9 ส.ค. 2021 เวลา 12:08 • ประวัติศาสตร์
พวกเขาหายไปไหน!? สเปน อดีตชาติมหาอำนาจของยุโรปที่ไม่มีบทบาทในสงครามโลกครั้งที่สอง!!
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีหลายประเทศที่วางตัวเป็นกลางอย่างเป็นทางการ แต่ยังมีหนึ่งประเทศ ที่ได้ชื่อว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจของยุโรป และมีอาณานิคมไปทั่วโลก โดยเฉพาะทวีปอเมริกาใต้อย่างประเทศสเปน ที่กล่าวได้ว่าพวกเขาแทบไม่มีบทบาทอะไรเลยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
แต่ความเป็นจริงแล้ว สเปนในยุคนั้นถูกปกครองโดย นายพลฟรานซิสโก ฟรังโก จอมเผด็จการผู้ที่เพิ่งเอาชนะในสงครามกลางเมืองสเปนอันนองเลือดมาหมาด ๆ และกล่าวได้ว่านายพลจอมเผด็จการผู้นี้มีในฝักใฝ่ในลัทธิฟาสซิสต์ และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำของนาซีเยอรมัน
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับสองสถานะของกลุ่มประเทศที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในสงครามหรือวางตัวเป็นกลาง ดังต่อไปนี้
1.ไม่ใช่คู่กรณี (non-belligerent) ประเทศกลุ่มนี้เป็นกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดทางการเมืองชัดเจน แต่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำสงครามหรือความขัดแย้งใด ๆ ที่เกิดขึ้น
2.เป็นกลาง (Neutral) นครรัฐหรือประเทศที่วางตัวเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดชัดเจน
เมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขของประเทศสเปนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คงกล่าวได้ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มข้อแรกคือ ‘ไม่ใช่คู่กรณี’ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ต้องบอกว่าประเทศสเปนนั้นเป็นประเทศในกลุ่มเป็นกลางที่มี ‘ส่วนเกี่ยวข้องกับสงคราม’ มากที่สุด
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้สเปนไม่เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเต็มตัว เพราะพวกเขาเพิ่งผ่านสงครามกลางเมืองสเปนระหว่างปี ค.ศ.1936 – 1939 ระหว่างฝ่ายสาธารณรัฐและฝ่ายชาตินิยม และกล่าวได้ว่าสงครามกลางเมืองสเปน คือปฐมบทของสงครามโลกครั้งที่สองที่แท้จริง และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความขัดแย้งเรื่องแนวคิดทางการเมืองในทวีปยุโรป
2
โดยฝ่ายแรกคือฝ่ายสาธารณรัฐ พวกเขาเป็นกลุ่มแนวคิดเสรีนิยมและต่อสู้กับกลุ่มชาตินิยมหัวโบราณ โดยมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้สนับสนุนทางการทหาร นอกจากนี้พวกเขายังได้รับการสนับสนุนจากกองทหารอาสาจากทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่กลุ่มชาตินิยม ได้รับการสนับสนุนจากนาซีเยอรมันและอิตาลี
สงครามกลางเมืองสเปน เป็นสงครามที่กล่าวได้ว่าเปรียบเสมือนกับสนามทดลองอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ ที่จะถูกนำมาใช้อย่างจริงจังในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งภายหลังกลุ่มชาตินิยมเป็นผู้ชนะในสงครามกลางเมืองสเปนในปี ค.ศ.1939 และส่งผลให้ นายพลฟรานซิสโก ฟรังโก ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ของสเปนทันที
8
อย่างที่ได้เกริ่นไว้ในตอนแรกว่านายพลฟรังโก มีใจเอนเอียงไปในทางฟาสซิสต์ แต่เขาก็ใช้ความระมัดระวังในการรักษาความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธมิตรตะวันตกด้วยเหตุผลทางการค้า เนื่องจากในตอนนั้นสเปนบอบช้ำอย่างหนักจากสงครามกลางเมือง และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูบ้านเมืองที่พังเสียหายจากไฟสงคราม จึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเต็มตัว แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็ได้ส่งทหารอาสาสมัครที่เคยเป็นอดีตทหารฝ่ายชาตินิยมในสงครามกลางเมืองสเปนกว่า 18,000 คน เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะ โดยมีเงื่อนไขว่าพวกเขาจะทำสงครามในแนวรบด้านตะวันออกกับฝ่ายสหภาพโซเวียตเท่านั้น และจะไม่ทำสงครามในแนวรบด้านตะวันตกกับฝรั่งเศสและอังกฤษโดยเด็ดขาด
3
Blue Division กองทหารอาสาสเปน ที่เข้าร่วมกับฝ่ายนาซีเยอรมันในการรบกับฝ่ายสหภาพโซเวียต
ต้องบอกว่านี่เป็นแนวคิดของนายพลฟรังโก ที่ต้องการตอบแทนฮิตเลอร์ที่เคยส่งความช่วยเหลือมาให้เขาสมัยสงครามกลางเมืองสเปน และยังคงรักษาสันติภาพกับกลุ่มประเทศพันธมิตรตะวันตกอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และรวมไปถึงสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน
นายพลฟรังโกนั้นมีนโยบายทางการทูตที่เรียกได้ว่าแปลกประหลาดอย่างมาก กล่าวคือ เขาทำให้สเปนที่ถูกชาติพันธมิตรตะวันตกและสหรัฐอเมริกามองว่าตนเองนั้นมีใจฝักใฝ่ในลัทธิฟาสซิสต์เป็นประเทศที่ ‘ไม่ใช่คู่กรณี’ ซึ่งคำดังกล่าวมีความหมายแตกต่างจากความเป็นกลางอย่างชัดเจน เพราะนอกจากจะใช้ความระมัดระวังในการส่งทหารอาสาสมัครเข้าร่วมรบกับฝ่ายอักษะ โดยตั้งเงื่อนไขว่าพวกเขาจะไม่ทำสงครามกับกลุ่มพันธมิตรตะวันตกและสหรัฐอเมริกาแล้ว ขณะเดียวกัน สเปนก็ยังให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและข่าวกรองที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายอักษะอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นในการลงนามพิธีสารของเฮนดายา (Protocol of Hendaya) ที่ว่าด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสเปน เยอรมนี และอิตาลี
3
แต่ต้องบอกไว้ก่อนตรงนี้ว่า ถึงแม้สเปนจะให้ความร่วมมือกับฝ่ายอักษะในแง่ของเศรษฐกิจและข่าวกรอง แต่สเปนก็ตั้งเงื่อนไขแปลก ๆ ที่ทำให้ฮิตเลอร์เองต้องหัวเสียไม่น้อยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นบริเวณช่องแคบยิบรอลตาร์ ที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษ ซึ่งฮิตเลอร์เองมีความกระตือรือร้นที่จะยึดครองบริเวณช่องแคบดังกล่าวเป็นอย่างมาก แต่กลับถูกนายพลฟรังโกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยให้เหตุผลว่าอังกฤษและกลุ่มประเทศอาณานิคมในแอฟริกาเป็นภัยคุกคามต่อสเปน พร้อมกับเรียกร้องผลตอบแทนที่มากเกินไป ไว้เป็นเงื่อนไขเมื่อสเปนจะต้องเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สองกับฝ่ายอักษะอย่างเต็มตัว
ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่มีใครตอบได้ว่ามันเป็นความต้องการของนายพลฟรังโก ที่ต้องการชะลอเวลาในการนำสเปนที่ยังไม่พร้อมเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองหรือไม่ แต่นั่นทำให้ฮิตเลอร์ตัดสินใจมุ่งเป้าหมายไปที่สหภาพโซเวียตแทน
1
ในการพบกันระหว่างสองผู้นำอย่างนายพลฟรังโกและฮิตเลอร์เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ.1940 ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ที่สเปนและเยอรมนีจะเป็นพันธมิตรกัน ฮิตเลอร์เคยพูดกับมุสโสลินี พันธมิตรที่ใกล้ชิดของเขาเกี่ยวกับนายพลฟรังโกไว้ดังนี้ว่า
1
“ให้ฉันถอนฟันตัวเองสักสามหรือสี่ซี่ยังจะดีกว่าให้คุยกับไอ้หมอนั่นอีก!!”
จากคำพูดของฮิตเลอร์ ทำให้เห็นได้ชัดว่าถึงแม้ว่านายพลฟรังโกจะมีแนวคิดทางการเมืองไปในทางลัทธิเผด็จการทหารฟาสซิสต์ แต่เขาและฮิตเลอร์เองก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ลงรอยกัน
1
ถึงแม้สเปนภายในการนำของจอมเผด็จการอย่างนายพลฟรังโก จะไม่ได้เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเต็มตัว แต่พวกเขาก็ประสบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ ผู้คนภายในประเทศต้องอดอยาก และพึ่งพาการค้าขายและการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ฝ่ายสัมพันธมิตรเองก็ต้องทำงานหนักเพื่อความมั่นใจว่าสเปนจะไม่เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยการใช้การปิดล้อมทางการค้า และใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมาบังคับใช้กับสเปน
2
โดยโปรตุเกส ประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสเปนมาอย่างยาวนาน โปรตุเกสเป็นประเทศที่จัดส่งธัญพืชที่จำเป็นสำหรับสเปนเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอาหาร แต่จากมาตรการกดดันของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ทำให้สเปนเข้าถึงสินค้าน้ำมันได้น้อยลง เมื่อพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่ตกต่ำหลังจากสิ้นสุดสงครามกลางเมืองสเปน การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ยิ่งทำให้สเปนต้องพบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าเดิม จนทำให้สเปนต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกาและอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
4
ถ้าหากจะพูดถึงบทสรุปของสเปนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว ต้องบอกว่าพวกเขาเป็นที่ชื่นชอบของฝ่ายอักษะในช่วงแรก ก่อนที่นายพลฟรังโกจะเปลี่ยนท่าทีในภายหลัง และชัยชนะเหนือฝ่ายอักษะของฝ่ายสัมพันธมิตรก็เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นบนทวีปยุโรป ซึ่งต้องบอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของนายพลฟรังโกเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว
แต่การตัดสินใจไม่เข้าร่วมในสงคราม ก็ใช่ว่าสเปนจะพ้นจากความผิดในข้อหาสนับสนุนฝ่ายอักษะ ไม่เพียงแต่ความร่วมมือทางการทหาร ที่มีการส่งทหารอาสาสมัครเข้าไปร่วมรบในสงคราม แต่ยังมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจและข่าวกรอง ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาและกลุ่มพันธมิตรชาติตะวันตกทำการคว่ำบาตรสเปนนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
3
ภาพถ่ายของประธานาธิบดี ดไวต์ ดี.ไอเซนฮาวร์ และนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก นายกรัฐมนตรีของสเปน ถ่ายไว้เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.1959
อย่างไรก็ตาม หลังจากการล่มสลายของลัทธิฟาสซิสต์ในทวีปยุโรป ภายหลังสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศสเปนอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมของนายพลฟรังโก สมควรดึงเข้ามาเป็นพันธมิตรเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตนั่นเอง
2
ซึ่งสรุปได้ว่า สเปนที่แม้จะฝักใฝ่ในลัทธิฟาสซิสต์อย่างชัดเจน แต่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมกันนี้ สเปนยังใช้ความระมัดระวังในการกำหนดว่าจะหันปืนไปยังฝ่ายใด ซึ่งการกระทำของสเปนนี้ เรียกได้ว่าพวกเขาไม่ใช่ฝ่ายอักษะเต็มรูปตัว แต่ก็ไม่ใช่ฝ่ายสัมพันธมิตรเช่นเดียวกัน ซึ่งดูแล้วพฤติกรรมของสเปนเหมือนเป็นการพยายามเอาตัวรอดจากความเสียหายจากภัยสงครามมากกว่า
จึงเกิดคำถามว่า ถ้าหากก่อนหน้านี้สเปนไม่ได้บอบช้ำจากสงครามกลางเมือง และอยู่ในสภาพพร้อมรบ ก็น่าสนใจเหมือนกันว่านายพลฟรังโกจะตัดสินใจเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่สองหรือไม่? จะยังยืนหยัดอยู่กับฝ่ายอักษะของฮิตเลอร์ หรือว่าจะมาอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร ก็คงไม่มีใครหยั่งรู้จิตใจของจอมเผด็จการคนนี้ได้
ข้อมูลจาก : HISTORYISNOWMAGAZINE.COM
โฆษณา