12 ส.ค. 2021 เวลา 11:19 • ความคิดเห็น
”สะพานลอยไม่ได้ถูกกสร้างเพื่อคนเดินเท้า”
จะดูกำปั้นทุบดินไปหรือไม่ หากกล่าวว่า “สะพานลอยไม่ได้มีไว้สำหรับคนเดินเท้า แต่หากมีไว้สำหรับคนขับรถยนต์บนถนน”
หลายคนเมื่อได้อ่านประโยคข้างต้น คงฉงนและอาจเกิดข้อสงสัยว่าทำไมสะพานลอยคนข้าม(Footbridge) ถึงไม่ได้มีไว้สำหรับคนเดินเท้าหล่ะ? เพราะทั้งชื่อไม่ว่าภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ อีกทั้งรูปแบบโครงสร้างที่เป็นขั้นบันได ก็ชัดอยู่ว่ามีไว้เพื่อให้คนเดินเท้าใช้ข้ามถนนที่มีรถสัญจร
แต่หากลองมองมุมกลับ ปรับมุมมอง แล้วลองขยายความข้อความข้างต้นดู จะพบว่า…
Function ของสะพานลอยคนข้ามมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขับรถบนถนนมากกว่าคนเดินเท้าจริงๆ เพราะเมื่อมีสะพานลอยเข้ามาแทนที่ทางม้าลายแล้ว…
รถทุกประเภทบนท้องถนน”ไม่มีต้นทุนอะไรที่ต้องเสียไปกับมีอยู่ของสะพานลอยเลย” โดยเฉพาะต้นทุนด้านเวลาที่ไม่ต้องเสียเวลาหยุดรถกลางถนนเพื่อรอใครสักคนข้ามถนนให้ถึงฝั่ง อีกทั้งยังไม่ต้องเปลืองแรงเหยียบเบรคบ่อยๆอีกด้วย
ในขณะที่คนเดินเท้าต้องที่ใช้สะพานลอยข้ามถนนนั้น กลับต้องเสียพลังงานและเสียเวลาอย่างมากในการเดินไปขึ้นสะพานลอย เพื่อแลกกับความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของตน
อย่าลืมว่าประเทศไทยมิได้มีแค่คนวัยหนุ่มสาว ข้อเข่าแข็งแรงพร้อมเผาผลาญแคลอรี่ทุกเมื่อที่ขึ้นบันได แต่ประเทศไทยกำลังเดินทางเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aging Society) ตามหลักเกณฑ์ที่ว่า คือมี คนแก่อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ
วาระแห่งชาติด้านผู้สูงอายุ ไม่ได้มีแค่เรื่องใหญ่ๆอย่างเช่น การจ่ายเบี้ยคนชรา ,จ้างงาน ,สร้างที่พักอาศัยและบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญเท่านั้น
การปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าถึงอาคารสถานที่ได้อย่างเท่าเทียมด้วยตัวเอง ก็สำคัญไม่แพ้กัน
ทัศนะส่วนตัวเราจึงเห็นว่า การมีอยู่ของสะพานลอย ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์คนเดินเท้าเท่าไหร่นัก เพราะรูปแบบของสะพานลอยในประเทศไทยก็มิได้เป็นมิตรต่อคนข้ามถนนเท่าที่ควร
แม้มีสะพานลอยใช้ ก็ใช่ว่าจะปลอดภัย
“ยิ่งมีทางม้าลายน้อยลงเท่าไหร่ ยิ่งทำให้รถยนต์ทำความเร็วได้มากขึ้นเท่านั้น”
เพราะไม่ต้องเสียเวลาหยุดรถตามทางม้าลาย (ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุในทุกปี หนีไม่พ้น อันดับ 1 ขับเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  อันดับ 2 เมาแล้วขับ  และอันดับ 3 ขับรถโดยประมาท)
เมื่อมีสะพานลอย แม้คุณจะมีโอกาสชนคนข้ามถนนน้อยลง แต่คุณก็อาจขับไปชนผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นอยู่ดีเพราะคุณขับเร็ว (หากคุณมาเร็วมาก คุณอาจต้องใช้ระยะทางมากถึง 50-80 เมตรเพื่อที่จะทำให้รถหยุดสนิท )
*** หรืออาจพอสรุปได้ว่า แม้สะพานลอยจะช่วยให้จำนวนคนตายหรือบาดเจ็บเพราะข้ามถนนลดลงได้จริงก็ตาม แต่สะพานลอยก็ไม่ได้ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนแต่อย่างใด ประเทศไทยก็ยังครองแชมป์คนตายบนท้องถนนสูงสุดในอาเซียนอยู่ดี
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนน
แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ทางม้าลายเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลง จนต้องใช้”สะพานลอย”มาแก้ปัญหาปลายเหตุแทนกันหล่ะ ?
นอกจากพฤติกรรมผู้ใช้รถใช้ถนนหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย มักจะละเลยและไม่ให้ความสำคัญกับทางม้าลายและสัญญาณไฟคนข้ามแล้ว
*** การขาดจิตสำนึกของผู้ใช้รถใช้ถนนที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นเป็นวัฐจักร (เวลาข้ามถนนไม่ค่อยมีรถใจดีหยุดให้ พอเป็นคนขับเองจึงไม่เคยชินกับการต้องหยุดรถให้ใคร) ***
ตราบใดที่ผู้ขับขี่ยังมี Mindset ว่าถนนมีไว้สำหรับยานพาหนะ จึงมิได้เผื่อที่ยืน-ที่เดินให้กับคนเดินเท้าเลย สภาวะที่คนขับรถละเลยการมีอยู่ของทางม้าลายจนทำให้อุบัติเหตุเลวร้ายเกิดขึ้นบนถนนก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ..
เหตุการณ์นี้สามารถพาให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในเอเชียและอาเซียน และติด TOP10 ของโลกอย่างต่อเนื่องกับสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนน (เป็นแชมป์ในเรื่องที่ไม่น่ายินดี)
!! จงเตือนใจตัวเองเอาไว้ว่า หากเราไม่ชอบคนแบบไหน ก็อย่าเป็นคนแบบนั้น อย่ากลายเป็นคนประเภทที่ตัวเองไม่ชอบ !!
ม้าลายที่เป็นระเบียบ เชิญชวนให้เดินข้ามที่กรุง Tokyo ประเทศญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี บทความนี้มิได้มีเจตนาต่อต้านการข้ามสะพานลอยอย่างใด เพราะเราปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่าการใช้สะพานลอยนั้น ปลอดภัยกว่าการข้ามถนนที่มีรถสัญจรขวักไขว่ไปมาหลายเลนโดยเฉพาะในเขตชุมชนหรือย่านธุรกิจ …
หากมีแต่เพียงเจตนาที่ชวนให้ทุกท่านตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในชีวิต ร่างกายและเสรีภาพของทุกคน ตลอดจนชวนให้ทุกท่านเข้าอกเข้าใจ (Empathy) กลุ่มคนที่มีเงื่อนไขในการใช้สะพานลอย
อีกทั้งสะพานลอยยังมีความยากและใช้ต้นทุนก่อสร้างและบำรุงรักษามากกว่าการทำทางม้าลายอยู่พอสมควร
กล่าวคือ ต้นทุนที่ต้องคอยแก้ไขความบกพร่องของสะพานลอยให้เป็นไปตามกฎหมาย ยกตัวอย่างกรณีที่ถูกร้องเรียนสดๆร้อนๆ คือกรณีที่น็อตยึดไม่ได้ยึดติดกับปูนของสะพาน (หรือเรียกกอีกอย่างว่า “น็อตทิพย์”) ตลอดจนต้นทุนของประชาชนต้องหมั่นฉีดแอลกอฮอล์หลังจับราวจับสะพานลอยที่เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการแพร่ระบาด COVID-19
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องสร้าง “ความศักดิ์สิทธิ์ให้กับทางม้าลาย” ทวงคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายให้กับประชาชน “คนข้ามถนน” ?
โฆษณา