3 ก.ย. 2021 เวลา 11:44 • การศึกษา
สิทธิที่ควรรู้เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้าง
จากสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย อันเนื่องจากสถานการณ์ "โควิด-19" ทำให้ "การเลิกจ้าง" เป็นทางเลือกแบบจำใจของผู้ประกอบการธุรกิจหลายๆ ราย ในการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อพยุงองค์กรให้อยู่ต่อไปได้
การเลิกจ้าง นับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานและรายได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจของลูกจ้างต่อ "พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน" จึงเป็นเรื่องที่ควรรู้ค่ะ
เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตัวเองเมื่อสถานการณ์ไม่คาดคิดมาถึง โดยสิ่งที่ลูกจ้างควรจะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง จะต้องเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เรียกว่า “ค่าชดเชย”
ตามบทบัญญัติมาตรา 118 "ค่าชดเชย" คือ เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
และการเลิกจ้าง ความหมายตามมาตรา 118 ก็คือ การเลิกจ้างที่เกิดจากการกระทําใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทํางานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุด สัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด
หรือการเลิกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทํางาน และไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้าง ไม่สามารถดําเนินกิจการต่อไป
โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเป็นจํานวนเท่าไรนั้น ต้องพิจารณาจากระยะเวลาการทํางานของลูกจ้างประกอบเป็นสำคัญ ซึ่งกฎหมายกําหนดไว้ ดังต่อไปนี้
1. ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางาน 30 วันสุดท้าย
2. ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางาน 90 วันสุดท้าย
3. ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางาน 180 วันสุดท้าย
4. ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางาน 240 วันสุดท้าย
5. ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือ ไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางาน 300 วันสุดท้าย
นอกจากนี้การเกษียณอายุ ก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากนายจ้าง มาตรา 118/1 ซึ่งบัญญัติเพิ่มโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560
ซึ่งกําหนดให้ลูกจ้าง "กรณีการเกษียณอายุ" ตามที่นายจ้างหรือลูกจ้างตกลงกัน หรือตามที่นายจ้างกําหนดไว้ ให้ถือเป็น "การเลิกจ้าง" ตามความหมายดังกล่าวด้วย
รวมทั้งกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกําหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกําหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่า 60 ปี และลูกจ้างที่มีอายุครบ 60 ปี ขึ้นไปนั้น สามารถใช้สิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้
โดยหากแสดงเจตนาต่อนายจ้างก็ "มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากนายจ้าง" เช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นการให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะขอเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชย หากเป็นกรณี ที่ลูกจ้างมีกําหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามกําหนดระยะเวลานั้น จะไม่อยู่ในบังคับที่จะได้รับค่าชดเชย อันได้แก่งานลักษณะดังต่อไปนี้
- งานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดของงานที่แน่นอน
- งานที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวมีกําหนดการสิ้นสุดความสําเร็จของงาน
- งานที่เป็นไปตามฤดูกาล และได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น
ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทําสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้างแล้ว
สำหรับกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 ได้เพิ่มบทกําหนดโทษ คือ "นายจ้างต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"
💦.....ก็เป็นสิทธิประโยชน์ที่ดีที่กฎหมายแรงงานให้ความคุ้มครองกับลูกจ้าง สำหรับท่านใดที่มีสถานะเป็นลูกจ้าง เมื่อรู้สิทธิอย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมนำสิทธิไปใช้กัน เมื่อวันนั้นอาจมาถึงจริงๆ นะคะ
อ้างอิง : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
สามารถเยี่ยมชมเราผ่านช่องทางอื่นตามลิ้งข้างล่างนี้ค่ะ :
ขอบคุณทุกๆ กำลังใจที่มีให้กันเสมอค่ะ
🌷🌷❤❤🙏🙏🙏🙏❤❤🌷🌷

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา