12 ส.ค. 2021 เวลา 10:10 • ประวัติศาสตร์
#44 The Brain Club : History
ในปี 1945 เป็นช่วงโค้งสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้เกิดภาพถ่ายจากสนามรบมากมาย
จากอัลบั้มที่เราเคยเห็นผ่านตากันมา ภาพแต่ละชุดล้วนมีความหมาย และเรื่องราวบางอย่างในตัวของมันเอง
ในบทความนี้คือเรื่องราวของภาพถ่ายชุดหนึ่ง เป็นภาพเด็กผู้ชายในชุดทหารเยอรมันกำลังยืนร้องไห้แถบขาดใจ หลังกองกำลังฝ่ายศัตรูบุกจับกุมเขาได้
ชะตากรรมของเขาจะเป็นอย่างไร แล้วความจริงเบื้องหลังภาพถ่ายชุดนี้มีอะไรแอบซ้อนอยู่บ้าง เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมๆ กันครับ
เด็กชายในภาพคือ " จอร์จ ฮานเค (Georg Henke) " เขาเกิดในปี 1928 เป็นเด็กหนุ่มชาวเยอรมันธรรมดาๆ ที่เกิดในช่วงสงครามครั้งใหญ่
ชะตากรรมของเขาจึงเหมือนกับเด็กหนุ่มทั่วไปในยุโรปที่ต้องพบเจอกับช่วงเวลาแห่งฝันร้าย การใช้ชีวิตวัยรุ่นธรรมดาๆ ไม่เคยมีจริงสำหรับพวกเขา
ในปี 1938 พ่อของเขาเสียชีวิต และอีกไม่กี่ปีแม่ก็มาจากไปอีกคน เมื่อขาดเสาหลักที่คอยชุบเลี้ยงจึงทำให้สถานะครอบครัวยากจนถึงขีดสุด
แต่จอร์จก็ยังต้องอยู่ต่อไปให้ได้ในฐานะเสาหลักต้นใหม่ เขาออกตระเวนหางานทำเพื่อเลี้ยงตัวเอง และครอบครัวที่เหลือรอดอยู่นานหลายปี
ในช่วงเวลานั้นสงครามโลกครั้งที่สองกำลังเริ่มปะทุเดือด กองทัพเยอรมันมีโครงการเปิดรับสมัครเด็กอายุน้อยเพื่อเข้าร่วมในนามฮีโรของชาติ
นับเป็นหลักฐานความฝันเฟื่องของฮิตเลอร์ ที่ต้องการขยายขนาดของกองทัพให้แกร่งขึ้น ซึ่งบทสรุปเราต่างรู้ดีว่ามันจบไม่สวย
ในปี 1944 เมื่อจอร์จอายุได้ 15 ปี เขาได้เข้ารวม " กองทัพยุวชนฮิตเลอร์ (Hitlerjugend) " ซึ่งเขาได้รับบทบาทเป็นหนึ่งในสมาชิกของหน่วยทหารต่อสู้อากาศยาน
ตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับจอร์จหลังจากนั้นระบุว่า ในปี 1945 เขาประจำการอยู่ในรอสต็อก ซึ่งเป็นบ้านหลังใหม่ที่เขาต้องใช้ชีวิตร่วมกับปืนใหญ่ขนาด 88 มม. ทุกวันที่ลุกจากเตียง
เมื่อกองทัพโซเวียตบุกโจมตีพื้นที่ กองทัพเยอรมันจึงถูกกดให้ล่าถ่อยเข้าไปรอสต็อก ซึ่งในสถานที่แห่งนี้เอง ทหารโซเวียตได้บุกจับกุมหน่วยที่จอร์จประจำการอยู่ กลายเป็นจุดกำเนิดของภาพถ่ายชุดนี้
จอร์จร้องไห้ออกมาหนักมาก เมื่อรู้ว่าตัวเองต้องมาพบกับจุดจบ เหมือนกับว่าโลกทั้งใบกำลังจะพังไปพร้อมกับชีวิตของเขาที่ก็คงเอาตัวไม่รอด จอร์จกับสมาชิกยุวชนฮิตเลอร์คนอื่นๆ จึงถูกจับขังคุกในรัฐเฮสเซน
แต่ตอนจบไม่ได้เลวร้ายแบบนั้น เพราะสุดท้ายจอร์จก็เอาชีวิตรอดมาจากช่วงสงครามได้ เขาได้ออกมาใช้ชีวิตในแบบที่ปกติชนทั่วไปควรจะเป็น และได้ออกมาบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดเมื่อปี 1967
จากเรื่องราวที่ผมได้เล่าไปข้างต้น กลับมีความจริงอีกมุมที่แตกต่างกันออกไป
แท้จริงแล้วภาพถ่ายชุดนี้ถ่ายโดย " จอห์น ฟลอเร (John Florea) " ช่างภาพนักข่าวชาวอเมริกัน
ฟลอเรได้ออกมาอธิบายในภายหลังว่า เหตุการณ์จับกุมเกิดขึ้นในปี 1945 จริงๆ แต่สถานที่คือหมู่บ้านฮัทเทนแบร์ก - รอตเทอร์บัค ในรัฐเฮสเซน ไม่ใช่รอสต็อกตามที่จอร์จกล่าวอ้าง
ถ้าหากเรานำสถานที่ในรูปภาพมาเปรียบเทียบกับสถานที่ในเมืองจริงๆ พบว่าเมืองมีลักษณะคล้ายกันมาก จึงเป็นหลักฐานที่พอจะสรุปได้ว่า คำพูดของช่างภาพมะกันผู้นี้มีความน่าเชื่อถือสูง
ฟลอเรยังได้ยืนกรานต่อว่า ว่าภายหลังจากการถูกจับกุม ด้วยความที่เป็นเยาวชนอายุน้อย ทหารอเมริกันจึงส่งตัวเขากลับบ้าน ส่วนสาเหตุที่จอร์จร้องไห้นั้นเพราะความรู้สึกหวาดกลัวสุดขีด หลังถูกกองทัพสหรัฐบุกประชิด ไม่ใช่โซเวียตแต่อย่างใด
1
จึงสรุปได้ว่าสิ่งที่ฟลอเรพูดนั้นคือความจริง เพราะเจ้าตัวคือคนที่กดชัตเตอร์เองกับมือ คำพูดของเขาจึงมีน้ำหนักที่น่าเชื่อถือ
แต่ทำไมจอร์จถึงต้องบิดเบือนเรื่องราวที่เกิดขึ้น เขามีเหตุผลอะไรถึงทำเช่นนั้นบ้าง ?
ภายหลังจากที่จอร์จรอดตายมาได้ ในช่วงหลังสงครามมีบันทึกว่าเขาตัดสินใจก้าวเท้าเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ในเยอรมันตะวันออก
1
ส่วนสาเหตุที่จอร์จเลือกจะเปลี่ยนเรื่องราวทั้งหมด เป็นเพราะฐานะสมาชิกของพรรค เขาจึงได้รับคำสั่งให้บิดเบือนความจริงเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตของตัวเอง
หลังออกจากหน่วย จอร์จและพี่น้องอีก 2 คน ได้ออกมาใช้ชีวิตที่เหลือเช่นคนธรรมดาทั่วไป ก่อนที่ตัวเขาจะเสียชีวิตในปี 1997 ด้วยวัย 69 ปี
ผมเชื่อว่าในช่วงสงครามโลก หรือไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ตามที่เกิดสงคราม ทหารชั้นผู้น้อยก็เป็นเพียง " ผู้ตาม " ที่ต้องปฏิบัติตามความต้องการของผู้บังคับบัญชา
ในกรณีนี้จอร์จก็เป็นเพียงเด็กชายธรรมดาที่ได้เห็นขุมนรกของจริง น้ำตาที่ไหลออกมาก็เป็นความรู้สึกส่วนลึกที่เด็กวัยเกินจะรับมือไหว
📌 เรียบเรียงโดย : สโมสรสมอง
** กรุณาแชร์ต่อ ห้ามคัดลอกบทความไปเผยแพร่ซ้ำ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา