11 ส.ค. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
“ภัยพิบัติเชอร์โนบิล (Chernobyl Disaster)”
ในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) ได้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) ในประเทศยูเครน
การทดสอบในโรงไฟฟ้าเกิดผิดพลาด ทำให้เกิดการระเบิด และทำให้หลังคาของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งมีน้ำหนักกว่า 1,000 ตัน ปลิวกระเด็นออกไป ทำให้เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ซึ่งสารกัมมันตรังสีเหล่านั้นมีความร้ายแรงกว่ากัมมันตรังสีของระเบิดปรมาณูที่ปล่อยลงยังฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) กว่า 400 เท่า
มีคนงานเสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดจำนวนสองคน และภายในไม่ถึงหนึ่งเดือน ก็มีผู้เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 28 คน จากการสัมผัสกับสารกัมมันตรังสี และมีคนอีกนับพันที่ภายหลังมีปัญหาด้านสุขภาพ อันเป็นผลจากการสัมผัสกัมมันตรังสี
1
เหตุการณ์นี้ไม่เพียงทำให้เกิดกระแสความตื่นกลัวพลังงานนิวเคลียร์ แต่ยังทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโซเวียตในด้านต่างๆ
จากเหตุการณ์นี้ ทำให้ภายหลัง สหภาพโซเวียตต้องใช้เงินนับพันล้านดอลลาร์ในการเก็บกวาด ทำความสะอาดและเคลียร์พื้นที่ และทำให้ประเทศต้องสูญเสียแหล่งพลังงานสำคัญ
สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ตั้งอยู่ทางเหนือของยูเครน โดยในบริเวณไม่ไกลจากเชอร์โนบิล ก็เป็นที่ตั้งของเมืองปริปยัต (Pripyat)
ปริปยัตเป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ไม่ห่างจากเชอร์โนบิล โดยเมืองนี้เป็นเมืองที่สร้างขึ้นสำหรับเหล่าคนงานของเชอร์โนบิลและครอบครัวของคนงาน
ปริปยัต (Pripyat)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ได้ถูกก่อสร้างเมื่อปีค.ศ.1977 (พ.ศ.2520) และภายในปีค.ศ.1983 (พ.ศ.2526) ก็ได้มีการติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้าไปแล้วถึงสี่เครื่อง ก่อนจะมีการติดตั้งอีกสองเครื่องในเวลาต่อมา
ในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) เวลา 1:23 น. ได้มีการทดสอบระบบระบายความร้อนด้วยน้ำในกรณีฉุกเฉิน
1
แต่ภายในเวลาไม่กี่วินาที ก็ได้เกิดความผิดปกติในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตัวที่ 4 เกิดเป็นไอน้ำจำนวนมากออกมาจากตัวเครื่อง
ไอน้ำนั้นระเบิด และทำให้หลังคาของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์กระเด็นออกไปจากตัวเครื่อง ทำให้สารกัมมันตภาพรังสีจำนวนมหาศาลรั่วไหล รวมทั้งเศษชิ้นส่วนต่างๆ ที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสี
จากนั้นอีกราวสองถึงสามนาที ก็ได้เกิดระเบิดขึ้นอีกครั้ง โดยคราวนี้ ได้เกิดเพลิงไหม้ที่หลังคาของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตัวที่ 3 ทำให้โรงงานได้รับความเสียหาย
ก่อนหน้านั้นได้มีการปิดระบบความปลอดภัยอัตโนมัติ ทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา ระบบจึงไม่ทำงาน และก่อความเสียหายจำนวนมาก
หน่วยดับเพลิงรีบมุ่งมายังจุดเกิดเหตุในทันที และเหล่านักดับเพลิงก็ต้องสู้กับเปลวเพลิงโดยไม่มีเครื่องป้องกันกัมมันตรังสี ทำให้ในเวลาต่อมา นักดับเพลิงหลายรายเสียชีวิตเนื่องจากได้รับกัมมันตรังสี
ในเวลา 5:00 น. ของวันต่อมา ได้มีการปิดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตัวที่ 3 และอีก 24 ชั่วโมงต่อมา จึงมีการปิดเครื่องที่ 1 และเครื่องที่ 2
ช่วงบ่ายวันที่ 26 เมษายน ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) รัฐบาลได้ส่งกำลังทหารมาช่วยในการดับเพลิง โดยมีการฉีดน้ำเข้าไปยังเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ระเบิด และกว่าจะดับไฟที่ไหม้ได้ทั้งหมด ก็ต้องใช้เวลากว่าสองสัปดาห์
1
ทางด้านเมืองปริปยัต ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเชอร์โนบิล ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ประชาชนยังคงใช้ชีวิตตามปกติ และลางร้ายว่าจะเกิดหายนะตามมา ก็แทบจะไม่มีเลย
ในวันต่อมา คือวันที่ 27 เมษายน ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) รัฐบาลจึงเริ่มทำการอพยพประชาชนในเมืองปริปยัต ซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่กว่า 50,000 หลังคาเรือน
2
รัฐบาลได้บอกแก่ชาวเมืองว่าการอพยพนี้จะเป็นการอพยพชั่วคราว ใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน ชาวเมืองจึงไม่ได้นำทรัพย์สินติดตัวไปด้วยมากนัก โดยไม่รู้เลยว่า ไม่สามารถกลับมาที่นี่ได้อีกแล้ว
4
รัฐบาลโซเวียตก็ไม่ได้แจ้งเรื่องหายนะนี้แก่นานาชาติในทันที โดยยังคงเงียบ จนรัฐบาลสวีเดนได้ขอให้โซเวียตอธิบาย ว่าทำไมเจ้าหน้าที่โรงงานนิวเคลียร์ในกรุงสต็อกโฮล์ม ถึงได้ตรวจพบสารกัมมันตรังสีที่สูงผิดปกติ
2
อีกสามวันต่อมา ได้มีงานเฉลิมฉลองวันแรงงานของโซเวียต มีงานฉลองตามเมืองต่างๆ ตามปกติ ถึงแม้ว่ากัมมันตรังสีจะยังคงรั่วไหลออกมาจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลก็ตาม
ประชาชนจำนวนมาก แม้แต่ในยูเครนเอง ก็ไม่ได้ตระหนักถึงเหตุร้ายที่เพิ่งเกิดขึ้น และออกจากบ้านเป็นปกติ ทำให้ได้รับกัมมันรังสี ซึ่งจะส่งผลร้ายในภายหลัง
เหตุการณ์เลวร้ายยังคงไม่จบ ซากของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลยังปล่อยสารปนเปื้อนกัมมันตรังสีออกมาเป็นจำนวนมาก ต่อเนื่องถึง 10 วัน และสารเหล่านั้นก็ลอยปนไปกับอากาศ
กลุ่มเมฆปนเปื้อนกัมมันตรังสีได้ก่อตัว กลายเป็นฝุ่นและเศษเถ้าถ่าน และถูกแรงลมพัดไปยังจุดต่างๆ ทั้งยูเครน เบลารุส รัสเซีย สแกนดิเนเวีย และหลายประเทศในยุโรป ล้วนแต่ได้รับผลกระทบ
1
รัฐบาลโซเวียตก็ไม่ได้นิ่งเฉย โดยในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) รัฐบาลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่นับแสนนาย ทั้งทหาร เจ้าหน้าที่ดับเพลิง รวมทั้งคนงานเหมือง ระดมกำลังกันเก็บกวาดซากของเชอร์โนบิล
1
เหล่าเจ้าหน้าที่ๆ เข้าไปเคลียร์พื้นที่ในเชอร์โนบิล ก็มักจะไม่ได้รับชุดป้องกัน เนื่องจากมีจำกัด และพวกเขาก็ต้องทำการเก็บกวาดไปตลอดจนถึงปีค.ศ.1989 (พ.ศ.2532)
ในระยะเวลา 206 วัน ได้มีการก่อสร้างโลงขนาดใหญ่เพื่อครอบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ป้องกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหล
4
ในปีค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) ได้มีการก่อสร้างโลงที่ใหญ่และแข็งแรงกว่าเดิม ครอบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โดยสร้างแล้วเสร็จในปีค.ศ.2016 (พ.ศ.2559)
1
ภายหลังการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ระดับสารกัมมันตรังสีในบริเวณใกล้เคียงก็ลดต่ำลงอย่างมาก และคาดการณ์ว่าโลงนี้จะสามารถป้องกันเศษละอองกัมมันตรังสีไปได้ถึง 100 ปีเลยทีเดียว
1
สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้น รัฐบาลยูเครนได้แถลงในปีค.ศ.1995 (พ.ศ.2538) ว่ามีผู้เสียชีวิตเนื่องจากสารกัมมันตรังสีของเชอร์โนบิลกว่า 125,000 คน โดยมีรายงานในปีค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) ว่าน่าจะมีคนกว่า 9,000 คนที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง อันเป็นผลจากกัมมันตรังสีจากเชอร์โนบิล
1
ในทุกวันนี้ พื้นที่ของเชอร์โนบิลก็ยังไม่นับว่าปลอดภัย
ทางการยูเครนได้กล่าวว่าบริเวณรอบๆ เชอร์โนบิลนั้น ยังไม่ปลอดภัยสำหรับมนุษย์ที่จะพักอาศัย ซึ่งรวมถึงเมืองปริปยัตด้วย และกว่ามนุษย์จะสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนี้ได้ ก็ต้องรอไปกว่า 24,000 ปีเลยทีเดียว
แต่สำหรับโซนที่ปลอดภัย ทางการก็ได้อนุญาตให้เข้าชมได้ โดยในปีค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) ได้มีการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมได้ และเป็นอีกหนึ่งสถานที่ฮิตสำหรับนักท่องเที่ยว
โฆษณา