Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องเล่ายานยนต์
•
ติดตาม
11 ส.ค. 2021 เวลา 13:06 • ยานยนต์
#EP19 หัวเชื้อน้ำมันเครื่องควรใช้หรือไม่?
ผมเคยเจอข้อความบรรยายสรรพคุณของสารเคลือบเครื่องยนต์ยี่ห้อหนึ่งมาจากอเมริกา ขนาดบรรจุ 300 กรัม ราคาขาย 1,000 บาท(เดิมราคา 1,490 บาท)มาลองดูสรรพคุณของเขากันนะครับ
“เมื่อเติมกับเครื่องยนต์ใหม่ XXX ส่วนหนึ่งจะแทรกซึมและเติมเต็มเข้าไปในเนื้อโลหะเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งประดุจเพชรให้กับชิ้นส่วนเครื่องยนต์ อีกส่วนจะสร้างฟิล์มหล่อลื่นเคลือบผิวที่เกิดการเสียดสีและเกิดความร้อนสูง เช่นลูกสูบ กระบอกสูบ วาล์ว บ่าวาล์ว ฯลฯ
เมื่อเติมกับเครื่องยนต์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว XXX ถูกออกแบบให้เป็นขั้วบวก เพื่อนำเศษโลหะที่สึกหรอในห้องเครื่องยนต์ที่เป็นขั้วลบ ไปจัดเรียงโมเลกุลใหม่เพื่อไปเคลือบบนผิวโลหะที่สึกหรอเป็นยอดแหลมหรือเป็นตามด โดยอาศัยความร้อนจากการเสียดสีเข้าช่วย คืนความฟิตใหม่และแข็งแกร่งประดุจเพชรให้กับเครื่องยนต์อย่างถาวร”
1
ถ้าคนทั่วไปอ่านแล้วคงเคลิ้มตาม รีบไปหาซื้อมาใช้แน่นอน แต่ผมเองเรียนมาทางสายช่างยนต์และคลุกคลีมากับน้ำมันหล่อลื่นมานานอ่านแล้วได้แต่ถอนใจว่า แต่งเรื่องราวได้เก่งมาก แต่ผิดหลักทางวิศวกรรมและทางเคมีหมดเลย จากจุดนี้ผมจึงพยายามรวบรวมข้อมูลผลการทดสอบจากสถาบันที่เชื่อถือได้มาเล่าให้ทุกๆคนได้รับรู้ว่า หัวเชื้อน้ำมันเครื่องยนต์นั้นมันมีประโยชน์หรือเป็นโทษต่อเครื่องยนต์ของเรา และเราจำเป็นต้องใช้หัวเชื้อน้ำมันเครื่องหรือไม่?
“หัวเชื้อน้ำมันเครื่องคืออะไร?”
หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้จัก แต่บางคนอาจเคยเห็นตามสื่อทั่วๆไปหรืออาจเคยได้ทดลองใช้กันมาบางแล้ว คำว่าหัวเชื้อน้ำมันเครื่องนั้น จะไปตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่เขียนบนกระป๋องบรรจุสินค้านั้นๆว่า “Engine Treatment, Oil Treatment, Special Additive” ขนาดบรรจุส่วนมากจะเป็นขนาด 250 ml, 350 ml, 500 ml. การใช้นั้นจะเติมเพิ่มลงไปผสมกับน้ำมันเครื่องยนต์เวลาถ่ายน้ำมันเครื่องทุกๆครั้ง ย้ำครับทุกๆครั้ง วัตถุประสงค์ที่ผู้ใช้รถต้องการ ก็เพื่อให้ลดอัตราการสึกหรอ(Decreased wear rate), ลดความฝืด(Friction was reduced), เพิ่มแรงม้า(Output horsepower increased) และประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง(Fuel economy improved)
หัวเชื้อน้ำมันเครื่องหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสารเติมแต่งน้ำมัน นั้นแบ่งออกตามสารที่ใช้ผสมคือ
1. น้ำมันเครื่องมาตรฐานความหนืด SAE 50 (รวมถึงสารเพิ่มคุณภาพมาตรฐาน)แล้วเติม PTFE (Teflon TM)
2. น้ำมันเครื่องมาตรฐานความหนืด SAE 50 (รวมถึงสารเพิ่มคุณภาพมาตรฐาน)แล้วเติม สังกะสีไดอัลคิลไดไธโอฟอสเฟต (ZDDP)
หัวเชื้อน้ำมันเครื่องที่นิยมใช้กันทั่วไปในท้องตลาดคือหัวเชื้อน้ำมันเครื่องที่ผสมผงเรซิน PTFE ที่ โดยใช้น้ำมันเครื่องยนต์แบบปิโตรเลียมหรือน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ที่มีค่าความหนืด SAE 50 ที่มีขายกันทั่วๆไปแล้วนำผสมสาร PTFE (Polytetrafloeraethylene) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อทางการค้าว่า "Teflon" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ DuPont Chemical Corporation การที่บริษัทผู้ผลิตภัณฑ์หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง นำเอาผงเรซิน PTFE หรือผง "Teflon" มาใช้ผสมมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลเครื่องยนต์นั้น ทางบริษัทดูปองท์เคมิคอล ผู้ประดิษฐ์ผงเรซิน PTFE และเป็นผู้ถือสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของเทฟลอน โดยนาย J.F. Imbalzano ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ Fluoropolymers Division ของ DuPont กล่าวในแถลงการณ์ที่ออกเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วว่า
"เทฟลอนไม่มีประโยชน์ในฐานะส่วนผสมในสารเติมแต่งน้ำมันหรือน้ำมันที่ใช้สำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน(Teflon is not useful as an ingredient in oil additives or oils used for internal combustion engines.)"
ในขณะนั้น บริษัทดูปองท์ขู่ว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้ใดก็ตามที่ใช้ชื่อ "เทฟลอน" กับผลิตภัณฑ์น้ำมันใดๆ ที่ถูกกำหนดไว้สำหรับใช้ในเครื่องยนต์สันดาปภายใน และปฏิเสธที่จะขายผงเรซิน PTFE ให้กับผู้ใดก็ตามที่ตั้งใจจะใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว หลังจากนั้นมีการฟ้องร้องมากมายจากผู้ผลิตหัวเชื้อน้ำมันเครื่อง โดยอ้างว่าดูปองท์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผงเรซิน PTFE เป็นอันตรายต่อเครื่องยนต์ ดูปองท์ถูกบังคับให้เริ่มขายผงเรซิน PTFE ให้กับผู้ผลิตหัวเชื้อน้ำมันเครื่องอีกครั้ง
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่าผง PTFE บางชนิด(จากผู้ผลิตอื่นที่ไม่ใช่ DuPont) มีขนาดของผงที่หยาบกว่าของจริงที่ผลิตจากบริษัทดูปองท์ ซึ่งจะทำด้วยเกล็ดขนาดใหญ่กว่าและมีแนวโน้มที่จะ "ละลาย(Settle out)" แขวนลอยอยู่ในน้ำมันหรืออุดตันในใส้กรองน้ำมันเครื่อง ซึ่งข้อบ่งชี้ข้างกระป๋องของผลิตภัณฑ์มี PTFE ประเภทนี้คือหากมีคำแนะนำในการใช้งาน แนะนำให้คุณ "เขย่าขวดให้ดีก่อนใช้" นั่นแสดงถึงว่าผู้ผลิตผลิตภัณฑ์รู้ว่าของแข็งหรือผง PTFE ในผลิตภัณฑ์ของเขาจะตกลงไปที่ด้านล่างของภาชนะขณะวางอยู่บนหิ้งรอขายจึงได้มีคำแนะนำดังกล่าว และแน่นอนว่าการตกตะกอนของผงเรซิน PTFE นี้จะเกิดขึ้นภายในเครื่องยนต์ของคุณเช่นกัน เมื่อรถคุณไม่ได้ใช้งานเป็นระยะเวลาหนึ่งหรือนานๆใช้ครั้ง
“ปัญหาจากการใช้หัวเชื้อน้ำมันเครื่องที่มีส่วนผสมของผงเรซิน PTFE”
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมหลายคนอธิบายไว้คือ PTFE เป็นของผงแข็ง(Solid powder) ผู้ผลิตหัวเชื้อน้ำมันเครื่องอ้างว่าผงแข็งนี้จะ "เคลือบ" ชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวในเครื่องยนต์ (แม้ว่าจะยังห่างไกลจากการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์) อย่างไรก็ตาม ของแข็งดังกล่าวดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่จะเคลือบชิ้นส่วนที่ไม่เคลื่อนไหว เช่น ท่อส่งทางเดินน้ำมันและใส้กรองน้ำมันเครื่อง ท้ายที่สุดถ้ามันสามารถสร้างชั้นการเคลือบขึ้นมาได้ภายใต้แรงกดดันและแรงเสียดทานที่กระทำกับผนังทรงกระบอก มันก็มีเหตุผลว่าควรจะสร้างขึ้นได้ดียิ่งขึ้นในสถานที่ที่มีแรงดันต่ำและแทบไม่มีแรงเสียดทานเลย นั่นคือผงแข็งนี้จะสะสมตัวเคลือบผิวทางเดินน้ำมันเครื่อง ทำให้น้ำมันไหลช้าลง และมีการสะสมในใส้กรองน้ำมันเครื่องก็จะเสี่ยงต่อการเกิดการอุดตันด้วยเช่นกันครับ
ผมมีข้อสรุปจากการทดสอบหัวเชื้อน้ำมันเครื่องที่มีส่วนผสมของ PTFE ที่ดำเนินการโดยศูนย์วิจัย NASA Lewis ซึ่งมีการกล่าวไว้ในรายงานของพวกเขาว่า " จากการตรวจสอบการสัมผัสพื้นผิวแบริ่ง(Bearing surface contact)ที่เราได้พิจารณาแล้วเราไม่เห็นประโยชน์จากการใช้สารนี้ ในบางครั้งเราเห็นผลที่เป็นอันตรายแล้วด้วยซ้ำ ผงแข็งในน้ำมันมีแนวโน้มที่จะสะสมที่ทางเข้าและทำหน้าที่เป็นเขื่อนซึ่งขัดขวางไม่ให้น้ำมันเข้าไปหล่อลื่นชิ้นส่วน แทนที่จะช่วยแต่มันกลับเป็นตัวกีดกันน้ำมันหล่อลื่นจริงๆไม่ให้ไหลเข้าไปหล่อลื่นชิ้นส่วน"
โปรดจำไว้ว่า PTFE ในหัวเชื้อน้ำมันเครื่องนั้นเป็นสารแขวนลอย ตอนนี้ลองนึกถึงเหตุผลที่คุณมีไส้กรองน้ำมันเครื่องในเครื่องยนต์ของคุณเพื่อกำจัดสารแขวนลอยใช่ไหม? ถูกต้อง. ดังนั้น ดูเหมือนว่าหากใส้กรองน้ำมันเครื่องของคุณทำงานมันจะรวบรวมดักเอาผง PTFE ให้ได้มากที่สุดโดยเร็วที่สุด ซึ่งอาจส่งผลทำให้ไส้กรองน้ำมันเครื่องเกิดการอุดตันและแรงดันน้ำมันเครื่องลดลงในทุกๆส่วนของเครื่องยนต์ของคุณ จากกรณีนี้มีคนที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า ขนาดของผง PTFE มันมีขนาดเล็กมากสามารถไหลผ่านกระดาษใส้กรองน้ำมันเครื่องได้ แต่อย่าลืมนะครับว่าคุณสมบัติข้อหนึ่งของผง PTFE นั้นก็คือผงแข็งนี้มันจะขยายตัวอย่างมากเมื่อได้สัมผัสกับความร้อน ตอนเครื่องยนต์ไม่ร้อนมากผงนี้สามารถไหลผ่านใส้กรองได้ แต่ถ้ารถวิ่งด้วยความเร็วสูง เครื่องยนต์จะร้อนมากกว่าปกติ การขยายตัวย่อมมากขึ้น การอุดตันที่กรองก็จะมากตามไปด้วยครับ
สถานีทดลองทางวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยยูทาห์(University of Utah Engineering) ทดสอบเกี่ยวกับการอุดตันที่ใส้กรองของผง PTFE
การทดสอบนี้ใช้รถยนต์หกสูบของเชฟโรเลต รายงานการทดสอบระบุว่า "มีแรงดันน้ำมันเครื่องตกคร่อมใส้กรองน้ำมันเครื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการอุดตันของทางเดินเล็กๆ ที่เป็นไปได้" นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์สภาพของน้ำมันเครื่องในห้องแล๊ปพบว่ามีการปนเปื้อนของเหล็ก(Iron)เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหลังจากใช้ หัวเชื้อน้ำมันเครื่องที่ผสมผงเรซิน PTFE ซึ่งบ่งชี้ว่าการใช้หัวเชื้อน้ำมันเครื่องไม่ได้ทำให้การสึกหรอของเครื่องยนต์ลดลง แต่ดูเหมือนว่าจะพุ่งสูงขึ้นด้วย”
ถึงแม้ผลการทดสอบจะออกมาเป็นลบในด้านการสึกหรอที่มากขึ้นก็ตาม แต่ผลทางด้านบวกก็มีนะครับนั่นคือจากในรายงานได้แสดงให้เห็นว่าหลังการใช้หัวเชื้อน้ำมันเครื่องที่ผสมผง PTFE แล้วค่าแรงเสียดทานของเครื่องยนต์ทดสอบลดลง(Friction was reduced) 13.1 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้แรงม้าเอาท์พุตเพิ่มขึ้น(Output horsepower increased)จาก 5.3 เปอร์เซ็นต์ เป็น 8.1 เปอร์เซ็นต์ และมีอัตราการประหยัดเชื้อเพลิงที่ดีขึ้น(Fuel economy improved) 11.8 เปอร์เซ็นต์ภายใต้การวิ่งทดสอบทางไกล(ใช้งานเบา)และเป็น 3.8 เปอร์เซ็นต์ภายใต้การใช้งานในเมือง(ใช้งานหนัก)
“การใช้หัวเชื้อน้ำมันเครื่องที่ผสมสังกะสีหรือ "Zinc"( Zinc Dialkyldithiophosphate)”
สารประกอบสังกะสีอินทรีย์ถูกใช้เป็นสารเพิ่มคุณภาพที่ทำหน้าที่เป็นสารรับแรงกดอัดสูง(Extreme Pressure) และสารป้องกันการสึกหรอ(Anti-wear) ดังนั้นจึงพบได้ในน้ำมันเครื่องยนต์ที่มีการเพิ่มส่วนผสมให้มากเป็นพิเศษโดยเฉพาะสำหรับเครื่องยนต์รอบสูง ติดตั้งเทอร์โบชาร์จหรือรถเพื่อการแข่งขัน สังกะสี(Zinc)ในน้ำมันเครื่องเหล่านี้จะมีผลป้องกันการสึกหรอก็ต่อเมื่อมีการสัมผัสกันระหว่างโลหะกับโลหะจริงในเครื่องยนต์ของคุณ แล้วเกิดความร้อนสูงถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นภายใต้สภาวะการทำงานปกติของรถใช้งานบ้านทั่วๆไป
ฉะนั้นการใช้หัวเชื้อน้ำมันเครื่องประเภทที่ผสม “Zinc” จึงไม่ได้มีส่วนช่วยรถเราเลยในการใช้งานปกติ แต่อาจมีข้อดีอยู่บ้างในกรณีที่เราต้องการยืดอายุการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันออกไปยาวนานขึ้น แต่ก็ไม่เหมาะอยู่ดีเพราะ”Zinc”เป็นสารประเภทโลหะหนัก เมื่อเครื่องยนต์เผาไหม้ไอของน้ำมันเครื่องในห้องเผาไหม้สาร “Zinc” นี้จะสะสมเกาะที่บ่าวาล์ว(Valve seat)และที่เขี้ยวหัวเทียน(Spark plug) ทำให้หัวเทียนบอดได้ และที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือ “Zinc”จะไปอุดตันที่อุปกรณ์บำบัดไอเสีย(Catalytic Converter) ทำให้รถวิ่งไม่ออก ไอเสียมีกลิ่นเหม็นและเครื่องยนต์ร้อนจัดครับ
“การเสียสมดุลของสูตรน้ำมันเครื่อง”
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังคงแนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงการใช้หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง เหตุผลก็คือ น้ำมันเครื่องของคุณที่ซื้อจากบริษัทน้ำมันรายใหญ่ๆนั้น นอกจากเขาจะใช้น้ำมันพื้นฐาน(Base oil)แล้วยังต้องผสมกับแพ็คเกจสารเพิ่มคุณภาพ(Additives package)ที่ครอบคลุมการดูแลเครื่องยนต์มากอยู่แล้ว แพ็คเกจสารเพิ่มคุณภาพนี้จะประกอบด้วยส่วนประกอบของสารเพิ่มคุณภาพเฉพาะจำนวนมากผสมทั้งสารป้องกันการสึกหรอ(Anti-wear) สารชะล้าง(Detergent) สารกระจาย(Dispersant)เป็นต้น เพื่อให้ได้สูตรเฉพาะที่จะตอบสนองความต้องการของเครื่องยนต์ของคุณเช่นสูตรขี้เถ้าต่ำ(Low SAPS)หรือสูตรขี้เถ้าสูง(High SAPS)
โดยปกติสารเพิ่มคุณภาพเหล่านี้อย่างน้อยหลายตัวจะทำงานร่วมกันได้ นั่นคือพวกเขาตอบสนองซึ่งกันและกันในกลุ่มตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการ จะไม่มีการใช้สารเพิ่มคุณภาพเพียงชนิดเดียวแล้วได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการได้ต้องใช้หลายๆตัวร่วมกันแต่ละตัวก็จะหนุนเสริมคุณสมบัติซึ่งกันและกัน แต่การเติมหรือเพิ่มหัวเชื้อน้ำมันเครื่องลงไปในสูตรนี้จึงอาจทำให้คุณสมบัติทางเคมีเสียสมดุลและลบล้างผลการป้องกันของสูตรดังกล่าวนี้ได้ แม้ว่าคุณจะเพิ่มเฉพาะสารเพิ่มคุณภาพบางอย่างมีอยู่แล้วในแพ็คเกจนั้นๆก็ตาม โดยสรุปการเติมหัวเชื้อน้ำมันเครื่องจะทำให้สูตรของน้ำมันราคาแพงๆ ที่ใช้เวลาวิจัยยาวนานหมดคุณค่าลงไปแค่ช่วงเวลาที่คุณเติมหัวเชื้อน้ำมันเครื่องเข้าไปนั่นเองครับ
ให้ลองนึกถึงว่าสูตรทำน้ำมันเครื่องของคุณเหมือนสูตรทำเค้ก เพียงเพราะสูตรดั้งเดิมต้องใช้ไข่ 2 ฟอง(ซึ่งทำให้ได้เค้กที่ชุ่มฉ่ำและอร่อยมาก)คุณคิดว่าการเพิ่มไข่อีกสี่ฟองจะทำให้เค้กดีขึ้นหรือไม่? แน่นอนไม่ เพราะการเพิ่มไข่อีกสี่ฟองนั้นคุณกำลังทำลายความสมดุลของส่วนผสมที่คำนวณมาอย่างดีและขยายผลกระทบที่ไข่มีต่อสูตรจนถึงจุดที่ทำลายเค้กทั้งหมด การเติมเพิ่มสารเพิ่มคุณภาพ(หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง)เฉพาะที่มีอยู่แล้วในน้ำมันเครื่องของคุณจึงมีแนวโน้มที่จะทำให้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันกับสูตรเค้กนี้ครับ
“มุมมองจากการใช้หัวเชื้อน้ำมันเครื่องในการแข่งรถ”
หัวเชื้อน้ำมันเครื่องบางชนิดสามารถช่วยลดแรงเสียดทานของเครื่องยนต์ให้น้อยลง ช่วยเพิ่มอัตราการประหยัดเชื้อเพลิงให้สูงขึ้น และช่วยเพิ่มแรงม้าของเครื่องยนต์ให้สูงขึ้นด้วย ในโลกของการแข่งรถมืออาชีพ ความได้เปรียบในเสี้ยววินาทีที่อาจจะได้รับจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจเป็นความแตกต่างระหว่างชัยชนะและความพ่ายแพ้ ฉะนั้นเหตุผลที่หัวเชื้อน้ำมันเครื่องอาจมีส่วนช่วยให้รถแข่งชนะคู่แข่งก็เป็นไปได้ครับ
แต่ข้อเสียของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็คือถ้าเรานำไปใช้งานกับรถใช้งานบ้านปกติทั่วไปนั้น จะมีระยะเวลาการเปลี่ยนถ่ายยาวนานตามคู่มือรถ เช่น 10,000 กม.และจากคำแนะนำจะต้องเติมหัวเชื้อน้ำมันเครื่องทุกครั้งที่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง หัวเชื้อน้ำมันเครื่องเหล่าเจอความร้อนจะเหนียวเกาะติดชิ้นส่วนต่างๆแน่น เมื่อใช้ไปนานๆจะเกิดการสะสมเกาะติดเป็นเหมือกเหนียว(Sludge)ในเครื่องยนต์ ทางเดินของน้ำมันอุดตัน ท้ายที่สุดจะถ่ายน้ำมันเครื่องแล้วไม่ไหลออกมาต้องรื้อเครื่องสถานเดียวครับ
แต่สำหรับเครื่องยนต์รถแข่งนั้นจะมีอายุการใช้งานสั้น รอบเครื่องสูง และสมรรถนะสูงเป็นพิเศษเป็นเครื่องยนต์ที่ออกแบบมาให้คงอยู่ได้ไม่เกินหนึ่งฤดูกาลแข่งขัน(หรือในบางกรณีเพียงการแข่งขันเดียว) ไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบระยะยาวของหัวเชื้อน้ำมันเครื่องด้วยซ้ำ การแข่งขันเสร็จสิ้นก็ถ่ายน้ำมันเครื่องออก รถแข่งจึงสามารถใช้หัวเชื้อน้ำมันเครื่องได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเกิดเหมือกเหนียว(Sludge)ครับ
สรุป
บริษัทน้ำมันรายใหญ่คือบริษัทที่ร่ำรวยที่สุด มีอำนาจมากและมีอิทธิพลที่สุดในโลก พวกเขาเป็นเจ้าของเงินทุนด้านการวิจัยมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ที่ประกอบด้วยวิศวกรเคมีที่ดีที่สุดที่เงินสามารถจ้างได้ อาจกล่าวได้ว่าบริษัทน้ำมันชั้นนำเหล่านี้ มีความสามารถและทรัพยากรในด้านการตลาด การจัดจำหน่าย การโฆษณา การวิจัย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เหนือกว่าบริษัทผู้ผลิตหัวเชื้อน้ำมันเครื่องอิสระทั่วๆไป ประมาณ 20 เท่า ถ้าหากผลิตภัณฑ์เสริมใดๆ เหล่านี้สามารถปรับปรุงความสามารถของน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ได้จริง บริษัทน้ำมันรายใหญ่เหล่านี้คงไล่ซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ เป็นแน่ครับ เราจึงไม่น่าแปลกใจว่า “ในบรรดาหัวเชื้อน้ำมันเครื่องทั้งหมดที่เราพบนั้น ไม่มีชื่อหรือการรับรองจากผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่รายใดเลย”
นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์รายใหญ่ทุกราย ใช้จ่ายเงินหลายล้านดอลลาร์ในแต่ละปีเพื่อพยายามเพิ่มอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ของตน หากพวกเขาคิดว่าหัวเชื้อน้ำมันเครื่องหรือสารเติมแต่งใด ๆ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มอายุการใช้งานหรือปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ พวกเขาคงจะมีคำแนะนำให้เอามาใช้งานและนำมาขายในศูนย์บริการอย่างแน่นอน หรืออย่างน้อยก็น่าจะมีการรับรองการใช้งานหัวเชื้อน้ำมันเครื่องเหล่านี้บ้าง ความจริงก็คือไม่มีค่ายรถใดเลยที่จะแนะนำให้ใช้หัวเชื้อน้ำมันเครื่องในรถยนต์ของเขา
“ในทางกลับกัน หลายบริษัทรถยนต์ไม่แนะนำให้ใช้สารเติมแต่งหรือหัวเชื้อน้ำมันเครื่องเหล่านี้ในรถของเขาอย่างเด็ดขาด และในบางกรณีอาจจะขู่ว่า ความคุ้มครองการรับประกันเป็นจะโมฆะ หากพบว่ามีการใช้สิ่งดังกล่าวในเครื่องยนต์ของเขา”
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเพจนะครับ ฝากกด Like กด Share กด Follow ให้ด้วยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจในการสรรหาข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอต่อไปครับ
FB :
https://www.facebook.com/lubeguru03
Blockdit :
https://www.blockdit.com/pages/5fabe66d74565b072b4dfe94
มีคำเสนอแนะหรือคำถามสามารถ คอมเม้นด้านล่างมาพูดคุยได้ครับ
อ้าวอิง :
https://chris.home.xs4all.nl/slick50.html
1 บันทึก
2
2
1
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย