10 ส.ค. 2021 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
รู้มั้ยทำไมหนังสือ(ยัง)ขายดี
บอกตามตรงเลยนะคะว่า โดยส่วนตัวแล้ว ชอบอ่านหนังสือเล่มมากกว่าอีบุ๊ค
เพราะอะไรนะเหรอ ตอบไม่ได้เหมือนกันค่ะ อาจเพราะเราโตมากับหนังสือเล่มมั้ง
มันมีความคลาสสิคในตัว มีความสุข เวลาได้เดินไปร้านหนังสือ เวลาที่ได้อ่าน ได้จับหนังสือ มันมีความสงบแปลกๆ แบบที่การอ่านอีบุ๊คให้ไม่ได้
แต่การนิยมอ่านหนังสือเล่มนั้น ไม่ได้เป็นที่นิยมเฉพาะในหมู่คนรุ่นเก่าเท่านั้นนะคะ เด็กรุ่นใหม่หลายคนก็ชื่นชอบและนิยมหนังสือเล่มเช่นกัน โดยส่วนตัวคิดว่า หนังสือเล่มคงไม่หายไปจากโลกนี้ง่าย ๆ แน่นอนค่ะ
มีการวิจัยด้านการตลาดในสหรัฐ ที่หากไปถามคนอเมริกันว่าชอบอ่าน e-book หรือหนังสือเป็นเล่มๆ คำตอบที่ได้อาจสร้างความประหลาดใจ เพราะสำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว หนังสือเล่มๆ แบบเดิมยังครองใจพวกเขา
รายงานประจำปี 2562 ของสมาคมสำนักพิมพ์แห่งสหรัฐ เปิดเผยว่าบรรดาสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือทุกประเภทในสหรัฐ มีรายได้เกือบ 26,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 780,000 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว โดยฉบับปรินท์หรือหนังสือเป็นเล่มทำรายได้ถึง 22,600 ล้านดอลลาร์ (678,000 ล้านบาท) ส่วน e-book มีรายได้ 2,040 ล้านดอลลาร์ (61,000 ล้านบาท) ตัวเลขนี้รวมถึงหนังสือประเภทการค้า การศึกษา และหนังสืออ่านเล่นเพื่อความบันเทิง
ผู้บริหารสมาคมผู้จำหน่ายหนังสือแห่งอังกฤษ ชี้ว่าแม้สื่อดิจิทัลเข้ามา disrupt อุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างหนังสือพิมพ์และธุรกิจเพลง แต่คนยังชื่นชอบที่จะจับจองหนังสือเป็นเล่มๆ
ผู้บริหารสมาคมผู้จำหน่ายหนังสือแห่งอังกฤษ มองว่าฟองสบู่ e-book ได้แตกออกแล้ว เห็นได้จากยอดขายที่ทรงๆ ขณะที่หนังสือเป็นเล่มๆ มีความดึงดูดใจมากกว่า และบรรดาสำนักพิมพ์ต่างพากันทำหนังสือที่น่าซื้อหาออกมา ไล่ตั้งแต่การออกแบบปก
ตัวแทนจากสมาคมผู้จำหน่ายหนังสือของอังกฤษ ยังมองว่าเหตุที่คนชื่นชอบหนังสือเป็นเล่ม เพราะสามารถวางโชว์ได้ว่าอ่านเล่มไหนแล้วมั่ง นอกจากนั้น หนังสือยังเป็นของตกแต่งบ้านได้ด้วย แล้วยังมีหนังสือที่สามารถเก็บเป็นคอลเลคชันได้อีก คนจำนวนมากเป็นนักอ่านตัวยงและตามซื้อหนังสือชุดที่พวกเขารักชอบ การมีหนังสือเล่มโปรดวางเรียงบนชั้นหนังสือถือเป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งของบ้าน และบอกตัวตนคนอ่านได้ด้วย
Nielsen Book International ระบุว่า หนังสือประเภทที่ขายดีในเวอร์ชันปรินท์ หรือแบบรูปเล่ม รวมถึงหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติ การทำอาหาร และหนังสือเด็ก ส่วนหนังสือนิยายประเภทอาชญากรรม สืบสวนสอบสวน และนิยายรักหวานแหวว ได้รับความนิยมบน e-reader
ทั้งนี้ แอมะซอนได้เปิดตัวเครื่องอ่านหนังสือ “Kindle” มากว่า 10 ปีแล้ว แต่ผู้บริหารสมาคมผู้จำหน่ายหนังสือของอังกฤษมองว่าคนไม่อยากอยู่หน้าจอมากเกินไป เลยเลือกอ่านหนังสือ นอกจากนั้น หนังสือเป็นเล่มยังสร้างความผูกพันทางอารมณ์ได้มากกว่าการอ่านบน e-reader
บางคราวมีการระบุว่าคนยุคมิลเลนเนียลทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องล้มหายตายจากไป แต่จริงๆ แล้วกลุ่มคนอายุไม่มากนักนี่เอง ที่หาอ่านหนังสือ เพราะข้อมูลของ Nielsen Book International ระบุว่า 63% ของยอดขายหนังสือเป็นเล่มๆ ในอังกฤษ เป็นการขายให้คนอายุต่ำกว่า 44 ปี และ 52% ของยอดขาย e-book เป็นการขายให้คนอายุมากกว่า 45 ปี
สภาพการณ์ในสหรัฐก็คล้ายๆ กัน เพราะ Pew Research เปิดเผยว่าคนอายุ 18-29 ปีจำนวนถึง 75% ระบุว่าอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ เมื่อปี 2560
ผู้บริหารของ London Book Fair มองอนาคตของหนังสือว่า จะยังเป็นที่ต้องการในทุกรูปแบบ เพราะคนอยากหาความรู้ใหม่ๆ รวมถึงอยากอ่านเรื่องราวต่างๆ จึงมองได้ว่าอุตสาหกรรมหนังสือค่อนข้างแข็งแกร่ง
มีงานวิจัยพบว่า การอ่านหนังสือจากเล่มกระดาษ มีประสิทธิภาพในการจดจำมากกว่า E-book
จากการศึกษาและวิจัยชิ้นล่าสุด ที่แบ่งนักอ่านกลุ่มตัวอย่างจำนวน 50 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ นักอ่านที่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และหนังสือที่เป็นรูปเล่มกระดาษ แล้วให้อ่านเรื่องสั้นของ Elizabeth George เหมือนกัน พบว่านักอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่มกระดาษมีแนวโน้มที่จะจดจำเรื่องราวและเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีกว่านักอ่านกลุ่มแรก
Anne Mangen นักวิจัยผู้ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพการอ่านหนังสือด้วยระบบดิจิทัล จาก Stavanger University ประเทศนอร์เวย์ กล่าวว่า นักอ่านที่อ่านหนังสือเป็นรูปเล่มแบบดั้งเดิม จะมีประสิทธิภาพในการอ่านที่สูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเรียงลำดับของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือ สังเกตได้จาก เมื่อให้นักอ่านกลุ่มตัวอย่าง ลองเรียงลำดับเหตุการณ์ 14 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้นที่อ่าน นักอ่านที่อ่านหนังสือเป็นรูปเล่ม สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างแม่นยำ ขณะที่นักอ่านอีกกลุ่มกลับไม่สามารถทำได้
เธอได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เมื่อเราอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่มกระดาษ เราจะรู้สึกได้ถึงเนื้อเรื่องที่ค่อยๆผ่านไปตามหน้ากระดาษที่เราเปลี่ยน ซึ่งทำให้เราติดตามเนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นในหนังสือได้ดีกว่า นอกจากนั้น ขนาดกระดาษที่เท่ากันพอดีของหนังสือ ยังทำให้เราเห็นภาพได้ชัดขึ้นอีกด้วยว่า เราอ่านไปมากน้อยเท่าไหร่แล้ว และเนื้อเรื่องที่เหลือยังมีอีกเท่าไหร่ที่ต้องอ่านต่อ เพราะฉะนั้น ด้วยสัมผัสและความรู้สึกที่หาไม่ได้จากการอ่านหนังสือผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จึงทำให้การอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่ม เป็นวิธีการอ่านหนังสือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
นอกจากนี้ เธอยังศึกษาความแตกต่างระหว่างการอ่านชีทเรียน และไฟล์ PDF บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ในกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งพบว่า เมื่อทำแบบทดสอบหลังเรียน กลุ่มนักเรียนตัวอย่างที่อ่านชีทเรียนแบบดั้งเดิม สามารถทำคะแนนได้สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับนักเรียนที่อ่านหนังสือจากไฟล์ PDF :ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาและวิจัยก่อนหน้าอีกด้วย
จากผลการศึกษาและวิจัยที่เกิดขึ้น ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า การเข้ามามีอิทธิพลของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในวงการนักอ่านส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการอ่านของคนรุ่นใหม่มากแค่ไหน เพราะฉะนั้น ในมุมมองของนักวิชาการ Anne Mangen จึงเห็นว่า เราจำเป็นจะต้องนำเสนอผลงานวิจัยและหลักฐานเชิงประจักษ์ให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และร่วมกันหาแนวทางว่า หนังสือประเภทไหนควรอ่านกับเครื่องมืออะไร เช่น หากเป็นการอ่านเรื่องย่อสั้นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องโฟกัสทุกตัวอักษร การอ่านหนังสือผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็อาจจะช่วยให้นักอ่านสามารถอ่านหนังสือได้สะดวกมากขึ้น แต่ถ้าหากเป็นหนังสือนวนิยายเรื่องยาวหรือหนังสือเรียนเล่มหนา การอ่านหนังสือแบบดั้งเดิมก็อาจจะเหมาะสมมากกว่า
โฆษณา