13 ส.ค. 2021 เวลา 11:30 • ศิลปะ & ออกแบบ
‘Letter to The Future’
สารถึงลูกหลานใน 1,000 ปี
ถ้าโลกนี้ยังไม่จมบาดาล
Photo: Courtesy of Wing Chan
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ใครที่ได้ตามข่าวเรื่องสิ่งแวดล้อมก็น่าจะได้เห็นสัญญาณ ‘รหัสแดงของมนุษยชาติ’ ที่ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ออกมาประกาศเตือนว่า ‘โลกกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น จนแทบไม่เหลือเวลาให้มนุษย์แก้ไขได้อีกต่อไป’
ถึงแม้จะไม่มีประกาศเตือนมาอย่างชัดเจน เราเองก็เชื่อว่าหลายคนอาจจะได้ประสบเองหรือได้เห็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงในรอบปีจากทั่วทุกมุมโลกอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ป่าที่ออสเตรเลีย พายุหิมะและพายุทอร์นาโดถล่มสหรัฐ หรือที่ใกล้ตัวสักนิดก็อย่างเช่น น้ำป่าไหลหลากที่แม่สอด และอีกสารพัดเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เตรียมประทุเพิ่มในอนาคตอันใกล้
เกริ่นมาขนาดนี้ เราเองไม่ได้จะมานำเสนอไอเดียหรือเทคโนโลยีสุดเจ๋งจะช่วยหยุดยั้งวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมให้หายวับในพริบตาแต่อย่างใด เพราะวันนี้เราจะขออาสาพาทุกคนไปเยี่ยมชมงานศิลปะที่มีชื่อว่า ‘Letter to The Future’ จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม
Photo: Courtesy of Wing Chan
พวกเขาตั้งใจจะส่งสารจากรุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายอย่างเรา ๆ ไปยังรุ่นลูก หลาน เหลน โหลน หรือรุ่นที่ยังไม่มีชื่อที่ไกลกว่านั้นถึงวิกฤตการณ์ของโลก ณ ปัจจุบันที่อาจสั่นเทือนถึงโลกในอนาคต และแน่นอนว่าสิ่งที่จะอยู่ยงคงกระพันได้นานขนาดนั้นก็คงมีเพียงแค่สิ่งล่องหนน้ำหนักเบาหวิวที่มีชื่อว่า ‘พลาสติก’
‘Ki Saigon’ ครีเอทีฟเอเจนซีจากประเทศเวียดนาม ร่วมกับการสนับสนุนจาก Pizza 4P'S เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปีของร้านอาหาร และเพื่อแสดงให้ถึงความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พวกเขาได้จับมือกันริเริ่มสร้างสรรค์หนังสือทำมือจากพลาสติกรีไซเคิลจากชุมชน
ภายในประกอบไปด้วยจดหมายกว่า 327 ฉบับ ซึ่งถูกเขียนขึ้นโดยผู้คนจาก 22 ประเทศทั่วโลกที่ส่งสารมาร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ โดยไอเดียตั้งต้นก่อนจะเป็นจดหมายได้เริ่มมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ‘พลาสติกใช้แล้วทิ้งที่เราใช้กันจนชินสามารถมีอายุได้ยาวนานถึง 1,000 ปี’ นั่นหมายความว่าพลาสติกที่เราโยนทิ้งในวันนี้จะอยู่ไปถึงรุ่นโหลนของโหลนของโหลนก็เป็นได้
แต่แทนที่เราจะทิ้งพลาสติกไปเปล่า ๆ ให้กลายเป็นขยะดูต่างหน้าเมื่อจากไป ทีมงาน Ki Saigon กลับคิดย้อนหลังกลับไปว่า ‘พวกเขาอยากจะทิ้งอนาคตไว้ด้วยความหวัง ความเห็นอกเห็นใจ และการมองโลกในแง่ดี’ ซึ่งประจวบเหมาะกับไอเดียที่พลาสติกหมดค่าเหล่านี้อาจพลิกผันเป็นสิ่งที่มีค่า เมื่อพวกมันถูกกลายร่างเป็นจดหมายจากรุ่นสู่รุ่น
ด้วยเหตุนี้เองจึงนำไปสู่การเปิดโอกาสให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกสามารถส่งถ้อยคำที่อยากบอกลูกหลานของพวกเขามาบันทึกไว้ในหนังสือพลาสติกเล่มนี้ โดยใช้เวลายาวนานกว่า 4 เดือนเต็ม จนกระทั่งทีมงานสามารถรวบรวมจดหมายได้กว่า 327 ฉบับ ในหลากหลายภาษาจากทั่วทุกมุมโลก
ในส่วนของขั้นตอนการผลิตชิ้นงาน เริ่มจากการรวบรวมขยะพลาสติกที่อาจจะเห็นเกลื่อนทั้งถนนและลำธาร โดยร่วมมือกับผู้รีไซเคิลในท้องถิ่นเพื่อช่วยหาแหล่งพลาสติกเสริมอีกแรง ไม่ว่าจะเป็นกล่องโฟม บับเบิ้ลกันกระแทก ฯลฯ นำมาผ่านการล้างทำความสะอาด ก่อนนำมาขึ้นรูปเป็นกระดาษพลาสติกแบบประติดประต่อกันด้วยการรีด
ส่วนข้อความจากทางบ้านก็ไม่ได้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พิมพ์ขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด แต่จดหมายทุกฉบับจะถูกสแกนเพื่อคงลายมือรายละเอียดไว้ครบถ้วน และผ่านการพิมพ์ด้วยมือทุกหน้า รวบรวมกันจนครบ 327 แผ่น จาก 22 ประเทศ จนได้เป็นหนังสือ ‘Letter to The Future’
ถ้ามองเผิน ๆ จดหมายฉบับนี้อาจจะนำเสนอสารที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังและพลังได้ก็จริง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า สิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความเสียหายอันเป็นนิรันดร์ส่งทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานจากการใช้พลาสติกอย่างไม่ยั้งคิดของมวลมนุษยชาติได้ด้วยเช่นกัน
สำหรับใครที่อยากเข้าไปชมวิดีโอวิธีการผลิตและตัวอย่างจดหมายจริงก็คลิกที่ลิงก์นี้ได้เลย
ขั้นตอนการผลิต | https://vimeo.com/558436392
ตัวอย่างจดหมาย | https://vimeo.com/558419156
และนอกจากหนังสือแล้ว ทางทีมงานก็ยังสร้างสรรค์ชุดงานศิลปะมาจัดแสดงเพิ่มเติมด้วย ใครที่สนใจสามารถคลิกชมได้เลยที่ลิงก์นี้
ภาพนิทรรศการ | https://www.letters-to-the-future.com/gallery
วิดีโอนิทรรศการ | https://vimeo.com/558386559
Source:
Picture:
โฆษณา