10 ส.ค. 2021 เวลา 12:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อากาศที่เปลี่ยนแปลง กับ โลกที่กำลังเปลี่ยนไป - วิกฤตที่รอเราอยู่
เมื่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นเรื่องใกล้ตัวและรุนแรงกว่าที่คิด
3
แม้จะมีหลายอย่างที่ส่งสัญญาณเตือนว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) นั้นกำลังแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งในขั้วโลกที่เริ่มละลายเร็วขึ้น หรือภัยแล้งที่เกิดบ่อยขึ้น มันก็ยังดูจะไกลตัวสำหรับบางคน และดูเป็นปัญหาที่สามารถค่อยๆ แก้กันไป
1
แต่ที่จริงแล้ว สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงนั้น อาจจะมีผลกระทบรุนแรงและเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่ทุกคนคิด ในบทความนี้ เราจะไปดูกันว่าในช่วงที่ผ่านมา มีอะไรเกิดขึ้นบ้างและสิ่งเหล่านี้หมายความว่าอย่างไรต่อเศรษฐกิจและชีวิตของเรา
ภัยพิบัติใหญ่ในหนึ่งเดือน...สั่นสะเทือนไปทั่วโลก
ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเพียงแค่เดือนเดียว มีภัยพิบัติรุนแรงเกิดขึ้นหลายอย่างในมุมต่างๆ ของโลก เช่น น้ำท่วมครั้งใหญ่ในเยอรมนีและเบลเยียม ที่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 180 ราย และถือเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดที่เคยมีมาในเยอรมันในรอบ 60 ปี หรือเหตุการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน (ฝนพันปี) จนน้ำทะลักเขื่อนและไหลท่วมเมือง โดยเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 ราย และมีคนจมน้ำตายในรถไฟฟ้าใต้ดินถึง 12 คน นี่ยังไม่รวมถึงคลื่นความร้อนที่โหมกระหน่ำสหรัฐฯ และ แคนาดาจนมีผู้เสียชีวิตที่น่าจะช็อกตายเพราะอากาศร้อนรวมกันกว่า 700 คนแล้วด้วย
2
เหตุการณ์น้ำท่วมที่มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน
ภัยพิบัติ: เรื่องธรรมชาติ หรือ เราขาดความใส่ใจ?
1
นักวิทยาศาสตร์หลายคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า เหตุการณ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มาจากอากาศที่เปลี่ยนไป อย่างการที่ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในยุโรปหรือในจีน ก็น่าจะมาจากชั้นบรรยากาศโลกที่ร้อนขึ้น
หากถามว่านี่เป็นผลพวงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั้งหมดเลยไหม ก็คงยังพูดไม่ได้เต็มปากเพราะอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย แต่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าจำนวนเหตุการณ์สุดโต่งแบบนี้ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่ผ่านมา จนดูผิดธรรมชาติ
1
นอกจากนี้ นักวิจัยจาก World Weather Attribution ยังออกมาบอกอีกว่าคลื่นอากาศร้อนแบบที่เราได้เห็นกันนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติโดยปราศจากน้ำมือของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้ การทำลายป่า หรือ การใช้พลังงานคาร์บอน ซึ่งนี่แปลว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ผลจากการละเลยสิ่งแวดล้อมของเราในอดีตกำลังไล่ตามเราแล้ว
2
ถึงพายุจะสงบ แต่ปัญหาไม่ได้จบทันที
อย่างในเยอรมนี น้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามากกว่า 6,000 ล้านยูโร (ราวๆ 2.4 แสนล้านบาท) ซึ่งการซ่อมแซมเมืองนั้นอาจต้องใช้เวลาเป็นปีๆ นอกจากนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างมาก เพราะเขตปกครองอาห์รไวล์เลอร์ (Ahr Valley) ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมหนัก เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวสำคัญสำหรับคนที่ชอบไวน์ เช่นเดียวกัน ความเสียหายจากน้ำท่วมในมณฑลเหอหนาน ประเทศจีนก็ตีเป็นมูลค่าราวๆ 1,220 ล้านหยวน (6,300 ล้านบาท) และต้องใช้เวลาซ่อมแซมอีกพอสมควร
2
เยอรมนีเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมยิ่งใหญ่ในรอบ 60 ปี
ส่วนสหรัฐและแคนาดา แม้จะไม่ได้เจอกับความเสียหายหนักเท่ายุโรปและจีน แต่อากาศที่ร้อนจัดก็สร้างความเสียหายให้โครงสร้างพื้นฐานมากมาย เช่น ระบบไฟฟ้า ท่อประปา หรือ แม้กระทั่งถนนคอนกรีตที่ขยายตัวในอากาศร้อนจนแตกเป็นรอยร้าว และทำให้กิจกรรมต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การคมนาคม การเรียน รวมไปถึงการค้าขายต้องหยุดไปชั่วคราว
Portland Cooling Centers 2021
ถ้าโลกยังร้อนไม่ลด อนาคตจะยิ่งแย่
ความเสียหายในทำนองนี้จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต หากโลกยังร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทาง Swiss Re Institute คาดการณ์ไว้ว่า ความเสียหายโดยรวมจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงจะทำให้ GDP โลกลดไปประมาณ 4% – 18% ในปี 2050 ขึ้นตามขนาดของมาตรการทั่วโลกที่ใช้ในการควบคุมอุณหภูมิโลก โดย GDP โลกจะลดลงเพียง 4% หากเราสามารถควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นสูงเกิน 2℃ ได้ แต่จะหดลงไปถึง 18% หากไม่มีการควบคุมเลย (ตาราง 1)
ตาราง 1 :
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังบอกเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อดูจากความเปราะบางของแต่ละประเทศต่ออากาศแห้งจัดหรือชื้นจัด และความสามารถในการรับมือกับอากาศที่แปรปรวนพบว่า ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น (ตาราง 2) แต่ในทางกลับกัน หากควบคุมอุณหภูมิโลกได้สำเร็จ ก็จะเป็นผลดีมากต่อประเทศเหล่านี้มากกว่าประเทศอื่นๆ เช่นกัน
ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศสูง
ลำดับประเทศที่ได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโดยเปรียบเทียบจาก Climate Economics Index ซึ่งคำนวณมาจากความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน ทั้งทางด้านความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ความเปราะบางต่ออากาศแห้งจัดหรือชื้นจัด และความสามารถในการปรับตัวในปัจจุบัน
1
ตาราง 2 : ลำดับประเทศที่ได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโดยเปรียบเทียบจาก Climate Economics Index
จากตารางสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศอินโดนีเซียได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากที่สุด (39.2) และญี่ปุ่นได้รับผลกระทบน้อยที่สุด (19.5)
1
นอกจากภาพรวมเศรษฐกิจแล้ว ธุรกิจมากมายอาจได้รับผลเสียด้วย โดยเฉพาะธุรกิจการเกษตรและธุรกิจที่ต้องใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ เพราะพายุ ภัยแล้ง และอากาศร้อน อาจทำให้ผลผลิตลดลง และยิ่งถ้าผู้ประกอบการไม่ได้มีห่วงโซ่อุปทานที่ดีพอ สินค้าก็จะยิ่งขาดแคลน และถึงจะมีสินค้าจากที่อื่น ก็อาจทำให้ต้องมีค่าขนส่งเพิ่มขึ้นจนกำไรลดลงอีกด้วย ธุรกิจการท่องเที่ยวก็อาจเปลี่ยนไป หากธรรมชาติที่เคยงดงาม เช่นป่าไม้ น้ำตก หาดทราย ถูกทำลายไป ส่วนปัญหาด้านคุณภาพชีวิตอื่นๆที่อาจเกิดขึ้น ก็มีการขาดแคลนอาหาร โรคระบาดใหม่ๆ ที่เกิดได้ในอากาศร้อนชื้น หรือ พื้นที่พักอาศัยและเพาะปลูกที่ลดลงจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น
สุดท้ายนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็เป็นปัญหาอยู่ดี และจะกระทบกับชีวิตของทุกคนและกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าเราจะสนใจหรือไม่ก็ตาม ซึ่งหากเราไม่รีบลงมือทำอะไร ตั้งแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ตอนนี้ ผลกระทบก็จะยิ่งแย่ลง และแก้ยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราก็เห็นกันแล้วจากวิกฤติโควิด ที่ได้สะท้อนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่ง สามารถเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเสมอ และการจะจัดการกับโควิดได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันในแต่ละประเทศ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนี้ก็เช่นกัน ทางออกคือ จะต้องมีความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนและในทุกประเทศบนโลกทันที ก่อนที่จะสายเกินไป
1
ในบทความหน้า เราจะไปดูกันว่ามันความเสี่ยงอะไรที่ซ่อนอยู่ในการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเพิ่มเติมอีกไหม และเราควรเริ่มลงมือทำอะไรเพื่อจะจัดการกับปัญหานี้
#Climate_Change #ภัยพิบัติ #น้ำท่วม #จีน #เยอรมนี #GDP
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา