11 ส.ค. 2021 เวลา 12:00 • การศึกษา
“พยัญชนะหัน” หรือ “อักษรหัน” ที่เกือบจะสูญพันธุ์
“อักษรหัน” เกือบจะหมดไปแล้วจากภาษาไทย แต่ในปัจจุบันยังมีอักษรหันที่ยังคงหลงเหลือเป็นมรดกมาจากอดีต คือ ร หัน (รร) ในตัวอย่างคำว่า สรรเพชญ จึงสะกดไม่ต่างกับปัจจุบัน
หลักฐานการปรากฏของ “อักษรหัน” มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนตัน เช่น ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ปรากฏอักษรหันอยู่หลายตัว เช่น มม ธรมม (ธรรม), ณณ สุพรณณภูม (สุพรรณภูมิ), กก จกก (จัก), บบ ขบบ (ขับ)ฐอักษรหัน, นน อนน (อัน), งง ทงง (ทั้ง), ดด ญดด (ญัติ) เป็นต้น ยกเว้นพยัญชนะ วว เช่นคำว่า “หวว” น่าจะหมายถึง “สระอัว” มากกว่าอักษรหัน ว
สมัยสุโขทัยตอนกลาง ในศิลาจารึกหลักที่ ๓ (จารึกวัดนครชุม) ก็ปรากฏ “อักษรหัน” อยู่หลายตัว เช่น นน วนน (วัน), ดด ยดด (ญัติ), งง หลงง (หลัง), กก จกก (จัก), บบ นบบ (นับ), สส ตรสส (ตรัส), มม ธรมม (ธรรม), รร สรรเพชญ (สรรเพชญ) เป็นต้น
สมัยอยุธยาตอนปลายก็ปรากฏ “อักษรหัน” เหมือนกัน เช่น นน อนน (อัน), ดด ขดด (ขัด), งง พงง (พัง), กก ลกก (ลัก), งง บบ บงงคบบ (บังคับ), ชช สชช (สัตว์), รร สรรพ (สรรพ)
ในสมัยอยุธยาตอนต้นพบว่า “อักษรหัน”เริ่มมีการใช้งานน้อยลง เนื่องจากวมัยนี้เริ่มไปใช้ “ไม้หันอากาศ” แทนอักษรหันแล้ว เช่น วนน สะกดเป็น วนั (วัน) ที่พบมี ๒ ตัว คือ นน วนน (วัน) และ รร บรรเลง (บรรเลง) ธรรม (ธรรม)
ในสมัยอยุธยาตอนต้นกลางไม่ค่อยพบ “อักษรหัน” ปรากฏแต่คำที่ใช้อักษรหันสองตัวซ้อนกันทำนองอักษรหัน แต่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างอักษรหัน คือ คำว่า ณครร (นคร) ในสมัยอยุธยาตอนปลายกลับมาพบอักษรหันอีกหลายตัว เช่น นน น้นน (นั้น) และ งง ตง้ง (ตั้ง)
สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ก็ยังคงพบ “อักษรหัน” อยู่บ้าง เช่น สมัยรัชกาลที่ ๑ ในตำราช้าง พบว่ามีการใช้อักษรหัน งง เช่น หลงง (หลัง) และ ด่งง (ดั่ง) ส่วนมากจะพบแต่อักษรหัน รร มากขึ้น เช่น วรรณวิหาร (วรรณวิหาร), สรรค (สรรค), อรรถ (อรรถ), กรรม (กรรม) ในขณะเดียวกันคำที่ยืมมาจากภาษาสันสกฤตที่มาจากรากศัพท์ที่มี ร เรผะ อยู่ภายใน ซึ่งรูปคำปัจจุบันไม่ได้แผลง ร เรผะ เป็น ร หัน กลับใช้ ร หัน พบอยู่บ้าง เช่น สมบูรรณ (สมบูรณ์) และคชนารรถ (คชนารถ)
เมื่อลองตรวจสอบการใช้ “อักษรหัน” มาถึงยุคปัจจุบันพบว่า ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่ ๓ ยังเก็บคำที่ใช้อักษรหันเอาไว้บ้าง เช่น กนน, กนนเชอ, กนนโถง, กนนเหิม ซึ่งปรากฏอยู่ในหน้า ๖ และกรรชันน หน้า ๑๑ ทั้ง ๔ คำบอกสถานภาพว่าเป็นคำโบราณ แต่พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ และ พ.ศ. ๒๕๕๔ ไม่เก็บเอาไว้แล้ว กนน กนนเชอ หันไปใช้อักชรวิธีทั่วไปแล้ว คือ กัน และ กันเชอ ส่วนอีก ๒ คำ กนนโถง กนนเหิม ไม่เก็บและเอาออกไปด้วย ส่วน กรรซ้นน ยังคงเก็บเอาไว้ นั่นก็แสดงว่าอักษรหันปัจจุบันน่าจะเหลือเพียงรูปเดียว คือ ร หัน ส่วนอักษรหันอื่น ๆ ได้เปลี่ยนรูปไปใช้ “ไม้หันอากาศ” แทนดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
ส่วนที่มาของ ร หัน น่าจะมีที่มาและสถานภาพประมวลได้ ๖ ประการ คือ
๑. มีที่มาและสถานภาพอย่างอักษรหันอื่น ๆ ที่เลิกใช้ไปแล้ว คือ พยัญชนะ ร ตัวแรกแทนเสียง อะ พยัญชนะ ร ตัวที่สองแทนเสียงสะกด น ในแม่กน ซึ่งพบน้อยมาก เช่น
กรร๑ : จับ พจนานุกรมบอกว่าเป็นคำโบราณ ยืมมาจากภาษาเขมรว่า กาน่ = ถือ
กรร๒ : กัน พจนานุกรมบอกว่าเลิกใช้แล้ว เช่น เรือกรร
กรร๓ : ใช้เป็นพยางค์หน้า (ซึ่งโบราณเขียนเป็น กนน หรือ กัน ก็มี) แทน กระ เช่น กรรชิง-กันชิง-กระซิง
กรรกง : ที่ล้อมวง พจนานุกรมบอกว่าเลิกใช้ไปแล้วเช่นกัน
๒. มีที่มาจาก ร เรผะ ของภาษาสันกฤต ซึ่งนิยมแผลงเป็น ร หัน เช่น กรรณิการ์ (กรฺณิกา), กรรไตร (กรฺตริ), กรรปาสิก (กรฺปาสิก), จรรยา (จรฺยา), ทรรศนะ (ทรฺศน) เป็นต้น
อนึ่ง ร เรผะ ที่ยืมมาจากภาษาสันสกฤตไม่ได้แผลงเป็น ร หันทุกคำ มีบางคำเปลี่ยนจาก ร เรผะ เป็นพยัญชนะ ร ตัวเดียว ซึ่งมีทั้งที่ไม่ออกเสียง ร เช่น สามารถ (สมรฺถ), มารค (มารฺค), ปรารถนา (ปฺรารฺถนา), นารถ (นารฺถ) และออกเสียง ร เป็น น อย่างแม่กน ได้แก่ สมบูรณ์ (สมฺบูรฺณ)
๓. แผลงมาจากพยัญชนะอนุนาสิก (ง ญ ณ น ม) ในคำที่ยืมมาจากภาษาเขมร เช่น บรรจบ (บญฺจบ่), บรรจุ (บญฺจุะ), บรรจง (บญฺจง่), บรรดา (บณฺฎา), บรรทัด (บนฺทาต่), บรรทุก (บนฺทุก), บรรเทา (บนฺโท), บรรเลง (บนฺแลง), กรรแสง (กนฺแสง : ผ้าสไบ)
๔. แผลงมาจาก กะ , กระ เช่น กรรชิด (กระชิด), กรรเชอ (กระเชอ), กรรเช้า (กระเช้า), กรรเชียง (กระเชียง), กรรโซก (กระโชก), กรรซ้นน (กระชั้น), กรรทบ (กระทบ), กรรแทก (กระแทก), กรรพุ่ม (กระพุ่ม), กรรลี (กระลี), กรรหาย (กระหาย), กรรเอา (กระเอา)
๕. แผลงมาจาก บริ, ป, ประ, ผ เช่น บรรหาร (บริหาร), บรรดาก (ปฏาก), บรรลาย (ปราย, ปลาย), บรรกวด (ประกวด), บรรจวบ (ประจวบ), บรรทับ (ประทับ), บรรทาน (ประทาน), บรรเทือง (ประเทือง), บรรโลม (ประโลม), บรรสบ (ประสบ), บรรสาน (ประสาน), บรรสาร (ประสาร), พรรเอิญ (เผอิญ)
๖. แผลงมาจากพยางค์หลายรูปแบบ เช่น กรรสะ (กาส), กรรเกด (การะเกด), กรรเจียก (ตฺรเจียก), กรรดิ (กตฺถติ), กรรดิก, กรรดึก (กตฺติก), กรรบูร (การบูร), กรรบุร (กโบร), ขรรค์ (ป. ขคฺค, ส. ขฑฺค), ครรชิต (ป. คชฺชิต, ส. ครฺชิต), ครรลอง (คลอง), ครรโลง (โคลง), ครรไล (ไคล), บรรจถรณ์ (ปจฺจตฺถรณ), บรรตานึก (ปตฺตานีก), บรรถร (ปตฺถร), อรรค (ส. อคฺร, ป.อคฺค), บรรพชา (ป. ปพฺพชฺชา, ส. ปฺรวฺรชฺยา), บรรชิต (ป. ปพฺพชฺชิต, ส. ปฺรวฺรชิต), ลรรลุง (ละลุง), ทรรทึง (ทรทึง)
บรรณานุกรม
(๑) อนันต์ อารีย์พงศ์. ๒๕๔๙. อักษรและอักชรวิธีไทย : มุมที่น่าสนใจ. วารสารปาริชาต, ๑๙ (๑), ๔-๘.
(๒) จิตร ภูมิศักดิ์. ๒๕๔๐. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อซนชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม.
(๓) ราชบัณฑิตยสถาน. ๒๕๓๐. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.
(๔) ราชบัณฑิตยสถาน. ๒๕๔๖. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ : ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์.
(๕) ศิลปากร, กรม. จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑-๕. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, ๒๕๒๙.
(๖) จารึกสมัยสุโขทัย. พระนคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์, ๒๕๒๘.
สามารถติดตาม คําไทย ได้ผ่านช่องทางดังนี้
Facebook : คำไทย (facebook.com/kumthai.th)
Twitter : @kumthai_ (twitter.com/kumthai_)
Blockdit : คำไทย (blockdit.com/kumthail.th)
โฆษณา