดาวน์ส่งผลให้มลพิษลดลง แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้มาตรการนี้เพื่อควบคุมมลพิษเป็นการถาวรตลอดไป
อีกไม่นานต่อจากนี้ ที่ผู้คนทั่วโลกมีภูมิคุ้มกันต่อโควิดกันหมด ทั่วโลกกลับมาเปิดเหมือนเดิมแล้ว ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็คงจะกลับมาเหมือนเดิม เมื่อเศรษฐกิจกลับมาดำเนินต่ออย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ปริมาณการปล่อยมลพิษก็คงจะกลับไปสู่ระดับที่สูงขึ้นเหมือนที่ผ่านมา
ยิ่งไปกว่านั้น มลพิษจากพลาสติกกลับกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลในช่วงที่เกิดโควิด เนื่องจากมีขยะทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย ถุงมือ หน้ากากอนามัย ชุด PPE และพลาสติกทางการแพทย์ต่างๆ ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อีกทั้งปริมาณความต้องการพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งยังเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ปริมาณความต้องการพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นกว่า 40% จากการซื้อสินค้าผ่านช่องทางเดลิเวอรี่และรับสินค้าที่ร้าน ทำให้ต้องมีขยะจากบรรจุภัณฑ์เป็นจำนวนมากเกิดขึ้น
1
ทั้งนี้ หากมีการจัดการขยะเหล่านี้อย่างไม่ถูกวิธีอาจก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้ จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนบริหารจัดการขยะเหล่านี้อย่างยั่งยืน
การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนในยุคหลังโควิด
เมื่อหลายๆ ประเทศต้องเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกครั้งหลังจากโควิด จึงควรมีการคำนึงถึงแผนการฟื้นฟูที่จะเปลี่ยนเศรษฐกิจในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ให้เป็นเศรษฐกิจสีเขียว ที่สะอาด ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเมื่อล้มก็สามารถลุกขึ้นได้เร็ว (Resilience) อาจกล่าวได้ว่าวิกฤตครั้งนี้ช่วยให้เรามีโอกาสในการทบทวนและสร้างเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในระยะยาว ซึ่งทางเลขาธิการสหประชาชาติ ก็ได้ออกมาให้แนวทางสำหรับรัฐบาล ในการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างสมดุล ประกอบด้วย
(1) การเปลี่ยนแปลงสีเขียว โดยที่การลงทุนจะต้องใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกๆ ภาคส่วนของเศรษฐกิจ
(2) สร้างงานสีเขียว ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และใช้พลังงานสะอาด
(3) เศรษฐกิจสีเขียว ที่จะเปลี่ยนแปลงโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
(4) ลงทุนในพลังงานทดแทนที่ยั่งยืน
(5) สามารถเผชิญกับความเสี่ยงทางภูมิอากาศได้
(6) สร้างความร่วมมือกันทุกประเทศ
ในวันพรุ่งนี้ Bnomics จึงอยากจะพาทุกคนไปเจาะลึกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะพาไปดูวิธีการแก้ปัญหา รวมถึงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในอนาคตที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กันค่ะ
#Climate change #Pandemic #มาตรการล็อกดาวน์
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา