13 ส.ค. 2021 เวลา 01:58 • ปรัชญา
"ปัญญามาก่อน การปฏิบัติก็ถูกทาง"
"... การปฏิบัติที่ถูกทาง
ต้องให้ปัญญามาก่อน
ครั้งที่แล้วมาโน้นบรรยายด้วยหัวข้อว่า
เกิดเป็นคนทั้งที
อย่าต้องทำงานไปพลาง
ตกนรกไปพลาง
ส่วนในครั้งนี้ว่า
การปฏิบัติที่ถูกทาง
ต้องให้ปัญญามาก่อน
การที่ต้องทำอะไรไปพลาง
ตกนรกไปพลาง
เพราะว่าปัญญาไม่เพียงพอ
ไม่รอบรู้
ไม่แจ่มแจ้ง
ไม่เข้าใจ
2
ในสิ่งที่จะทำ
ก่อนที่จะทำ
แล้วก็ทำไปโดยราบรื่น
จึงกระทำไปโดยความรู้สึกอึดอัดขัดข้อง
ทรมานใจ ทนทำไป
อย่างกับว่าตกนรกไปพลาง
ฉะนั้นจึงขอบรรยายกันโดยละเอียดในส่วนนี้
ว่าการปฏิบัติที่ถูกทาง
ต้องให้ปัญญามาก่อน
ทีนี้ ก็จะได้พูดกันถึงคำว่าการปฏิบัติ
การปฏิบัตินี้ เป็นคำเดียวกับคำว่า ปฏิปทา
หมายถึง การเดินไปสู่สิ่งอันเป็นจุดหมายแห่งชีวิต
ปฏิบัติ หรือ ปฏิปทาก็ตาม หมายถึง
การเดินไปสู่สิ่งอันเป็นจุดหมายแห่งชีวิต
แต่ว่าในภาษาคนธรรมดาที่พูดกันอยู่นั้น
หมายถึง การเดินทาง
การเดินทางก็หมายความว่า
ไปถึงจุดใดจุดหนึ่งที่เป็น ที่มุ่งหมาย
การเดินทางที่สมบูรณ์นั้น
มันต้องรู้จักตัวทาง
รู้จักอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการเดินทาง
แล้วก็เดินทาง
มันจึงจะสำเร็จประโยชน์ในการเดินทาง
การเดินทางของชีวิต
ส่วนในภาษาธรรมนั้น
เป็นการเดินทางของจิตใจ
หมายถึงวิวัฒนาการของจิตใจ
พัฒนาการของชีวิต
นี่เป็นการเดินทาง
ชีวิตเป็นการเดินทางอยู่เป็นปรกติ
คำว่า การปฏิบัติ จึงหมายถึง การกระทำไปตามลำดับ
เพื่อไปถึงสิ่งอันเป็นจุดหมายแห่งชีวิต
นี่เรียกว่าเป็นการเดินทางของชีวิต
1
ทีนี้ ก็จะได้ดูกันถึงองค์ประกอบ
อันสำคัญของการเดินทาง
ดูกันลึกถึงกฏธรรมชาติ
ตามที่บังคับอยู่อย่างไร
จึงจะเป็นการเดินทางที่ถูกต้อง
การเดินทางในการปฏิบัติ
ที่เป็นการเดินทางของชีวิตนี้
ต้องประกอบไปด้วยธรรมธาตุ 3 อย่าง
คือ ปัญญาธาตุ
เจตนาธาตุ
กรรมธาตุ
ปัญญาธาตุ คือ ธาตุแห่งความรู้
ต้องมาก่อน ต้องรู้ว่าจะทำอะไร อย่างไร เมื่อไร
แล้วก็มาถึงเจตนาธาตุเกิดขึ้น
คือ เจตนาที่อยากจะไป หรืออยากจะทำ
มีเจตนาแล้วก็มีการกระทำ
ซึ่งเรียกว่า กรรม
ปัญญาธาตุ เป็นเรื่องให้เกิดปัญญา
เจตนาธาตุ เป็นเรื่องให้เกิดศีล
คำว่า ศีล หมายถึงเจตนาที่จะกระทำ
ควบคุมบังคับตัวเองให้กระทำ เรียกว่า เจตนา
เป็นใจความของคำว่าศีล
กรรม คือ การกระทำ
จะเป็นการกระทำการงาน หรือการเดินทาง
ก็เรียกว่า กรรม
...
การเดินทาง หรือการปฏิบัติงาน หน้าที่ใด ๆ ก็ตาม
ต้องประกอบไปด้วยธรรมธาตุ 3 อย่าง 3 ประการ
คือปัญญา รู้ก่อนว่าจะทำอย่างไร
แล้วก็เกิดเจตนาที่จะทำตามนั้น
และก็มีการกระทำตามนั้น
ไม่มีใครอาจจะฝืนกฏนี้ไปได้
เป็นกฏอันเฉียบขาด
และเป็นนิรันดร
ไม่ขึ้นอยู่กับเวลา
เพราะว่าเป็นกฎของธรรมชาติ
1
ใคร ๆ ไม่อาจจะฝืนกฏนี้ไปได้
จะได้พิจารณากันดูอย่างละเอียดที่สุด
จนเห็นว่าสิ่งที่มีชีวิต
จะมีการปฏิบัติ หรือการเดินทางของตน
ก็ต้องอาศัยกฏทั้ง 3 นี้
หากต้นไม้จะเจริญงอกงามเติบโตได้
มันก็ต้องรู้ว่าจะออกรากไปทางไหน
จึงจะได้น้ำ ได้แร่ธาตุที่เป็นอาหาร
แล้วจะออกใบ ออกยอดไปทางไหน
จึงจะได้แสงแดด
หรือว่าทางทิศไหนมีเพื่อนต้นไม้ด้วยกัน
บดบังอยู่อย่างมืดมิด ก็ไม่ออกไป
ต้นไม้ก็ยังจะต้องมีความรู้มาก่อน
และมีเจตนาที่จะทำตามที่รู้
แล้วก็กระทำด้วยกำลังทั้งหมดทั้งสิ้น
แม้แต่ต้นไม้จะเจริญงอกงาม
ก็ต้องมีปัญญามาก่อน มีเจตนา แล้วก็มีการกระทำ
ทีนี้ ก็จะดูสูงขึ้นมาถึงสัตว์เดรัจฉาน
สัตว์เดรัจฉาน มันต้องมีปัญญา มีเจตนา มีการกระทำ
ในลักษณะเดียวกัน
มันต้องรู้ก่อนว่าจะไปหาอาหารที่ไหน
มีน้ำที่ไหน จะนอนที่ไหน
ศัตรูคืออะไร
มันมีความรู้ว่าจะไปหาอาหารได้ที่ไหน
มันจึงมีเจตนาที่จะไปที่นั่น
แล้วก็ไป ด้วยกำลังกายกำลังใจทั้งหมดทั้งสิ้น
ทีนี้ ก็ดูมาถึงคนเรา
คนเราเมื่อจะทำอะไรก็ต้องมีปัญญารู้ก่อนว่า
จะทำอะไร จะทำอย่างไร จะทำเท่าไร
ทำเมื่อไร อะไรเป็นศัตรู อะไรเป็นผู้ขัดขวาง
1
มีความรู้อย่างนี้แล้ว
จึงมีเจตนาที่จะกระทำ
มีเจตนาที่จะกระทำ แล้วก็มีการกระทำ
ด้วยกำลังกายกำลังจิตทั้งหมดทั้งสิ้น
เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
เพราะมีการกระทำทั้ง 3 นี้ ที่ละเอียดปราณีตสมบูรณ์
ยิ่งไปกว่าคนธรรมดา
สรุปความว่า ต้องมีปัญญาก่อนที่จะมีเจตนา
มีเจตนาแล้ว จึงมีการกระทำ
คอยมองเห็นให้ชัดเจนว่า
ต้องมีปัญญา
ต้องมีปัญญารู้เรื่องนั้นแล้ว
จึงมีเจตนาที่จะกระทำนี่เป็นตัวศีล
ถ้ามีการกระทำด้วยกำลังกายกำลังจิตทั้งหมด
นี่เป็นตัวสมาธิ
1
จึงเรียงลำดับได้ว่า ปัญญา ศีล สมาธิ
ขอสังเกตต่อไปว่า
ด้วยเหตุดังนี้เอง
พระองค์จึงได้ตรัสหลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุด
ในพระพุทธศาสนา
มีลักษณะตรงตามกฏเกณฑ์อันนี้
1
ในอริยมรรคมีองค์ ๘
จะเห็นได้ว่าองค์แรกและองค์ที่สองเป็นเรื่องปัญญา
สามองค์ต่อไปเป็นเรื่องศีล
สามองค์ต่อไปเป็นเรื่องสมาธิ
มีปัญญา และมีศีล และมีสมาธิ
ปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิ
ทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร
ความดับทุกข์เป็นอย่างไร
ทางให้ถึงควาวมดับทุกข์เป็นอย่างไร
รอบรู้ในเรื่องนี้ก่อน
แล้วก็มีสังกัปปะ มีความประสงค์
ที่จะทำให้ได้รับผลตามนั้น
สังกัปปะจึงจัดเป็นเจตนา
ศีลมีอยู่ 2 ความหมาย
ศีลส่วนที่เป็นเจตนา
ตัวเจตนาเป็นตัวศีล
ตัวเจตนาเป็นตัวศีล
ฟังให้ดี ระวังให้ดี
ไม่มีอันอื่นเป็นตัวศีล
มีเจตนาเป็นตัวศีล
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
เพ่งถึงเจตนาที่จะกระทำ
และเป็นการกระทำพร้อมกันไป
แล้วก็มาถึงสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
นี่เป็นตัวตัดกิเลส
สัมมาสมาธิโดยเฉพาะเป็นตัวตัดกิเลส
สังเกตดูให้เห็นชัด
หลับตาก็มองเห็นว่า
ปัญญามาก่อน คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
ศีลตามมา คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สมาธิตามมา คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
1
นี่เป็นหลักตายตัวแห่งสิ่งที่เรียกว่า
การปฏิบัติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา
พรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนาคือ
อริยมรรคมีองค์ ๘
หรือเรียกอีกอย่างว่า มัชฌิมาปฏิปทา
มีหลักตายตัวชัดอยู่อย่างนี้ว่า
เป็นปัญญามาก่อน แล้วจึงถึงศีล แล้วจึงถึงสมาธิ
เป็นสิ่งที่เป็นไปตามกฏของธรรมชาติ
พระองค์ตรัสตรงเผ็งกับกฏของธรรมชาติ
ที่ว่าการก้าวหน้าของการกระทำของสิ่งที่มีชีวิตนั้น
ต้องมีปัญญามาก่อน แล้วจึงมีศีลคือเจตนา
แล้วจึงมีสมาธิคือการกระทำ
ด้วยกำลังกายกำลังจิตทั้งหมดทั้งสิ้น
ขอสังเกตข้อนี้ไว้ในฐานะเป็นข้อสำคัญว่า
หลักพระพุทธศาสนานั้น
ตรงกับหลักวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ ..."
.
บางตอนจากการบรรยาย
ปาฐกถาธรรม
ชุด "ปรมัตถธรรมกลับมา โลกาสว่างสไว"
โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ
ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง ฯ
15 มิถุนายน 2529
นาทีที่ 0.38 - 13.13
ขอบคุณรูปภาพจาก :
Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา