17 ส.ค. 2021 เวลา 07:00 • กีฬา
NBA 103 - ทำความรู้จักกับคำศัพท์ในวงการ NBA (ตอนที่ 10) - ศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับ NBA Free Agency ตอนที่ 2
สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับ
ในบทความนี้เราจะยังอยู่กับการอธิบายคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับตลาด Free Agency กันนะครับ หลังจากที่ตอนแรกจะเป็นการอธิบายภาพรวมคร่าวๆ ไปแล้ว
เพียงแต่ในส่วนนี้ จะเน้นหนักไปในทาง "ข้อยกเว้น" ในการเซ็นสัญญาให้ทะลุเพดานค่าเหนื่อยของทีม
ต้องบอกก่อนว่า ปกติแล้ว ถ้าค่าเหนื่อยของทีมเกินเส้นเพดานค่าเหนื่อยเมื่อไหร่ ทีมจะไม่สามารถเซ็นสัญญาผู้เล่นที่เป็น Free Agents ที่ยังไม่มีสังกัดได้อีก จะทำได้แค่การ Trade สัญญาระหว่างผู้เล่นกับทีมอื่นเท่านั้น
แต่ข้อยกเว้นที่กำลังจะกล่าวถึงในบทความนี้ จะมีส่วนทำให้ทีมจะยังสามารถทำการเสริมทีมจากการเซ็นสัญญา Free Agents ได้ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะไม่สะดวก และค่าเหนื่อยที่ผู้เล่นได้อาจจะไม่เท่าสัญญาฉบับปกติ แต่ก็ยังทำให้ทีมสามารถเสริมทัพในจุดที่คิดว่าจำเป็นได้นั่นเอง
ว่าแล้วก็มาลุยกันต่อเลยครับ
จากที่กล่าวไปในช่วงต้นบทความ ทางลีกจะมี "ข้อยกเว้น" ให้แต่ละทีมสามารถทำการเซ็นสัญญาผู้เล่น ทั้งที่มีเพดานค่าเหนื่อยเกินเส้น Cap ไปแล้ว ซึ่งเงื่อนไขที่จะทำได้ก็มีดังนี้
1. Bird Exception
คนที่ตามมาแล้วระยะหนึ่ง น่าจะพอคุ้นๆ กับคำว่า Bird Right อยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นข้อกำหนดเดียวกันกับอันนี้แหละครับ เพียงแต่รายละเอียดบางส่วนจะเกี่ยวข้องกับตัวสัญญาด้วย ถ้ามีโอกาสจะนำมาเขียนอีกครั้งในภายหลัง
สิทธิ์ Bird Exception จะเข้าเงื่อนไขก็ต่อเมื่อ ผู้เล่นคนนั้นอยู่กับทีมตั้งแต่ 3 ฤดูกาลขึ้นไปจนสัญญาสิ้นสุด โดยไม่จำเป็นว่าผู้เล่นคนนั้นจะเริ่มต้นสัญญากับทีมต้นสังกัดหรือไม่ (เช่น ถ้าทีม A ทำการเซ็นสัญญากับผู้เล่น ก เป็นเวลา 3 ฤดูกาล แต่ระหว่างทางได้ทำการ Trade ไปให้กับทีม B ถ้าไม่มีการยกเลิกสัญญาฉบับนี้ ผู้เล่น ก จะมีสิทธิ์ Bird Exception ในส่วนของทีม B หลังสัญญาสิ้นสุดลงนั่นเอง)
ผู้เล่นที่ได้สิทธิ์นี้ จะสามารถทำการต่อสัญญาได้ถึงสัญญาระดับ Max และถ้าเข้าเงื่อนไขบางอย่าง ก็อาจจะเพิ่ม Cap ได้อีก (มีโอกาสไปถึง Supermax) และสามารถทำสัญญาได้สูงสุดถึง 5 ปีเลยล่ะครับ
2. Early Bird Exception
สิทธิ์ Early Bird จะเข้าเงื่อนไขก็ต่อเมื่อ ผู้เล่นคนนั้นอยู่กับทีมตั้งแต่ 2 ฤดูกาลขึ้นไปจนสัญญาสิ้นสุด (เงื่อนไขอื่นๆ เหมือนกับข้อ 1 ทุกประการ เปลี่ยนแค่เป็นระยะเวลา 2 ปี)
ผู้เล่นที่ได้สิทธิ์นี้ จะสามารถทำการต่อสัญญาด้วยเงื่อนไข 1 ใน 2 ช้อดังนี้
2.1 ค่าจ้างต่อปีเพิ่มขึ้นสูงสุดไม่เกิน 175% ของค่าเหนื่อยปีสุดท้ายจากสัญญาฉบับเดิม
2.2 ค่าจ้างต่อปีเพิ่มขึ้นสูงสุดไม่เกิน 105% จากค่าเหนื่อยโดยเฉลี่ยของสัญญาเดิม
ซึ่งปกติแล้วสัญญาจะเป็นแบบอัตราก้าวหน้า (ได้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี) โอกาสที่จะทำสัญญาในเงื่อนไข 2.2 อาจจะเห็นไม่มากนัก แต่ก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง
ส่วนระยะเวลาในการทำสัญญาฉบับใหม่ จะต้องไม่ต่ำกว่า 2 ปี (ไม่รวมปีที่ใช้ตัวเลือก Option) และสูงสุดไม่เกิน 4 ปี (รวมปีสุดท้ายที่ใส่ตัวเลือก Option แล้ว) หมายความว่าถ้าจะใส่ Option ด้วย ต้องทำสัญญาไม่ต่ำกว่า 3 ปีนั่นเอง
3. Non-Bird Exception
สิทธิ์นี้สำหรับผู้เล่นที่ไม่เข้าข่ายใน 2 ข้อแรก โดยทีมจะสามารถทำการต่อสัญญาด้วยเงื่อนไข 1 ใน 3 ข้อดังนี้
3.1 ค่าจ้างต่อปีเพิ่มขึ้นสูงสุดไม่เกิน 120% ของค่าเหนื่อยปีสุดท้ายจากสัญญาฉบับเดิม
3.2 ค่าจ้างต่อปีเพิ่มขึ้น 120% ถ้าสัญญาฉบับเดิมเป็นสัญญาค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Salary)
3.3 ถ้าผู้เล่นคนนั้นเป็น RFA การรับสิทธิ์ข้อเสนอเบื้องต้น (Qualifying Offer) ก็ถือเป็นเงื่อนไขของสัญญา Non-Bird เช่นกัน
4. Bi-Annual Exception
สิทธิ์นี้จะไม่สามารถใช้ติดต่อกันในแต่ละปีได้ กล่าวคือ ถ้าปีนี้ใช้ไปแล้ว ปีหน้าจะไม่สามารถใช้ได้ ต้องรอปีถัดไปถึงจะใช้ได้อีกครั้ง แถมใช้ได้เฉพาะ Free Agent ที่สัญญาสิ้นสุดเท่านั้น ไม่สามารถใช้เงื่อนไขนี้ผ่านผู้เล่นที่ทำการ Trade มาได้
เป็นการเสนอสัญญาแบบระยะสั้นไม่เกิน 2 ปี แถมค่าจ้างจะถูกบังคับ (ในฤดูกาล 2021/22 ค่าจ้างปีแรกสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 3.4 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ข้อสังเกต ที่ระบุไว้ว่าค่าเหนื่อยปีแรกสูงสุด เนื่องจากว่าสิทธิ์นี้จะสามารถใช้เซ็นกับผู้เล่นได้มากกว่าหนึ่งคน เพียงแต่เพดานค่าจ้างจะนำมาคิดรวมกัน ทำให้ปกติแล้วสิทธิ์เหล่านี้มักจะใช้กับผู้เล่นแค่คนเดียว (ข้อ 4-7 มีเงื่อนไขตรงนี้เหมือนกันทั้งหมด)
**ทีมที่ใช้สิทธิ์นี้ จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ในข้อ 5, 6, 7 ได้ ในปีเดียวกัน**
5. Non-taxpayer Mid-level Exception
สิทธิ์นี้จะเป็นการเสนอสัญญาสูงสุด 4 ปี โดยค่าจ้างจะถูกบังคับ (ในฤดูกาล 2021/22 ค่าจ้างปีแรกสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 8.6 ล้านเหรียญสหรัฐ)
สิทธิ์นี้จะเหมือนกับข้อ 4 คือไม่สามารถใช้กับผู้เล่นทีมอื่นหรือไร้สังกัดได้ จะใช้ได้เฉพาะกับ Free Agent เท่านั้น ไม่สามารถเซ็นผู้เล่นผ่านการ Trade ได้ เพียงแต่สิทธิ์นี้จะใช้ได้ทุกปี ไม่ได้เป็นแบบปีเว้นปีเหมือนข้อ 4
**ทีมที่ใช้สิทธิ์นี้ จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ในข้อ 4, 6, 7 ได้ในปีเดียวกัน**
6. Taxpayer Mid-Level Salary Exception
สิทธิ์นี้จะเป็นการเสนอสัญญาสูงสุด 3 ปี โดยค่าจ้างจะถูกบังคับ (ในฤดูกาล 2021/22 ค่าจ้างปีแรกสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 5.3 ล้านเหรียญสหรัฐ)
เงื่อนไขในการใช้สิทธิ์นี้จะเหมือนกับข้อ 4 และ 5 เพียงแต่ถ้าทีมไหนใช้สิทธิ์ในข้อ 5 แล้วค่าเหนือยรวมเกินเส้น Tax เมื่อไหร่ จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ในข้อ 5 ได้ ทางลีกจะบังคับให้มาใช้เงื่อนไขในข้อนี้แทน
**ทีมที่ใช้สิทธิ์นี้ จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ในข้อ 4, 5, 7 ได้ในปีเดียวกัน**
7. Mid-Level Salary Exception for Room Teams
สิทธิ์นี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อทีมไม่ได้มีการใช้สิทธิ์ตั้งแต่ข้อ 4-6 ข้างต้น และทีมนั้นยังมีค่าจ้างรวมไม่ถึงเพดานค่าเหนื่อย จึงจะสามารถใช้สิทธิ์นี้ได้
สิทธิ์นี้จะเป็นการเสนอสัญญาสูงสุด 2 ปี โดยค่าจ้างจะถูกบังคับ (ในฤดูกาล 2021/22 ค่าจ้างปีแรกสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 4.4 ล้านเหรียญสหรัฐ)
และเหมือนกับ 3 ข้อก่อนหน้านี้ สิทธิ์นี้จะใช้ได้กับ Free Agents เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับผู้เล่นที่ได้จากการ Trade ได้
8. Rookie Exception
ทีมสามารถเจรจาสัญญาฉบับที่สองของบรรดาดาวรุ่งที่ผ่านการ Draft ในรอบแรกมาได้ โดยมีค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 120% ของสัญญาฉบับแรก
ซึ่งสัญญาฉบับแรกที่เป็นเหมือนสัญญาบังคับตอนเข้าลีก จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทุกปี โดยจะมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงขึ้นกับเพดานค่าเหนื่อยในแต่ละปี
9. Minimum Salary Exception
ทีมสามารถใช้สิทธิ์การเซ็นสัญญาค่าจ้างขั้นต่ำ (รวมไปถึงการเซ็นสัญญาระยะสั้นแบบ 10 วัน หรือการเซ็นสัญญาจนถึงจบฤดูกาล) แบบ 1 หรือ 2 ปีให้กับผู้เล่นได้ ซึ่งสิทธิ์นี้จะไม่เหมือนข้ออื่นๆ ที่สามารถเซ็นกับผู้เล่นจากการ Trade ได้ด้วย (แต่การเซ็นสัญญา 10 วัน และเซ็นแบบจนจบฤดูกาล จะสามารถใช้ได้กับ Free Agents เท่านั้น)
โดยค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละปีก็จะแตกต่างกันออกไปเหมือนกับข้อ 8 จะมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงขึ้นกับเพดานค่าเหนื่อยในแต่ละปีเป็นหลัก
10. Disabled Player Exception
สิทธิ์นี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อทีมมีผู้เล่นที่ได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถลงเล่นในฤดูกาลนั้นได้อีกต่อไป และจะใช้ได้แค่ผู้เล่นคนเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะมีผู้เล่นที่เข้าข่ายรับเงื่อนไขนี้ได้กี่คนก็ตามในฤดูกาลเดียวกัน สิทธิ์นี้จะทำให้ทีมสามารถจ้างผู้เล่นจากทีมอื่น (หรือไร้สังกัด) มาช่วยเล่นให้กับทีมได้
สัญญาฉบับนี้จะมีเวลาแค่ 1 ปี หรือมีผลจนฤดูกาลสิ้นสุดเท่านั้น ค่าจ้างจะขึ้นกับเงื่อนไข 1 ใน 2 ข้อดังนี้
1. ค่าจ้างไม่เกินครึ่งหนึ่งของค่าจ้างจากผู้เล่นที่บาดเจ็บจนทีมขอใช้สิทธิ์นี้
2. ค่าจ้างระดับ Non-taxpayer Mid-level Exception ของฤดูกาลดังกล่าว
การใช้สิทธิ์นี้จะมีข้อกำหนดค่อนข้างเยอะ ดังนี้
10.1 ทีมจะใช้สิทธิ์นี้สำหรับผู้เล่นที่ประสบอาการบาดเจ็บก่อนวันที่ 15 มกราคม และมีการประเมินจากทีมแพทย์ที่ทางลีกเป็นคนแต่งตั้งให้ตรวจสอบว่า ผู้เล่นคนดังกล่าวน่าจะไม่สามารถกลับมาลงเล่นได้ก่อนวันที่ 15 มิถุนายน
แต่ถ้าผู้เล่นคนนั้นฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดและสามารถกลับมาลงเล่นได้ ทางลีกจะถือว่าไม่มีปัญหาอะไร สามารถลงเล่นได้ตามปกติ และไม่มีผลกระทบต่อค่าเหนื่อยรวมของทีม เนื่องจากใช้สิทธิ์และผ่านการประเมินแล้ว
10.2 ผู้เล่นที่ทีมจะทำการใช้สิทธิ์นี้ เมื่อรวมกับสัญญาฉบับนี้แล้ว จะต้องมีค่าจ้างรวมเกินเส้นเพดานค่าเหนื่อยที่กำหนดไว้ในฤดูกาลนั้น และผู้เล่นคนที่บาดเจ็บนั้นจะต้องมีสัญญาเหลืออยู่หลังจากที่ฤดูกาลนี้สิ้นสุดลงไปแล้ว (หรือไม่ใช่สัญญาปีสุดท้าย)
10.3 ปกติแล้วสัญญานี้จะมีระยะเวลาแค่ 1 ปี หรือจนจบฤดูกาล แต่สิทธิ์นี้สามารถใช้ผ่านการ Trade ผู้เล่นจากทีมอื่นได้ เพียงแต่ว่าผู้เล่นนั้นต้องอยู่ในปีสุดท้ายของสัญญา และทีมที่ใช้สิทธิ์นี้จะต้องมอบเงินสดให้ทีมคู่กรณีเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งด้วย
10.4 ถึงแม้ว่าจะผ่านเงื่อนไขครบทุกข้อจนใช้สิทธิ์นี้ได้ แต่สิทธิ์นี้จะสามารถยื่นขอได้ถึงวันที่ 10 มีนาคมเท่านั้น ถ้าหลังจากนั้นจะไม่สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้อีกในฤดูกาลนั้นๆ
ตัวอย่าง เช่น ผู้เล่น A ได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถลงเล่นได้อีกในฤดูกาลนี้ หลังจากที่ตรวจสอบแล้วผ่านเงื่อนไขที่กำหนดจนสามารถใช้สิทธิ์นี้ได้
ถ้าผู้เล่น A มีค่าเหนื่อยในฤดูกาลนี้ 20 ล้านเหรียญ ผู้เล่น B ที่มาแทนจะทำสัญญาได้ไม่เกิน 10 ล้านเหรียญ หรือไม่เกิน 8.6 ล้านเหรียญตามสิทธิ์ MLE แล้วแต่จะตกลงกัน
ผู้เล่น B นั้นสามารถที่จะเซ็นจาก Free Agents ที่ยังไม่มีสังกัด หรือจะ Trade มาจากทีมอื่นก็ได้ แต่ต้องดูเงื่อนไขในข้อ 10.4 ประกอบด้วยนั่นเอง
สำหรับตอนที่ 2 จะขอพักไว้เพียงเท่านี้ก่อน ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้ว "ข้อยกเว้น" จะยังนำเสนอไปไม่ครบก็ตาม
เนื่องจากว่าข้อยกเว้นสุดท้ายอย่าง Trade Player Exception เป็นข้อยกเว้นที่เงื่อนไขค่อนข้างเยอะ และมีรายละเอียดค่อนข้างมาก จึงจะขอยกไปเป็นอีกตอนต่างหาก
เพียงแต่ว่าแค่ 2 ตอนที่ผ่านมานี้ น่าจะทำให้คุณผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับระบบและคำศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาด Free Agency ได้บ้างไม่มากก็น้อย
แล้วพบกันใหม่ในตอนถัดไปครับ
ถ้าชอบก็ฝาก Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
โฆษณา