Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.6
•
ติดตาม
9 ส.ค. 2021 เวลา 12:23 • กีฬา
กีฬาฟุตบอล ในรัชกาลที่ ๖ (ตอนที่ ๑)
1
“ฟุตบอล” เป็นกีฬาที่มีต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ โดยได้รับความนิยม และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เห็นได้จากการบรรจุกีฬาชนิดนี้ในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ เช่น โอลิมปิก เอเชียนเกมส์ และซีเกมส์ เป็นต้น รวมทั้งยังมีการจัดแข่งขันในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสูงสุดคือฟุตบอลโลก ซึ่งมีผู้สนใจติดตามชมเป็นจำนวนมาก
การแข่งขันฟุตบอลโลก เมื่อ ค.ศ.๑๙๗๔
สำหรับประเทศไทย กีฬาฟุตบอลเริ่มเข้ามาแพร่หลายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการจัดแข่งขันฟุตบอลตามกฏกติกาของสมาคมฟุตบอลอังกฤษเป็นครั้งแรก ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๓ ระหว่าง “ชุดบางกอก” ซึ่งผู้แข่งขันทั้งหมดเป็นชาวอังกฤษที่อยู่ในประเทศไทย กับ “ชุดกรมศึกษาธิการ” ซึ่งผู้แข่งขันเป็นข้าราชการไทยที่สำเร็จการศึกษาจากยุโรป และชาวยุโรปที่รับราชการในประเทศไทย
ต่อมา เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้นำกฏกติกาการแข่งขันฟุตบอลฉบับภาษาอังกฤษมาแปลเป็นภาษาไทย และนำออกเผยแพร่ในวารสารของกระทรวงธรรมการ ทำให้กีฬาฟุตบอลเป็นที่นิยมแพร่หลายตามโรงเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นำไปสู่การจัดแข่งขันฟุตบอลนักเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๔
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ผู้นำกฏกติกาการแข่งขันฟุตบอลฉบับภาษาอังกฤษมาแปลเป็นภาษาไทย
ในพุทธศักราช ๒๔๔๘ มีการจัดแข่งขันฟุตบอลระหว่างสมาชิกของสามัคยาจารย์สมาคม ซึ่งสมาชิกเหล่านี้ เป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาของประเทศ ก็ยิ่งทำให้กีฬาฟุตบอลแพร่หลายไปยังโรงเรียนทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และตามหัวเมืองต่างๆ
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความนิยมในกีฬาฟุตบอลได้แพร่หลายไปยังทหารและเสือป่า ดังความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์บทความเรื่อง “ความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย” ที่พระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทย เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๘ ว่า
“…เวลานี้พวกทหารมีทางที่จะหย่อนใจด้วยความร่าเริงและไม่มีโทษ ส่วนการเล่นนั้นเองก็เป็นที่บันเทิงไม่เฉพาะแต่ส่วนผู้เล่น ทั้งคนดูก็พลอยรู้สึกสนุกไปด้วย ท้องสนามหลวงเวลานี้เป็นสนามที่ฝึกหัดเล่นฟุตบอลสำหรับทหาร ดังที่เราเห็นอยู่แทบทุกวันเวลาบ่ายๆ เต็มไปด้วยเพื่อนทหารที่ล้อมคอยดูตะโกนบอกและล้อกันฉันเพื่อนฝูง สนามหญ้าในพระบรมมหาราชวังหลังวัดพระแก้ว ก็เป็นที่สำหรับเล่นของกรมทหารรักษาวัง ส่วนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ก็ไปเล่นที่สวนมิสกะวันใกล้โรงโขนหลวงดุสิต และได้แข่งขันกับเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์เนืองๆ เป็นการบำรุงความสามัคคีให้ดีขึ้น
ตั้งแต่ฟุตบอลได้เข้าไปถึงในกองทัพบกแล้ว ความรู้สึกเป็นเกลอกันในหมู่ทหาร สังเกตเห็นได้ว่าดีขึ้นเป็นอันมาก ในห้องรักษาการและห้องขังก็มีคนน้อยลงกว่าแต่ก่อน การออกนอกบริเวณและการหนีก็มีน้อยลง ความรู้สึกเป็นมิตรเป็นเกลอในหมู่ทหารและเสือป่าก็ได้เกิดขึ้นจากการเล่นฟุตบอลเป็นปฐม…”
ด้วยพระราชญาณทัศนะที่ทรงเห็นประโยชน์ของกีฬาฟุตบอล จึงทรงสนับสนุนให้ทหารและเสือป่า ตลอดจนข้าราชสำนักได้เล่นกีฬาชนิดนี้ เพื่อเป็นการหย่อนใจ และออกกำลังกาย รวมทั้งสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ ส่งผลให้กีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมแพร่หลายไปตามหัวเมืองต่างๆ อย่างรวดเร็ว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงสนับสนุนกีฬาฟุตบอลให้เป็นที่นิยมแพร่หลายในประเทศไทย
ดังปรากฏตัวอย่างคราวเสด็จพระราชดำเนินเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๘ ในครั้งนั้นมีการจัดแข่งขันฟุตบอลหน้าพระที่นั่ง ณ สนามสโมสรเสือป่านครศรีธรรมราช ซึ่งมีบรรดาเสือป่า ลูกเสือ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และตำรวจภูธร เข้าร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก ทรงพระราชปรารภถึงการแข่งขันครั้งนี้ ในพระราชนิพนธ์บทความเรื่อง ความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย ว่า
“…วิธีการเล่นซึ่งเราเห็นที่เมืองนครศรีธรรมราชนี้ จะนับว่าเป็นอย่างดีทีเดียวไม่ได้ก็จริงอยู่ แต่ย่อมส่อให้เห็นว่าการเล่นของอังกฤษชนิดนี้เป็นที่พอใจแห่งคนไทยรุ่นใหม่เพียงใด การที่มณฑลปักษ์ใต้นี้มีคนเล่นรวบรวมได้หลายสำรับเช่นนี้ ก็เป็นพยานที่แสดงให้เห็นซึ่งความนิยมในฟุตบอล และความนิยมอันนี้นับวันจะมีแพร่หลายขึ้นทุกที…”
จากความนิยมกีฬาฟุตบอลของคนไทยที่แพร่หลายไปทั่วประเทศ ทำให้เกิดพระราชดำริในการจัดแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานครั้งแรก ซึ่งนับเป็นปฐมบทของวงการฟุตบอลไทย ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ให้กีฬาฟุตบอลให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาประเทศ
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย